กสทช.เปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 21 ก.พ.นี้ จำนวน 71 คลื่นความถี่ เอกชนตบเท้าสนใจประมูล 30 บริษัท พบ อสมท สนใจคลื่นมากสุด 55 คลื่นความถี่ คาดสร้างรายได้เข้ารัฐ 500 ล้านบาท
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (17 ก.พ.) สำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการสาธิตการประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจขั้นตอนการประมูลให้แก่ผู้เข้าร่วมประมูล ก่อนการประมูลจริงในวันที่ 21 ก.พ.2565 คาดได้เงินประมูลเข้ารัฐ 500 ล้านบาท
การประมูลดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนระบบกิจการกระจายเสียงจากคลื่นของหน่วยงานรัฐเป็นระบบใบอนุญาต ซึ่งจะเริ่มมีผลวันที่ 4 เม.ย.2565 ระยะเวลาใบอนุญาต 7 ปี โดย กสทช.เปิดประมูลทั้งหมด 74 คลื่นความถี่ มีผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูล จำนวน 71 คลื่นความถี่ ส่วนอีก 3 คลื่นความถี่ที่เหลือมีผู้สนใจ 2 คลื่นความถี่แต่ไม่มีคนมาวางหลักประกัน คือ พื้นที่ กทม.คลื่น 97.5 และพังงา คลื่น 91.75 อีก 1 คลื่นความถี่ไม่มีผู้สนใจ คือ พื้นที่สตูล คลื่น 99.5 ซึ่งหลังจากนี้สำนักงานจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่อหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการประมูลในครั้งต่อไปหรือไม่
ดังนั้น ทำให้ กสทช.เปิดประมูล 71 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 คลื่นความถี่ ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่นความถี่ ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 21 คลื่นความถี่ และภาคใต้ จำนวน 20 คลื่นความถี่ มีผู้สนใจร่วมประมูล 30 บริษัท ซึ่งบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลมากสุดจำนวน 55 คลื่น เป็น กทม. 6 คลื่น ต่างจังหวัด 49 คลื่น
สำหรับราคาเริ่มต้นพื้นที่ต่างจังหวัดอยู่ที่ 105,000 บาท-3.19 ล้านบาท ส่วนราคาเริ่มต้น กทม.และปริมณฑล อยู่ที่ 36.38-54.83 ล้านบาท โดยมีช่วงการเคาะราคาในแต่ละครั้ง ดังนี้ ราคา 1-3.99 แสนบาท เคาะ 4,000 บาท ราคา 4-9.99 แสนบาท เคาะราคา 20,000 บาท ราคา 1-9.99 ล้านบาท เคาะ 50,000 บาท ราคา 10-19.99 ล้านบาท เคาะ 200,000 บาท ราคา 20-29.99 ล้านบาท เคาะ 300,000 บาท ราคา 30-33.99 ล้านบาท เคาะ 400,000 บาท และราคา 40-60 ล้านบาท เคาะ 500,000 บาท
ส่วนขั้นตอนการประมูลมีกำหนดระยะเวลาการประมูล 60 นาทีต่อคลื่นความถี่ แบ่งผู้ประมูลเป็น 4 รอบ โดยผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องเสนอราคาแรกภายใน 5 นาทีแรกของการประมูล หากไม่เสนอจะถือว่าไม่ประสงค์ในการเข้าประมูล จะถูกตัดสิทธิและริบหลักประกัน หากมีผู้เข้าร่วมประมูลเสนอราคาเท่ากัน จะขยายเวลาการประมูลออกไปอีกครั้งละ 5 นาที หากไม่มีการเสนอราคาเพิ่มจะให้ผู้เข้าร่วมประมูลที่เสนอราคาเท่ากันจับสลากเพื่อหาผู้มีสิทธิเป็นผู้เสนอราคาสูงสุด
หลังจากนั้น จะมีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูลและสำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล ผู้ชนะจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เท่ากับราคาที่ชนะการประมูลรวมภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 24 มี.ค.2565 หากไม่ชำระให้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนดจะถูกริบหลักประกันและห้ามเข้าร่วมการประมูล 2 ปี พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ต้องจัดประมูลใหม่
หลังจากนั้น ผู้ชนะการประมูลจะต้องแจ้งข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบริการด้านกระจายเสียง เช่น ข้อมูลเสา ระบบสาย หรืออุปกรณ์ที่ใช้ เป็นต้น เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการและคำขอรับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะการประมูล