รมว.คมนาคม นำทัพยื่นร้องอุทธรณ์ ยันเดินหน้าสู้คดี พร้อมขอบคุณ “คณะผู้พิพากษา-ศาลฯ” หลังศาลปกครองสูงสุด” มีคำสั่งรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน
วันนี้ (4มี.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-83/2565 ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366/2557 ระหว่างกระทรวงคมนาคม ที่ 1 และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ร้องที่ 2 กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน) (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา)
โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ที่ต้องจ่ายค่าเสียหาย (ค่าโง่) ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ฯ มูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาทไว้พิจารณา
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรื้อคดีโฮปเวลล์นั้น มองว่าเรื่องดังกล่าว ยังไม่จบกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ดำเนินการต่อสู้คดีใหม่
สำหรับประเด็นที่จะนำมาต่อสู้คดีหลังจากนี้ ประกอบด้วย เรื่องอายุความของคดี, มติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) การจดทะเบียน และวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และรื่องการลงนามในสัญญา ที่ผู้ลงนามไม่ใช่บริษัทที่ได้รับสัมปทาน อย่างไรก็ตาม จากคำสั่งดังกล่าวนั้น ต้องขอบคุณคณะผู้พิพากษา และศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศชาติ และประชาชนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การต่อสู้มหากาพย์คดีโฮปเวลล์ ที่ส่อให้ภาครัฐต้องเสียค่าโง่มูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านบาทนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไไทย (ภค.) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินหน้าหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 ที่ออกมาระบุว่า “ยุคนี้จะไม่มีค่าโง่”
โดยกระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้มอบหมายให้นายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจยื่นหลักฐานใหม่ต่อศาลปกครองขอรื้อคดี โดยอ้างว่า พบว่าบริษัทโฮปเวลล์ เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ก็ถูกตีตกโดยศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด และนำไปสู่การที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยี่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำร้องที่ขอให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุด นำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว ที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คือ ไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่
รวมทั้งการกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการคือตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว