กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง เรียกร้องอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกเลิกตราสัญลักษณ์ใหม่ และ Brand Chula ชี้คนออกแบบรูปคล้ายพระเกี้ยวเขียนตามจินตนาการ อยากให้ดูทันสมัย แต่ไม่เข้าใจรากเหง้า อีกทั้งคำว่า Chula ยังตัดแยกแถมด้อยค่าพระนามเต็ม ซ้ำแบรนด์สินค้าอื่น และเป็นคำสแลงในภาษาสเปนเชิงชู้สาว
วันนี้ (4 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย รศ.ประพันธฺพงศ์ เวชชาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน ปี 2520-2532 พร้อมด้วย รศ.ศรีวงศ์ สุมิตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ปี 2539-2543 คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ปี 2526-2529 นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2513 ผศ.จำรูญ ณ ระนอง ประธานสภาคณาจารย์ ปี 2538-2539 นายธัชพงศ์ ธรรมพุฒิพงศ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2529 และนายสวัสดิ์ จงกล อดีตผู้อำนวยการหอประวัติ ผู้เชี่ยวชาญประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหนังสือถึง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกตราสัญลักษณ์ใหม่ (รูปคล้ายพระเกี้ยว) และ Brand Chula เนื่องจากมีความไม่ถูกต้องเหมาะสมต่อการเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างความเสียหายต่ออัตลักษณ์และเกียรติภูมิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยพบว่าตราพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปพระเกี้ยววางบนหมอน ซึ่งมีที่มาจากพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่าตราสัญลักษณ์ที่เขียนขึ้นใหม่ เป็นการเขียนตามจินตนาการของผู้ออกแบบที่ไม่มีความรู้ในเรื่องศิลปะในสถาปัตยกรรมไทยและไม่เข้าใจรากเหง้าและประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เพียงเพื่อให้ดูทันสมัยและเป็นสากล แม้จะอ้างว่าไม่ได้ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย แต่อาศัยอำนาจใดประกาศให้ใช้ตราสัญลักษณ์อันมีลักษณะที่ผิดเพี้ยนทำให้คนส่วนใหญ่หลงเข้าใจผิด และเข้าข่ายกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551
ส่วนตัวอักษร Logotype ที่ใช้คำว่า Chula เป็นการตัดแยกชื่อเต็มซึ่งเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ อันเป็นการด้อยค่าพระนามเต็มแล้วสร้างชื่อใหม่ขึ้นมาแทน และซ้ำกับชื่อสินค้าหลายชนิดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งในภาษาสเปน คำว่า Chula เป็นคำสแลงที่มีความหมายเป็นคำชมหญิงสาวในเชิงดูหมิ่นไปในเรื่องทางเพศอีกด้วย เป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยดูตกต่ำมากกว่าทำให้ดูดีเป็นสากล อีกทั้งเป็นการออกแบบสัญลักษณ์แทนชื่อตัวเองที่มีลักษณะไม่เป็นมงคล คือตัดขาดกันเอง สูงต่ำสลับกัน และแตกต่างในทิศทางซ้ายขวาของหัวตัวอักษรและดูไม่มั่นคงสมกับเป็นสถาบันการศึกษาอีกด้วย จึงไม่สมควรนำมาใช้อย่างเป็นทางการในสถานะของ Brand Chula จึงควรใช้ชื่อเต็มให้รับรู้และจดจำด้วยคำว่า Chulalongkorn ไม่ควรจงใจตัดทอนให้สั้น เพียงเหตุผลว่าง่ายต่อการจดจำแล้วสูญเสียเอกลักษณ์สำคัญ อีกทั้งยังสื่อความหมายในเชิงลบต่อจุฬาฯ อีกด้วย
ด้านเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า "ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง" โพสต์ข้อความระบุว่า "เมื่อวันที่ 1 มีนาคมนี้ "กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง" ได้ส่งหนังสือคัดค้านการใช้รูปตราสัญลักษณ์แบบใหม่ไปถึงอธิการบดี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ซึ่งท้ายเอกสารฉบับนี้ลงนามโดย รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ (รองอธิการบดี พ.ศ.2520-2532) รศ.ศรีวงศ์ สุมิตร (รองอธิการบดี พ.ศ. 2539-2543 และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2526-2529) ผศ.จำรูญ ณ ระนอง (ประธานสภาคณาจารย์ พ.ศ.2538-2539 และนายกสโมสรอาจารย์จุฬาฯ พ.ศ. 2539 - 2543) นายประสาร มฤคพิทักษ์ (นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2513) และนายธัชพงศ์ ธรรมพุฒิพงศ์ (นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ.2529)
โดยเนื้อหาในเอกสารได้ระบุว่ากลุ่มนิสิตเก่าจุฬาฯ ซึ่งมีหลายรุ่นหลายคณะต้องการแสดงความเห็นคัดค้านการใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่ที่ดูคล้ายตราพระเกี้ยวเดิม และรูปสัญลักษณ์ตัวอักษรคำว่า Chula ซึ่งมหาวิทยาลัยระบุให้เป็น Official Logo Brand ใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทุกชนิดและให้ทุกหน่วยงานใช้รูปตราสัญลักษณ์นี้ ซึ่งในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนจากตราพระเกี้ยวเดิมมาเป็นตราใหม่นี้หมดแล้ว
ใจความสำคัญในหนังสือคัดค้านนี้ระบุว่า รูปตราพระเกี้ยวเดิม (ซึ่งออกแบบโดย รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี อดีตอาจารย์ผู้ก่อตั้งภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นศิลปินแห่งชาติ) เป็นไปตามรูปแบบของตราพระเกี้ยวที่ปรากฎอยู่ใน พรบ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2483 โดยอาจารย์ภิญโญได้เขียนลวดลายบนองค์พระเกี้ยวให้วิจิตรสวยงามชัดเจนตามแบบศิลปะไทยให้เหมาะสมแก่การนำไปใช้เป็นเครื่องหมายประจำมหาวิทยาลัยในงานทุกประเภท ซึ่งจุฬาฯ ได้ใช้ตราพระเกี้ยวนี้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเพียงรูปแบบเดียวมาตั้งแต่ปี 2531 และใน พรบ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 ก็ระบุไว้ว่า "..มหาวิทยาลัยมีตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปพระเกี้ยววางบนหมอน ซึ่งมีที่มาจากพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.."
แต่ในรูปตราใหม่นี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะส่วนที่เป็นพระเกี้ยว คือไม่นับเส้นรัศมีและเบาะรองซึ่งเป็นส่วนประกอบของตราพระเกี้ยว จะเห็นเป็นลายเส้นกราฟฟิกที่ไม่ใช่ลักษณะลวดลายไทย แต่เขียนล้อกับลวดลายเดิม และรูปทรงก็เปลี่ยนไปเป็นเหมือนรูปสามเหลี่ยมยอดแหลมหรือทรงกรวยคว่ำ ไม่แยกส่วนของตัวเกี้ยวกับเครื่องยอด ไม่เหมือนหรือแม้แต่จะคล้ายรูปพระเกี้ยวที่ไหนเลยที่มีปรากฎอยู่ในประเทศไทย แต่ดูแล้วเป็นรูปทรงของสถูปมากกว่า และเนื่องจากพระเกี้ยวเป็นสิ่งที่มีตัวตนและมีลักษณะรูปแบบเฉพาะที่แน่นอน ใครจะเขียนรูปทรงและลวดลายเอาเองตามจินตนาการแล้วเรียกรูปนั้นว่าเป็น "รูปพระเกี้ยว" ได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นรูปของสิ่งที่มีใช้เฉพาะกับพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ด้วย แล้วอย่างนี้การนำเอารูปอื่น (ที่ทำให้ดูคล้าย) มาใช้แทนรูปตราพระเกี้ยว จะเป็นการทำผิด พรบ. จุฬาฯ เองหรือไม่
ส่วนรูปที่ถูกเรียกว่า Brand Chula ซึ่งก็มาจากคำที่เรียกชื่อมหาวิทยาลัยแบบสะดวกสั้น ๆ ว่า "จุฬาฯ" จึงมาสร้างเป็นชื่อ brand ภาษาอังกฤษว่า “Chula” ซึ่งจะมีความสำคัญต่างกันมากกับการเรียกหรือใช้คำว่า "จุฬาฯ" โดยทั่วไปแบบไม่เป็นทางการ เพราะนี่คือชื่อที่มหาวิทยาลัยสร้างและกำหนดให้ใช้อย่างเป็นทางการ และไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะตัดพระนาม "จุฬาลงกรณ์" แยกส่วนมาใช้แบบนี้ กลายเป็นว่าจากชื่อที่มีเพียงชื่อเดียวในโลก มาใช้ชื่อเดียวกับชื่อสิ่งของและชื่อยี่ห้อสินค้ามากมายหลายชนิดทั่วโลก แถมคำว่า Chula ในภาษาสเปนของบางประเทศยังเป็นคำแสลงที่ใช้พูดถึงความสวยของผู้หญิงในเชิงดูถูกอีกด้วย ยังไม่นับผลงานการออกแบบตัวหนังสือที่ไม่เป็นมงคล อย่างเช่น ขาตัว C ไปตัดขาข้างที่สูงกว่าของตัว h ออกเป็นสองท่อน หัวตัว u กลับทิศไปด้านหลัง ตัว l ที่สูงและอ้วนผิดส่วนกับตัวอื่น อีกทั้งขนาดความอ้วนตัวอักษรและช่องไฟก็ไม่สม่ำเสมอ ลักษณะแบบนี้เหมือนเป็นความหมายแฝงที่ตัวเองตัดตัวเองในส่วนที่สูงให้ขาด ทำที่ต่ำให้สูงใหญ่ กลับหน้ากลับหลัง และไม่มีความมั่นคงสม่ำเสมอ
ทั้งรูปตราสัญลักษณ์และคำสัญลักษณ์ (logomark & wordmark) แบบใหม่นี้ นอกจากเป็นการลบอัตลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งของตัวเองทิ้งแล้ว รูปที่สร้างใหม่ยังด้อยคุณภาพ ขาดความประณีต ซึ่งเคยมีทั้งอาจารย์ผู้สอนเรื่อง Identity Design และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตัวอักษร (Typographic Design) ได้วิจารณ์ตำหนิการออกแบบที่ลดทอนรายละเอียดมากเกินไปจนสูญเสียอัตลักษณ์ และการเปลี่ยนจาก font ของมหาวิทยาลัยเองที่ชื่อ font Chulalongkorn ไปใช้ font ชื่อ Eboracum ที่แจกฟรีในอินเทอร์เน็ตมาพิมพ์เป็นชื่อมหาวิทยาลัยและดัดแปลงใช้เป็น Brand Chula (ของเดิมเป็นตัวอักษร CU ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ) และมีรูปแบบฉวัดเฉวียนไม่เหมาะสมกับเป็นรูปตราของสถาบันการศึกษาที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความจริงที่มั่นคงอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าความทันสมัยหวือหวาอย่างฉาบฉวยและเปลี่ยนไปตามรสนิยมของตลาด
มหาวิทยาลัยอายุเก่าแก่อายุหลายร้อยปีทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Harvard, Cambridge, Oxford, Imperial, Tokyo, Peking, Tsinghua University รวมถึงมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของไทยเอง เช่น ธรรมศาสตร์ ศิลปากร เกษตรศาสตร์ ต่างพยายามรักษารูปตราของเดิมไว้ จะเปลี่ยนบ้างก็เป็นเฉพาะส่วนปลีกย่อยหรือส่วนประกอบเล็กน้อยเท่านั้น แต่หัวใจของตราต้องเก็บไว้ ตรงกันข้ามกับตราใหม่ของจุฬาฯ ที่เก็บส่วนประกอบไว้ แต่เปลี่ยนส่วนที่สำคัญที่สุดคือพระเกี้ยว
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอัตลักษณ์ที่ทรงคุณค่าไม่เหมือนใครในโลกทั้งตราสัญลักษณ์และชื่อมหาวิทยาลัย แต่กลับทิ้งสิ่งที่ทรงคุณค่ามหาศาลนี้แล้วสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่มีประวัติศาสตร์ไม่มีเอกลักษณ์อัตลักษณ์และไม่มีราคาขึ้นมาแทน นี่เป็นการสร้างภาพจุฬาฯ ให้ดูเป็นสากล หรือทำลายอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองทิ้ง มันคุ้มกันหรือ
ท้ายข้อความในหนังสือฉบับนี้ได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้แก่นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2440 ว่า "..ให้พึงนึกในใจไว้ว่า เราไม่ได้มาเรียนจะเปนฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเป็นคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง.."
ทำไมผู้บริหารไม่รู้สึกภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ตัวตนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากพระมหากษัตริย์แล้วหรือ ถึงได้เปลี่ยนอัตลักษณ์เฉพาะของชาติไทยนี้ให้ดูเป็นแบบฝรั่งเพียงเพื่อให้เป็นสากลที่ทันสมัย ทาง “กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง” จึงขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพิจารณาทบทวนยุติการใช้รูปตราสัญลักษณ์ทั้งสองแบบนี้"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่