xs
xsm
sm
md
lg

ถกสนั่น โอมิครอน VS วัณโรค ใครกันแน่ “ภัยเงียบร้ายแรง”!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สังคมตั้งคำถาม “โอมิครอน-วัณโรค” อันตราย เทียบคล้ายหลายจุด? แพทย์ไขกระจ่างพิสูจน์แล้ว ใครกันแน่คือภัยร้ายใกล้ตัวจริง!!?




ภัยเงียบที่ติดเชื้อร้ายแรง “โอมิครอน-วัณโรค”!?


กลายเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก

โดยพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่ได้ระบาดอย่างรวดเร็ว และนักวิทยาศาสตร์หลายคนพากันออกมาเตือนว่าเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโควิด-19 ที่แพร่กระจายได้รวดเร็วที่สุด และสามารถติดเชื้อซ้ำได้อีกครั้ง พร้อมทั้งมีการนำมาเปรียบเทียบ หนึ่งในภัยร้ายใกล้ตัวที่หลายๆ คนไม่ควรมองข้าม อย่าง “วัณโรค" ที่ติดเชื้อร้ายแรงอันดับ 2


เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงติดต่อไปยัง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ช่วยไขความกังวล และให้ความรู้ถึงความรุนแรงของเชื้อโควิด-19

“มันคนละเรื่องกัน วัณโรคยังมีการติดเชื้ออยู่ และมีลักษณะของความเรื้อรังที่เกิดขึ้น ก็เลยทำให้อ่อนเพลียไม่มีแรง กินข้าวไม่ได้ และมีอาการอักเสบที่เกิดจากวัณโรคเรื้อรัง


แต่ที่มีการโพสต์ลักษณะนั้นอาจจะเป็นการยกตัวอย่าง จริงๆ แล้วยกเอามาเทียบเคียงกัน แต่ด้วยความเป็นไป ด้วยสาเหตุด้วย ค่อนข้างมีข้อจุดที่ต่างกันอยู่เยอะพอสมควร”

[ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา]
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดเชื้อทางอากาศ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ที่มักส่งผลกระทบต่อปอดมากที่สุด โดยผู้ป่วยวัณโรค 1 คน สามารถแพร่เชื้อได้ 10 คน และผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะแฝง จะมีเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกาย แต่ตัวเชื้อจะอยู่นิ่ง ไม่ทำปฏิกิริยาใดๆ ต่อร่างกาย

มีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ มีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก เหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย ผิวหนังซีด เหลือง

ขณะที่ โอมิครอน มีอาการ มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีอาการเหงื่อออกเยอะตอนกลางคืน อาการปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอาการท้องเสีย หรือบางครั้งจะไม่แสดงอาการ”


ทว่า คุณหมอธีระวัฒน์ให้ความรู้ไว้ว่า อาจจะเป็นการเทียบเคียงกัน แต่ความจริงแล้วนั้นทั้ง 2 โรคค่อนข้างมีข้อจุดที่ต่างกันอยู่เยอะพอสมควร

“จริงๆ แล้ว ลักษณะของโอมิครอนโดยปกติแล้วโรคไม่ค่อยรุนแรงเท่าไหร่ แต่ถ้ามันเกิดรุนแรงขึ้นมามันก็มีอาการ ตามแบบลักษณะโควิดทั่วไป

คือออกมาลักษณะทางเดินหายใจหรือปอดส่วนหนึ่ง หรืออีกส่วนหนึ่งออกมาในรูปของการอักเสบของทุกอวัยวะทั่วร่างกาย โดยที่อาจจะไม่มีระบบปอดก็ได้ จะมีระบบสมองด้วย

แปลว่าที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ โอมิครอนดูไม่รุนแรงเข้าถึงเหมือนสายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา ข้อที่ 2 คือ เมื่อหายจากโอมิครอนแล้ว ตอนนี้ในประเทศไทยเท่าที่กลุ่มของพวกเราที่ดูแลคนไข้ หลังจากที่หายโอมิครอนไปแล้ว กลับพบว่าลองโควิดที่เกิดจากโอมิครอนดูจะค่อนข้างเด่นชัดมาก”




ลองโควิด=เสี่ยงอันตราย!?


ท่ามกลางความกังวลของประชาชนถึงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คุณหมอธีระวัฒน์เผยข้อมูลข้างต้นไว้ว่า ไม่ควรประมาทจากเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน เพราะอาการหลังที่ติดเชื้อไปแล้วนั้น สามารถเกิดปรากฏการณ์ของลองโควิดที่รุนแรงต่อเนื่อง ถึงขั้นอาจมีอาการเป็นโรคจิต หรือมีอาการทางสมองได้

“ข้อมูลตรงนี้คือข้อมูลจากการสังเกตลองโควิดที่เกิดจากโอมิครอนดูมันค่อนข้างเรื้อรัง และความเรื้อรังนี้ลักษณะที่เป็นคือ อาจจะเป็นพักๆ แล้วก็สงบไปพักๆ แล้วก็ปะทุขึ้นมาใหม่ ซึ่งในลักษณะที่เกิดขึ้นตรงนี้มันกระทบระบบแทบทุกอวัยวะของร่างกาย


แล้วแต่ว่าคนไหนจะมีอะไรเป็นพิเศษมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย กินข้าวไม่ได้ หดหู่ ซึมเศร้า จนกระทั่งมีอาการเป็นโรคจิต หรือมีอาการทางสมอง อย่างสมองเสื่อมก่อนวัย หรือมีอาการเป็นโรคลมชัก โรคพาร์กินสัน หรือมีอาการแขนขาดูไม่ค่อยมีแรง มีอาการตะคริว

ลักษณะที่ออกมาเป็นความเรื้อรังแบบนี้ ก็จะไปพ้องกับโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นหลายชนิด และที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ แต่ที่จริงแล้วการที่ติดเชื้อที่อยู่เรื้อรังมีอยู่หลายเชื้อด้วยกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นวัณโรคอย่างเดียว

แต่อาการของลองโควิด หลังจากหายโอมิครอนแล้ว ตรงนี้เองคือเชื้อหายแล้ว แต่อาการยังปะทุต่อเนื่องตลอดไป หรืออาจจะต่อเนื่องตลอดเวลา หรือต่อเนื่องเป็นพักๆ ก็ได้

และที่เราปวดหัวอยู่ตอนนี้ คือในระบบประสาทอัตโนมัติ คือจู่ๆ หัวใจเต้นเร็ว เช่นเต้นไป 160 ครั้ง, 180 ครั้ง และกลับมาปกติ หรือบางทีนั่งๆ อยู่ ก็เป็นลมไปเฉยๆ ซึ่งอาการตรงนี้เมื่อเอาไปตรวจหัวใจ ไปตรวจแล้วก็ไม่เจอ แต่อาการอย่างนั้นก็คงเป็นอยู่”


สุดท้าย ทางด้านของคุณหมอธีระวัฒน์ย้ำถึงการดูแลตัวเอง พร้อมย้ำทิ้งท้ายให้ฟังว่า ไม่ควรประมาท หากติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนควรรีบรักษาทันที

“โอมิครอนนั้นถึงแม้ว่าติดแล้วดูไม่รุนแรงเท่าระยะติดเชื้อก็ตาม แต่ประมาทไม่ได้ เพราะว่าอาการหลังที่ติดเชื้อไปแล้วนั้น มีจำนวนมากพอสมควรที่เกิดจากปรากฏการณ์ของลองโควิดเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดติดเชื้อของโอมิครอนแล้วนั้นต้องรีบรักษาให้สิ้นสุดโดยเร็วที่สุด ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อพิสูจน์ก็ตาม แต่น่าจะเป็นหนทางในการป้องกันลองโควิดได้

และในขณะเดียวกันฟ้าทะลายโจรที่อยู่ใกล้มือ จริงๆ ในประสบการณ์ของประชาชน และในพวกเราที่ได้แนะนำประชาชนทั่วไป ก็พบว่าสามารถสงบการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดติดเชื้อไปแล้ว อย่าปล่อยให้หายเอง เพราะว่าการหายเองนั้นอาจจะใช้เวลาเนิ่นนาน”




สกู๊ปข่าว : MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น