เอกอัครราชทูตไทยท่านนี้ ก็คือ พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ๑ ใน ๔ ทหารเสือคณะราษฎร ซึ่งได้ร่วมอยู่ใน ๓ ทหารเสือที่แตกคอแปรพักตร์ไปจากพระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อมาหลังเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดชใน พ.ศ. ๒๔๘๑ พระยาทรงฯถูกจับส่งขึ้นรถไฟให้ไปลี้ภัยอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส พระยาฤทธิ์อัคเนย์หลบไปอยู่มลายู ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าพระประศาสตร์ฯเป็นคนมุ่งแต่ทำงาน ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เลยไปหาจอมพล ป.พิบูลสงครามให้ช่วยแต่งตั้งพระประศาสน์ฯออกไปเป็นทูต ให้พ้นจากเมืองไทยไปเสีย จอมพล ป.ก็เซ็นตั้งให้ไปเป็นทูตที่เยอรมันในเดือนธันวาคม ๒๔๘๑ นั้น ซึ่งเป็นถิ่นที่พระประศาสน์ฯเคยเป็นนักเรียนนายร้อยที่นั่น
พระประศาสน์ฯพาครอบครัวไปอยู่เยอรมัน แต่ไม่ได้อยู่อย่างผู้ลี้ภัย ไปทำงานให้ชาติอย่างเต็มที่ แต่แล้วในวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๘๒ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เริ่มขึ้นในยุโรป โดยเยอรมันเปิดฉากด้วยการบุกโปแลนด์ อังกฤษกับอเมริกาจึงยับยั้งแผนครอบครองยุโรปของเยอรมันด้วยการส่งฝูงบินไปถล่มกรุงเบอร์ลิน ระเบิดลูกหนึ่งลงที่สถานทูตไทย ทุกคนลงหลุมหลบภัยของสถานทูตกันหมด แต่ลูกสาวคนโตของท่านทูตป่วยนอนอยู่ในห้อง จึงถูกระเบิดที่ลงห้องนอนพอดี เสียชีวิต
ในตอนนั้นรัสเซียยังเป็นพันธมิตรกับเยอรมัน และสนับสนุนยุทธภัณฑ์ทั้งแร่ น้ำมัน และธัญพืชเต็มที่ ทำให้เยอรมันรอดพ้นจากการถูกปิดล้อมทางทะเลของอังกฤษ แต่รัสเซียก็ไม่ได้เข้าร่วมสงครามด้วย
ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ได้เปิดเผยอีกบทบาทหนึ่งของพระประศาสน์พิทยายุทธไว้ในเวบไซด์ของสถาบันพระปกเกล้า ว่ามีคนรู้เรื่องนี้กันน้อยมาก ก็คือท่านเป็นผู้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย โดยในกลางปี ๒๔๘๔ รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามมีความไม่พอใจอังกฤษและฝรั่งเศส คิดที่จะติดต่อทางการทูตกับประเทศคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียต และนี่เองที่งานสำคัญนี้ได้ตกมาถึงมือ
อัครราชทูตไทยประจำนครเบอร์ลิน ให้ดำเนินการเจรจากับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียตที่มีนายโมโลตอฟเป็นรัฐมนตรีว่าการ จนประสบความสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายคือพ.อ.พระประศาสน์ฯซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไทย กับนายโมโลตอฟ ได้ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหภาพโซเวียตกับไทยในวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ จะสิ้นสุดถึง ๕ ปี
แต่แล้วเยอรมันซึ่งต้องการขยายดินแดนไปทางด้านตะวันออกของรัสเซียที่มีคนเยอรมันอาศัยอยู่มาก กับป้องกันไม่ให้รัสเซียเข้ายึดคาบสมุทรบอลข่านที่เป็นทางออกทางทะเลของรัสเซีย จึงคิดจะยึดรัสเซียเสียด้วยเลย ฮิตเลอร์ได้ออกคำสั่งลับให้บุกเยอรมันแบบสายฟ้าแลบทุกด้านในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๔ กำหนดจะให้สำเร็จใน ๒ เดือนก่อนฤดูหนาวที่แม้แต่จักรพรรดินโปเลียนก็พ่ายรัสเซียเพราะหิมะมาแล้ว แต่สตาลินสั่งปลุกใจประชาชนให้สู้ป้องกันมาตุภูมิเต็มที่ ทำให้เยอรมันต้องเผชิญศึกทั้ง ๒ ด้าน อีกทั้งอังกฤษอเมริกาก็หันเข้าสนับสนุนรัสเซีย
ในที่สุดเมื่อสงครามด้านยุโรปยุติ กองทัพรัสเซียก็บุกเข้ายึดกรุงเบอร์ลินได้ เยอรมันต้องยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ฮิตเลอร์ยิงตัวตาย
แต่ก่อนที่ฮิตเลอร์จะยิงตัวตายเพียง ๑๐ วัน พระประศาสน์พิทยายุทธในฐานะเอกอัครราชทูตไทยได้เข้าเยี่ยมฮิตเลอร์ โดยมีหลักฐานในสมุดลงนามผู้เข้าเยี่ยมเซ็นไว้ว่า “ประศาสน์ ชูถิ่น”
หลังจากเบอร์ลินแตก พระประศาสน์ฯส่งครอบครัวออกจากสถานทูต ตัวเองอยู่เฝ้า จนถูกรัสเซียจับไปเข้าค่ายกักกันใกล้กรุงมอสโกที่มีอุณหภูมิหนาวเหน็บ -๔๐ เซลเซียส เป็นเวลาถึง ๒๒๕ วันก่อนจะได้รับการปล่อยตัว
ส่วนลูกเมียก็ต้องเผชิญกรรมเช่นกัน ถูกคุมตัวไปอเมริกาพร้อมกับเชลยชาวญี่ปุ่น ขณะที่เข้าแถวไปลงเรือนั้น มีทหารอเมริกันนับหมื่นๆคนมารอดู และไม่ได้แยกแยะว่าคนไหนเป็นญี่ปุ่นคนไหนเป็นคนไทย ต่างถ่มน้ำลายใส่จนเปรอะเปื้อนไปหมดทั้งหัว
พ.อ.สมพงศ์และนงลักษณ์ พิศาลสรกิจ บุตรเขยและบุตรสาวของพระประศาสน์ฯ ซึ่งได้ร่วมกับพี่น้องฝ่ายภรรยาได้รวบรวมเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “เปิดบันทึกชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธ” ไว้ตอนหนึ่งว่า
“ทางจะขึ้นเรือสองข้างเต็มไปด้วยทหารอเมริกันเป็นหมื่นๆคน ส่วนมากเป็นญี่ปุ่น เขามีสำนักงานที่ใหญ่มาก ข้าราชการเป็นร้อยๆ ของเราแค่ ๑๐ คน เราก็เดินตามหลังญี่ปุ่น ผ่านมาทหารอเมริกันก็ถ่มน้ำลายใส่ จนกระทั่งขึ้นเรือ”
เมื่อพระประศาสน์กลับมา จอมพล ป. ตั้งให้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และมีโอกาสได้ต้อนรับเพื่อนเก่า ๒ คนที่มาเยี่ยมที่บ้าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จนจบชีวิตด้วยโรคตับในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๙๒ เพราะในช่วงหลังกลายเป็นคนดื่มเหล้ามาก ทดลองทำเหล้าจากผลไม้เอง ใส่ขวดถ่วงน้ำไว้ในสระข้างบ้าน
นี่ก็เป็นชีวิตของผู้มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญในอดีตท่านหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในทางการเมือง และคนที่เป็นข้าราชการที่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศ ก็ต้องแสดงบทบาทไปตามนโยบายของรัฐบาล แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผัน ก็อาจจะต้องรับกรรมไปด้วย โดยที่ตัวเองไม่ได้ทำความผิดแต่อย่างไร