เดินเที่ยว “วัดอรุณฯ” ชมพระปรางค์ที่สวยงามโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา และที่รู้จักกันดีก็คือ ยักษ์วัดแจ้ง แต่นอกจากนี้ ที่วัดอรุณฯ ยังมีอีกหลายจุดที่ไม่ควรพลาด ไม่ว่าจะเป็น วิหารน้อย โบสถ์น้อย พระประธานในพระอุโบสถ เป็นต้น
หนึ่งในวัดงามริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งกรุงเทพมหานคร ก็คือ “วัดอรุณราชวราราม” ที่คนไทยคุ้นเคยกับภาพความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณกันเป็นอย่างดี หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่วัดอรุณฯ ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องแวะมาเยี่ยมชม
“วัดอรุณราชวราราม” มีชื่อเดิมว่า “วัดมะกอกนอก” แต่ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เปลี่ยนชื่อจากวัดมะกอกนอกมาเป็น “วัดแจ้ง” เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพระองค์ได้เสด็จมาถึงที่นี่ในยามแจ้ง ในสมัยกรุงธนบุรี วัดอรุณฯ หรือวัดแจ้งในขณะนั้นถือเป็นวัดประจำวัง เพราะอยู่ในเขตของพระราชวังเดิม จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา และในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น วัดแจ้งแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตและพระบางอีกด้วย โดยได้อัญเชิญมายังประเทศไทยเมื่อครั้งที่เราไปตีเมืองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.2322 ในครั้งนั้นได้มีการจัดงานสมโภชพระแก้วและพระบางถึง 3 วัน 3 คืนด้วยกัน
วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒ เนื่องจากในขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ นั้น พระองค์ได้ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมแห่งนี้ และได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้เป็นการใหญ่ มีการจัดงานสมโภชใหญ่ถึง 7 วัน 7 คืน และพระองค์ยังได้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดแจ้งมาเป็น "วัดอรุณราชธาราม" และเปลี่ยนเป็น "วัดอรุณราชวราราม" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
สำหรับใครที่จะมาเที่ยวที่วัดอรุณฯ แล้วไม่รู้ว่าจะชมตรงจุดไหนบ้าง ชวนมาทำความรู้จักกับ 10 ไฮไลต์อันโดดเด่นของวัดอรุณฯ กัน
พระปรางค์วัดอรุณฯ
“พระปรางค์วัดอรุณฯ” ที่โดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งองค์ที่เห็นในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่พระปรางค์องค์เดิมที่มีมาตั้งแต่แรก พระปรางค์องค์เดิมนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสูงเพียง 8 วา หรือ ประมาณ 16 เมตร เท่านั้น แต่พระปรางค์ที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ได้มีการต่อเติมขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พระปรางค์องค์ที่บูรณะใหม่นี้มีขนาดความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ที่น่าทึ่งก็คือ การที่จะสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ และยังคงแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้ได้นี้แสดงว่าฝีมือของช่างในสมัยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
องค์พระปรางค์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด มีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุ ด้วยความกว้างราว 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นพระมหามงกุฎนภศูล
กลุ่มพระปรางค์ประกอบด้วยของปรางค์ประธานซึ่งมีความสูง 81.85 เมตร และปรางค์ทิศจำนวน 4 ปรางค์ เป็นปรางค์องค์เล็กก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ ปรางค์ทิศตั้งอยู่มุมทักษิณชั้นล่างของปรางค์องค์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์
โบสถ์น้อย
เป็นพระอุโบสถหลังเก่าของวัดอรุณฯ ภายในประดิษฐาน “พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ให้ผู้ที่มาเยือนได้สักการะ และทางด้านซ้ายของบรมรูปหล่อ เป็นที่ตั้งของศาลสถิตดวงพระวิญญาณของพระองค์ ตรงข้ามของพระบรมรูปหล่อฯ เป็น “พระแท่นบรรทม” ที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงมาประทับในปลายรัชกาล ส่วนด้านหลังของพระบรมรูปฯ ประดิษฐาน “หลวงพ่อรุ่งมงคล”
วิหารน้อย
วิหารน้อย หรือวิหารหลังเก่า สันนิษฐานว่า ถูกสร้างมาพร้อมกับโบสถ์น้อยในสมัยอยุธยาที่ตั้งอยู่ข้างด้านข้าง ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน “พระจุฬามณีเจดีย์” เป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่หล่อด้วยโลหะ มีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลยืนเฝ้าพระเจดีย์อยู่ทั้ง 4 มุม ซึ่งเมื่อครั้งอดีตนั้น วิหารน้อยแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เมื่อครั้งที่ได้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว โดยได้ประดิษฐานอยู่ที่นี่นานถึง 5 ปี นอกจากนี้ก็ยังมี “พระแท่นบรรทม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” อยู่ด้านในวิหารน้อยด้วย
ยักษ์วัดแจ้ง
ถ้าเคยได้ยินตำนานยักษ์วัดแจ้ง-ยักษ์วัดโพธิ์ ก็คือพญายักษ์ ณ วัดอรุณฯ ที่ยืนเฝ้าซุ้มประตูยอดมงกุฎอยู่ 2 ตน มือทั้งสองกุมกระบอง ยักษ์กายสีขาวชื่อ สหัสเดชะ และยักษ์กายสีเขียวชื่อ ทศกัณฐ์ ปั้นด้วยปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายเครื่องแต่งตัว ส่วนยักษ์วัดโพธิ์ ก็เป็นพญายักษ์ที่ ยืนเฝ้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑปอยู่ 2 ตน ยักษ์กายสีแดงชื่อ พญาสัทธาสูร และยักษ์กายสีเขียวชื่อ พญาขร ตามตำนานนั้นเล่ากันว่า ยักษ์วัดโพธิ์มาตีกับยักษ์วัดแจ้ง ตีกันจนบ้านเมืองแถวนั้นราบเป็นหน้ากลอง เลยเรียกกันต่อมาว่าท่าเตียน
พระอุโบสถ
พระอุโบสถของวัดอรุณฯ ก็มีความงามไม่แพ้ที่ไหนๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีนามว่า "พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก" พระประธานองค์นี้กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง และที่ฐานชุกชีนี้ยังบรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถยังมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของครูคงแป๊ะ และครูทองอยู่ ช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู
พระวิหารหลวง
พระวิหารหลวง ตั้งอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ ด้านในประดิษฐาน "พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร" พระประธานประจำพระวิหารหลวง และสักการะพระอรุณ หรือพระแจ้ง พระพุทธศิลป์แห่งลานช้าง
ตุ๊กตาศิลาจีน
วัดอรุณฯ เป็นอีกวัดที่มีตุ๊กตาศิลาจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอดีต ตุ๊กตาหินเหล่านี้มีทั้งการสั่งเข้ามาเพื่อประดับตกแต่งตามวัดต่างๆ รวมไปถึงการเข้ามาในฐานะอับเฉา ใส่ไว้ใต้ท้องเรือสำเภาเพื่อถ่วงน้ำหนักไม่ให้เรือโคลง สำหรับตุ๊กตาหินในวัดอรุณฯ มีหลายรูปแบบ ทั้งรูปคนต่างๆ นักบวช ผู้หญิง เด็ก ตัวงิ้วที่แต่งกายสวยงาม รูปสัตว์ต่างๆ โดยรอบๆ วัดจะมีประดับไว้ตามจุดต่างๆ ทั้งตามทางเดิน บริเวณพระปรางค์ โดยเฉพาะบริเวณลานระเบียงคดรอบพระอุโบสถ
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ประดิษฐานอยู่ใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไว้ ณ ที่นี้ เนื่องจากพระองค์ท่านทรงมีความผูกพันและศรัทธาในวัดอรุณฯ เป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ ก็ได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมแห่งนี้ และทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ และที่ใต้ฐานพระประธานในพระอุโบสถยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของท่านอีกด้วย
ตราพระราชลัญจกร ประจำ ๕ รัชกาล
บริเวณซุ้มเหนือบานประตูทางเข้าพระปรางค์ทั้งด้านนอกและด้านใน จะได้เห็นลวดลายปูนปั้นบวสี เป็นรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๕ โดยรั้วด้านตะวันออกหน้าพระปรางค์มี 3 ประตู ซุ้มเหนือบานประตูที่อยู่เหนือโบสถ์น้อยเป็น รูปครุฑจับนาค ประจำรัชกาลที่ ๒ ประตูกลางระหว่างโบสถ์น้อยและวิหารน้อยเป็น รูปพระเกี้ยว ประจำรัชกาลที่ ๕ และประตูข้างใต้พระวิหารน้อยเป็น รูปพระมงกุฎ ประจำรัชกาลที่ ๔ ส่วนที่รั้วทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์มี 2 ประตู ซุ้มเหนือบานประตูเหนือเก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในกลีบบัว ประจำรัชกาลที่ ๑ ประตูใต้เก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในปราสาท ประจำรัชกาลที่ ๓
ใส่ชุดไทยเดินเที่ยววัด
เทรนด์ใหม่สุดฮิตของการไปเที่ยวที่วัดอรุณฯ คือการใส่ชุดไทยเดินชมวัด ซึ่งก็มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย ที่มาเช่าชุดไทยสวยๆ พร้อมเครื่องประดับ เดินถ่ายภาพตามจุดต่างๆ ในวัด โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สวมชุดไทย ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเวียดนาม สิงคโปร์ กัมพูชา จีน เป็นต้น
สำหรับเทรนด์การแต่งชุดไทยเที่ยววัดอรุณฯ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นจากการที่ยูทูปเบอร์ชาวเวียดนามลงคลิปการใส่ชุดไทยเที่ยววัดอรุณฯ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามแห่มาถ่ายภาพตาม และภาพชุดไทยกับวัดอรุณฯ ก็มีการเผยแพร่ตามสื่อโซเชียลช่องทางต่างๆ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยนิยมตามกันมา
จากการสอบถามร้านเช่าชุดไทยที่อยู่รอบๆ วัด พบว่าราคาในการเช่าชุดไทย เริ่มต้นที่ 200 บาท เช่าได้ 2-3 ชั่วโมง โดยมีชุดให้เลือกหลากหลาย ทั้งชายและหญิง สีสันสดใส มีเครื่องประดับและกระเป๋า-ร่ม ให้บริการด้วย และบางร้านก็มีบริการแต่งหน้าให้ด้วย (อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline