อสมท อัด 280.894 ล้านบาท เสนอราคาสูงสุดในการประมูลคลื่นความถี่วิทยุ กวาด 6 คลื่น ทั้งกรุงเทพฯ และภูมิภาค ตอกย้ำจุดแข็งเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมเดินหน้าขยายดิจิทัลแพลตฟอร์มควบคู่พัฒนาคอนเทนต์ ตอบโจทย์ผู้ฟังทุกกลุ่ม
รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บมจ.อสมท ผู้นำธุรกิจวิทยุที่ได้ดำเนินธุรกิจวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มมาอย่างยาวนานโดยตลอด ได้ยื่นประมูลคลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็มมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 55 คลื่น แบ่งเป็นคลื่นความถี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาคจำนวน 49 คลื่น
ทั้งนี้ การยื่นประมูลแต่ละคลื่นความถี่พิจารณาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ความสามารถในการสร้างผลกำไร ความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) และความรับผิดชอบในบทบาทภารกิจทางสังคมของ อสมท ที่มุ่งสร้างเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
โดยใช้งบในการประมูลประมาณ 286.894 ล้านบาท สำหรับผลการประมูลครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจ โดยผลการประมูลฯ บมจ.อสมท เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการประมูลฯ รวมทั้งสิ้น 6 คลื่น ประกอบด้วย 1. FM 95 ราคา 50.59 ล้านบาท 2. FM 96.5 ราคา 50.44 ล้านบาท 3. FM 99 ราคา 50.14 ล้านบาท 4. FM 100.5 ราคา 50.12 ล้านบาท 5. FM 107 ราคา 48.79 ล้านบาท และ 6. FM 100.5 ราคา 36.78 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 286.894 ล้านบาท
รศ.เกษมศานต์กล่าวต่อว่า แนวทางในการบริหารคลื่นความถี่วิทยุหลังจากนี้จะเร่งสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ฟังและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อตอกย้ำถึงจุดแข็งของธุรกิจวิทยุที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนมีความพร้อมด้านบุคลากร และด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สตูดิโอ สถานีออกอากาศ เครื่องส่ง เป็นต้น ซึ่งบริษัทพร้อมสนับสนุนการให้บริการแก่พันธมิตรทางธุรกิจและการให้บริการสังคม
นอกจากนี้ ตามแผนงานที่วางไว้ประกอบไปด้วย 1. การปรับโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการ (Refreshing Organization Structure & Management) 2. การจัดผังรายการให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย (Refreshing Program) 3. การจัดสรรช่วงเวลาออกอากาศ (Broadcasting Time Allocation) ระหว่างสถานีวิทยุแต่ละแห่งกับการออกอากาศของเครือข่ายคลื่นส่วนกลาง 4. การผลักดันคู่ขนานระหว่างการออกอากาศในรูปแบบเดิมกับรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Traditional & Digital Platforms) และ 5. การจัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มผู้ฟังและแฟนคลับ (On Ground Events)
"การดำเนินการเหล่านี้จะให้ความสำคัญต่อความสามารถในการเพิ่มรายได้ การควบคุมค่าใช้จ่าย และความรับผิดชอบต่อสังคมในบทบาทของการเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ขอให้ทุกภาคส่วนมั่นใจได้ว่า บมจ.อสมท จะยังคงทำหน้าที่สื่อกลางในการนำทั้งข้อมูล ข่าวสารที่ถูกต้องเที่ยงตรง และสารบันเทิงที่มีประโยชน์ถึงพี่น้องประชาชนได้ครอบคลุมทุกพื้นที่"
อย่างไรก็ตาม เดิม บมจ.อสมท บริหารคลื่นวิทยุเอฟเอ็มอยู่ 6 คลื่น คือ 1. FM 95 ลูกทุ่งมหานคร 2. FM 96.5 คลื่นความคิด 3. FM 97.5 Mellow 4. FM 99 Active Radio 5. FM 100.5 News Network และ 6. FM 107 MET107 ซึ่งการประมูลในครั้งนี้ สำหรับ Mellow 97.5 MHz ที่ไม่ร่วมประมูลฯ เนื่องจากกลุ่มผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและวัยทํางานตอนต้น (First Jobber) จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันให้ Mellow เป็น Pilot project สําหรับธุรกิจดิจิทัลในอนาคต มุ่งเน้นไปที่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมถึงนำคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมไปเสริมทัพในคลื่นอื่นๆ ของ อสมท และเน้นการทํากิจกรรม Exclusive ร่วมกับกลุ่มผู้ฟัง แฟนคลับของศิลปิน และ On ground Event ซึ่งเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้รวมถึงสร้าง Community ให้แก่นักจัดรายการและกลุ่มผู้ฟังอีกด้วย
“สำหรับคลื่นวิทยุที่ บมจ.อสมท ไม่ได้เข้าประมูลในครั้งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ บมจ.อสมท อย่างมีนัยสำคัญ โดย บมจ.อสมท ยังคงมีศักยภาพในการออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) ทั่วประเทศที่ไม่แตกต่างจากเดิม สามารถใช้การออกอากาศกระจายเสียงจากสถานีข้างเคียง ควบคู่ไปกับรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมถึงการแสวงหาเครือข่ายและพันธมิตร” รศ.เกษมศานต์กล่าว
อนึ่ง หลังจากสำนักงาน กสทช.ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเท่ากับราคาที่ชนะรวมภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 24 มีนาคม 2565 และแจ้งข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบริการด้านกระจายเสียง เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และยื่นขอรับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะประมูล