xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.ประมูลคลื่นเอฟเอ็มมาราธอนข้ามคืน 16 ชม. อสมท คว้าคลื่นเอฟเอ็มกว่า 50 คลื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประมูลคลื่นเอฟเอ็ม อสมท เข้าวินเกือบ 55 คลื่น ขณะที่ระบบประมูลมีปัญหา ประมูลคลื่นกินเวลา 16 ชม.ส่งผลสรุปราคาประมูลล่าช้า เหตุต้องเช็กราคาประมูลให้ตรงกัน

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ได้จัดประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็มในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาต มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 30 บริษัท จำนวน 71 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 คลื่นความถี่ ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่นความถี่ ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 21 คลื่นความถี่และภาคใต้ จำนวน 20 คลื่นความถี่ อายุใบอนุญาต 7 ปี ซึ่งหลังจากประมูลเสร็จจะนำรายชื่อผู้ชนะประมูลเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.รับรองผลในวันที่ 23 ก.พ.2565

สำหรับการประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม รอบแรก มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 14% จากราคาตั้งต้นทั้งหมด 18 คลื่น ราคา 390 ล้านบาท เป็น 443 ล้านบาท แบ่งเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 8 คลื่นความถี่ ภาคกลาง 6 คลื่นความถี่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 คลื่นความถี่

ทั้งนี้ เนื่องจากคลื่นในพื้นที่ กทม. มีราคาเริ่มต้นสูงสุดอยู่ที่ 54,8300,000 บาท แม้จะมีผู้เข้าประมูลเพียงคลื่นละ 1 บริษัทก็ตาม ขณะที่พื้นที่ในต่างจังหวัดราคาเริ่มต้นการประมูลต่ำสุดคือ 105,000 บาท มีการแข่งขันมากกว่า 1 ราย พบว่ามีการต่อเวลาการประมูลออกไปอีก 5 นาที จำนวน 4 คลื่น คือ คลื่น 95.25 จ.จันทบุรี คลื่น 107.25 จ.ตราด คลื่น 105.5 จ.มหาสารคาม และคลื่น 107.25 จ.กาญจนบุรี ทำให้การประมูลรอบแรกจบลงที่เวลา 13.30 น.

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ กทม.นั้น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นประมูล 6 คลื่นความถี่ ไม่มีคู่แข่งจึงชนะการประมูลรวมมูลค่า 6 คลื่นอยู่ที่ 286.894 ล้านบาท จากจำนวนที่ยื่นทั้งหมด 55 คลื่นทั่วประเทศ

สำหรับเหตุผลที่ต่างจังหวัดมีการแข่งขันราคาสูงกว่าราคาเริ่มต้น ซึ่งตั้งราคาหลักแสนบาทไปจบที่ราคาหลักล้านบาท หรืออย่าง จ.ชลบุรี คลื่น 107.75 ที่ตั้งราคาไว้ที่ 2 ล้านบาท มีผู้เคาะราคาประมูลไปถึง 19 ล้านบาทนั้น แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านระบบกระจายเสียงจากเดิมที่รัฐเป็นเจ้าของมาสู่ระบบใบอนุญาตนั้นประสบความสำเร็จ ซึ่งกสทช.ตั้งราคาเริ่มต้นในราคานี้เพื่อเปิดโอกาสให้รายใหม่ได้เข้ามามีโอกาสในตลาดนี้ ซึ่งปัจจุบันตลาดด้านกระจายเสียงมีมูลค่าเม็ดเงินโฆษณากว่า 6,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมประมูลเล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ

ส่วนการประมูลรอบสอง จำนวน 22 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 10 คลื่นความถี่และภาคใต้ 12 คลื่นความถี่ มีการเคาะราคาประมูลสูงถึง 20 เท่า จากราคาเริ่มต้น 7.6 ล้านบาท เป็น 160 ล้านบาท ไม่มีผู้เสนอราคาเท่ากัน แต่มีคลื่น 104.5 ใน จ.นครศรีธรรมราช ที่มีการเสนอราคาสูงจากราคาเริ่มต้นประมาณ 9 แสนบาท ไปอยู่ที่ราคา 28 ล้านบาท ทำให้ในการประมูลรอบนี้ต้องดำเนินการให้ผู้เข้าร่วมประมูลยืนยันราคากับล็อกไฟล์ให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะเริ่มประมูลในรอบสาม

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 21.15 น. เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า เมื่อตรวจสอบล็อกไฟล์อย่างละเอียดแล้ว พบว่า การประมูลรอบสองนั้นมีผู้เสนอราคาเท่ากัน 2 ราย จึงนำผู้เสนอราคาเท่ากันทั้ง 2 รายมาจับฉลาก

ในขณะที่รอบที่สามเสร็จสิ้นการประมูลแล้วประมาณ 20.30 น. จำนวน 18 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 คลื่นความถี่ และภาคเหนือ 6 คลื่นความถี่ แต่ยังคงมีการตรวจสอบล็อกไฟล์อยู่ก็มีผู้เข้าร่วมประมูลบางกลุ่มเข้ามาร้องเรียนว่าการประมูลน่าจะมีปัญหา เพราะไม่สามารถกดราคาประมูลตามแผนได้ จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ซึ่งได้คำตอบว่าอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ทำให้เกิดคำถามถึงความโปร่งใสในการประมูลครั้งนี้

ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกส่วนชี้แจงว่า เนื่องจากมีการเคาะราคาติดกัน ระบบประมวลผลจึงไม่แสดงราคาที่เคาะแต่ยืนยันว่าล็อกไฟล์หลังบ้านสามารถยืนยันราคาที่เคาะได้ชัดเจนแน่นอน

ดังนั้นทำให้ กสทช.ยังไม่สามารถสรุปราคาการประมูลรอบสาม และรอบสี่ ที่ประมูลจำนวน 13 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 คลื่นความถี่ และภาคใต้ 8 คลื่นความถี่ เพราะต้องตรวจสอบล็อกไฟล์อีกครั้ง โดยการประมูลเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 น. รอบละ 1 ชั่วโมง จำนวน 4 รอบ แต่เนื่องจากการประมูลมีการเคาะราคาสูงกว่าราคาเริ่มต้นหลายเท่า จึงต้องใช้เวลาในการยืนยันราคาในระบบล็อกไฟล์ก่อนที่จะเริ่มประมูลในรอบถัดไป ทำให้การประมูลในรอบถัดไปต้องเลื่อนจากกำหนดการเดิม ส่งผลให้การประมูลทั้ง 4 รอบใช้เวลาเกือบ 16 ชั่วโมง จบลงในเวลา 0.16 น. และจะมีการสรุปราคาประมูลอีกครั้งช่วงเช้าของวันที่ 22 ก.พ.2565

ด้าน รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท กล่าวว่า อสมท ยื่นประมูลคลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็มมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 55 คลื่น แบ่งเป็นคลื่นความถี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 49 คลื่น โดยการประมูลครั้งนี้ได้เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดจำนวนได้เกือบ 55 คลื่น มีเพียงไม่กี่คลื่นเท่านั้นที่แพ้การประมูล โดยยอมรับว่าระบบการประมูลมีปัญหาในทุกรอบ ดังนั้น จำเป็นต้องส่งตัวแทนไปตรวจสอบราคากับ กสทช.


กำลังโหลดความคิดเห็น