“ฝ่ายกฎหมายโฮปเวลล์” เผย เตรียมหาทางสู้กลับ ให้ภาครัฐต้องจ่ายชดเชยให้ได้ ชี้ ศาลปกครองสูงสุดรื้อฟื้นคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ส่อขัดรัฐธรรมนูญ วอนอย่าเรียกว่า “ค่าโง่” เพราะเป็นเงินที่โฮปเวลล์ลงทุนและสมควรได้คืน
วันที่ 16 มี.ค. 2565 นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “เจาะลึกมหากาพย์ คดีโฮปเวลล์ ความขัดแย้ง 3 ทศวรรษ”
โดยผู้ดำเนินรายการได้ถามว่า ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินและให้ศาลชั้นต้นกลับมารับคำร้องของทางกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ให้มีการพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ เนื่องจากว่ามีข้อมูลใหม่ที่จะมีการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคำตัดสิน แล้วก็ระงับการบังคับคดีตามที่ศาลปกครองสูงสุดเคยตัดสินไว้เมื่อปี 2562 ต่อไปนี้คดีมันจะไปยังไง คือ จบหรือยังฟ้องกันต่อ จะฟ้องกันใหม่หรือเอาคำฟ้องเดิมมาพิจารณา
นายสุภัทร กล่าวว่า ก่อนที่จะเดินหน้า ขอถอยหลังไปนิดนึง ในเรื่องของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มันมีจุดเริ่มต้นมาจากที่ทางกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ 18/45 ว่า เป็นการตีความว่าเป็นระเบียบที่ไม่ผ่านสภา คือ ไม่ชอบ แต่ความเห็นของที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครอง ก็บอกว่านี่ไม่ใช่ระเบียบ แต่เป็นข้อเสนอแนะเป็นการแนะนำแนวทางในการตัดสินคดีเท่านั้นเอง
เมื่อทางผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯแล้ว เขาส่งต่อไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในคำร้องของคำร้องครั้งที่หนึ่งของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีเรื่องแค่ขอให้เพิกถอนเรื่องมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
ต่อมาการรถไฟฯและกระทรวงคมนาคม ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องอีก 1 ฉบับ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคดีโฮปเวลล์ที่ถึงที่สุดแล้วเป็นโมฆะ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็รับเรื่องแล้วก็ส่งต่อจริง แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจอิสระของศาลในการพิจารณาคดี และรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว และในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อคดีถึงที่สุดผู้ตรวจการฯ ไม่มีสิทธิ์รับเรื่องไว้และส่งต่อ
ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าเราจะดำเนินการอย่างไรดี ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ชอบ และในประเด็นของการรถไฟฯกับกระทรวงคมนาคมใช้สิทธิยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็มีนักวิชาการหลายๆ คน บอกว่า ภาครัฐตีตั๋วเด็กหรือเปล่า รัฐธรรมนูญเขาคุ้มครองสิทธิปวงชนชาวไทย แต่คุณมาใช้สิทธิของปวงชนชาวไทยในฐานะอำนาจรัฐ คุณมีอำนาจไหม มันเลยเป็นที่มาและข้อสงสัยที่เกิดขึ้น ว่าสิ่งที่ทำมันชอบไหม ผูกพันไหม
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 2 ประเด็น ประเด็นแรก เรื่องมติของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดไม่ชอบ และประเด็นที่สองคือศาลรัฐธรรมนูญไม่ไปแตะต้องคดีโฮปเวลล์ เนื่องจากคดีถึงที่สุดแล้ว เพราะว่ามันมีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่ทางภาครัฐไม่หยุด
นายสุภัทร กล่าวอีกว่า คำสั่งของศาลปกครองสูงสุด มีข้อน่าสนใจเหมือนกัน คือ ไม่เป็นเอกฉันท์ ส่วนใหญ่มองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นเรื่องระเบียบผูกพันศาล ห้ามศาลบิดพริ้วเป็นอย่างอื่นได้ แต่ไม่ตัดสิทธิของคู่ความในคดีที่จะอ้างมาเป็นสิทธิในการขอพิจารณาคดีใหม่
แต่มีตุลาการเสียงข้างน้อยเห็นแย้งไว้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งห้ามศาลรื้อฟื้นคดีใหม่ ห้ามพิจารณาคดีใหม่ แต่ความเห็นของตนคือห้ามคู่ความด้วยที่จะหยิบยกขึ้นมาใหม่
เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามไว้ รัฐธรรมนูญเป็นบทกฎหมายที่สูงกว่าพระราชบัญญัติ ตรงนี้พระราชบัญญัติจึงไม่มีน้ำหนักที่จะไปหักล้างรัฐธรรมนูญได้ จึงไม่น่าที่จะรับไว้ การที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดจะรับไว้ ก็เลยเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าขัดกับรัฐธรรมนูญอีกหรือเปล่า
เมื่อถามว่า ทางโฮปเวลล์จะอุทธรณ์หรือไม่ นายสุภัทร ตอบว่า ทางช่องกฎหมาย ยังไม่มีกฎหมายไหนให้ไป หรือว่าจะต้องย้อนกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญยังหรือเปล่า อันนี้มันเกิดการช่องโหว่ของกฎหมาย แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่นักกฎหมาย นักวิชาการ น่าจะหยิบมาคิดกัน เพราะปัญหาเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นอีก ถ้ากฎหมายไม่มีความนิ่ง มันจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ คำวินิจฉัยแปลกๆ อาจจะเกิดขึ้นตลอด
นายสุภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอสังคมอย่าใช้คำว่า “ค่าโง่” เลย เงินนี้เป็นเงินที่โฮปเวลล์ลงทุนและสมควรจะได้คืน ถ้าเรายังมองโฮปเวลล์เป็นค่าโง่ ก็เหมือนกับส่งเสริมกับคนที่เต้าข่าวผิดๆ ให้ได้รับประโยชน์ไป แล้วก็โยนความผิดให้โฮปเวลล์