xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 20-26 ก.พ.2565

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.วงการบันเทิงสูญเสีย “แตงโม” หลังตกจากสปีดโบ๊ทกลางเจ้าพระยา แม่ยังคาใจ เชื่อมีเหตุทะเลาะบนเรือไม่ใช่พลัดตก!

วงการบันเทิงต้องสูญเสียดารานักแสดงชื่อดังอีกครั้ง หลัง น.ส.นิดา หรือภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ตกจากเรือสปีดโบ๊ท กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อคืนวันที่ 24 ก.พ. กว่าจะพบร่างต้องใช้เวลาค้นหาเกือบ 40 ชม.

จากคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้องและกล้องวงจรปิดบางจุดทราบว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ. เวลาประมาณ 16.30 น. แตงโมพร้อมด้วยผู้จัดการส่วนตัว (อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือ กระติก) ได้เดินทางไปยัง "แลมโกดัง" จุดลงเรือของบริษัท เอ็น บี ซี โบ๊ทคลับ ย่านบางศรีเมือง จ.นนทบุรี ก่อนลงเรือสปีดโบ๊ทกับกลุ่มเพื่อน รวมแล้ว 6 คน ชาย 3 หญิง 3 เพื่อไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารใน จ.ปทุมธานี และออกจากร้านในช่วงหัวค่ำ กระทั่งเวลา 22.40 น. มีรายงานว่า แตงโม พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ต กลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือพิบูลสงคราม จ.นนทบุรี

หลังเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้ง จึงระดมทีมชุดประดาน้ำไปค้นหายังจุดเกิดเหตุ ขณะที่เพื่อนดาราหลายคน รวมทั้งทีมกู้ภัย ได้ช่วยกันออกค้นหาเช่นกัน แต่ก็ไม่พบ ขณะที่แม่ และพี่ชายแตงโม ได้เดินทางมายังที่เกิดเหตุ เพื่อติดตามการค้นหาลูกสาว พร้อมความหวังว่าลูกจะปลอดภัย เพราะแตงโมว่ายน้ำเก่งตั้งแต่เด็ก แต่การค้นหาก็ไม่เป็นผล

วันต่อมา (25 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ได้ระดมทีมนักประดาน้ำจาก จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และหน่วยซีล จากกองทัพเรือ ปูพรมค้นหาอย่างต่อเนื่องในรัศมี 10 กม. ขณะที่ตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน รวมทั้งเจ้าท่านนทบุรี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ "แลมโกดัง" เป็นสถานที่เก็บรับฝากขึ้น-ลงเรือของบริษัท เอ็น บี ซี โบ๊ทคลับ เพื่อตรวจสอบหาหลักฐานเพิ่มเติม

โดยนายธนกฤต วงศ์สุวรรณ์ เจ้าของโกดัง ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า เรือลำที่เกิดเหตุกลับมาที่ท่าเก็บเรือช่วงเวลา 04.00 น.หลังจากกลับจากไปช่วยค้นหาแตงโมในแม่น้ำเจ้าพระยาแถวพระราม 7 โดยมีการอ้างว่า แตงโมเดินไปปัสสาวะท้ายเรือ และคนขับเรือไม่รู้ว่าแตงโมเดินไปที่ท้ายเรือ และอาจลื่นตกน้ำ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากเกิดเหตุจนล่วงเข้า 2 วัน ทางเจ้าของเรือสปีดโบ๊ต ซึ่งเป็นคนขับเรือ คือ นายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือไฮโซปอ รวมทั้งเพื่อนอีก 4 คนที่อยู่บนเรือขณะเกิดเหตุ ไม่มีใครออกมาให้ความชัดเจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนสร้างความกังขาแก่สังคมว่า การพลัดตกจากเรือของแตงโมเป็นอุบัติเหตุจริงหรือไม่?

วันเดียวกัน (25 ก.พ.) พ.ต.อ.จาตุรนต์ อนุรักษ์บัณฑิต ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี เผยถึงความคืบหน้าการเรียกตัวพยานที่อยู่บนเรือ 5 คนมาสอบปากคำว่า ได้รับการติดต่อว่าจะเข้าให้ข้อมูลในช่วงบ่ายวันนี้ แต่แล้วเมื่อถึงกำหนด กลับไม่เข้าพบตำรวจ โดยให้เหตุผลว่า ขอปรึกษาทนายความก่อน พฤติการณ์ที่ดูเหมือนประวิงเวลาการเข้าพบตำรวจของไฮโซปอและกลุ่มเพื่อน ยิ่งทำให้กระแสสังคมเคลือบแคลงและครหา บ้างมองว่า ขณะเกิดเหตุ ทุกคนเมาหรือไม่ จึงประวิงเวลา ให้หายเมาก่อนค่อยเข้าพบตำรวจ เนื่องจากขณะที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบเรือ พบว่า มีแก้วไวน์ใช้แล้วอยู่บนเรือด้วย ขณะที่ทนายรณรงค์ แก้วเพ็ชร์ โพสต์ตั้งข้อสังเกตต่อคนขับเรือและกลุ่มเพื่อนที่ยังไม่เข้าให้ปากคำกับตำรวจว่า "เพื่อนตกน้ำ แต่ไม่มาให้ข้อมูลตำรวจคืออะไรครับ ทำตัวเป็นคดีฆาตกรรมอำพรางไปได้"

ทั้งนี้ หลังให้ปากคำเสร็จ ไฮโซปอ เปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า ก่อนที่แตงโมจะพลัดตกลงไป ได้ขับเรือไปที่สะพานพระราม 8 เพื่อกินข้าว ขากลับ มีการขับไปยังสะพานพระราม 7 โดยจุดถ่ายรูปครั้งสุดท้าย ที่เห็นแตงโม อยู่บริเวณสะพานพระราม 8 และระหว่างที่ล่องเรือกลับ ตนอยู่บริเวณด้านหน้าเรือ ส่วนแตงโมอยู่กับเพื่อนอีกคนที่ชื่อ "แซน" นั่งอยู่ด้านท้ายเรือ โดยแตงโมได้จับขาแซนไว้ จากนั้นแตงโมตกน้ำ ก่อนที่แซนจะตะโกนบอกว่า แตงโมตกน้ำ และเพื่อนอีกคนชื่อ จ็อบ ได้ตะโกนให้หยุดเรือ และวนกลับไปยังจุดที่เกิดเหตุ ซึ่งตอนนั้นตนไม่ได้เป็นคนขับเรือ แต่เป็นรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง

เมื่อถึงจุดเกิดเหตุ เราวนอยู่ตรงนั้น ซึ่งเราไม่ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือเลย เนื่องจากเรือมีเสียงเครื่องยนต์ เสียงคลื่น และในเรือมีเสียงเพลง โดยบนเรือมีเสื้อชูชีพ แต่เราไม่ได้ใส่ ขณะที่ความเร็วของเรือก็ไม่ได้ขับเร็ว และว่า ตอนที่แตงโมตกลงไป ตนคงตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้เห็น อาจจะต้องถามเพื่อนที่ชื่อแซน เพราะอยู่ใกล้แตงโมที่สุด

เมื่อถามว่า บนเรือมีการถอดรองเท้าหรือไม่ ไฮโซปอ บอกว่า ทุกคนถอดรองเท้า เมื่อถามถึงการดื่มแอลกอฮอล์ ไฮไซปอ ยืนยันว่า ไม่เมา แต่มีการดื่มไวน์ เราริน 6 แก้ว แต่ใครจะดื่มมากดื่มน้อยขนาดไหนไม่แน่ใจ

ส่วนเรื่องห้องน้ำบนเรือ ไฮโซปอ ชี้แจงว่า มี แต่เอาไว้ใช้เก็บของ ถ้ามีคนต้องใช้ เราก็สามารถย้ายของออก แล้วเข้าไปใช้ได้ ซึ่งโดยปกติคนใช้เรือแบบนี้ ไม่ค่อยใช้ห้องน้ำบนเรือกันเท่าไร เนื่องจากส่วนมากจะขับเรือไปใกล้ๆ ซึ่งแตงโมก็เพิ่งลงเรือลำนี้เป็นครั้งแรก เราก็ไม่ทราบว่า แตงโมต้องการเข้าห้องน้ำ

ส่วนเรื่องที่มีคนโทรหาแม่ของแตงโมว่าไม่ให้แม่บอกนักข่าวนั้น ไฮโซปอ บอกว่า ตนไม่ทราบ เพราะเวลานั้นตนกลับแล้ว เนื่องจากหามาทั้งคืน ส่วนที่ไม่มาพบตำรวจ ปล่อยเวลามาทั้งวัน ไฮโซปอ อ้างว่า เพราะยอมรับกับเหตุการณ์ที่เพื่อนหายไปไม่ได้ จึงขอกลับไปตั้งสติ เราเสียใจ เราไม่เคยคิดจะหลีกเลี่ยง หรือจะหนีไม่ให้ข้อมูล

ส่วนเรื่องกระเป๋าแตงโม ไฮโซปอ บอกว่า ตนไม่ทราบ แต่คิดว่าน่าจะอยู่กับเพื่อนของแตงโม นอกจากนี้ ไฮโซปอ ยังยืนยันด้วยว่า เรือลำที่เกิดเหตุ เป็นเรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย วันนี้ตนก็เพิ่งทราบว่า ภาษีขาดไม่กี่วัน ยังไม่ถึงเดือน เพราะเราก็ไม่ได้ใช้งานทุกวัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า 1 ในผู้ดูแลเรือของไฮโซปอ ให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า ปกติไฮโซปอจะนำเรือออกไปใช้แทบทุกอาทิตย์ และมักจะเป็นคนขับเอง ยกเว้นว่า ถ้าไปกับผู้ใหญ่ อาจจะจ้างคนขับ และมักจะเห็นว่า ผู้ที่ไปกับไฮโซปอส่วนใหญ่ไม่ค่อยซ้ำหน้า

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำไฮโซปอ และเพื่อนของแตงโมเสร็จหมดแล้ว ในฐานะพยาน และยังไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ทางกรมเจ้าท่าเตรียมเอาผิดเจ้าของเรือและคนขับเรือทั้งทางแพ่งและอาญา หลังพบทะเบียนเรือหมดอายุ ประกันภัยขาด คนขับไม่มีใบอนุญาต และไม่สวมเสื้อชูชีพ

ล่าสุด เวลา 13.10 น. (26 ก.พ.) ทีมภู้ภัยได้รับแจ้งจากพี่ชายของแตงโมว่า พบวัตถุลอยกลางแม่น้ำพระยา ห่างจากท่าเรือพิบูลสงคราม จ.นนทบุรี ไม่เกิน 300 เมตร หลังเข้าตรวจสอบยืนยันว่า เป็นแตงโม โดยสวมชุดเดียวกับภาพถ่ายในวันเกิดเหตุ

ด้านนางภนิดา ศิระยุทธโยธิน แม่ของแตงโม ได้เดินทางไปดูร่างของลูกสาวด้วยความเศร้าเสียใจ แม่ได้เปิดใจว่า ยังข้องใจกับสาเหตุการตายของลูก โดยมั่นใจว่าแตงโมไม่ได้ไปปัสสาวะที่ท้ายเรือจนพลัดตกเรือแน่นอน

“เรื่องที่จะคุยกับตำรวจก็เรื่องไม่มีชูชีพ แล้วก็เรื่องเรือของเขา เกี่ยวกับเรื่องว่าจ้างด้วย แม่ติดใจทุกเรื่องค่ะ เรื่องไม่มีชูชีพ ก็เป็นเรื่องความปลอดภัย และเรื่องการจ้างเนี่ย ว่าจ้างน้องโมไปถ่ายแบบในเรือ ใครจ้าง ใครจ่ายเงิน อันนี้เราต้องสืบให้รู้"

“ยืนยันไม่ใช่งานนัดกินข้าว แต่เป็นการว่าจ้างไปถ่ายรูป น้องโมแต่งตัวสวยมากวันนั้น เป็นชุดที่เหมาะสำหรับถ่ายรูป เขานัดไปถ่ายรูปกัน เรื่องรู้จักเจ้าของเรือ แม่ไม่ทราบเลยค่ะ 5 คนนี่แม่ไม่รู้จักสักคน”
ทั้งนี้ แม่ของแตงโมเชื่อว่า น่าจะต้องมีเรื่องทะเลาะกันก่อนแตงโมตกน้ำ “ไม่ใช่เรื่องเก่าๆ หรอกค่ะ แม่คิดว่าเป็นเรื่องปัจจุบันในเรือนั่นแหละ อาจจะมีการทะเลาะกัน เพราะมันมีภาพน้องโมนั่งเศร้าคนเดียวอยู่ภาพนึง และคนอื่นๆ ก็คงไปอยู่อีกมุมนึง เพราะเขาต้องการถ่ายรูปกัน ประมาณนี้ อาจจะมีคนไม่พอใจน้องโมนะคะ เพราะมีผู้หญิงสองคนนอกจากน้องโมใช่ไหม และผู้ชายอีกสาม ก็จะมีผู้หญิงที่ไม่สวยในเรือก็มี แม่ก็เห็น คือคนสวยกับคนไม่สวยก็เข้าใจเนอะมันเป็นยังไงกัน อาจจะไม่พอใจหรืออะไรก็แล้วแต่ และผู้ชายแม่ก็ไม่รู้จัก แต่พอจะเคยเห็นหน้าจากในภาพถ่ายว่าหน้าตาเป็นยังไง”

แม่ของแตงโมยืนยันด้วยว่า ไม่ได้เป็นคนลบภาพในไอจีแตงโม หลังมีการพบว่า ภาพในไอจีแตงโมถูกลบไปจำนวนหนึ่งหลังเกิดเหตุ ซึ่งแม่บอกว่า เพิ่งได้โทรศัพท์มาจากพี่เลี้ยงแตงโม และน่าจะเป็นกระติก ผู้จัดการส่วนตัวที่เอาโทรศัพท์ดังกล่าวไปให้พี่เลี้ยง โดยแม่ยังไม่ได้เปิดโทรศัพท์ และเปิดไม่เป็น แต่พี่เลี้ยงและกระติกน่าจะเปิดได้ โดยตำรวจได้ขอโทรศัพท์ดังกล่าว

2.ศาลอาญากรุงเทพใต้ ปล่อยตัวชั่วคราว "เพนกวิน" 3 เดือน เพื่อไปเรียน-สอบ ห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวาย-ทำสถาบันเสื่อมเสีย!


เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความกลุ่มราษฎร เผยว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายอานนท์ นำภา และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ในคดีการชุมนุมที่อยู่ในศาลอาญากรุงเทพใต้คนละ 1 สำนวน โดยในส่วนสำนวนนายพริษฐ์ เเม้ศาลยกคำร้อง เเต่ก็มีคำสั่งให้นำเอกสารเรื่องการเล่าเรียนศึกษามายื่นต่อศาล เพื่อพิจารณา ส่วนนายอานนท์ ศาลยกคำร้องเหตุผลที่ว่าจะออกไปประกอบอาชีพทนายความเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งศาลเห็นว่า เป็นเหตุทั่วๆ ไป ไม่ใช่เหตุพิเศษที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาเเละศาลจังหวัดพระนครศีอยุธยาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนายอานนท์ เเละนายพริษฐ์ ในหลายคดี โดยนายอานนท์ ศาลให้ประกันตัว 9 คดี วงเงินประกันคดีละ 90,000-200,000 บาท รวมวงเงินประกันทั้ง 9 คดี 1,090,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลย ทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่นจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล ห้ามจำเลย เข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM ห้ามจำเลย ออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 น. ถึงเวลา 06.00น. ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เพื่อการรักษาพยาบาล ไปศึกษาเล่าเรียน ไปสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการหรือศาลหรือได้รับอนุญาตจากศาล แจ้งศูนย์ EM เปิดสัญญาณ ห้ามจำเลย เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

ส่วนนายพริษฐ์ ศาลอาญาให้ประกันตัว 8 คดี วงเงินประกันคดีละ 90,000-200,000 บาท รวมวงเงินประกันทั้ง 8 คดี 980,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเลคทรอนิกส์ EM ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 น. ถึงเวลา 06.00 น.เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปศึกษาเล่าเรียน ไปสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการหรือศาลหรือได้รับอนุญาตจากศาล แจ้งศูนย์ EM เปิดสัญญาณ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล แจ้ง สนง.ตรวจคนเข้าเมืองทราบ

วันต่อมา (24 ก.พ.) หลังจากทนายความของนายพริษฐ์ ได้ยื่นเอกสารยืนยันการศึกษาและการเตรียมสอบเพื่อจบการศึกษาของนายพริษฐ์ต่อศาลประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจึงมีคำสั่งว่า พิเคราะห์จากคำร้องเอกสารประกอบคำร้อง ซึ่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ออกหนังสือรับรองสถานภาพการศึกษาและเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 เสนอต่อศาล จึงเห็นควรอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในช่วงเวลาอันจำกัด เพื่อให้โอกาสจําเลยที่ 1 ได้ออกไปศึกษา ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2564 สักช่วงเวลาหนึ่งมีกำหนด 3 เดือน (ครบกำหนดวันที่ 24 พ.ค. 65) ตีราคาหลักประกัน 200,000 บาท

พร้อมกันนี้ศาลได้กำหนดเงื่อนไขระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว คือ 1.ห้ามจําเลยที่ 1 ทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือด้อยค่า ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาลในทุกด้าน 2.ห้ามกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล 3.ห้ามจำเลยที่ 1 โพสต์ข้อความปลุกปั่นในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 4.ห้ามจําเลยที่ 1 ออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 18.00 น. ถึงเวลา 06.00 น.ของวันใหม่เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เพื่อการรักษาพยาบาลหรือได้รับอนุญาตจากศาล 5.ห้ามจําเลยที่ 1 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล 6.ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM เพื่อจำกัดระยะเวลาเดินทาง โดยศาลให้มีหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบด้วย

ทั้งนี้ หากจําเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคําสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเมื่อครบกําหนดปล่อยตัวชั่วคราวให้จําเลยที่ 1 มารายงานตัวต่อศาล และให้นายประกันส่งตัวจําเลยที่ 1 มาศาลในวันที่ 24 พ.ค.2565 เวลา 10.00 น.

ทั้งนี้ ช่วงค่ำวันเดียวกัน นายพริษฐ์ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีนางสุรีย์รัตน์ ชิ
วารักษ์ มารดาไปรอรับ จากนั้นนายพริษฐ์ให้สัมภาษณ์ขอบคุณพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่เป็นกำลังใจให้มาตลอด รวมทั้งระดมทุนช่วยเหลือ และขอบคุณศาลที่อนุญาตให้ปล่อยตัว เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่ดูแลระหว่างการถูกควบคุมตัว พร้อมจะเคารพเงื่อนไขของศาล แต่ไม่สามารถสกัดกั้นเจตนารมณ์ของประชาชนได้

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า ยังมีนายอานนท์ นำภา และนักโทษการเมืองรายอื่นๆ ที่อยู่หลังกำแพงยังไม่ได้รับการประกันตัว ควรได้รับความเป็นธรรมด้วย

สำหรับคดีที่นายพริษฐ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้ คือข้อหามาตรา 112 จากการไปทำกิจกรรมที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563 และนายพริษฐ์ถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.2564 รวมระยะเวลาที่ถูกขังในเรือนจำและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ 6 เดือน 15 วัน

3. ครม.เบรคแผนยกเลิก UCEP ของ สธ.ส่งผลผู้ป่วยโควิดยังเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน รักษาฟรีทุก รพ.!



เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยความคืบหน้าการปรับโรคโควิด-19 ให้ออกจาก UCEP (สิทธิการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่ง) ไปสู่การรักษาตามสิทธิว่า ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 18 ก.พ. กำหนดให้โรคโควิด 19 รักษาตามสิทธิ ตามที่ นพ.ธเรศ กรัษรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้นำเสนอขึ้นมา โดยจะมีผลเริ่มวันที่ 1 มี.ค.นี้ และได้กำชับให้อธิบดี สบส.ไปชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิหรือยกเลิก แต่เป็นการกำหนดขั้นตอนและมาตรฐานให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดการใช้งบประมาณได้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่หากมีอาการฉุกเฉินวิกฤตยังสามารถใช้สิทธิ UCEP รักษาทุกที่ได้ ส่วนอาการฉุกเฉินใช้ UCEP Plus ซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นตอนออกมา แต่ในทางปฏิบัติคิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องการให้บริการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.โควิดจะไม่ใช่โรคฉุกเฉินใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า คำจำกัดความคือโรคที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชนแต่ละคน

เมื่อถามว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านแรกๆ อาจมีประชาชนไป รพ.ที่ไม่ได้อยู่ตามสิทธิของตัวเอง จะมีการรองรับดูแลอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า เราเริ่มประชาสัมพันธ์เรื่องนี้มา 1 เดือนแล้ว ถ้ามีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่ถ้าเป็นโรคอื่นด้วยและโควิดมาซ้ำ มีอาการรุนแรงก็ใช้สิทธิฉุกเฉินได้ คือ UCEP Plus แต่ถ้าไม่มีอาการอะไรเลย แล้วอยากไปเข้า รพ. โดยเฉพาะ รพ.เอกชน ก็เหมือนโรคอื่นๆ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เราก็ต้องปรับสภาพให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุดกับพี่น้องประชาชนและภาครัฐ เรื่องงบประมาณต่างๆ

ถามต่อว่า การเตือนภัยโควิดยังคงไว้ที่ระดับ 4 ใช่หรือไม่ ต้องยกเป็นระดับ 5 หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ยัง ตรงนี้เป็นอำนาจของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.

วันต่อมา (22 ก.พ.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่อง UCEP ครม. เป็นห่วงประชาชน จึงให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนชะลอการประกาศเรื่องนี้ออกไปก่อน เพราะต้องทำความเข้าใจซักซ้อมการปรับบริการผู้ป่วยอาการสีเขียว เนื่องจากโอมิครอนมีผู้ป่วยสีเขียวมาก อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการรับสายด่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาการบริการให้ดีก่อนที่จะนำเรื่องนี้กลับมาอีกครั้ง

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. ชี้แจงการใช้สิทธิ UCEP ว่า ยังให้ดำเนินการต่อไปเหมือนช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน ตนจึงเสนอให้เลื่อนการปรับใช้สิทธิ UCEP ออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ว่า จะดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในสิ่งที่กระทรวงเตรียมการไว้ และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ความเหมาะสม แม้ว่าเดิมคิดปรับเปลี่ยนมาตรการเป็น UCEP Plus แต่เมื่อมีการแพร่ระบาด ควรปรับเปลี่ยนมาตรการไปตามสถานการณ์

ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า เมื่อโควิด UCEP มีผลอยู่ ยังถือว่าผู้ป่วยโควิดเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินอยู่ สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนไม่สามารถปฏิเสธได้ และไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ส่วนฮอสพิเทลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีฮอสพิเทลเปิดให้บริการอยู่ 200 แห่ง จำนวนเตียง 36,000 เตียง มีอัตราการครองเตียงร้อยละ 30 ส่วนเรื่องการตรวจ ATK มีผลเป็นบวก และเข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation นั้น เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายประกันสุขภาพ สบส. ได้ทำหนังสือยืนยันไปที่ คปภ.แล้วว่า HI/CI และฮอสพิเทล เป็นสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจ่ายสิทธิประกันสุขภาพ

วันเดียวกัน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยว่า ขณะนี้มีผู้โทรศัพท์เพื่อขอเข้ารับบริการผ่าน 1330 จำนวนมาก โดยวันที่ 21 ก.พ. มีผู้โทรเข้ามาสูงเป็นประวัติการณ์ 49,000 สาย ในรอบ 24 ชม. และทุกๆ วินาที มีผู้รอสาย 50 สาย ดังนั้น สปสช.จึงเพิ่มเจ้าหน้าที่อีก 150 คน ทั้งนี้ หากประชาชนโทรสายด่วน 1330 ติดต่อไม่ได้ ขอให้ใช้ช่องทางไลน์ ส่งข้อมูลโควิด จะได้ไม่ต้องรอสายนาน และตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. สปสช.จะปรับการส่งชุดตรวจ ATK โดยประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิสามารถไปรับที่ร้านยา หรือหน่วยบริการ สปสช.ได้ทุกที่

4. จุฬาฯ สั่งปลด "เนติวิทย์" พ้นตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตฯ เหตุเชิญ "ปวิน-รุ้ง-เพนกวิน" ไลฟ์ปฐมนิเทศนิสิตใหม่ฯ ด้านเจ้าตัวอ้าง ถูกผู้บริหารรัฐประหาร!



เพจ "องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.)" ได้ออกมาประกาศ (26 ก.พ.) ว่า ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สั่งปลดนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเคลื่อนไหว และนักกิจกรรมทางการเมือง พ้นจากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ จากกรณีเชิญนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการทางการเมือง ลี้ภัยอยู่ญี่ปุ่น อาจารย์ประจำ ม.เกียวโต นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง 2 แกนนำกลุ่มราษฎร มาจัดกิจกรรมต้อนรับนิสิตใหม่

โดยเพจดังกล่าวระบุว่า "ตามคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 0821/2565 เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต สำนักบริหารกิจการนิสิตระบุว่า สืบเนื่องจากการจัดงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ปีการศึกษา 2564 ที่จัดขึ้นในรูปแบบไลฟ์สด มีนิสิต 2 ราย ที่กระทำผิดวินัยนิสิต ได้แก่ นางสาวพิชชากร ฤกษ์สมพงษ์ นิสิตปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ ผู้ดำรงตำแหน่งอุปนายกคนที่ 1 และนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิต

โดยบรรยายความผิดของนางสาวพิชชากรไว้ว่า มีเจตนากระทำกิจกรรม "เซอร์ไพรส์" โดยขัดต่อวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมของสำนักบริหารกิจการนิสิต อันได้แก่ "ให้นิสิตใหม่เกิดความประทับใจในมหาวิทยาลัย" ด้วยการนำเสนอวีดิทัศน์ของวิทยากรรับเชิญสามราย คือ คุณปวิน คุณรุ้ง และคุณเพนกวิน โดย "ไม่ได้แจ้งให้สำนักบริหารกิจการนิสิตทราบก่อน" ซึ่งในกิจกรรม "เซอร์ไพรส์" ดังกล่าว มีข้อความของคุณเพนกวินที่กล่าวเชิญชวนให้นิสิตใหม่ให้ของลับ ("แจกค_ย") ทั้งยังมีกิริยาท่าทางและคำพูดที่สำนักบริหารกิจการนิสิตเห็นว่า "หยาบคาย"

สำนักบริหารกิจการนิสิตเห็นว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดการแตกความสามัคคี ขัดต่อ "วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทย" การจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง มีความผิดตามวินัยนิสิต ตามข้อ 6 แห่งระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต ปี พ.ศ. 2527 และฐานนำขนบประเพณีหรือวิธีการอันไม่เหมาะสมแก่วัฒนธรรมไทยมาปฏิบัติ ตามข้อ 12 ของระเบียบเดียวกัน...

สำหรับนายเนติวิทย์นั้น สำนักบริหารกิจการนิสิตบรรยายความผิดไว้ว่า ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนินงานขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และรู้เห็นเป็นใจกับการจัดกิจกรรม "เซอร์ไพรส์" ดังกล่าว โดยเป็นผู้ติดต่อคุณเพนกวินให้เป็นวิทยากรรับเชิญ และนายเนติวิทย์ได้โพสต์ถึงการมีกิจกรรมเซอร์ไพรส์ดังกล่าวในสื่อมัลติมีเดียของตน นอกจากนั้น ยังจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไม่ตรวจสอบกิจกรรมที่ไม่ได้ระบุไว้ในกำหนดการว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ "สำนักบริหารกิจการนิสิต" หรือไม่ มีความผิดตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยนิสิต ตามข้อ 6 และ 12 เช่นเดียวกัน

สำนักบริหารกิจการนิสิตตัดคะแนนความประพฤติของทั้งสองคน คนละ 10 คะแนน และในส่วนของนายเนติวิทย์ จะมีผลให้พ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยทันที"

ด้านนายเนติวิทย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีถูกปลดจากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ว่า วันนี้ (26 ก.พ.) ได้เข้าไปรับทราบคำสั่งของชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีจุฬาฯ ที่ได้สั่งตัดคะแนนพฤติกรรมผมและอุปนายกคนที่ 1 ขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) เนื่องจากที่ผมเชิญ เพนกวิน รุ้ง และ อ.ปวิน มากล่าวต้อนรับนิสิตใหม่ในงานปฐมนิเทศ คำสั่งนี้ทำให้ผมหมดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ โดยทันที หรืออีกนัยคือ ผมถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยก่อรัฐประหารแล้ว พวกเขาไม่สนใจไยดีคะแนนเสียงนิสิตมากกว่าหมื่นคนที่เลือกผมเข้ามาทำหน้าที่นี้

นายเนติวิทย์ ยังยืนยันด้วยว่า ตัวเองไม่ได้ติดใจเรื่องตำแหน่ง เพราะตำแหน่งไม่ใช่เรื่องหลัก ก่อนหน้าจะมีตำแหน่ง ก็ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบๆ มาโดยตลอด ผมสนุกและดีใจที่ได้รับใช้เพื่อนนิสิต พยายามหาโครงการต่างๆ ทำให้สังคมของเราดีขึ้น (แน่นอนว่า บางโครงการมหาวิทยาลัยก็คงรับไปเป็นผลงานของตน) ถึงผมไม่ได้มีตำแหน่งแล้ว แต่จะไม่ทอดทิ้งเสียงหมื่นเสียงที่ไว้วางใจ ผมยังคงสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการไม่เห็นด้วย

5. ศาลพิพากษาจำคุก "เสธ.ไบ๋" 2 ปี คดีฉ้อโกงหลอกเอกชนติดตั้งหลอดไฟ LED-แผงโซล่าเซลล์ พร้อมสั่งชดใช้ผู้เสียหาย 40 กว่าล้าน!



เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาคดีฉ้อโกงประชาชน ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.อ.สมโภชน์ เงินเจริญ หรือ เสธ.ไบ๋ อายุ 66 ปี อดีตที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตผู้ช่วยหัวหน้าเสนาธิการ รมว.กลาโหม, นางชุติกาญจน์ หรือกาญจนา บุญมี และ น.ส.ธนัญกัลย์ นันทดำรงวัฒน์ หรือฟ้า เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

คดีนี้ อัยการโจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-20 ก.ค.2561 จำเลยทั้งสามกับพวกที่ยังหลบหนี ได้ร่วมกันหลอกลวง หจก.ไพศาลการค้า ผู้เสียหายที่ 1 โดยอ้างว่ามี "โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ (หลอดไฟ LED)” ซึ่งเป็นโครงการของกรมพัฒนาพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงาน

โดย พล.อ.สมโภชน์ จำเลยที่ 1 แนะนำตัวเองว่า เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และแจ้งว่า ผู้เสียหายที่ 1 สามารถรับงานตามโครงการได้ โรงเรียนในพื้นที่ จ.ขอนแก่น งบประมาณโรงเรียนละไม่เกิน 5 แสนบาท โดยผู้เสียหายต้องจ่ายค่าจองงานและค่าดำเนินการ 30% โดยจ่ายเงินสดจำนวน 5 แสนบาทก่อน และค่าติดตั้งหลอดไฟ LED รวม 496 โรงเรียน ๆ ละ 939,000 บาท โดยผู้เสียหายจ่ายค่าดำเนินการต่างๆ ให้พวกจำเลย รวม 31,261,300 บาท ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่มีอยู่จริง ล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น อีกทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้เป็น สนช.แต่อย่างใด

นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 19 ธ.ค.2560 -21ส.ค.2561 จำเลยทั้งสามยังได้หลอกลวงบริษัท โซล่าเซลล์ จำกัด ผู้เสียหายที่ 2 ว่า มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในหน่วยงานของรัฐ (ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์) ให้กับ 100 โรงเรียนใน จ.เลย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อจ่ายเงินจำนวน 12,700,000 บาทให้แก่พวกจำเลย ซึ่งเป็นโครงการเท็จทั้งสิ้น รวมมูลค่าเสียหายความเสียหายทั้ง 2 ราย รวม 43,961,300 บาท ขอให้ลงโทษพวกจำเลยตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบหักล้างกันแล้ว พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทงละ 1 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 รวม 1 กระทง ๆ ละ 1 ปี 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี ให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1026/2562 ของศาลแขวงดอนเมือง พร้อมให้จำเลยทั้งสามคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 28,404,477.40 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนหรือชดใช้เงิน 12,700,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 ส่วนข้อหาอื่นให้ยก


กำลังโหลดความคิดเห็น