xs
xsm
sm
md
lg

หมอแนะผู้ปกครอง ลูกเคยติดเชื้อโควิด ควรศึกษาภาวะ "มิส-ซี" อาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอเพจดังได้เตือนผู้ปกครองที่มีลูกเคยติดเชื้อโควิด-19 ควรศึกษาภาวะ "มิส-ซี" เพื่อสังเกตกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก ยันการป้องกันไม่ให้เกิดมิสซี ดีสุดคือ ป้องกันติดเชื้อโควิด และรับวัคซีนโควิด

วันนี้ (4 พ.ค.) เพจ "nfectious ง่ายนิดเดียว" โพสต์ข้อความให้ความรู้พ่อแม่ผู้ปกครองลูกเคยติดเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่า "ลูกหลานบ้านไหนมีเยาวรุ่นเคยติดเชื้อโควิด ควรศึกษาและรู้จักคำว่า "มิส-ซี" ช่วงนี้เยาวรุ่นที่แอดมิตในหอผู้ป่วย มิส-ซี เพียบ และบางรายสงสัยมิส-ซี เพราะมีไข้ หลังหายจากโควิด แพทย์และผู้ปกครองของเยาวรุ่นต้องมีความรู้เรื่องมิส-ซี เพราะจะมากขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด การวินิจฉัยไม่ยาก

มิสซี ย่อมาจาก MIS-C = multisystem inflammatory syndrome in children คือ กลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในเด็ก ภายหลังหายจากการติดเชื้อโควิด สำหรับการวินิจฉัยของแพทย์ ได้แก่

1. เด็กอายุ 0 ถึง ผู้ใหญ่ 21 ปี เคยติดเชื้อโควิด
2. หลังหายแล้ว ประมาณ 2-6 สัปดาห์ หรืออยู่ในระหว่าง 10 วันที่กักตัว กลับมามีอาการไข้สูงใหม่ ไข้เกิน 24 ชม.
3. มีอาการที่บ่งว่ามีการอักเสบของอวัยวะ 2 ข้อขึ้นไปดังนี้ พบบ่อยสุดคือ ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาเจียน

ลำดับถัดมาที่พบคือ ตาแดงทั้งสองข้าง, ผื่นแดงขึ้นทั้งตัว, มือ เท้า บวมแดง, ลิ้นแดงคล้ายผิวสตรอว์เบอร์รี ริมฝีปากแดง

อาการที่พบบ่อยด้านบน อาการไม่รุนแรง แต่จะมีไข้สูงลอย ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบน้อยแต่มีอาการรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิต ได้แก่ ระบบประสาท ชัก หมดสติ ช็อก ตับวาย ไตวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

4. ผลเลือดบ่งว่ามีการอักเสบ เบื้องต้น ESR CRP proBNP TropI สูง อื่นๆ d-dimer procalcitonin trigleceride PT PTT INR lactate

5. ทุกเคสที่นึกถึง MIS-C ต้องนึกถึงโรคอื่นๆ ด้วยและให้การรักษาไปด้วย ได้แก่ ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ควรส่งตรวจเพาะเชื้อแบคทีเรียในเลือด และให้ยาปฏิชีวนะทุกรายที่สงสัยมิสซี

6. การรักษามิส-ซี
- ยาต้านภูมิคุ้มกัน IVIG
- สเตียรอยด์ methylprednisolone
- ยาต้านเกล็ดเลือด ASA

7. การป้องกันไม่ให้เกิดมิสซี ดีสุดคือ ป้องกันติดเชื้อโควิด และรับวัคซีนโควิด

8. วัคซีนเสริมอื่นๆ ที่ควรได้รับคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่
และอื่นๆ สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว ควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวม ไอพีดี (ไม่ฟรี มีค่าใช้จ่าย) เนื่องจากลดการติดเชื้ออื่นๆ ที่อาจพบร่วมกับมิสซี และได้ลดการมีไข้จากเชื้อที่ป้องกันได้

ใกล้เปิดเทอมแล้ว เยาวรุ่นควรรับวัคซีนดังนี้

- วัคซีนโควิด เมื่ออายุ >5 ขวบ
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เมื่ออายุ > 6 เดือนขึ้นไป (วัคซีนเสริม) และวัคซีนพื้นฐานตามช่วงวัย ให้ครบ
- วัคซีนเสริมอีกชนิดคือ ไอพีดีป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (ไม่ฟรี) ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคปอด เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อเอชไอวี

ด้วยความปรารถนาดี"




กำลังโหลดความคิดเห็น