จากกรณีเขาพระวิหารที่นักล่าอาณานิคมวางหมากไว้เพื่อให้เพื่อนบ้านแตกแยกกัน ทำให้นโรดมสีหนุเป็นวีรบุษของชาติ ตอนนี้นโยบายหาเสียงทางการเมืองจึงใช้วิธีเก่า เคลมของเด่นในไทยว่าเอาไปจากเขมร เพื่อปลุกเร้าใจคนเขมร ตั้งแต่โขน มวยไทย ครั้งล่าก็คือศาลาการเปรียญวัดราชาธิวาส แต่ครั้งนี้ถึงขั้นหน้าแตกเย็บไม่ติดแน่ เพราะหลักฐานในประวัติศาสตร์ยืนยันไว้ชัดเจน เถียงไม่ขึ้นแน่
ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทรงสถาปนากษัตริย์กัมพูชาในราชวงศ์นโรดมมาทุกพระองค์ ในฐานะประเทศราช และราชวงศ์เขมรก็นิยมเข้ามาศึกษาบวชเรียนและลี้ภัยในสยาม การเข้ามาอาศัยความร่มเย็นในกรุงเทพฯจะได้รับพระราชทานที่อยู่ เรียกว่า “วังเจ้าเขมร” คือที่ปากคลองหลอดวัดราชนัดดา ทางด้านใกล้วัดสระเกศฯ เมื่อบวชเรียนที่กรุงเทพฯแล้วก็ทรงส่งไปครองกรุงกัมพูชา ทำให้กษัตริย์กัมพูชาบางองค์พูดภาษาเขมรมิใคร่คล่องเหมือนภาษาไทย จนกระทั่งกัมพูชาตกไปเป็นของฝรั่งเศสความสัมพันธ์จึงขาดหาย
กษัตริย์กัมพูชาพระองค์แรกที่ลี้ภัยเข้ามากรุงเทพฯ ก็คือ นักองค์ตน ที่ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๗ พรรษา แต่เกิดความขัดแย้งภายใน พระพี่เลี้ยงจึงพาหนีเข้ามาขณะพระชนม์ ๑๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงอุปการะเลี้ยงดูในฐานะพระราชบุตรบุญธรรม ทรงพำนักอยู่กรุงเทพฯ ๑๑ ปี จนบวชเรียนแล้วจึงทรงส่งกลับไปครองกรุงกัมพูชา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี แต่ครองราชย์ได้เพียง ๒ ปีก็ประชวรสิ้นพระชนม์ ทายาทในราชวงศ์นโรดมได้ครองราชย์ต่อๆกันมา
สำหรับสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ หรือ นักองค์ราชาวดี ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของวังที่ไทยเอามาทำเป็นศาลาเปรียญวัดนั้น พระราชบิดา คือ สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือ นักองค์ด้วง ลี้ภัยเข้ามากรุงเทพฯในรัชกาลที่ ๒ เนื่องจากขัดแย้งกับพระเชษฐาที่ขึ้นครองราชย์แล้วหันไปซบญวน เกิดความแตกแยกกันในราชสำนัก ฝ่ายที่นิยมสยามได้พานักองค์ด้วงขณะมีพระชนม์ ๑๖ พรรษาเข้ามาลี้ภัยที่กรุงเทพฯ
ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ญวนพยายามกลืนเขมรให้เป็นญวน เอากฎหมายญวนเข้ามาใช้แทนกฎหมายเขมร บังคับให้ขุนนางเขมรแต่งแบบญวน แม้แต่พนมเปญเมืองหลวงยังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “นามเวียง” ในปลายปี ๒๓๘๓ ชาวเขมรได้ลุกฮือกันขึ้นต่อต้านลุกลามไปทั่วประเทศ และขอความช่วยเหลือมาทางสยาม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงว่าเขมรจะถูกกลืนชาติ ทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชานำทัพไปช่วย ให้กองทัพลาวตีขนาบ ทรงทำพิธีราชาภิเษกนักองค์ด้วงเป็น สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ก่อนที่จะส่งไปกับกองทัพตามคำขอจากกลุ่มขุนนางเขมร
สงครามสยามกับญวนในเขมรนี้ยาวนานถึง ๑๔ ปีจนต่างฝ่ายต่างอ่อนกำลัง ญวนเกิดกบฏภายในจึงขอทำสัญญาสงบศึก ยอมให้สมเด็จพระหริรักษ์ฯขึ้นครองราชย์กรุงกัมพูชา โดยส่งเครื่องบรรณาการให้ญวนด้วย
สมเด็จพระหริรักษ์ฯได้ส่งราชโอรส ๒ องค์ คือ นักองค์ราชาวดี กับ นักองค์ศรีสวัสดิ์ เข้ามาฝึกรับราชการในกรุงเทพฯ นักองค์ราชาวดีทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศด้วย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระหริรักษ์ฯมีใบบอกเข้ามาว่าตนมีอายุมากแล้ว ขอให้พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงตั้งนักองค์ราชาวดี ราชโอรสองค์โตขึ้นเป็นมหาอุปราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนักองค์ราชาวดีขึ้นเป็น พระนโรดมพรหมบริรักษ์มหาอุปราชใน พ.ศ.๒๔๐๐
ใน พ.ศ.๒๔๐๓ สมเด็จพระหริรักษ์ฯสวรรคต พระนโรดมพรหมบริรักษ์มหาอุปราชและนักองค์ศรีวัตถา พระอนุชา ได้กลับไปถวายบังคมพระบรมศพ แล้วเกิดแย่งชิงราชสมบัติกัน ต่างฝ่ายต่างจัดทัพเข้าห้ำหั่น พระนโรดมต้องหนีไปพระตะบองขอความคุ้มครองของสยาม กรุงเทพฯได้เรียกตัวนักองค์ศรีวัตถาเข้ามา พระนโรดมฯก็ตามเข้ามาด้วย ทรงตัดสินให้พระนโรดมฯขึ้นครองราชย์ โดยทำพิธีราชาภิเษกที่วัดพระเชตุพนฯ แล้วจัดทัพเรือไปส่ง แต่ต่อมาได้เกิดกบฏแย่งชิงราชสมบัติกันอีก สยามจึงส่งกองทัพจากเสียมราฐและจันทบุรีไปปราบจนราบคาบ แล้วทำพิธีราชาภิเษกพระนโรดมฯอีกครั้งที่เมืองอุดงมีชัย เป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์
หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ฝรั่งเศสซึ่งมาขอให้สยามช่วยหาล่ามภาษาเขมรกับภาษาญวนให้ แล้วแอบไปขอทำสนธิสัญญากับกัมพูชาให้เข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส แต่สมเด็จพระนโรดมฯไม่ยอมเซ็น รับสั่งว่า กรุงกัมพูชาเป็นประเทศราชของสยาม การจะทำสัญญากับกัมพูชาต้องไปเจรจากับกรุงเทพฯ
เมื่อทูตฝรั่งเศสเซ็นสัญญากับเขมรไม่ได้ จึงไปขอเซ็นสัญญากับญวน ญวนไม่ยอมต้อนรับ ฝรั่งเศสเลยใช้เรือปืนยิงป้อมญวนจนยึดป้อมได้ ญวนจึงต้องยอมเซ็นสัญญาด้วย
หลังจากยึดไซ่ง่อนได้แล้ว พลเรือเอกรองติแยร์ได้นำเรือรบขึ้นไปถึงเมืองอุดงมีชัย บังคับให้สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์เซ็นสัญญายอมอยู่ในอารักขาของฝรั่งเศส สมเด็จพระนโรดมฯเกิดความกลัวฝรั่งเศสจึงยอมเซ็น แต่ด้วยความกลัวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงมีหนังสือเข้ามากราบทูลว่า
“...อัดมิราล เดอ ลากรันดิเอ บังคับให้ข้าพระพุทธเจ้าทำหนังสือสัญญา ณ เมืองเขมร ข้าฯคิดกลัวจะมีความผิดกับกรุงเทพฯเป็นอันมาก แต่ข้าฯคิดกลัวไปว่าถ้าเกิดวิวาทกับฝรั่งเศส ความครหาติเตียนข้าพระพุทธเจ้าก็จะมากขึ้น ด้วยใจพระยาเขมรแลราษฎรทุกวันนี้เป็นสามพวกอยู่ ก็จะพากันว่าได้ผู้นั้นผู้นี้เป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองไม่สบายฤา ความข้อนี้สิ้นปัญญาแล้ว จึงต้องยอมทำหนังสือสัญญากับฝรั่งเศส”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงประท้วงไปยังปารีสอย่างเป็นทางการ ได้รับคำตอบมาว่า แต่ก่อนนี้เขมรขึ้นกับญวนบ้างขึ้นกับสยามบ้าง เดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสเข้าปกครองญวนแล้ว จึงมีสิทธิในเขมรด้วย เมื่อเขมรขอให้ฝรั่งเศสช่วยอารักขาจึงต้องรับไว้ ส่วนเขมรจะส่งเครื่องบรรณาการให้สยามอย่างเดิมฝรั่งเศสก็ไม่ห้าม ร.๔ จึงทรงทำสัญญาลับกับสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์บ้าง ให้ยอมรับว่าเขมรเป็นประเทศราชของสยาม แต่สัญญานี้กลับไม่ลับ ฝรั่งเศสรู้เข้าประท้วงทันทีว่าเป็นโมฆะ เพราะเซ็นภายหลังที่เขมรยอมรับเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสแล้ว
สยามพยายามอ้างสิทธิเหนือเขมร เรียกสมเด็จพระนโรดมฯให้เข้ามาทำพิธีราชาภิเษกที่กรุงเทพฯ เพราะเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ขนมาตอนหนีกบฏก็ยังอยู่ที่กรุงเทพฯ สมเด็จพระนโรดมฯขณะนั้นอยู่ในฐานะฝรั่งเศสลากไปสยามลากมา จึงยอมมาแต่โดยดี แต่เมื่อออกเดินทางโดยเรือที่สยามส่งไปรับแล้ว ทหารฝรั่งเศสก็เข้ายึดเมืองอุดงมีชัยและชักธงฝรั่งเศสขึ้นเหนือวัง สมเด็จพระนโรดมฯเลยต้องกลับไป
พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ได้ทรงขอให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจัดเครื่องราชาภิเษกให้สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ได้เข้าพิธีโดยเร็ว จึงโปรดเกล้าฯให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) นำเครื่องอิสริยยศสุพรรณบัฏไปทำพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ร่วมกับฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสยอมให้องค์นโรดมฯส่งเครื่องราชบรรณาการให้ไทยได้ แต่ให้ส่งแค่ชายแดน ไม่ยอมให้เดินทางเข้ามา
ต่อมาสยามก็ต้องยอมเซ็นสัญญากับฝรั่งเศสอีกเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๑๐ ยอมรับสิทธิของฝรั่งเศสเหนือเขมรอย่างเป็นทางการ แต่ในสัญญาฉบับนี้ฝรั่งเศสยอมรับว่าเสียมราฐและพระตะบองยังเป็นของสยาม และสยามจะไม่เรียกร้องบรรณาการจากเขมรอีก
ในที่สุดสยามซึ่งอุปถัมภ์ค้ำชูราชวงศ์นโรดมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ก็จำต้องขาดสายสัมพันธ์กันไป ฝรั่งเศสไม่ยอมให้เจ้าเขมรองค์ใดมาติดต่อกับสยามตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ศาลาการเปรียญวัดราชาธิวาสเพิ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วจะมีเจ้าเขมรองค์ใดที่จะเข้ามาสร้างวังอยู่ในกรุงเทพฯได้ ทั้งยังไปสร้างอยู่ในพื้นที่ของวัด ในขณะที่ประวัติศาสตร์ของทุกชาติทุกภาษายืนยันว่าสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ยังครองราชย์อยู่ในกัมพูชา
ตามประวัติของวัดราชาธิวาสกล่าวว่า สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือนานกว่านั้นไม่ปราฏหลักฐานแน่ชัด เดิมชื่อว่า วัดสมอราย ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเมื่อครั้งดำรงพระยศเจ้าฟ้ามงกุฎฯได้ทรงผนวชและมาจำพรรษาที่วัดนี้ก่อนไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วจึงได้บูรณะวัดแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชาธิวาส หมายถึงวัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เคยประทับที่วัดนี้ขณะทรงผนวช ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการบูรณะวัดราชาฯใหม่ทั้งหมด โดยมีเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์เป็นแม่กอง และทรงมอบให้ พระยาจินดารังสรรค์ (พลับ) สถาปนิกชื่อดังคนหนึ่งในสมัยนั้นเป็นผู้ออกแบบศาลาการเปรียญ โดยถือเอาศาลาการเปรียญของวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้นแบบ ภายในมีธรรมมาสน์ที่งดงาม ๒ องค์ จากงานฝีพระหัตถ์ของกรมพระยานริศฯ โดยต้นแบบมาจากธรรมมาสน์ ๒ องค์ของวัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ที่ถือว่าเป็นธรรมมาสน์ที่งดงามเป็นพิเศษของสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตามประวัติแล้วศาลาการเปรียญนี้ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับเขมรเลย แม้จะสร้างอยู่ใกล้กับคลองเล็กๆที่กั้นบริเวณวัดราชาฯกับบ้านเขมร สามเสน หน้าศาลาการเปรียญด้านแม่น้ำ มีทางเดินเล็กๆจากซอยวัดราชาฯข้ามคลองไปบ้านเขมร มีสพานไม้พอเดินข้ามได้ เส้นทางนี้สังฆราชปาลเลอร์กัว ประมุขมิสซังสยาม และเจ้าอธิการวัดคอนเซ็ปซิออง หรือวัดบ้านเขมร ใช้เดินทางไปมาเป็นประจำเพื่อเข้าเฝ้าแลกเปลี่ยนความรู้กับ “ทูลกระหม่อมพระ” หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯขณะจำพรรษาอยู่ที่นั่น จนท่านสังฆราชเขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยและภาษาไทยได้หลายเล่ม ส่วนทูลกระหม่อมพระก็ทรงเรียนภาษาลาตินและอังกฤษจากท่านสังฆราช
ความสัมพันธ์ของสยามกับราชวงศ์นโรดมสิ้นสุดในสมัยรัชกาลที่ ๔ ขนาดส่งเครื่องบรรณาการยังข้ามแดนเข้ามาไม่ได้ แต่ศาลาการเปรียญวัดราชาธิวาสเพิ่งสร้างในรัชกาลที่ ๕ แล้วจะเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ไปได้ยังไง เรื่องนี้จึงไม่เป็น “ประเด็นร้อน” เหมือนกรณีเขาพระวิหารหรือมวยไทย แต่กลายเป็น “ประเด็นฮา” อายเขาไปทั้งโลก