xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.สูญเส้นทางให้เอกชน ประมูลไม่ได้เพราะไม่มีรถใหม่ จี้เร่งจัดหาแทนจ้างเหมาภายนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ดรีมทีมรถร่วมฯ รายย่อย บุกคมนาคมพรุ่งนี้ (20 เม.ย.) จี้เร่งรัดจัดหารถใหม่แทนการจ้างเอกชน 400 คัน เหตุเคยอนุมัติเส้นทางปฏิรูป 107 เส้นทางแล้วไม่มีรถใหม่ แถมขนส่งฯ เปิดประมูลใหม่ 77 เส้นทาง ประมูลแข่งเอกชนไม่ได้เพราะไม่มีรถใหม่ งัดแคมเปญปลุกใจ "ไม่มีรถ ไม่มีเส้นทาง ไม่มี ขสมก." ขณะที่รถร่วมเอกชนไม่ได้เลย พบสูญเส้นทางเดิมเพียบ บางเส้นทางทำเงินให้องค์การฯ

วันนี้ (19 เม.ย.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2565 ลงวันที่ 18 เม.ย. เรื่อง คัดค้านการจ้างรถโดยสารเอกชนจำนวน 400 คัน ระบุว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กางไทม์ไลน์ ขสมก.จ้างเหมาเอกชนวิ่งให้บริการรถโดยสาร EV จำนวน 400 คัน ระหว่างรอแผนฟื้นฟูฯ คาดเปิดประกวดราคา พ.ค.นี้ รู้ตัวผู้ชนะ มิ.ย. 65 ก่อนทยอยให้บริการเฟสแรก 224 คันภายใน ส.ค. 65 ครบตามแผนภายในสิ้นปีนี้ วิ่งเส้นทางย่านสำคัญใจกลางเมือง-เชื่อมต่อขนส่งรูปแบบอื่น ลดฝุ่น PM 2.5 ระบุช่วยลดต้นทุนค่าซ่อมบำรุง-พนักงาน-เชื้อเพลิงนั้น

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเห็นว่าการนำรถใหม่เข้ามาวิ่งให้บริการประชาชน และเก็บค่าโดยสาร 30 บาท/วันนั้น สหภาพแรงงานฯ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เป็นการบริการประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่สหภาพแรงงานฯ ไม่เห็นด้วยกับการให้เอกชนนำรถเข้ามาให้ ขสมก.จ้างเหมาวิ่งคันละกว่า 6,000 บาท/วัน/คัน จะเอาเงินจากไหน ทำไมรัฐบาลไม่จัดหารถใหม่ 400 คันดังกล่าวให้ ขสมก.โดยตรง เรื่องนี้สหภาพแรงงานฯ เห็นว่ามีวาระซ่อนเร้น หรือเป็นการแปรรูป ขสมก.อย่างชัดเจน ทำให้พนักงานสับสน ขาดขวัญและกำลังใจอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

"ไม่มีรถ ไม่มีเส้นทาง ไม่มี ขสมก." องค์การยื่นหนังสือขอใบอนุญาตประกอบการขนส่ง จำนวน 107 เส้นทาง (เส้นทางปฏิรูป) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อนุญาตตามคำขอ องค์การไม่มีรถใหม่เข้าบรรจุในเส้นทางดังกล่าว และปรากฏว่ามีเส้นทางอีกจำนวน 77 เส้นทาง ที่ ขบ.เปิดให้มีการประมูลแข่งขันกันระหว่างองค์การกับภาคเอกชน จำนวน 28 เส้นทาง ผลปรากฏว่าองค์การประมูลไม่ได้เพราะไม่มีรถใหม่ ดังนั้นเส้นทางทั้ง 28 เส้นทางภาคเอกชนก็ได้ไป ในอนาคตอันใกล้ ขสมก.คงเหลือแต่ชื่อ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนที่จะต้องปกป้ององค์การจากกลุ่มทุนที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงพนักงานและประชาชน

สหภาพแรงงานฯ ได้เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม และรัฐบาลเร่งรัดจัดหารถใหม่ให้กับ ขสมก.ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 มาแล้วหลายครั้ง เช่น ซื้อรถ NGV 489 คัน ซื้อรถ EV 35 คัน ซื้อรถ Hybrid 1,453 คัน เช่ารถ Hybrid 400 คัน เช่ารถ NGV 300 คัน ปรับปรุงรถเก่า 329 คัน รวม 3,000 คัน ซึ่งต่อมาองค์การได้ดำเนินการจัดซื้อรถใหม่ NGV 489 คัน คงเหลือ 2,188 คัน และซ่อมบำรุงรถเก่า 323 คัน ทำไมไม่ดำเนินการต่อ ในเมื่อมติ ครม.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และสหภาพแรงงานฯ ได้เรียกร้องมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล ดังนั้นจึงขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลได้เร่งรัดจัดหารถใหม่ให้กับ ขสมก.ด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการที่เป็นผู้มีรายได้น้อยเป็นส่วนมาก สหภาพแรงงานฯ ขอเชิญสมาชิก พนักงาน และประชาชน ร่วมยื่นหนังสือในวันที่ 20 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ณ กระทรวงคมนาคม

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่




รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 20 เม.ย. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จะร่วมกับสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน นัดรวมตัวกันที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาช่วยเหลือกรณีที่กรมการขนส่งทางบกได้ประกาศให้ผู้ประกอบการเดินรถที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง เส้นทางหมวด 1 ตามแนวทางการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 77 เส้นทาง เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้มีมติอนุมัติให้นายทะเบียนกลางออกใบอนุญาตเมื่อเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยพบว่า บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ได้รับการอนุมัติ 71 เส้นทาง และผู้ประกอบการอื่นๆ 6 เส้นทาง แต่ผู้ประกอบการรายย่อยไม่มีรายใดได้รับการอนุมัติเลย ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประมูลไม่ได้ เพราะไม่มีรถใหม่ จึงรวมตัวกันเพื่อคัดค้านการจ้างรถโดยสารเอกชนของ ขสมก.จำนวน 400 คัน และพิจารณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยต่อไป

สำหรับเส้นทางเดินรถเดิมของ ขสมก. ที่กรมการขนส่งทางบกอนุมัติให้เอกชนเดินรถในเส้นทางใหม่ ได้แก่

1. สาย 1 (สาย 3-35 ใหม่) พระราม 3-ท่าเตียน
2. สาย 2 (สาย 3-1 ใหม่) ปากน้ำ-ท่าเรือสะพานพุทธ (สาย 3-2E ใหม่) ปู่เจ้าสมิงพราย-ท่าเรือสะพานพุทธ (ทางด่วน)
3. สาย 4 (สาย 3-36 ใหม่) ท่าเรือคลองเตย-ท่าเรือภาษีเจริญ
4. สาย ปอ.8 (สาย 2-38 ใหม่) แฮปปี้แลนด์-ท่าเรือสะพานพุทธ
5. สาย 11 (สาย 3-3 ใหม่) สวนหลวง ร.๙-สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ
6. สาย 12 (สาย 3-37 ใหม่) ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย
7. สาย 18 (สาย 2-3 ใหม่) ตลาดท่าอิฐ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
8. สาย 34 (สาย 1-3 ใหม่) บางเขน-ถนนพหลโยธิน-หัวลำโพง (สาย 1-2E ใหม่) รังสิต-หัวลำโพง (ทางด่วน)
9. สาย 39 (สาย 1-4 ใหม่) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)-บางเขน
10. สาย 64 (สาย 2-11 ใหม่) กระทรวงสาธารณสุข-สนามหลวง
11. สาย 71 (สาย 1-39 ใหม่) สวนสยาม-คลองเตย
12. สาย 77 (สาย 3-45 ใหม่) พระราม 3-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)
13. สาย 82 (สาย 4-15 ใหม่) ท่าน้ำพระประแดง-บางลำพู
14. สาย 84 (สาย 4-46 ใหม่) วัดไร่ขิง-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี
15. สาย 97 (สาย 2-15 ใหม่) กระทรวงสาธารณสุข-โรงพยาบาลสงฆ์
16. สาย ปอ.132 (สาย 3-14 ใหม่) เคหะบางพลี-สถานีรถไฟฟ้าอุดมสุข
17. สาย 140 (สาย 4-23E ใหม่) แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน)
18. สาย 143 (สาย 1-41 ใหม่) เคหะร่มเกล้า-แฮปปี้แลนด์
19. สาย 515 (สาย 4-61 ใหม่) ศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
20. สาย 555 (สาย S6 ใหม่) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร)-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (ทางด่วน)

โดยบางส่วนเป็นเส้นทางทำเงิน ทำรายได้ให้แก่ ขสมก. มายาวนาน เช่น สาย 4-23E (สาย 140 เดิม) แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน), สาย 3-45 (สาย 77 เดิม) พระราม 3-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร), สาย 4-61 (สาย 515 เดิม) ศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 4-46 (สาย 84 เดิม) วัดไร่ขิง-สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี ฯลฯ ซึ่งหากสูญเสียเส้นทางเหล่านี้ เบื้องต้นประชาชนจะไม่สามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมไปถึงผู้โดยสารที่ใช้บริการประจำ ถือตั๋วรายเดือนและรายสัปดาห์ของ ขสมก.

อนึ่ง ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแลรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ตามมติคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2559 โดยให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเดิมเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2526 ที่ของเดิม ขสมก.เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงรายเดียว และรถเอกชนร่วมบริการจะต้องทำสัญญาเดินรถกับ ขสมก.เท่านั้น ส่งผลทำให้ ขสมก. ถูกลดสภาพเหลือเพียงแค่ผู้ประกอบการรายหนึ่งเท่านั้น มีศักดิ์เทียบเท่ากับผู้ประกอบการเอกชน โดยมีกรมการขนส่งทางบกใหญ่ที่สุดเป็นผู้กำกับดูแลแต่เพียงผู้เดียว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- เปิดโผ 77 เส้นทางรถเมล์ใหม่ ไทยสมายล์บัสคว้าไป 71 จับตา ขสมก.ปล่อยสายไหนหลุดมือ 
- ไทยสมายล์บัสคว้า 71 เส้นทางรถเมล์กรุงเทพฯ 
- อัปเดตปฏิรูปรถเมล์พลิกโฉมบริการ ขบ.ชงขยาย "บัตรคนจน" ขึ้นระบบขนส่งได้ทุกคัน ปลายปี 65 เอกชนวิ่งรถเมล์ไฟฟ้าพรึ่บ 132 เส้นทาง
- นายกฯ สั่งเดินหน้าปฏิรูปรถเมล์ ขสมก.เตรียมจ้างเหมาเอกชนบริการรถโดยสาร EV พลิกโฉมระบบขนส่ง 
- ผ่าแผน “ลุงตู่” ปฏิรูป “รถเมล์เมืองกรุง” “รถไฟฟ้า” มาช้า...แต่มานะ ถึงเวลา “ขสมก.” เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น