ข่าวปลอม “รัฐประหาร โค่นสีจิ้นผิง” แพร่สะพัดนอกแดนมังกร แต่ภายในจีนไร้เสียงลือเสียงเล่าอ้าง ผู้ที่เข้าใจระบบการเมืองการปกครองของประเทศจีนจะรู้ว่า เรื่องเช่นนี้ไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้
เรื่องนี้ถูกกระจายโดยสื่ออินเดียและสื่อสังคมออนไลน์ โดยที่ “สำนักข่าวมาตรฐาน” เช่น รอยเตอร์ AP AFP BBC ไม่เอ่ยถึงแม้แต่คำเดียว สื่อของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ที่เข้าใจระบบการเมืองของจีนเป็นอย่างดี ต่างรู้ดีว่านี่ไม่ใช่ “ข่าว” เป็นเพียง “เรื่องลวงโลก”
ผู้สื่อข่าว MGR Online ที่อยู่ในประเทศจีนขณะนี้ พบว่า สถานการณ์ในประเทศจีนปกติทุกอย่าง ขณะนี้กรุงปักกิ่งเตรียมพร้อมสำหรับการประชุม “สมัชชา 20” ในวันที่ 16 ตุลาคม จึงมีการควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งในเรื่องความมั่นคงปลอดภัย และการป้องกันโรคโควิด การรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องปกติในช่วงก่อนวันชาติจีน 1 ต.ค. และการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์
โครงสร้างอำนาจการเมืองจีนประกอบด้วย 3 อำนาจ คือ พรรค รัฐ และกองทัพ ผู้นำของพรรคคือเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ผู้นำรัฐคือประธานาธิบดี และผู้นำกองทัพคือประธานคณะกรรมาธิการทหาร ปัจจุบันอำนาจทั้ง 3 อยู่ในมือคนคนเดียวที่ชื่อ “สีจิ้นผิง”
พรรคคอมมิวนิสต์คือศูนย์กลางการปกครองประเทศจีนที่แท้จริง อำนาจของพรรคมีมากกว่ารัฐและกองทัพ ดังนั้น ผู้นำที่แท้จริงในประเทศจีน คือ เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ผู้นำรัฐ หรือประธานาธิบดี
อีกเรื่องที่หลายคนไม่เข้าใจจีน คือ กองทัพเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ของรัฐ จึงใช้ชื่อว่า “กองทัพปลดแอกประชาชนจีน” ไม่ใช่ “กองทัพประเทศจีน” และผู้นำสูงสุดคือ ประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง ไม่ใช่รัฐมนตรีกลาโหม หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางในขณะนี้ก็คือ สีจิ้นผิง
ประธานเหมาเจ๋อตง เคยกล่าววว่า “อำนาจมาจากกระบอกปืน” เมื่อผู้นำประเทศยึดกุมกองทัพได้แล้ว จะมีใครหน้าไหนที่ทำ “รัฐประหาร” ได้?
ยึดกุม 3 อำนาจเบ็ดเสร็จ
ผู้นำจีนทุกรุ่นจะยึดกุม 3 อำนาจ คือ เป็นผู้นำทั้งพรรค รัฐ และกองทัพ ในอดีตช่วงที่ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ขึ้นเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคฯ และประธานาธิบดี ผู้นำคนก่อนหน้า คือ เจียงเจ๋อหมิน ยังรั้งตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางไว้อีกราว 2 ปี และถูกมองว่าต้องการรักษาฐานอำนาจในกองทัพ แต่เมื่อ 10 ปีก่อน หูจิ่นเทาได้สละตำแหน่งทั้ง 3 อำนาจพร้อมกัน และสีจิ้นผิงได้ยึดกุมอำนาจทั้งพรรค รัฐ และกองทัพอย่างสมบูรณ์
ปักกิ่งศูนย์กลางการปกครอง ไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจ
พรรคคอมมิวนิสต์มีโครงสร้างที่แน่ชัดและมีตัวแทนอยู่ในทุกองคาพยพ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงส่วนกลาง แม้แต่ทุกชุมชน หมู่บ้าน หน่วยงาน บริษัทเอกชนก็มีตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น จีนจึงไม่ใช่รัฐรวมศูนย์ แต่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นต่างๆ รัฐบาลปักกิ่งเป็นเพียงผู้กำหนดนโยบายและควบคุมตรวจสอบ หลายกรณีรัฐบาลปักกิ่งไม่ได้มีอำนาจสั่งการท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่
ความวุ่นวายในประเทศจีนแทบทุกครั้งเกิดจากระดับท้องถิ่น ไม่ใช่กรุงปักกิ่ง การทุจริตและใช้อำนาจมิชอบส่วนใหญ่ก็เกิดในระดับท้องถิ่น จนเมื่อ “เรื่องแดง” รับรู้ถึงกรุงปักกิ่ง รัฐบาลกลางจึงต้องส่งเจ้าหน้าที่จากปักกิ่งมาแก้ปัญหาในพื้นที่ การมองปักกิ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจ คือความไม่เข้าใจระบบการปกครองของจีน
ทุกความขัดแย้งสยบไว้ภายในพรรค
ถึงแม้ว่าภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีเสียงวิจารณ์เรื่องการสืบทอดอำนาจของสีจิ้นผิง แต่สมาชิกในพรรคทุกคนต่างรู้ดีว่า การรักษาอำนาจของพรรคสำคัญที่สุด ความขัดแย้งทุกอย่างจะใช้กลไกการแก้ไขปัญหาภายในพรรคที่เรียกว่า “การสำนึกตน” 自我反省 หลังยุคของเติ้งเสี่ยวผิง ถึงแม้จะมีความขัดแย้งในพรรค แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่ความขัดแย้งลุกลามเป็นการช่วงชิงอำนาจ และปรากฏสู่ภายนอก
ก่อนหน้าการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี บรรดาผู้นำจีนจะไปพักร้อนที่ริมทะเลสาบ “เป่ยไต้เหอ” มณฑลเหอเป่ย ณ ที่นี่ บรรดาผู้นำจีนจะหารือเรื่องสำคัญที่จะพิจารณาในการประชุมใหญ่พรรคฯ ความไม่ลงรอยกันจะถูก “เคลียร์ใจ” และทุกฝ่ายจะมุ่งสู่การประชุมใหญ่ในเดือนตุลาคม
อำนาจสีจิ้งผิงแข็งแกร่งยิ่งกว่ากำแพงเมืองจีน
นอกจากโครงสร้างอำนาจในจีนที่ไม่เปิดช่องให้เกิดการช่วงชิงอำนาจได้เลย ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สีจิ้นผิงยังได้สร้างความมั่นคงให้แก่อำนาจของตนด้วยนโยบายต่างๆ ทั้ง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่สร้างความมั่นคงระหว่างประเทศ และเป็นผลงานสำคัญที่ได้รับการยอมรับ
นโยบาย “ปราบคอร์รัปชัน” ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการกำราบผู้ที่จะท้าทายอำนาจ อดีตผู้นำระดับสูง เช่น นายโจวหย่งคัง นายป๋อซีไหล รวมทั้งผู้นำระดับสูงของกองทัพหลายคนถูกดำเนินคดี แม้แต่ “กลุ่มเซี่ยงไฮ้” ของอดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ที่เคยเปี่ยมบารมีในยุคของประธานาธิบดีหูจิ่นเทา วันนี้แม้แต่ชื่อก็แทบจะไม่ได้ยินแล้ว
สีจิ้นผิงยังลดจำนวน “คณะกรรมการประจำกรมการเมือง” 中央政治局常务委员会 ซึ่งเป็นคณะผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุดในจีน จากเดิม 9 คน เหลือ 7 คน โดยตำแหน่งที่ถูกลดลงไปคือ กรมการเมืองด้านกฎหมายและการเมือง ซึ่งเคยสร้างอำนาจอย่างมากให้นายโจวหย่งคัง
นอกจากนี้ สีจิ้นผิงยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสำคัญแทบทุกชุด ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้แต่งานด้านข้อมูลข่าวสารและความมั่นคงทางไซเบอร์ สีจิ้นผิงก็ยังกำกับด้วยตัวเอง อำนาจในจีนขณะนี้ล้วนแต่อยู่ในมือของสีจิ้นผิง เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ได้มีคำสั่งปรับเปลี่ยนผู้บัญชาการด้านความมั่นคงสาธารณะและหน่วยตำรวจในกรุงปักกิ่ง ซึ่งถูกมองว่าเพื่อกระชับอำนาจของสีจิ้นผิง
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนตั้งข้อสังเกตว่า สีจิ้นผิงเพิ่งเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (SCO)
ที่อุซเบกิสถาน เป็นการเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในเวลาเกือบ 3 ปี สะท้อนความมั่นใจและมั่นคงในประเทศจีนของสีจิ้นผิงที่จะเป็นผู้นำทั้ง 3 อำนาจต่อไปอย่างแน่นอน.