ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คนไทย โดยเฉพาะ “คนกรุงเทพมหานคร(กทม.)” ได้ยินคำว่า “ปฎิรูป ขสมก.” มาสักพักใหญ่ๆ แต่ในความเป็นจริง ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก และล่าสุด “นายกฯ ลุงตู่ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา” สั่งเร่งเครื่องพลิกโฉมระบบขนส่งสาธารณะไทย พร้อมเล็งจ้างเหมาเอกชนบริการรถโดยสารไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไปว่า จะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็น “รูปธรรม” แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะ “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือ ขสมก.” ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับ “แผนการปฏิรูปรถเมล์กรุงเทพมหานคร” นั้น นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายงานความความคืบหน้าโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด โดยการจ้างเอกชนเหมาให้บริการตามระยะทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จากกระทรวงคมนาคม หรือการจ้างเหมาเอกชนบริการรถโดยสาร EV ว่า จะสามารถให้บริการประชาชนได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565 โดยเป็นแผนการดำเนินการระยะสั้นของ ขสมก. ซึ่งอยู่ระหว่างรอการดำเนินการแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับใหม่ ส่วนเป้าหมายหลักในการจ้างเหมาเอกชนวิ่งให้บริการรถโดยสารพลังงานสะอาดตามระยะทางก็คือ เพื่อทดแทนรถเก่าที่มีสภาพทรุดโทรม และเพื่อลดมลภาวะฝุ่น PM 2.5 ในการวิ่งให้บริการรถโดยสารพลังงานสะอาดย่านใจกลางเมือง
การที่รัฐเตรียมจ้างเอกชนให้บริการรถโดยสาร EV เป็นส่วนหนึ่งของกลไกสู่การปฏิรูปรถเมล์ไทย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ยกระดับมาตรฐานบริการ ขณะที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด (KPI) 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้ได้ผู้ประกอบการขนส่งที่มีบริการที่ดี สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่มีความมั่นคงทางการเงิน สามารถจัดหารถใหม่ อู่จอดที่พักรถ มีระบบการซ่อมบำรุงรักษาที่มีมาตรฐาน และการใช้ระบบ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ และกรณีที่เอกชนรายใดได้ใบอนุญาตหลายเส้นทาง หรือเอกชนอาจจะรวมกลุ่มกันเพื่อปรับระบบการเดินรถ โดยใช้ข้อมูลจากระบบ AI วิเคราะห์การบริการให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารได้
ทั้งนี้ รถใหม่จะต้องมี GPS มีกล้อง CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ว่า มีผู้โดยสารใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่น ช่วงไหนคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ แตกต่างจากเดิมที่ใช้ระบบ Manual
“การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ครั้งนี้ จะทำให้รถร้อนที่มีอยู่ในระบบทยอยลดลง ซึ่งเป็นรถที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเลือกใช้บริการมากกว่ารถปรับอากาศ รัฐบาลต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้ทุกประเภท” นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับประเด็นการปฏิรูป ขสมก. ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ยกเลิกมติ ครม.เดิม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 ที่ระบุให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว และรถเอกชนร่วมบริการจะต้องทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก .เท่านั้น โดยมีมติใหม่ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) และออกใบอนุญาตกับผู้ประกอบการ ส่วน ขสมก.ให้ปรับบทบาทเป็นผู้ประกอบการเดินรถ (Operator) รายหนึ่ง และดำเนินการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อแก้ไขปัญหาการให้บริการทั้งหมด ปรับปรุงเส้นทาง คุณภาพรถ ความปลอดภัย ความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ
ภาพปัญหาของรถเมล์ไทยสะสมมาอย่างยาวนาน ฉะนั้น การปฏิรูปต้องใช้เวลา ซึ่งเดิมที ขสมก.เป็นผู้ผูกขาดใบอนุญาตเดินรถเมล์ทั้งหมด แต่พบว่า ขสมก. ดำเนินการเองไม่ไหว จึงมีการทำสัญญาให้ผู้ประกอบการเอกชนมาเดินรถร่วมกับ ขสมก. ในบางเส้นทาง ซึ่งคือจุดกำเนิดของ **“รถร่วมฯ เอกชน” **
แต่เกิดปัญหา เช่น สาย 8 ที่มี ถึง 4 บริษัทที่ ขสมก. ให้สัญญาเอกชนเดินรถร่วม ทำให้เกิดการวิ่งแข่งกันเพื่อแย่งผู้โดยสารกันจนไม่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน เอกชนส่วนใหญ่เป็นรายย่อยไม่มีทุนในการปรับเปลี่ยนรถใหม่ รถที่ให้บริการจึงมีสภาพเก่า และมักจะพบเห็นรถเมล์จอดเสียริมถนนอยู่เป็นประจำ
ทั้งนี้ “กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)” ในฐานะ “ผู้กำกับดูแล” เริ่มดำเนินการปฎิรูปมาอย่างต่อเนื่อง โดย **นายจิรุตม์ วิศาลจิตร** อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่าหลังจาก ครม. มีมติในปี 2559 และให้ ขบ.ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนโดยตรง ในปี 2560 ขบ.ได้ให้ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ให้มีความเหมาะสม เกิดการต่อเชื่อมกันเป็นโครงข่าย และเป็นฟีดเดอร์เข้าถึงรถไฟฟ้า และเข้าถึงแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้สะดวก พร้อมกับดูเรื่องโครงสร้างราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทั้งประชาชนและสอดคล้องกับต้นทุนของผู้ประกอบการ
กระทั่ง ปี 2562 นำไปสู่การปฏิบัติเป็นระบบ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ ไม่ให้แย่งผู้โดยสารกัน ขบ.ทำคลอดแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง 269 เส้นทาง ซึ่งทาง ขสมก. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแจ้งว่าต้องการประกอบการเดินรถจำนวน 107 เส้นทาง ส่วนที่เหลือให้เอกชนดำเนินการ
สำหรับการดำเนินการ ขบ. กำหนดให้เอกชนรายเดิมที่ต้องการเดินรถต่อไปภายใต้แผนปฏิรูปต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเงื่อนไข คือให้ผู้ประกอบการแต่ละรายแจ้งความจำนงต่อ ขสมก. ให้ ขสมก. รับรองการเป็นผู้ให้บริการเดินรถในเส้นทางนั้นๆ ก่อน นำมายื่นคำขอใบอนุญาตให้ตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. ต้องชำระหนี้ค้างกับ ขสมก.ทั้งหมด 2. กรณีที่มีเอกชนหลายรายในเส้นทางให้รวมกันเป็นรายเดียว ตามแนวทางปฏิรูป 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ และ 3. ต้องไม่กระทำผิดตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบการ
จากนั้นเดือน ก.ค. 2562 ขบ .ประกาศเรื่องการออกใบอนุญาตกำหนดให้ยื่นภายในวันที่ 31 ต.ค. 2562 ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการเอกชนที่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ครบ และยื่นขอรับใบอนุญาตเป็นจำนวน 54 เส้นทาง โดย ขบ. ได้ทยอยออกใบอนุญาตประกอบการเดินรถโดยสาร แต่ก็ยังมีอีกประมาณ 40 เส้นทางที่เอกชนไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ เช่น ไม่สามารถชำระหนี้ให้ ขสมก. ได้ ไม่สามารถรวมตัวกันเป็น 1 รายได้ เพราะมีเจ้าของรายย่อยหลายรายเกินไป รวมทั้งมีเส้นทางที่เอกชนเลิกวิ่งไปแล้วเพราะขาดสภาพคล่อง
แผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงดำเนินต่อไป โดยนำ 40 เส้นทางที่ผู้ประกอบการเดิมไม่ยื่นขอใบอนุญาต รวมกับอีก 37 เส้นทางใหม่ ตามการศึกษาของ TDRI ที่เพิ่มเส้นทางให้ครอบคลุมไปถึงย่านหมู่บ้าน ชุมชนเกิดใหม่ ที่ไม่มีรถโดยสารสาธารณะให้บริการ รวมทั้งหมดเป็น 77 เส้นทาง ประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไป ให้ผู้ประสงค์จะขออนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารยื่นคำขออนุญาตประกอบการขนส่ง เส้นทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง
โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งนั้น ตามประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไปจะมีทั้งเกณฑ์การประเมินด้านคุณภาพการให้บริการ การใช้รถที่ผลิตหรือประกอบภายในประเทศ สถานที่เก็บซ่อมและบำรุงรักษารถ แผนบริหารจัดการเดินรถ ความน่าเชื่อถือของการประกอบการขนส่งพิจารณาจากทุนในการประกอบการการพัฒนารูปแบบบริการโดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (AI) มาใช้ในการบริหารจัดการและควบคุมกำกับดูแลการเดินรถ ซึ่งประเด็นสำคัญ รถต้องใช้รถพลังงานสะอาด ลดมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานยูโร รถไฟฟ้า ฯลฯ
กล่าวคือผู้ประกอบการฯ จะต้องมีแผนจัดหารถได้ตามกำหนด รวมไปถึงแผนปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชน โดย ขบ. จะทำการแนบแผนประกอบการของใบอนุญาตเพื่อประกอบการประเมิน เช่น การติดตั้ง GPS เพื่อกำกับดูแลการเดินรถให้เป็นไปตามเวลา, ติดตั้งระบบ E-Ticket, ติดตั้งกล้อง CCTV ภายนอก/ภายในรถ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร กรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือมีเหตุทำร้ายใดๆ ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ใช้บริการ จะสามารถตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง และยังสามารถใช้เป็นการป้องปรามไม่ให้มีการกระทำผิดได้อีกทาง เป็นสิ่งที่รัฐอยากได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีส่วนทำให้การบริหารจัดการของเอกชนมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมาก
ล่าสุด ขบ. ได้เปิดยื่นคำขอประกอบการครบทั้ง 77 เส้นทางแล้ว โดยผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้รับคัดเลือกจะต้องจัดหารถมาให้บริการตามแผนตั้งแต่กลางปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้มีรถเมล์ไฟฟ้าวิ่งให้บริการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 700 - 800 คันเป็นอย่างต่ำ
และผู้ประกอบการ 54 เส้นทางเดิมที่ได้ใบอนุญาตไปแล้ว ซึ่งใช้รถเมล์ใหม่ หรือรถจดไม่เกิน 2 ปีสัดส่วนใช้รถเก่า 30% แต่อายุรถต้องไม่เกิน 25 ปี รองรับผู้โดยสารใช้วีลแชร์ 20% และติด GPS ทุกคันเพื่อควบคุมกำกับเส้นทาง ในปีแรกจะต้องนำรถใหม่มาวิ่งบริการในสัดส่วน 30% ปีที่ 2 สัดส่วน 50% และปีที่ 3 สัดส่วน 70% หรือให้เวลาในการปรับตัวประมาณ 3 - 4 ปี ซึ่งมีสัดส่วนเป็นรถใหม่ 70% โดยได้ทำการติดตั้ง GPS มีกล้อง CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลด้านผู้โดยสาร ว่ามีผู้โดยสารใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่น ช่วงไหนคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด และข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ แตกต่างจากระบบ Manual แบบเดิม
การปฏิรูปรถเมล์ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเป็นจุดเปลี่ยนยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทางแน่นอน โดย ขบ. มีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด (KPI) 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น การเดินรถตรงตามเส้นทางที่กำหนด การเดินรถครบตามจำนวนเที่ยวที่กำหนด การเดินรถตรงตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะได้ผู้ประกอบการขนส่งที่มีบริการที่ดีสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น
และจุดแข็งที่สามารถพลิกโฉมรถเมล์ไทยในครั้งนี้ คือ การมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่มีความมั่นคงทางการเงิน ที่สามารถจัดหารถใหม่ มีอู่จอดที่พักรถ มีระบบการซ่อมบำรุงรักษาที่มีมาตรฐาน และการใช้ระบบ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ และกรณีที่เอกชนรายใดได้ใบอนุญาตหลายเส้นทางหรือเอกชนอาจจะรวมกลุ่มกันเพื่อปรับระบบการเดินรถ โดยใช้ข้อมูลจากระบบ AI วิเคราะห์การบริการให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารได้
สำหรับ “ภาคเอกชน” ที่กระโดดเข้ามาร่วมวงซึ่งน่าจับตาที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น “บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA” ที่ทุ่มงบลงทุน 3,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้สมาร์ทบัสจะมีสัมปทาน 37 เส้นทาง แต่เปิดให้บริการจริง 29 เส้นทาง จากสาขา 7 แห่ง ใช้รถโดยสารรวม 414 คัน เป็นรถยี่ห้อซันลอง 377 คัน และรถเก่าปรับปรุงสภาพ 37 คัน
อีกหนึ่งบริษัทก็คือ “ไทยสมายล์บัส” ที่มี “บริษัทหลักทรัพย์บียอนด์ จำกัด (มหาชน)” เป็นผู้ถือหุ้นผ่านบริษัทย่อย และมี “กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา” เป็นประธานกรรมการเริ่มต้นให้บริการเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เส้นทางแรกที่ให้บริการ คือ สาย 35 พระประแดง-สายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน)ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 8 เส้นทาง จากสาขา 5 แห่ง ใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้ารวม 112 คัน
ที่เรียกเสียงฮือฮาก็คือ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ไทยสมายล์บัส ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางออกใบอนุญาตเดินรถอีก 71 เส้นทาง ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากกรมการขนส่งทางบก ได้ประกาศให้ผู้ประกอบการเดินรถที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตเดินรถเส้นทางปฏิรูปรถเมล์ฯ จำนวน 77 เส้นทาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา
โดยพบว่ามี 20 เส้นทางที่ ขสมก. เป็นผู้ประกอบการเดินรถรายเดิม และทำการเดินรถมาถึงปัจจุบัน บางเส้นทางทำรายได้หลักให้ ขสมก. เช่น สาย 140 แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน) ก็กลายมาเป็นสาย 4-23E
สรุปก็คือไทยสมายล์บัสมีเส้นทางเดินรถในมือแบบก้าวกระโดดถึง 79 เส้นทาง มากกว่าสมาร์ทบัสที่มีสัมปทานอยู่ในมือ 37 เส้นทาง ส่วน ขสมก. แม้จะยังไม่ระบุว่าสายไหนอยู่ต่อ สายไหนหลุดมือ แต่อย่างน้อยมี 14 เส้นทางที่อาจจะหลุดมือไปให้กับไทยสมายล์บัส จากทั้งหมดประมาณ 127 เส้นทาง (นับเฉพาะเส้นทางหลัก ไม่รวมเส้นทางเสริมพิเศษ)
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หาก ขสมก. ต้องสูญเสียเส้นทางให้เอกชนไปเรื่อยๆ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ถือบัตรโดยสาร ขสมก. รายสัปดาห์ รายเดือน จะไม่สามารถใช้ได้อีก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ รถประจำทางธรรมดาครีม-แดง สาย 7 คลองขวาง-หัวลำโพง เดินรถมาตั้งแต่ปี 2519 ยุติการเดินรถมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา หลังกรมการขนส่งทางบกให้เอกชนเดินรถเพียงรายเดียว
ผลก็คือนอกจากรอรถนานขึ้น เมื่อรถแน่นแทบไม่มีที่จะยืน ก็ต้องขึ้นรถสองแถวแทนแล้ว ผู้โดยสารที่เคยจ่ายค่ารถร้อน 8 บาทตลอดสาย พอมาเป็นรถแอร์ก็เพิ่มเป็น 15-20-25 บาท เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ ในการประชุมระหว่าง รมว.คมนาคม กับผู้ประกอบการขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันก่อน ระบุแต่เพียงว่า “ให้คำนึงถึงผู้มีรายได้น้อย มีโอกาสเข้าถึงระบบการขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ”
ถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่าเป้าหมายสูงสุดในการการปฏิรูปรถเมล์ไทย คือ “รถเมล์ไฟฟ้า” แน่นอน ในส่วนของผู้ประกอบการเอกชน คงไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะพร้อมให้บริการแล้ว แต่ที่ต้องจับตามองคือ ขสมก. ว่า จะพลิกโฉมรถโดยสารประจำทางได้เพียงใดและจะแก้ปัญหา “หนี้” และ “ขาดทุน” สะสม ได้หรือไม่