xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 6-12 ก.พ.2565

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 1 ปี รอลงอาญา "ผู้ช่วยเลขาฯ ป.ป.ช." เล็งปืนใส่แท็กซี่ ชี้ พฤติการณ์ไม่ร้ายแรง!

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายพิเศษ หรือภูษิต นาคะพันธุ์ อายุ 56 ปี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, ฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองฯ มาตรา 371, ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวโดยการขู่เข็ญ มาตรา 392 และความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2561 จำเลยได้พกพาอาวุธปืนโคลท์ รีวอลเวอร์ ขนาด .38 สเปเชียล ทะเบียน กท.2117198 พร้อมกระสุน แล้วหันปลายกระบอกปืนไปทางรถแท็กซี่รับจ้าง ซึ่งมีนายพิพัฒน์ สีสะออน ผู้เสียหายขับตามมา พร้อมกับพูดว่า “ขับตามมาทำไม ให้ถอยรถออกไปวิ่งเส้นอื่น”อันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยให้กลัวว่า จะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ โดยมีอาวุธ และทำให้เกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ จนผู้เสียหายจำยอม ไม่ขับรถตามหลังรถจำเลยตามที่ถูกข่มขู่ ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ จำคุก 2 ปี ปรับ 60,000 บาท และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ปรับ 2,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานข่มขืนใจฯ 1 ปี ปรับ 30,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี ปรับ 31,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี พร้อมรายงานตัวการคุมประพฤติทุก 4 เดือนใน 1 ปี

หลังจากนั้น อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ไม่ให้รอการลงโทษ ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่นายพิเศษ ขอเลื่อนนัด เนื่องจากต้องพามารดาไปโรงพยาบาล

เมื่อถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 (8 ก.พ.) ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า อาวุธปืนที่จำเลยพาไปนั้น เป็นอาวุธปืนมีทะเบียนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อีกทั้งจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวเพียงเพื่อข่มขู่ไม่ให้ผู้เสียหายขับรถติดตามเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยจะใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายผู้เสียหายให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต หรือร่างกายแต่อย่างใด พฤติการณ์จึงไม่ร้ายแรงนัก

เมื่อจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และได้ชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นการบรรเทาผลร้ายให้แก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจ และผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไปแล้ว เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยการรอการลงโทษให้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษารอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

2.เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งที่ 2 คดี "ธาริต" กล่าวหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ" สั่งฆ่า ปชช. หลังอ้าง “ชักเกร็ง-อ่อนแรง” ต้องรักษาด่วน!


เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง

โดยโจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือน ก.ค. 54-13 ธ.ค.2555 จำเลยทั้งสี่ในฐานะพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สอบสวนและตั้งข้อหากับโจทก์ทั้งสอง ฐานสั่งฆ่าประชาชน ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ต้องรับโทษ จากการที่ ศอฉ.ออกคำสั่งให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ที่ชุมนุมขับไล่นายอภิสิทธิ์ ให้ออกจากตำแหน่งนายกฯ จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลย จากนั้น โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลลงโทษพวกจำเลยตามกฎหมาย

ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดจริง จึงพิพากษากลับ ให้จำคุกจำเลยทั้งสี่ คนละ 3 ปี โดยลดโทษให้ 1ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา จากนั้น จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ ศาลได้นัดอ่านฎีกาคดีนี้เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2564 เเต่สุดท้าย ได้มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษา เนื่องจากจำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทำให้ส่งหมายไม่ได้ และได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 ก.พ.

เมื่อถึงกำหนด (10 ก.พ.) นายธาริต จำเลย ที่ 1 ไม่ได้เดินทางมาศาล โดยทนายจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี โดยแจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา จำเลยที่ 1 มีอาการชักเกร็งและหมดสติเป็นเวลากว่า 5 นาที หลังจากได้สติ มีอาการแขนขาข้างซ้ายอ่อนแรง ขณะนี้ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองอุดตันเฉียบพลัน ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน ไม่เช่นนั้น จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และต้องเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนเป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน โดยแนบใบรับรองแพทย์ประกอบคำร้อง

ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ทนายจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่า จำเลยที่ 1 มีอาการเจ็บป่วย โดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดง กรณีมีเหตุสมควร จึงอนุญาตให้เลื่อนไป นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 21 เม.ย. 2565 หมายศาลแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยส่งไปที่บ้านของจำเลยที่ 1 ที่ปากช่อง จ.นครราชสีมา หากการส่งไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด ซึ่งเป็นที่อยู่ที่ทนายจำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่าขอให้ส่งหมายให้จำเลยที่ 1 ตามที่อยู่ดังกล่าว และให้ประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 1 ทราบ ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อีกทางหนึ่ง

ในเวลาต่อมา นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งที่ 2 ในวันนี้ ปรากฏว่าทนายความของนายธาริต ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลพญาไท 2 ว่า นายธาริตเป็นลม เกิดอาการชักเกร็งหมดสตินาน 5 นาที พอรู้สึกตัวแขนและขาอ่อนแรง ขณะนี้นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อน โดยนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาอีกครั้งวันที่ 21 เม.ย.นี้ ซึ่งคดีมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเลื่อนออกไป ส่วนในนัดหน้าก็ต้องดูอีกทีว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อถามว่า ในนัดหน้าจะสามารถอ่านคำพิพากษาได้หรือไม่ นายสวัสดิ์ กล่าวว่า ศาลนัดอ่านคำพิพากษาทุกนัด แต่จะอ่านได้หรือไม่นั้น ต้องดูพฤติการณ์และข้อเท็จจริงของจำเลยว่า ในวันนั้นมีเหตุจำเป็นอะไรหรือไม่ ซึ่งไม่อาจจะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เมื่อจำเลยมีใบรับรองแพทย์ ฝ่ายโจทก์เราก็ต้องให้เกียรติและเคารพกัน ทั้งนี้ ก็มีภาพถ่ายมาด้วยว่า จำเลยที่ 1 นอนอยู่บนเตียงที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ส่วนประเด็นที่สื่อถามว่าจะหลบหนีหรือไม่นั้น ตอนนี้คงยังไม่มี เพราะจำเลยมีอาการป่วย

3. ศาลให้ประกัน "ไผ่ ดาวดิน-ไมค์ ภาณุพงศ์" แล้ว ห้ามชุมนุม-ทำกิจกรรมกระทบสถาบัน/ศาล ด้าน "ไผ่" ยัน เคลื่อนไหวการเมืองต่อ!



เมื่อวันที่ 9 ก.พ. นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความกลุ่มราษฎร เผยว่า ทางทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน เเละนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ในทุกคดีที่อยู่ในศาลอาญา ซึ่งเป็นคดีมาตรา 112 เเละคดีการชุมนุม

โดยคำร้องประกันตัวนายจตุภัทร์ยื่นไปว่า เนื่องจากบิดามารดาของนายจตุภัทร์ ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ มารดาขาหัก จึงขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อไปดูบุพการี ส่วนนายภาณุพงศ์ซึ่งประกอบธุรกิจขายทุเรียนทอด มารดาไม่สามารถเเบกภาระในการดูเเลธุรกิจที่เลี้ยงครอบครัวได้ไหว จึงขอประกันตัวไปช่วยดูเเลเเบ่งเบาภาระมารดา

โดยศาลพิจารณาเเล้ว อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยกําหนดเงื่อนไขห้ามจําเลยทํากิจกรรมหรือกระทําการใดๆ ที่อาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล ห้ามจําเลยเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจนกว่าศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามจําเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 18.00-06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น โดยให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ ให้ตั้งผู้กำกับดูแลจำเลย ตามที่จำเลยเสนอ เพื่อเป็นผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด ให้จําเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน ในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว และให้นายประกันพาจําเลยมาส่งตัวต่อศาลภายในวันที่ 9 มิ.ย. 2565

ทั้งนี้ นายจตุภัทร์และนายภาณุพงศ์ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวในทันที เนื่องจากนายจตุภัทร์ยังมีหมายขังคดีการชุมนุมที่ศาลจังหวัดภูเขียว จ.ชัยภูมิ เเละศาลอาญากรุงเทพใต้ ส่วนนายภาณุพงศ์ มีหมายขังอยู่ที่ศาลจังหวัดภูเขียว ทางทนายความต้องยื่นประกันตัวทั้งสองไปยังศาลที่ยังมีหมายขังอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น (10 ก.พ.)

วันต่อมา (10 ก.พ.) นายกฤษฎางค์ ทนายความ เผยหลังยื่นประกันตัวทั้ง 2 คน ในเขตอำนาจศาลอื่นเรียบร้อยแล้วว่า ศาลจังหวัดภูเขียว เเละศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุญาตให้ประกันตัวนายจตุภัทร์แล้ว โดยศาลอาญากรุงเทพใต้กำหนดเงื่อนไขเช่นเดียวกับศาลอาญา ส่วนนายภาณุพงศ์ ศาลจังหวัดภูเขียว อนุญาตให้ประกันตัวแล้ว แต่ยังมีคดีที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งศาลให้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายภาณุพงศ์วันที่ 11 ก.พ. เวลา 10.00 น.

ทั้งนี้ ช่วงค่ำ 10 ก.พ. นายจตุภัทร์ กล่าวหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า รู้สึกดี และไม่ควรมีใครต้องเข้าไปอยู่ข้างในแต่แรก และขอให้รอดูว่าจะทำตามเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อ ที่ศาลได้กำหนดไว้หรือไม่ และว่า ตอนอยู่ข้างในคิดถึงอิสรภาพข้างนอก คิดถึงบรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งพ่อแม่ ครอบครัว และเพื่อนๆ ถึงแม้ตนจะอยู่ข้างใน แต่ก็ติดตามสถานการณ์การเมืองตลอดเวลาจากทนาย

นายจตุภัทร์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ของรัฐบาลในปัจจุบันด้วยว่า เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นการสืบทอดอำนาจ ไม่ควรมีแต่แรก นายจตุภัทร์ยังยืนยันด้วยว่า จะออกมาเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองแน่นอน ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นจะมีการต่อสู้ และจะเป็นการต่อสู้ทุกหย่อมหญ้า

วันต่อมา (11 ก.พ.) ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ไต่สวนคำร้องขอประกันนายภาณุพงศ์ ที่พนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 3 คน ในข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง มาตรา 112 กรณีชุมนุมอยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป

หลังไต่สวน ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 2 อยู่ระหว่างการศึกษาและต้องช่วยมารดาหาเลี้ยงครอบครัว เมื่อจำเลยที่ 2 ให้สัญญาว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จะไม่กระทำการใดๆ ให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก รวมทั้งยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ศาลกำหนดโดยเคร่งครัด

ประกอบกับในชั้นนี้ไม่มีพฤติการณ์ว่า จำเลยที่ 2 จะหลบหนีคดี จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณาได้ โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยที่ 2 ทำกิจกรรมหรือกระทำการใดอันอาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสถาบันศาลในทุกด้าน ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามจำเลยที่ 2 ออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 18.00-05.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่เพื่อการรักษาพยาบาล หรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล และห้ามจำเลยที่ 2 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ผู้ร้องทำสัญญาประกันโดยไม่ต้องวางหลักประกัน หากผิดสัญญาปรับ 1.5 เเสนบาท

4. พท.อ้าง "บิ๊กตู่" เตรียมทิ้งทวนเมกะโปรเจ็กต์ 4 แสนล้าน ด้าน 7 รมต. "ภท." พร้อมใจลาประชุม ครม. ค้าน มท.ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว!



เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้แถลงที่ทำการพรรคถึงปัญหาสภาล่มบ่อย พร้อมระบุตอนหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม รู้อยู่แล้วว่า ตัวเองจะไปไม่รอด จึงทิ้งทวนเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ 4 แสนล้าน โดยในการประชุม ครม.วันที่ 8 ก.พ.จะมีวาระขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไป 40 ปี ให้กับบีทีเอส มูลค่า 4 แสนล้าน เพื่อให้ ครม.อนุมัติในช่วงที่กำลังชุลมุน

นายยุทธพงศ์ ชี้ว่า เรื่องนี้มีความผิดปกติมาก เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในเดือน พ.ค. ถามว่า เรื่องรถไฟฟ้าฯ ใหญ่ขนาดนี้ ผูกพันอนาคตคนกรุงเทพฯ ออกไปอีก 40 ปีข้างหน้า ทำไมไม่รอให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เข้ามาตัดสินใจ แบบนี้เรียกว่า ทิ้งทวนหรือไม่ก่อนหมดวาระ เพราะตรงนี้เป็นผลประโยชน์มหาศาลหรือไม่

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ความไม่โปร่งใสในการต่อขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 40 ปีนั้น ในเส้นทางหลักของบีทีเอสจะหมดสัญญาในปี 2572 ถามว่า แล้วจะเร่งรีบต่อสัญญาไปทำไม ขณะที่ กทม.จะขยายสัญญาสัมปทาน โดยที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในส่วนต่อขยายสีเขียวเหนือและสีเขียวใต้ของ รฟม. โดย กทม.ควรชำระหนี้ให้ รฟม.เรียบร้อยก่อน เพราะส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวไต้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. กทม.ยังไม่ได้รับโอน แล้วถามว่า กทม.จะยกส่วนนี้ไปให้บีทีเอสได้อย่างไร ผิดกฎหมายชัด

2 วันต่อมา (8 ก.พ.) ซึ่งเป็นวันประชุม ครม. ปรากฏว่า รัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) 7 คน ได้ยื่นหนังสือขอลาการประชุม โดยอ้างว่าติดภารกิจ ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม, นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ

ขณะที่สังคมมองว่า การลาประชุม ครม.ของรัฐมนตรี ภท.ทั้ง 7 คน เป็นการแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยที่กระทรวงมหาดไทยเสนอวาระเพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปเป็นปี 2602 แลกกับการเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ประกอบกับมองว่า กระทรวงมหาดไทยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล หากมีการอนุมัติวาระดังกล่าว จะส่งผลทางกฎหมายในอนาคตได้

3 วันต่อมา (11 ก.พ.) มีรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุม ศบค.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้หารือนอกรอบกับนายอนุทิน, นายศักดิ์สยาม รวมถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีรายงานว่า ทั้งหมดได้พูดคุยถึงการประชุมสภาฯ โดยเฉพาะเรื่ององค์ประชุมในศึกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 ก.พ.นี้ โดยช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้หันไปกล่าวกับนายอนุทินว่า “หนูช่วยกันหน่อยนะ”

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงข่าวโดยมีนายอนุทิน นายศักดิ์สยาม นายสุชาติ และนายชัยวุฒิ มายืนอยู่ข้างหลังด้วย ซึ่งคาดว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเหนียวแน่นของพรรคร่วมรัฐบาล หลังเกิดกระแสข่าวความระหองระแหงโดยเฉพาะกับพรรคภูมิใจไทย ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ความเดือดร้อนมีอยู่หลายส่วน ซึ่งรัฐบาลก็นำทุกอย่างเพื่อมาแก้ปัญหาทั้งหมด ยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งสิ้นในการบริหารราชการ เพราะฉะนั้นขอร้องว่า ให้ช่วยกันลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยความเข้าใจไปด้วยกัน ต้องเข้าใจว่า เหตุใดถึงแก้ปัญหาได้เพียงเท่านี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับงบประมาณและระยะเวลาของสถานการณ์ที่เป็นวิกฤต ซึ่งเกิดพร้อมกันหลายประเทศทั่วโลก

พล.อ.ประยุทธ์ ยังส่งสัญญาณถึงปัญหาสภาล่มบ่อยครั้งด้วยว่า “นายกรัฐมนตรีก็ห่วงใยทุกคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ขอความร่วมมือไปยังฝ่ายนิติบัญญัติด้วยก็แล้วกัน ทุกอย่างอย่าให้มีปัญหากันมากนัก ความจริงไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ผมคุยกับบรรดาหัวหน้าพรรคและพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็อย่าทำให้มันสับสนอลหม่านไป เพราะมันไม่มีอะไรดีขึ้นกับประเทศเลย”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้มีนายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม มายืนร่วมแถลงด้วย ต้องการแสดงให้เห็นว่าได้เคลียร์ปัญหาต่างๆแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมต้องเคลียร์อะไรกับเขาล่ะ มีอะไรต้องเคลียร์หรือ” เมื่อถามย้ำถึงปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เรื่องนั้นเป็นเรื่องการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ว่ากันไป กฎหมายถ้าทำได้ก็ทำได้ ก็แค่นั้น"

ด้านนายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโดยยืนยันว่า หลังประชุม ศบค. พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้พูดคุยทำความเข้าใจเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะไม่ได้มีอะไรผิดใจกัน ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน นายกรัฐมนตรีบอกว่าทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย และว่า หลังเสร็จการประชุม ศบค. นายกรัฐมนตรีก็พักประมาณ 5-10 นาที แล้วก็เดินกลับตึกไทยคู่ฟ้า พวกเราก็เดินตามไปส่งนายกฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ได้พูดคุยถึงเรื่องการเตรียมชี้แจงกรณีที่ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในวันที่ 17-18 ก.พ.นี้ ด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า คุยเรื่องความมั่นคงของจำนวน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งนายกฯ ไม่ได้กังวล และได้ยืนยันว่า มีความพร้อมที่จะตอบข้อซักถามของฝ่ายค้าน หรือผู้อภิปรายคนใดก็ตามที่มีข้อสงสัย โดยนายกฯ จะตอบในภาพรวม และถ้ามีรัฐมนตรีคนใดถูกพาดพิงถึง ให้รัฐมนตรีคนนั้นไปเตรียมคำตอบมาให้ดี และให้เช็กซึ่งกันและกัน อีกทั้งให้เตรียมความพร้อมว่า เมื่อถึงวันที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบที่จะมีการลงมติในดือน พ.ค.นี้ เราก็ต้องเช็คความพร้อม ขณะที่รัฐบาลยังมีเสถียรภาพสูงมาก

เมื่อถามว่า จะมีอะไรที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มั่นคงได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มี อย่างที่ตนบอกว่า เวลาทำงาน เราไม่ได้เกลียดกัน หรือโกรธกัน หรือไม่พอใจกันในเรื่องส่วนตัว “แต่นี่มันมีเรื่องงานเข้ามา เพราะถ้าทุกคนเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด ก็ยุ่งสิโลกนี้ ต้องเห็นต่างกัน อย่างเช่น เวลาไปพร้อมกัน 3 คนเพื่อจีบผู้หญิงคนเดียวกัน ถ้าชอบสไตล์เดียวกันหมด ก็ชกกันตาย ดังนั้นเรื่องการทำงานก็ต้องทำความเข้าใจกัน”

5. จนท. เร่งตรวจสอบที่ดินเครือญาติ "สมปอง" พบ 10 แปลง 186 ไร่ อยู่นอกเขต ส.ป.ก. ทั้งหมด เดินหน้าตรวจสอบต่อ จนกว่าจะได้ข้อยุติ!



จากกรณีที่นางพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย หรือติ๋ม ทีวีพูล ผู้ก่อตั้งนิตยสารทีวีพูล ได้แถลงข่าว (4 ก.พ.) โดยแฉว่า นายสมปอง นครไธสง หรืออดีตพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต มีหนี้สิน 10.9 ล้านบาท จากการไล่ซื้อที่ดิน ส.ป.ก.กว่า 300 ไร่ ให้ครอบครัวทำสวนยางพารา

ปรากฏว่า ในเวลาต่อมา นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกมาเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ที่ดินของครอบครัวนายสมปองที่ จ.ชัยภูมิ อาจมีมากกว่า 5 แปลง บางส่วนอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แต่บางแปลงอาจอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ซึ่ง ส.ป.ก.ได้คืนพื้นที่บางส่วนออกมาจากเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวให้กรมป่าไม้ เพราะยังมีสภาพเป็นป่าไม้อยู่ แต่กลับมีการบุกรุกแผ้วถางยึดถือครอบครองไปเป็นจำนวนมาก จึงได้ยื่นเรื่องต่ออธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อให้มีการตรวจสอบที่ดินทั้ง 5 แปลงดังกล่าวว่า มีแปลงใดหรือส่วนใดบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่

ด้านนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เผยเมื่อ 9 ก.พ.ว่า จากการตรวจสอบของสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) และศูนย์ประสานงานป่าไม้ชัยภูมิ ที่เข้าตรวจสอบพิกัดพื้นที่ 6 แปลง จากทั้งหมด 11 แปลงพบว่า ที่ดินประมาณ 200 ไร่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าซำผักหนาม และบางส่วนเป็นพื้นที่เป้าหมายในการจัดการที่ดินให้ชุมชนตามนโยบายของ คทช. เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าว สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ส่งพื้นที่คืนให้กับกรมป่าไม้เมื่อปี 2539 เนื่องจากมีสภาพไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม “ตรวจเบื้องต้น 6 แปลง จาก 11 แปลง พบอยู่ในเขตป่าสงวน 200 ไร่ และสอบถามผู้นำชุมชนเองก็ไม่รู้ว่าชื่อใครครอบครอง ใช้ประโยชน์และได้รับอนุญาตหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่พบปลูกยางพารา และมีสิ่งปลูกสร้างเพิงพัก”

นายสุรชัย เผยด้วยว่า “ขั้นตอนจากนี้ จะต้องตรวจรายละเอียดเพิ่มเติม เพราะการลงพื้นที่วันแรกไม่มีใครมาแสดงเอกสารเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่เบื้องต้นพบว่าอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ” หากพบรายชื่อผู้ครอบครองชัดเจน ก็จะตรวจว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ หรือบุคคลนั้นมีสิทธิได้รับอนุญาตหรือไม่ ถ้าพบกระทำผิด จะมีโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 14 จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท แต่ถ้ามีการกระทำผิดเกิน 25 ไร่ขึ้นไป โทษจำคุก 4-20 ปี ปรับ 200,00-1,000,000 บาท

ด้านนายสาโรจน์ บุญพร้อม หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้คอนสาร เผยเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบพื้นที่ที่มีการกล่าวอ้างจาก ส.ป.ก.ว่า พื้นที่จำนวน 10 แปลงที่กำลังเป็นประเด็นนั้น อยู่นอกเขต ส.ป.ก. จึงได้ออกเดินสำรวจตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 ก.พ. จนถึงวันนี้ (10 ก.พ.) ครบ 10 แปลง พบว่า จุดที่ 1 เนื้อที่ 16 ไร่ 37 ตารางวา เป็นพื้นที่ปลูกยางพารา ผู้ครอบครองคือ นางตาล นครไธสง มารดานายสมปอง จุดที่ 2 เนื้อที่ 26 ไร่ 74 ตารางวา ปลูกยางพารา ไม่ทราบผู้ครอบครอง จุดที่ 3 เนื้อที่ 28 ตารางวา ปลูกไผ่ ไม่ทราบผู้ครอบครอง จุดที่ 4 เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา ไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน ไม่ทราบผู้ครอบครอง

จุดที่ 5 เนื้อที่ 23 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา ไม่ทราบผู้ครอบครอง จุดที่ 6 เนื้อที่ 31 ไร่ 1 งาน 23 ตารางวา เป็นสภาพป่า ไม่ทราบผู้ครอบครอง จุดที่ 7 เนื้อที่ 5 ไร่ 41 ตารางวา เป็นที่อยู่อาศัย ผู้ครอบครองคือ นางตาล นครไธสง จุดที่ 8 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา ปลูกทุเรียน ไม่ทราบผู้ครอบครอง จุดที่ 9 เนื้อที่ 19 ไร่ 1 งาน 87 ตารางวา ไม่ทราบผู้ครอบครอง และจุดที่ 10 เนื้อที่ 41 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวา เป็นแปลง นส.3 ของราษฎร ไม่ทราบผู้ครอบครอง ซึ่งพื้นที่อยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดินทั้งหมด และบางพื้นที่มีการสำรวจที่ดินทำกิน (คสช) เป็นพื้นที่เป้าหมาย คทช. รวมเนื้อที่ทั้งหมดได้ 186 ไร่ 1 งาน 81 ตารางวา


ขณะที่นายดุสิต กมลพาณิชย์ ผอ.ศูนย์ป่าไม้ชัยภูมิ เผยว่า ยังคงให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามปัญหา รวมทั้งศูนย์ป่าไม้ฯ ได้รับคำร้องเรียนจากนายศรีสุวรรณ จรรยา จึงต้องเร่งตรวจสอบตามคำร้อง ทั้งบริเวณที่เป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของ และบริเวณที่ไม่มีเจ้าของ จะให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบจนกว่าจะได้ข้อยุติ หากเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารแสดงตน จะแจ้งดำเนินคดีกับบุคคลที่บุกรุกป่าต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น