xs
xsm
sm
md
lg

ลูกทุ่งเน็ตเวิร์คเผย ประมูลคลื่นวิทยุคว้ามาได้ 13 สถานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบผู้ผลิตรายการวิทยุ ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ชนะประมูลคลื่นวิทยุ 13 คลื่น หวังผนวกกับ 45 สถานีเดิม รวมเป็น 58 สถานีทั่วประเทศ ตั้งเป้าให้เป็นสถานีวิทยุลูกทุ่งทั้งวันทั้งคืน ส่วน อสมท ยังรักษาคลื่นไว้ได้หลายจังหวัด

วันนี้ (23 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง จำกัด ของนายสุริยนต์ ตั้งขันติธรรม ผู้ผลิตรายการวิทยุ ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ทางสถานีวิทยุ FM 94.5 และกระจายเสียงไปยังสถานีวิทยุเครือข่ายทั่วประเทศ รวม 45 สถานี ได้แสดงความประสงค์เข้าร่วมประมูลคลื่นวิทยุ 45 สถานี 

ปรากฏว่าได้ออกข่าวยืนยันว่าชนะการประมูล 13 สถานี ทำให้ลูกทุ่งเน็ตเวิร์คมีสถานีเครือข่ายทั่วประเทศ 58 สถานี โดยกลยุทธ์ที่ลูกทุ่งเน็ตเวิร์คทำการประมูล รอบที่ 1 เริ่มจากคลื่นหลักของกรุงเทพมหานคร แล้วทุ่มงบไปที่หัวเมืองใหญ่ เช่น รอบที่ 2 จังหวัดสงขลา รอบที่ 3 จังหวัดสุรินทร์ และรอบที่ 4 จังหวัดอุดรธานี ผสมกับการประมูลคลื่นความถี่ได้อีกหลายคลื่น เพื่อเสริมศักยภาพร่วมกับสถานีวิทยุที่มีอยู่เดิมทั่วประเทศ ตั้งเป้าให้เป็นสถานีวิทยุลูกทุ่งทั้งวันทั้งคืน เครือข่ายของคนฟังทั้งประเทศ

อ่านโพสต์ที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่

จากการตรวจสอบคลื่นความถี่วิทยุที่ลูกทุ่งเน็ตเวิร์คได้มาเพิ่ม แบ่งเป็นคลื่นความถี่วิทยุที่ลูกทุ่งเน็ตเวิร์คเข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียวแบบไม่มีคู่แข่ง 6 สถานี ได้แก่ FM 98.5 กรุงเทพมหานคร ของสำนักงาน กสทช. เดิม, FM 102 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเพื่อการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรมประชาสัมพันธ์ เดิม, FM 96.5 จังหวัดลำพูน ของสถานีวิทยุ อสมท. ลำพูน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เดิม, FM 106.25 จังหวัดนครราชสีมา ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา เดิม, FM 105.75 จังหวัดระนอง ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเพื่อการศึกษาจังหวัดระนอง กรมประชาสัมพันธ์ เดิม และ FM 98.75 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย อำเภอหัวหิน กรมประชาสัมพันธ์ เดิม

ส่วนคลื่นความถี่วิทยุที่ลูกทุ่งเน็ตเวิร์คแข่งกับผู้ประกอบการรายอื่น แล้วชนะการประมูล มี 7 สถานี ประกอบด้วย ภาคเหนือ FM 97.25 จังหวัดพะเยา ของสถานีวิทยุ อสมท. พะเยา เดิม ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ชนะ อสมท, FM 101.75 จังหวัดอุทัยธานี ของสถานีวิทยุ อสมท. อุทัยธานี เดิม ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ชนะ อสมท และห้างหุ้นส่วนจำกัด มีเดีย 975, FM 92.75 จังหวัดกำแพงเพชร ของสถานีวิทยุ อสมท. กำแพงเพชร เดิม ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ชนะ อสมท และห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรสิน มีเดีย, ภาคใต้ FM 102.25 จังหวัดสงขลา ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา กรมประชาสัมพันธ์ เดิม ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ชนะบริษัท นานาเอนเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ FM 93.25 จังหวัดขอนแก่น ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย อำเภอชุมแพ กรมประชาสัมพันธ์ เดิม ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ชนะ บริษัท ดินดิน จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด หนองเรือเรดิโอ, FM 99.75 จังหวัดสุรินทร์ ของสถานีวิทยุ อสมท. สุรินทร์ เดิม ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ชนะ อสมท และบริษัท เจ.เอส.ไนน์ตี้วัน จำกัด, FM 99 จังหวัดอุดรธานี ของสำนักงาน กสทช. เดิม ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ชนะ เจ.เอส.ไนน์ตี้วัน, บริษัท คาร์บอนเทกซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีพันดวงรุ่งเรือง ซึ่งจากผลการประมูลที่เกิดขึ้น เท่ากับว่าลูกทุ่งเน็ตเวิร์คได้คลื่นที่เป็นสถานีวิทยุ อสมท. เดิม 5 สถานี ได้แก่ ลำพูน พะเยา อุทัยธานี กำแพงเพชร และสุรินทร์

แต่จากการเปรียบเทียบรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูล โดยนับเฉพาะที่ อสมท แข่งกับลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 2 ราย พบว่าหลายคลื่นที่ อสมท เป็นเจ้าของเดิม ชนะลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 12 สถานี เช่น FM 99 จังหวัดลำปาง, FM 97.25 จังหวัดตาก, FM 101.25 จังหวัดเชียงราย, FM 107.75 จังหวัดพิจิตร, FM 107.25 จังหวัดตราด, FM 96.75 จังหวัดระยอง, FM 107.25 จังหวัดกาญจนบุรี, FM 95 จังหวัดศรีสะเกษ, FM 105 จังหวัดกระบี่, FM 106.25 จังหวัดตรัง, FM 90.75 จังหวัดชุมพร และ FM 104.75 จังหวัดชุมพร (สถานีวิทยุ อสมท หลังสวนเดิม)

รวมกับคลื่นความถี่วิทยุที่ อสมท เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียวแบบไม่มีคู่แข่ง 14 สถานี ได้แก่ FM 99.5 จังหวัดแม่ฮ่องสอน, FM 99.25 จังหวัดสุโขทัย, FM 98.5 จังหวัดอุตรดิตถ์, FM 92 จังหวัดน่าน, FM 92 จังหวัดกาฬสินธุ์, FM 91.5 จังหวัดอุดรธานี, FM 96.5 จังหวัดสงขลา, FM 93.25 จังหวัดสตูล, FM 102.5 จังหวัดยะลา, FM 91 จังหวัดปัตตานี, FM 101.5 จังหวัดภูเก็ต, FM 95.75 จังหวัดพัทลุง, FM 100.5 จังหวัดระนอง และ FM 106.75 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นอกจากนี้ มีรายงานว่า คลื่นความถี่วิทยุ FM 100.5 จังหวัดมหาสารคาม ของสถานีวิทยุ อสมท.มหาสารคาม เดิม แต่ไม่ประสงค์จะประมูลคลื่นต่อ พบว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด พีระยา มีเดียกรุ๊ป ผู้ผลิตรายการลูกทุ่งบันเทิงมหาสารคาม ของนางพีระยา ผาบชมภู นักจัดรายการวิทยุชื่อดังในจังหวัดมหาสารคาม ชนะลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ด้วยราคาประมาณ 2.99 ล้านบาท ส่วน FM 89 จังหวัดภูเก็ต ของสำนักงาน กสทช. เดิม พบว่า บริษัท นานาเอนเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด จับสลากชนะลูกทุ่งเน็ตเวิร์คอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท กล่าวว่า อสมท ยื่นประมูลคลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็มมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 55 คลื่น แบ่งเป็นคลื่นความถี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 49 คลื่น โดยการประมูลครั้งนี้ได้เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดจำนวนได้เกือบ 55 คลื่น มีเพียงไม่กี่คลื่นเท่านั้นที่แพ้การประมูล โดยยอมรับว่าระบบการประมูลมีปัญหาในทุกรอบ ดังนั้น จำเป็นต้องส่งตัวแทนไปตรวจสอบราคากับ กสทช.

อ่านประกอบ : กสทช.ประมูลคลื่นเอฟเอ็มมาราธอนข้ามคืน 16 ชม. อสมท คว้าคลื่นเอฟเอ็มกว่า 50 คลื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น