xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 พ.ค.2565

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.เฟซบุ๊ก “แตงโม” โพสต์ “หนูถูกทำร้ายจากเพื่อนรัก” พร้อมภาพคล้าย “กระติก” ก่อนโพสต์ขู่เปิดความจริง ถ้า 5 คนบนเรือไม่ยอมพูด!

ก่อนที่พิธีฌาปนกิจศพของแตงโมจะมีขึ้นในวันที่ 24 พ.ค.นี้ ที่คริสตจักรเมธอดิสท์รังสิตคลองสี่ จ.ปทุมธานี ปรากฏว่า วันนี้ (21 พ.ค.) จู่ๆ เฟซบุ๊กของแตงโม "Happy Melon Patcharaveerapong" ได้มีการโพสต์ภาพประกอบข้อความ โดยโพสต์แรก มีข้อความว่า “หนูถูกทำร้ายจากเพื่อนที่เรารักและไว้ใจ” ส่วนภาพเป็นภาพผู้หญิงยืนหันหลังเหมือนยืนอยู่บนเรือ โดยชุดที่ใส่ คล้ายกับที่ "กระติก” อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ ผู้จัดการส่วนตัวของแตงโม ใส่ในวันเกิดเหตุ

ส่วนโพสต์สอง ซึ่งห่างจากโพสต์แรกประมาณ 4 ชม. เป็นภาพประกอบข้อความ โดยในภาพเป็นการถ่ายบนเรือสปีดโบ๊ทวันเกิดเหตุ นอกจากมีแตงโมแล้ว ยังมี “กระติก” ผู้จัดการส่วนตัว ไฮโซปอ ตนุภัทร และแซน วิศาพัช ส่วนข้อความเขียนว่า “เรายังไม่ไปไหน เรายังรอความจริงจากปากทั้ง 5 คนอยู่ แต่ถ้ายังไม่พูดความจริง เราจะเปิดความจริงให้ทุกคนได้รับรู้พร้อมกันว่า เหตุเกิดบนเรือคืออะไร "ลบข้อมูลมือถือ อย่าคิดว่ากู้คืนไม่ได้หรือ ไอ้เพื่อนรัก"

ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวสร้างความสงสัยให้คนที่ติดตามเป็นอย่างมากว่า ใครเป็นผู้โพสต์ภาพพร้อมข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊กของแตงโม โดยทั้งสองโพสต์มีคนกดถูกใจกว่าแสนคน และแสดงความคิดเห็นพร้อมแชร์ต่อหลายหมื่นครั้ง

ด้าน "ต่อย" ดายศ เดชจบ พี่ชายของแตงโม ก็สงสัยเช่นกันว่า ใครมาใช้เฟซบุ๊กของน้องสาวโพสต์ โดยเจ้าตัวได้เข้าไปคอมเมนต์ว่า "fb น้องผม แต่ผมไม่รู้นะครับว่าคุณเป็นใคร แต่ถ้ามีของ จัดเอาออกมาเลยครับ เอาให้หนักๆ เลย"

ขณะที่ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความของนางภนิดา ศิระยุทธโธยิน มารดาของแตงโม ได้เผยผ่านเฟซบุ๊กทนายความทุกข์โดยยืนยันว่า แม่ของแตงโมไม่ได้เล่นเฟซบุ๊กแตงโม และเล่นไม่เป็น ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้โพสต์ พร้อมเตือนว่า “ผู้ที่เข้าไป แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ มีความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์มาตรา 9 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสน บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"

ด้าน “กระติก” อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ ผู้จัดการส่วนตัวของแตงโม และ 1 ในผู้ต้องหาคดีแตงโม กล่าวถึงรูปที่ตนหันหลังที่ถูกโพสต์ในเฟซบุ๊กของแตงโมว่า แตงโมเป็นคนถ่ายในช่วงเวลาขากลับ หลังจากไปทานข้าว และว่า คนที่จะมีรูปนี้ต้องมีโทรศัพท์แตงโมด้วย เนื่องจากตำรวจได้คืนโทรศัพท์ไปเป็นสัปดาห์แล้ว ก็ไม่ทราบว่าโทรศัพท์อยู่กับใคร แต่ยืนยันว่าไม่ได้อยู่กับตัวเอง กระติก ยังกล่าวด้วยว่า จากที่อ่านข้อความในโพสต์ พบว่าเป็นการกล่าวหาตัวเองในลักษณะยุยงปลุกปั่นให้ได้รับความเสื่อมเสียชัดเจน จึงจะขอรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อดำเนินคดีภายหลัง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ และรองโฆษกดีเอสไอ เพื่อยื่นเอกสารเพิ่มเติมขอให้รับคดีการเสียชีวิตของ “แตงโม” นิดา พัชรวีระพงษ์ เป็นคดีพิเศษ

นายอัจฉริยะ เผยว่า มาให้ถ้อยคำพร้อมนำพยานหลักฐานสำคัญ 20 ชุดที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์ และพยานบุคคลจากผู้เชี่ยวชาญ 13 ปาก เนื่องจากพบว่า มีเรือสปีดโบ๊ท 2 ลำในวันเกิดเหตุ เป็นภาพจากกล้องวงจรปิดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต บริเวณท่าทรายริมแม่น้ำหลังเกิดเหตุ โดยเรืออีก 1 ลำ น่าจะถูกนำไปขายทอดตลาดแล้ว แต่อาจยังอยู่ในประเทศ และตำรวจน่าจะทราบข้อมูลดังกล่าว ซึ่ง “กระติก” อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ อดีตผู้จัดการของแตงโม และนางภนิดา แม่แตงโม ก็เคยพูดว่ามีเรือ 2 ลำ เชื่อว่าเรืออีกลำที่คล้ายรุ่นเดียวกันกับลำก่อเหตุนั้นยังอยู่

นายอัจฉริยะ กล่าวด้วยว่า “ลักษณะบาดแผลขาขวาด้านในของแตงโมเกิดจากของมีคม ไม่ใช่ใบพัดเรือแน่นอน และในมือข้างเดียวกำทรายคล้ายกับทรายตรงท่าทรายตามกล้องวงจรปิดดังกล่าว มีโคลนในปอดแตงโม ทำให้เชื่อว่าศพลอยมาก่อนไม่ใช่จุดที่ตกเรือ เพราะจุดนั้นมีแต่ทราย ไม่มีโคลน และผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การที่โคลนอยู่ในปอด แสดงว่าไม่ได้เสียชีวิตในน้ำลึก แต่จุดพบศพเป็นน้ำลึก ซึ่งมีพยานชี้ชัดว่าจุดตกอยู่คนละฝั่ง”

นายอัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ตำรวจได้สอบถามกรณีแตงโมมีประวัติรักษาโรคซึมเศร้าหรือไม่ ซึ่งพบว่ามีสารยานอนหลับในร่างกายแตงโมชนิดเดียวกับคนบนเรือ หากแพทย์ไม่ได้จ่ายยาให้ สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นฆาตกรรมโดยการใส่ยา แต่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า อาจเป็นเหตุเฉพาะหน้า ตนเชื่อว่านายวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือแซน ที่อยู่บนเรือด้วยจะต้องให้การเท็จอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจรับเป็นคดีพิเศษขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอธิบดีดีเอสไอ เว้นแต่เกรงใจตำรวจ ถ้าตรงไปตรงมา ต้องรับแน่นอน และคดีจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่จะไม่เกี่ยวกับคดีที่ จ.นนทบุรี

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน เผยว่า เบื้องต้นจะรวบรวมพยานหลักฐานที่ยื่นมาเพิ่มเติมและการให้ถ้อยคำของ นายอัจฉริยะมาประกอบในสำนวน ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาสอบปากคำและนำหลักฐานอื่นที่รับมาประกอบการพิจารณาทั้งหมด เพื่อเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณา และเสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาตามกฎหมาย แต่ตอบไม่ได้ว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวอีกว่า “ส่วนหลักฐานที่ยื่นมา จะรวมอยู่ในสำนวนเดียวกับที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล มายื่นก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งการสอบสวน ดีเอสไอก็รับฟังข้อเท็จจริงทุกประเด็น ทั้งประเด็นที่ต้องสอบถามพนักงานสอบสวน และประเด็นข้อสงสัยที่ร้องเข้ามาทั้งหมด ตอนนี้เราได้ทำตารางสอบสวนแยกไว้ว่า ข้อเท็จจริงที่ได้รับแจ้งมาเป็นอย่างไร ข้อมูลจากผู้ร้องมีประเด็นที่ยังสงสัย ต้องไปดูข้อมูลเพิ่มเติม”

วันเดียวกัน (18 พ.ค.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มีคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตำรวจชุดคลี่คลายคดีการเสียชีวิตของแตงโม ประกอบด้วย พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบช.ภ.1, พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม ผบก.สส.ภ.1, พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผบก.ภ.จว.นนทบุรี และ พ.ต.อ.จาตุรนต์ อนุรักษ์บัณฑิต ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี โดยมี พล.ต.อ.มนตรี ยิ้มแย้ม ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนรองจเรตำรวจแห่งชาติ (สบ 9) ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริง

โดยการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้เข้ายื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. ขอให้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับตำรวจภูธรภาค 1 ที่รับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนคดีแตงโม เพราะเชื่อว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจทั้ง 4 นายดังกล่าว สร้างความเสียหายให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่กระทำการรวบรวมพยานและหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถที่จะกระทำได้ เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิด และพิสูจน์ให้เห็นถึงความผิด และนำข้อมูลเท็จหรือพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเข้าสู่สำนวนการสอบสวน และไม่ทำคดีชันสูตรการตาย ไม่ตรวจสารเสพติด นายวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือแซน และไม่อายัดเรือของกลางตั้งแต่แรก

2.ก.อ. มีมติเอกฉันท์ให้ “เนตร นาคสุข” ออกจากราชการ แทนการปลดออก และยังได้บำเหน็จบำนาญ หลังผิดวินัยร้ายแรงสั่งไม่ฟ้อง "บอส วรยุทธ"!


เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ได้เป็นประธาน การประชุม ก.อ. โดยที่ประชุมได้มีลงมติผลสอบคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทกระทิงแดง ผู้ต้องหาคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อเสียชีวิต ซึ่งได้มีการส่งผลการสอบสวนให้นายพชร ประธาน ก.อ. เมื่อช่วงหลังหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

หลังประชุม นายพชร กล่าวว่า มีผู้เข้าร่วมประชุม 14 คน ลา 1 คน ซึ่งมี ก.อ.ที่เคยถูกตั้งเป็นกรรมการสอบสวนวินัยนายเนตร 6 คน ที่ประชุมจึงให้งดออกเสียง กรรมการที่มีสิทธิลงมติจึงเหลือ 8 คน ซึ่งกรรมการทั้ง 8 มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายเนตรขาดความระมัดระวังละเอียดรอบคอบในการรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่สำคัญในคดี และไม่ให้ความสำคัญกับสำนวนทุกประเภท ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

อันเป็นการกระทำความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ ไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553


ทั้งนี้ ความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ และฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตาม พ.ร.บ..ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ส่วนความผิดฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำครั้งเดียว ผิดวินัยหลายฐาน จึงเห็นควรลงโทษในสถานความผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่มีโทษหนักกว่า แต่ทางสอบสวน ไม่ปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงยังไม่ถึงขนาดที่จะต้องถูกไล่ออกจากราชการ เห็นพ้องกันว่า ควรลงโทษผู้ถูกกล่าวหา “ปลดออกจากราชการ”

แต่เมื่อพิจารณาถึงประวัติการรับราชการพบว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยถูกลงโทษในการกระทำความผิดทางวินัยมาก่อน และกรณีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดทางวินัยครั้งแรก ผู้ถูกกล่าวหาเองได้รับราชการมาเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี ทำคุณประโยชน์แก่ราชการไว้มาก กรณีมีเหตุอันควรลดหย่อนโทษให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ก.อ.ทั้ง 8 ซึ่งรวมตน (นายพชร) ด้วย จึงมีมติเเละคำสั่งให้ลงโทษนายเนตร นาคสุข ผู้ถูกกล่าวหา ในสถาน “ให้ออกจากราชการ” ตาม พ.ร.บ. ข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 85, 87

นายพชร กล่าวต่อว่า มติ ก.อ.ถือว่าสิ้นสุดแล้วในส่วนของการดำเนินการทางวินัย หากนายเนตรไม่เห็นด้วยกับมติ ก.อ. สามารถใช้วิธีทางปกครองโดยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ โดยคำสั่งให้ออกจากราชการมีผลตั้งแต่วันที่มีการอนุมัติให้ลาออกจากราชการแล้ว ส่วนการดำเนินคดีอาญากับนายเนตร ในส่วนของสำนักงานอัยการ คงไม่มีแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น

ในส่วนของนายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์ของนายวรยุทธนั้น นายพชร กล่าวว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงโดยมีนายประพัฒน์พงศ์ สุคนธ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครองเป็นประธานสอบ แต่จะเป็นความผิดสถานใด ต้องรอดูผลสอบสวน

เมื่อถามว่า การลงโทษนายเนตร แค่ให้ออกจากราชการ มองว่าเป็นการช่วยเหลือกันหรือไม่ นายพชรยืนยันว่า ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือกัน เพราะนายเนตรนั้น ในหมู่อัยการรู้นิสัยกันดีว่า จริงๆ แล้วนายเนตรไม่ควรจะขาดความรอบคอบ แต่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การสั่งคดีนั้นมีการทุจริตตรงไหน นายเนตรถือเป็นอัยการที่มือสะอาด แต่การใช้ดุลพินิจในขณะนั้นจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ถือว่าขาดความรอบคอบจากมาตรฐานของคนที่ทำคดีมายาวนาน ซึ่งต้องมีความรอบคอบมากขึ้น และต้องสอบพยานคนกลางที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้เป็นที่ยอมรับของสังคม

นายพชร กล่าวด้วยว่า “องค์กรอัยการเราอยู่มาถึง 140 กว่าปี ถ้าเราไม่ได้รับความเชื่อถือต่อสังคม เรารับไม่ได้ เพราะองค์กรจะต้องอยู่ต่อไป เราเป็นทนายแผ่นดิน เป็นข้าแผ่นดิน ถ้าทนายแผ่นดินเชื่อถือไม่ได้ ก็ไม่รู้จะสรรหากระบวนการยุติธรรมไหนที่เชื่อถือได้อีกแล้ว"

วันต่อมา (19 พ.ค.) นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤตมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณีที่คณะกรรมการอัยการมีมติเอกฉันท์ให้นายเนตร ออกจากราชการ กรณีใช้ดุลพินิจไม่รอบครอบอย่างร้ายแรงสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตว่า เรื่องของนายวรยุทธเข้ามาสู่ กมธ.เป็นปี และต้องถูกลงโทษอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่พิธีกรรม และเชื่อว่า ความคาดหวังของประชนต้องการให้มีการลงโทษ

แต่มติของ ก.อ.บอกว่า ใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบอย่างร้ายแรงในการสั่งคดี เป็นผลให้นายเนตรออกจากราชการ นับแต่วันที่ยื่นลาออก แต่ยังสามารถรับบำเหน็จบำนาญได้อยู่นั้น ขอถามว่า การมีมติอย่างนี้มีผลต่อโทษหรือผลร้ายต่อนายเนตรอย่างไร เพราะบำเหน็จบำนาญยังได้เหมือนเดิม การมีคำสั่งอย่างนี้จะสร้างความศรัทธาต่ออัยการ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ กลางน้ำ หรือไม่ และอยากถามว่า ประชาชนสบายใจหรือที่ ก.อ.มีมติอย่างนี้

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า ความเห็นของ ก.อ.ค้านต่อผลการสอบสวนของนายวิชา มหาคุณ ที่สรุปว่า มีการช่วยเหลือนายวรยุทธ เป็นลักษณะขบวนการ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลจำนวน 8 กลุ่ม รวมถึงอัยการที่ประพฤติมิชอบรวมอยู่ด้วย
และในรายงานการสอบสวนฉบับดังกล่าว มีการร้องขอความเป็นธรรมในชั้นอัยการฯ ทั้งหมด 14 ครั้ง และอัยการสูงสด รองอัยการสูงสุด ที่สั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมนั้นมีถึง 13 ครั้ง ส่วนครั้งที่ 14 นายเนตรสั่งค้าน ตรงกันข้ามกับที่อัยการสั่ง 13 ครั้ง และการพิจารณาขอความเป็นธรรมที่เป็นผลสำเร็จนั้น ได้ใช้หลักฐานเดิมของ 13 ครั้งเกือบทั้งหมด กรณีอย่างนี้เพียงแค่สั่งโดยไม่รอบคอบเท่านั้นหรือ และกับข้อเท็จจริงสมเหตุสมผลหรือไม่

3. ที่ประชุม ศบค. ยกเลิกมาตรการกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง ไฟเขียวเปิดผับบาร์แค่ในพื้นที่สีฟ้า-เขียว แต่ห้ามเปิดเกินเที่ยงคืน!



เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) แถลงผลประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า มีการพิจารณารายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด พบว่า กราฟการติดเชื้อระลอกเมษายน 2564 และระลอกมกราคม 2565 พบว่า ในเดือนมกราคม 2565 ติดเชื้อมากกว่า แต่ลดลงรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งทิศทางเป็นบวก ส่วนการติดเชื้อรายใหม่ยังต่ำกว่าเส้นคาดการณ์ เช่นเดียวกับปอดอักเสบ และผู้เสียชีวิต

ส่วนเรื่องโรคประจำถิ่น ระยะที่ 3 นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จะเร็วขึ้นกว่าเดิมประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ยังคงเรื่องโรคประจำถิ่น ณ วันที่ 1 ก.ค. ไว้ก่อน เพราะเพิ่งเปิดภาคเรียน จึงขอความร่วมมือประชาชนเพื่อให้เข้าสู่โรคประจำถิ่นได้จริง

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ปรับเรื่องผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง จากเดิมให้ผู้เสี่ยงสูงกักตัวเอง 5 วัน อีก 5 วันไปทำงานโดยไม่ต้องกักตัว เป็นให้สังเกตอาการตนเอง 10 วัน แบบไม่กักตัว โดยสามารถมาทำงานได้ และตรวจ ATK เมื่อป่วย

ที่ประชุม ศบค. ยังมีการปรับเพิ่มพื้นที่สีฟ้า (นำร่องการท่องเที่ยว) จาก 12 จังหวัด เป็น 17 จังหวัด ส่วนพื้นที่สีฟ้าที่ดำเนินการบางพื้นที่ จาก 16 จังหวัดเหลือ 12 จังหวัด และเพิ่มสีเขียว (พื้นที่เฝ้าระวัง) จาก 0 จังหวัดเป็น 14 จังหวัด ขณะที่พื้นที่สีเหลือง (พื้นที่เฝ้าระวังสูง) จาก 65 จังหวัด เหลือ 46 จังหวัด โดยให้เริ่มวันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบ อบ นวด ได้เฉพาะพื้นที่สีฟ้าและพื้นที่สีเขียว โดยเริ่มวันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป แต่ต้องเปิดและเข้าใช้บริการ จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 24.00 น. พร้อมทั้งงดบริการเครื่องดื่มที่มีการใช้แก้วร่วมกัน งดกิจกรรมส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การให้บริการที่มีการคลุกคลีและสัมผัสใกล้ชิดกับลูกค้า เช่น อาบ อบ นวด จะต้องสวมหน้ากากอนามัย ผู้ให้บริการต้องได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ พนักงานต้องผ่านการคัดกรอง ตรวจ ATK ทุก 7 วัน หรือเมื่อมีความเสี่ยง และยังต้องปฏิบัติตนตามมาตรการ Universal prevention ส่วนผู้เข้าบริการแค่รับวัคซีนตามเกณฑ์ก็เข้าใช้บริการได้แล้ว แต่ยังงดสำหรับกลุ่ม 608

ส่วนสถานประกอบการ จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting พร้อมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย กทม. สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ประเมินการอนุญาตและติดตามกำกับอย่างใกล้ชิด โดยต้องมีการขึ้นทะเบียน และเว้นระยะห่างโต๊ะอย่างน้อย 1 เมตร ระบายอากาศให้ดีและเพียงพอ ทั้งนี้หากดำเนินการไม่ดี ไม่มีความพร้อม สามารถโดนสั่งปิดการให้บริการได้เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย

4. "อดีตพระกาโตะ" เข้ารับทราบข้อหายักยอกทรัพย์ แต่ให้การปฏิเสธ อ้างแค่ยืมเงินวัด ไม่รู้เป็นความผิด ไลฟ์ยืนยัน จะไม่ทำเลวอีก!



เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายพงศกร จันทร์แก้ว หรืออดีตพระกาโตะ เดินทางมาเข้าพบพนักงานสอบสวน กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พร้อมทนายความและบิดา หลังได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดียักยอกทรัพย์ กรณีเบิกถอนเงินวัดเพ็ญญาติ จ.นครศรีธรรมราช ไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท โดยมี พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ รองผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง และ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. มาสอบปากคำด้วยตนเอง

ทั้งนี้ พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต เผยว่า จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องจากก่อนหน้านี้พบว่า อดีตพระกาโตะได้เบิกเงินของวัดบำเพ็ญญาติไปหลายครั้ง ซึ่งอดีตพระกาโตะให้ข้อมูลว่า ตามระเบียบของการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีวัด ต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 คนลงนาม หรือ 2 ใน 3 คนลงนาม จึงจะเบิกเงินไปได้ ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบปากคำว่า มีการเบิกเงินในลักษณะดังกล่าวกี่ครั้ง มีการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบพยานหลักฐานจากธนาคารมาประกอบ ส่วนการแจ้งข้อหาอื่นๆ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบ

ขณะที่อดีตพระกาโตะ เผยว่า มารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน โดยยอมรับว่า เบิกเงินวัดไปใช้แก้ปัญหาส่วนตัวจริง โดยการขอยืมจำนวน 6 แสนบาท เป็นการเบิก 2 ครั้ง ครั้งแรก 5 แสนบาท และครั้งที่สอง 1 แสนบาท และร่วมลงนามกับเจ้าหน้าที่วัดอีก 1 คน ตามระเบียบ โดยไม่รู้มาก่อนเลยว่า การขอยืมเงินวัดถือเป็นความผิด พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์ เพราะไม่ได้มีเจตนายักยอกทรัพย์แต่อย่างใด โดยได้เตรียมหลักทรัพย์มาขอยื่นประกันตัวกับพนักงานสอบสวนด้วย

นอกจากนี้ อดีตพระกาโตะยังเปิดใจด้วยว่า ขอขอบคุณคนสำหรับคนที่เข้าใจตนเอง ส่วนคนที่ไม่เข้าใจก็ขอโทษ ยอมรับผิดที่พลาดไปแล้ว และขอโทษสื่อมวลชนที่ไม่ได้ออกมาเปิดเผยความจริงตั้งแต่ตอนแรก เพราะยังครองผ้าเหลืองอยู่ แต่ตอนนี้ตนเป็นฆราวาสแล้ว พร้อมที่จะพูดความจริงทุกอย่าง

อดีตพระกาโตะยังฝากถึงพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปด้วยว่า ให้ดูตนเป็นตัวอย่าง อย่าทำเหมือนตน และอยากให้ช่วยกันทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่ต่อไป

วันเดียวกัน "อดีตพระกาโตะ" ยังโพสต์ภาพและข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กด้วยว่า จะมีการไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊กในวันที่ 20 พ.ค. เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อถึงกำหนด อดีตพระกาโตะได้ไลฟ์ขายขนม ปรากฏว่า ใช้เวลาไลฟ์แค่ไม่กี่นาที ก็ขายขนมได้หมด

ทั้งนี้ ช่วงท้ายไลฟ์ อดีตพระกาโตะ กล่าวว่า จากนี้ขอเริ่มชีวิตใหม่ และจะไม่ทำความเลวอีก มันเหนื่อย จากนั้นก็ร้องเพลง อ้อมกอดที่ห่างเหิน เพลงที่เคยไปออกรายการหนึ่งเมื่อครั้งก่อนบวชให้แฟนคลับฟัง

5. สั่งเด้ง 2 ตำรวจสามพราน เซ่นคลิปฉาวกระทืบ 3 วัยรุ่นขี่ จยย.ย้อนศรที่เข้าขอความช่วยเหลือ พร้อมตั้ง คกก.สอบข้อเท็จจริง!



จากกรณีกระแสโซเชียลได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ 3 วัยรุ่น ขี่รถจักรยานยนต์ พยายามขอความช่วยเหลือจากตำรวจ สภ.สามพราน จ.นครปฐม แต่กลับถูกจับใส่กุญแจมือ และมีการกระทืบ เหยียบหัว ใช้เข็มขัดฟาด กลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามว่า ตำรวจทำเกินไปหรือไม่ เพราะทำเหมือนกับไม่ใช่คน ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนกลายเป็นประเด็นร้อนและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7 กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก สภ.สามพราน ถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาขณะเข้าจับกุม เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. เวลาประมาณ 01.30 น. เหตุเกิดที่หน้าหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ ถนนบรมราชชนนี หมู่ 1 ต.บางเตย อ.สามพราน จ.นครปฐม

สำหรับตำรวจที่ต้องหาว่าทำร้าย คือ ร.ต.อ.ไชยะพจน์ โคตรสำราญ รอง สวป.สภ.สามพราน ส่วนผู้ถูกทำร้าย ผู้ต้องหาคดีอาวุธปืนเถื่อน นายพัสวเรศ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี ของกลางที่พบอาวุธปืนลูกซองสั้นไทยประดิษฐ์ 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืนเบอร์ 12 จำนวน 2 นัด

สำหรับพฤติการณ์วันเกิดเหตุ ร.ต.อ.ไชยะพจน์ ปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวร 20 ออกตรวจพื้นที่พร้อมพลขับ ได้รับแจ้งจากศูนย์ 191 มีการรวมตัวกลุ่มวัยรุ่นและขับขี่รถจักรยานยนต์ย้อนศรไปมาบริเวณหน้าหมู่บ้านที่เกิดเหตุ จึงได้เดินทางไป แต่ไม่พบกลุ่มวัยรุ่นอยู่บริเวณดังกล่าว ร.ต.อ.ไชยะพจน์ จึงได้จอดรถเปิดสัญญาณไฟป้องกันเหตุ

ระหว่างนั้นนายพัสวเรศได้ขี่รถจักรยานยนต์ย้อนศรมาตามถนนบรมราชชนนี พร้อมกับพวกอีก 2 คน จึงได้เรียกตรวจค้นพบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จึงได้จับกุมตัวนายพัสวเรศส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ต่อมาบิดาของนายพัสวเรศ ได้แจ้งว่า นายพัศวเรศ ถูก ร.ต.อ.ไชยะพจน์ ทำร้ายร่างกายโดยการเตะและกระทืบจนได้รับบาดเจ็บ

เวลาต่อมา มีรายงานว่า พ.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ ชูนาค รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม ได้มีคำสั่งให้ ร.ต.อ.ไชยะพจน์ และ ส.ต.ต.พนาดร ช่างเขียน ผบ.หมู่ (ป.) สภ.สามพราน หยุดปฏิบัติหน้าที่ และไปประจำ ศปก.ภ.จว.นครปฐม พร้อมทั้งออกคำสั่งตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ในขณะเดียวกัน สภ.สามพราน ได้ติดตามผลการชันสูตรบาดแผลของผู้ต้องหา เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ท.ธนายุตม์ เผยด้วยว่า ตนได้เรียก รอง ผบช.ภ.7 ที่รับผิดชอบพื้นที่ พร้อมทั้ง ผบก., รอง ผบก.ภ.จว.นครปฐม, ผกก.สภ.สามพราน พร้อมตำรวจที่เกี่ยวข้อง มาประชุมสรุปหาข้อเท็จจริง เพื่อให้ประชาชนได้ทราบ และให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ขอยืนยันว่า หากผลการสอบสวนข้อจริงพบว่า ตำรวจทั้งสองนายกระทำผิด จะดำเนินการทั้งวินัย และอาญาอย่างเด็ดขาด เบื้องต้นอยากขอโทษต่อสังคมถึงกรณีดังกล่าว หากผู้ใต้บังคับบัญชาตนกระทำความผิด แต่ต้องรอผลสอบข้อเท็จจริงว่า ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ เพื่อจะได้เกิดความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น