xs
xsm
sm
md
lg

๓ นายทหารคนดัง มีความสัมพันธ์อยู่บ้านเดียวกันมา! พอยึดอำนาจได้ กลับหันเข้าห้ำหั่นกันเอง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม ยุนนาค



ที่เรียกกันว่า “๔ ทหารเสือคณะราษฎร” ก็คือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พ.อ.พระยาทรงสุเดช (เทพ พันธุมเสน) พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) และ พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ๓ คนแรกมีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นมานาน แต่ทั้ง ๓ ไม่มีใครอยู่หน่วยคุมกำลังเลย พระยาพหลฯ เป็นจเรทหารปืนใหญ่ มีหน้าที่ตรวจการ พระยาทรงฯ เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการกรมยุทธศึกษา พระประศาสน์ฯเป็นครูทหารและผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการ ล้วนแต่เป็นนายทหารด้านวิชาการกันทั้งนั้น จึงไปชวน พ.อ.พระยาฤทธิฯ ผู้บังคับกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์มาร่วมอีกคน จึงเป็นคนเดียวที่มีกำลังพลอยู่ในบังคับบัญชา

ทั้ง ๓ คนแรกล้วนเป็นคนเรียนเก่งทั้งนั้น สอบชิงทุนกระทรวงกลาโหมได้ไปเรียนวิชาการทหารที่เยอรมัน แม้จะไปคนละรุ่นแต่ก็ไปพักอยู่บ้านเดียวกัน หลังจากแยกย้ายกันกลับก็ยังสานสัมพันธ์ด้วยความแนบแน่นตลอดมา เมื่อพระยาทรงฯไปฝรั่งเศสและได้พบกับคณะราษฎรโดยการชักนำของ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ก็ตัดสินใจเข้าร่วม และกลับมาชวนพระยาพหลฯและพระประศาสน์ให้ร่วมด้วยอีก ๒ คน

เมื่อยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองได้แล้ว โดยพระยาพหลฯได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร พระยาทรงฯผู้ปราดเปรื่องในด้านเสนาธิการ เป็นผู้วางแผนทั้งหมด ส่วนพระประศาสน์ก็เป็นคนเปิดประตูกรมทหารม้า เอาขบวนรถถังมาที่ลานพระบรมรูปทรงม้า แต่คณะราษฎรฝ่ายพลเรือนกลับกระดากกระเดื่องไม่มีใครกล้าเข้ารับเป็นหัวหน้ารัฐบาล ในที่สุดก็ใช้วิธีประนีประนอมยกอำนาจไปให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ขุนนางของอำนาจเก่าขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องมันจึงยุ่ง

ฝ่ายอำนจเก่าที่กำลังอ่อนเปลี้ยเพลียใจจึงกลับกระปรี้กระเป่ากันขึ้นอีก เข้ารุมล้อมพระยามโนฯพยายามชิงอำนาจคืน ฝ่ายพระยาทรงฯคนสำคัญที่วางแผนก็เกิดอาการน้อยใจหลายเรื่อง แปรพักตร์ไปเข้ากับกลุ่มพระยามโนฯ และดึงเอาพระยาฤทธิฯกับพระประศาสน์ไปด้วย ทั้งยังหลอกล่อให้พระยาพหลฯวางมือ เพื่อจะได้คุมอำนาจทางทหารได้เบ็ดเสร็จ จึงทำให้เกิดการยึดอำนาจกันขึ้นอีกครั้งโดย พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรผู้ร่วมก่อตั้งมาตั้งแต่ฝรั่งเศส ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นมือขวาของพระยาพหลฯ และเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง

แต่กระนั้นคลื่นใต้ดินก็ยังไม่จบ มีการบ่อนทำลายและตามห้ำหั่นกันอีก ในที่สุดพระยาทรงสุรเดช เสนาธิการผู้ปราดเปรื่อง ผู้พยายามเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยาพหลฯ แต่ต้องแพ้ พ.ท.หลวงพิบูลสงครามด้วยมติสภา จึงถูกส่งขึ้นรถไฟสายอรัญประเทศให้ไปลี้ภัยในอินโดจีนของฝรั่งเศส และจบชีวิตด้วยความยากจนในตึกร้างชานกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๗ ด้วยวัยเพียง ๕๑ ปี

ส่วนพระยาฤทธิอัคเนย์ นึกว่าจะรอดพ้น ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะศาลพิเศษเพื่อพิจารณากรณีของพระยาทรงสุรเดช และยังได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ด้วย แต่ปรากฏว่า ร.อ.ชลอ เอมะศิริ หลานชายของพระยาฤทธิ์ฯถูกจับด้วย ตัวพระยาฤทธิฯก็ถูกตั้งรางวัลนำจับเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท จึงต้องลี้ภัยหลบไปอยู่มลายู จนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ นักการเมืองได้รับนิรโทษกรรมจากรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ พระยาฤทธิฯจึงกลับมา ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
 
ในบั้นปลายชีวิตได้ปลีกตัวไปฏิบัติธรรมที่วัดบางปิ้ง สมุทรปราการ จนอนิจกรรมในปี ๒๕๐๙ ขณะมีอายุได้ ๗๗ ปี
พระประศาสน์พิทยายุทธก็ตกเป็นเป้าหมายเหมือนกัน แต่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ช่วยส่งให้ลี้ภัยไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงเบอร์ลินถิ่นเก่าในเดือนธันวาคม ๒๔๘๑ แต่ก็ต้องไปผจญกับความยากลำบากตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ สถานทูตไทยถูกบอมบ์จนเมียเสียชีวิต

ปัจจุบัน มีนายทหารคนดัง ๓ คนเคยอยู่บ้านเดียวกันมา กำลังมีบทบาทเด่นทางการเมืองที่มีคนติดตามข่าวทุกวัน แต่อย่าคิดว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเหมือนเรื่องนี้ คนระดับ ผบ.ทบ. อยู่ในระดับพญาอินทรีย์ ย่อมบินเหนือเมฆ ไม่บินต่ำเหมือนพวกนกกระจอก


กำลังโหลดความคิดเห็น