xs
xsm
sm
md
lg

"รศ.ดร.ปิติ" แจงรัฐประหารผู้นำจีนเป็นไปไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"รศ.ดร.ปิติ" ชี้ข่าวลือรัฐประหารผู้นำจีนเป็นไปไม่ได้ แจกแจงโครงสร้างอำนาจอธิปไตยจีน "สี จิ้นผิง" คุมกองทัพ ฉะนั้นจะรัฐประหารตัวเองมันเป็นไปไม่ได้



วันที่ 26 ก.ย. 2565 รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผอ.ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน"

รศ.ดร.ปิติกล่าวถึงกรณีข่าวลือ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ถูกรัฐประหาร ว่า ถ้าเข้าใจระบบการเมืองการปกครองของจีน เราจะรู้ว่าถูกดีไซน์ให้ไม่สามารถทำรัฐประหารได้โดยระบบเองอยู่แล้ว

โครงสร้างพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีการรวบอำนาจในระดับบนสุด แต่ในขณะเดียวกันในระดับล่างสุดก็มีการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ ในประเทศจีนมีหมู่บ้านอยู่ 3 ล้านหมู่บ้าน ใน 3 ล้านนี้ก็จะถูกจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านที่มีการเลือกตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนประมาณ 5 แสนหมู่บ้าน ใน 5 แสนนี้ก็จะมีการคัดเลือกกันเองในหมู่บ้าน เลือกตัวแทนออกมา 11,137 คน แล้วก็เลือกขึ้นมาระดับอำเภอ มี 2,851 อำเภอ ก็จะมีตัวแทน 4,898 คน แล้วก็เลือกขึ้นมาระดับจังหวัด มี 333 จังหวัด ก็จะกระจายเป็น 23 มณฑล 5 เขตปกครองตนเอง 4 มหานคร แล้วก็ 2 เขตบริหารพิเศษ ซึ่งทั้งหมดจะเลือกตัวแทนออกมาเพื่อไปประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะมีขึ้นกลาง ต.ค.นี้

ซึ่งสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะประชุมทุก 5 ปี ลองนึกภาพจาก 5 แสนหมู่บ้าน ค่อยๆ เลือกกันมาทีละระดับจนเหลือ 2 พันกว่าคน ได้ตัวแทนของคนมาอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน 2 พันกว่าคนนี้จะเลือกคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีเจ้าหน้าที่มาทำงานตรงนี้ 376 คน จะแบ่งออกเป็นคณะทำงาน 11 คณะ ดูแลนโยบายต่างๆ ทุก 5 ปีก็กำหนดนโยบายเพื่อให้รัฐบาลแต่ละช่วงเวลา 5 ปี ทำตามนโยบายเหล่านี้

นอกจากนี้ 376 คนยังเลือกกรมการเมือง 25 คน ซึ่ง 25 คนนี้ก็ไปเลือกคณะกรรมการกลางกรมการเมืองอีก 7 คน ซึ่ง 7 คนนี้จะเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศจีน ดังนั้นเรื่องอะไรก็ตามที่เสนอมาจากคน 11,137 คน ในระดับหมู่บ้าน ก็จะผ่านตามระบบมาเรื่อยๆ จนในที่สุดมาถึงคณะกรรมการกลางกรมการเมือง ถ้าเห็นด้วยทั้ง 7 คน เรื่องนั้นก็จะกลายเป็นนโยบายของประเทศ แต่ถ้ามีคนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วยก็ต้องไปพิจารณามาใหม่

คนที่นั่งเป็นเบอร์หนึ่งกรมการเมืองและเป็นเลขาธิการพรรคด้วย ปัจจุบันก็คือ สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคนอกจากคุมพรรคแล้วก็ยังเป็นประมุขของประเทศด้วย

รศ.ดร.ปิติกล่าวอีกว่า มาที่การบริหารประเทศ อำนาจอธิปไตยที่ 1 คือประธานาธิบดี 2 คือสภาประชาชนจีน 3 คือฝ่ายบริหาร 4 คือฝ่ายตุลาการ และ 5 กองทัพปลดแอกประชาชนจีน โดยคนที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการกลางของกองทัพจีนก็คือเลขาธิการพรรคและประธานาธิบดี นั่นก็คือ สี จิ้นผิง

ของไทยอาจมีโอกาสทำรัฐประหารแต่จีนไม่ได้ เพราะบนระนาบที่อยู่ระดับเดียวกันทั้ง 5 คน อำนาจเท่ากันทั้งหมด ในทางปฏิบัติประธานาธิบดีกับประธานกรรมาธิการทหาร คือคนเดียวกัน แล้วยังมีศักดิ์ศรีเป็นเบอร์หนึ่งในโปลิตบูโร ซึ่งใหญ่กว่าเบอร์สองในคณะบริหารด้วย ฉะนั้นในทางปฏิบัติจะมี 5 อำนาจ แต่ถูกคุมโดย สี จิ้นผิง ฉะนั้น สี จิ้นผิง จะเอาทหารที่ตัวเองคุมมารัฐประหารตัวเองมันเป็นไปไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น