xs
xsm
sm
md
lg

แคนาดาใช้เวลาถึง ๖๐ ปี จึงหารูปแบบธงชาติได้! ใช้สัญลักษณ์เช่นเดียวกับธงช้างของไทยที่เลิกใช้ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๘ แคนาดาได้ประกาศใช้ธงชาติที่มีใบเมเปิลสีแดงอยู่บนพื้นขาว แทนธงยูเนียนแจ๊คของเครือจักรภพอังกฤษที่ใช้มาตั้งแต่ตั้งประเทศ โดยมีความคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนมีการถกเถียงกันอย่างหนักอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๐๗ ว่าควรจะมีธงชาติในรูปแบบใด จึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อคัดเลือกแบบธงที่มีผู้เสนอมากว่า ๕,๐๐๐ แบบ ในที่สุดก็เลือกเอาแบบที่ใช้ใบเมเฟิล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแคนาดาและใช้เป็นตราแผ่นดิน โดยมีใบเมเปิลสีแดงอยู่ตรงกลางบนพื้นขาว สองด้านซ้ายขวาเป็นแถบแดงหมายถึงมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิกที่ขนาบประเทศแคนาดา สีขาวตรงกลางหมายถึงแผ่นดินอันกว้างใหญ่ที่ปกคลุมด้วยหิมะ

ธงชาติแคนาดาถือได้ว่าเป็นธงสวยงามสะดุดตาแบบหนึ่ง ที่ใช้สัญลักษณ์ของประเทศโดดเด่นอยู่บนธง เช่นเดียวกับธงช้างของไทยที่ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒

การใช้ธงชาติเป็นวัฒนธรรมของชาวตะวันตก ไทยเราในสมัยอยุธยาก็ไม่เคยมีธงชาติ ทั้งยังไม่รู้ความหมายของธงชาติด้วย มีบันทึกในจดหมายเหตุของฝรั่งเศสว่า เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๓ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรือรบฝรั่งเศสได้มาเยือนสยามเพื่อสัมพันธไมตรี และจะยิงสลุตตามธรรมเนียมตะวันตก เมื่อเข้ามาถึงป้อมวิชเยนทร์ ทางป้อมไม่ได้ชักธงชาติขึ้น เรือฝรั่งเศสจึงขอให้ทางป้อมชักธงชาติขึ้นก่อนจึงยิงสลุตได้ ตอนนั้นไทยก็ยังไม่มีธงชาติ เลยคว้าเอาธงฮอลันดาที่มีความสัมพันธ์กันอยู่ชักขึ้น ฝรั่งเศสเห็นเป็นธงคู่อริก็ไม่ยอมยิงสลุต ขอให้เอาธงอื่นขึ้นแทน ตอนนั้นเรามีแต่ธงนำทัพที่เป็นสีแดงทั้งผืน เลยเอามาชักขึ้นไป ฝรั่งเศสก็ยิงสลุตให้ จากนั้นจึงใช้ธงแดงเป็นธงชาติสยาม เรือสินค้าไทยที่ไปมาค้าขายกับต่างประเทศก็ใช้ธงแดงนี้มาตลอดจนถึงสมัยกรุงธนบุรีและสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระบรมราชโองการให้ใช้รูปจักร อันเป็นเครื่องหมายของพระเจ้าแผ่นดิน ติดไว้กลางธงแดงสำหรับเรือหลวง ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งทรงส่งกำปั่นหลวงไปค้าขายที่สิงคโปร์และมาเก๊า ได้ใช้ธงแดงตามธรรมเนียมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเจ้าเมืองสิงคโปร์ของอังกฤษได้บอกนายเรือหลวงให้กราบทูลว่า เรือของมลายูที่ค้าขายกับสิงคโปร์ก็ใช้ธงแดงเหมือนกัน จึงขอให้เรือสยามใช้ธงอย่างอื่นเพื่อจะต้อนรับได้ไม่สับสน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯให้ใช้วงจักรสีขาวติดไว้กลางธงเหมือนเรือหลวงในรัชกาลที่ ๑ และเพิ่มช้างเผือกสีขาวอยู่กลางวงจักร มีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้มีช้างเผือก ซึ่งใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเปิดประเทศทำการค้ากับชาวตะวันตกมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า เรือสินค้าสยามทุกลำทั้งเรือหลวงเรือราษฎร์ก็ควรใช้เครื่องหมายให้เหมือนกัน จึงทรงให้ถอดวงจักรเครื่องหมายของพระเจ้าแผ่นดินออกคงไว้แต่รูปช้างเผือก ให้เรือสยามทุกลำใช้ธงนี้
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงออกพระราชบัญญัติธง กำหนดให้ธงชาติสยามเป็นธงพื้นแดง มีช้างสีขาวยืนอยู่กลางธง

สมัยรัชกาลที่ ๖ ในต้นเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งในสมัยนั้นมีการคมนาคมทางแม่น้ำสะแกกรังในฤดูน้ำหลากเท่านั้น จึงทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จไปเมืองนี้ ราษฎรต่างจัดการรับเสด็จด้วยความปลื้มปีติยินดี แต่ธงทิวที่นำมาติดรับเสด็จนั้นกลับเป็นแค่ผ้าแดงจำนวนมาก มีธงช้างอยู่ไม่กี่ผืน อีกทั้งบ้านหนึ่งยังติดกลับข้างเอาช้างนอนหงายเสียด้วย แม้แต่ทางการจังหวัดเองก็ไม่มีธงช้างใช้ ต้องไปขอยืมมาจากนครสวรรค์ ทรงมีพระราชดำริว่า ธงช้างเป็นของยากที่ราษฎรจะมีได้ ทั้งๆเป็นของที่ควรมีอยู่ทุกบ้าน ทั้งนี้เพราะธงช้างมีราคาแพง ต้องสั่งทำมาจากต่างประเทศ เรายังไม่สามารถพิมพ์ภาพลงบนผืนผ้าได้
 
เมื่อกลับมาทรงมีพระราชปรารภกับขุนนางข้าราชการที่จะต้องแก้ไขในเรื่องนี้ ทรงมีพระราชดำริว่าธงชาติควรเป็นของที่ราษฎรสามารถทำเองได้ ไม่ต้องสั่งมาจากต่างประเทศด้วยราคาแพง ให้มีความสวยงามสง่าเมื่อเวลาประดับ และต้องมีความหมายที่ดี

ขั้นแรกโปรดเกล้าฯให้ทดลองทำเป็น ๕ ริ้ว สีแดงกับสีขาวสลับกันตามทางยาว ใช้ผ้าแดงกับผ้าขาวเย็บเป็นแถบสลับกัน ซึ่งราษฎรสามารถทำเองได้ง่าย ไม่มีปัญหาว่าจะติดกลับข้างด้วย ทั้งยังไม่ต้องเสียเงินไปต่างประเทศ แต่ก็ทรงรู้สึกว่าดูจืดชืดไม่สง่างามเหมือนเป็นธงชาติ แต่ก็ทรงชักขึ้นเสาไว้ระยะหนึ่งเพื่อฟังคำวิจารณ์
 
ต่อมาก็ทรงระลึกได้ถึงสีประจำพระองค์ คือสีน้ำเงินอันเป็นสีวันพระราชสมภพ จึงทรงลองเอาสีน้ำเงินเข้ามาผสมอีกสี ให้อยู่ตรงกลาง มีขนาดกว้างเป็น ๒ เท่าของสีขาวและสีแดงที่อยู่ถัดไป เมื่อลองนำขึ้นเสาแทนผืนเก่า ก็ได้รับความนิยมชมชอบจากคนทั่วไป ทรงให้ความหมายไว้ว่า

สีแดง หมายถึงชาติ ซึ่งบรรพบุรุษได้สละเลือดรักษาแผ่นดินผืนนี้ไว้ให้ลูกหลาน

สีขาว หมายถึงศาสนา ซึ่งกล่อมเกลาให้แผ่นดินผืนนี้ร่มเย็นผาสุก

สีน้ำเงิน หมายถึงพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ

ทรงออกพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๖๐ กำหนดให้เรียกธงชาติสยามที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ว่า “ธงไตรรงค์” ให้ใช้ในเรือพ่อค้าวาณิชและสถานที่ต่างๆของสาธารณชนบรรดาที่เป็นชาติสยามโดยทั่วไป

ธงไตรรงค์ได้ออกสู่สายตาชาวโลกเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๒ เมื่อทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้นำเป็นธงไชยเฉลิมพลร่วมการสวนสนามฉลองชัยชนะที่ประเทศฝรั่งเศส

นี่คือความเป็นมาของธงไตรรงค์ที่งามสง่า จากการแก้ไขปัญหาขององค์พระประมุข โดยทรงคำนึงถึงความเป็นอยู่ของราษฎร ตามความเป็นจริงของชีวิต และมีความหมายครบถ้วน มีความงามสง่าสมเป็นธงชาติ




กำลังโหลดความคิดเห็น