การประมูลคลื่นความถี่ในระบบ FM ประเภทกิจการทางธุรกิจ พบคลื่นวิทยุใน กทม. กรีนเวฟได้ไปต่อ อสมท ขอแค่ 6 คลื่น ทิ้งคลื่น Mellow เดิม ส่วนลูกทุ่งเน็ตเวิร์คชิงคลื่น 98.5 เพียงรายเดียว แต่ต่างจังหวัดคึกคัก หลายจังหวัดขับเคี่ยว อสมท กับลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ผสมกับกลุ่มทุนท้องถิ่น ตั้งราคาไว้ไม่เยอะ แต่เคาะราคากระฉูดหลักสิบล้าน
รายงาน
อีกหน้าหนึ่งประวัติศาสตร์ของวงการวิทยุไทย 21 ก.พ. 2564 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
โดย กสทช.นำคลื่นความถี่วิทยุที่เจ้าของเดิมส่งคืนมาจัดการประมูลใหม่ รวม 71 คลื่นความถี่ ได้แก่ คลื่นของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เดิม 60 คลื่นความถี่ กรมประชาสัมพันธ์เดิม 9 คลื่นความถี่ ผสมกับคลื่นความถี่วิทยุที่ กสทช.รับโอนมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลขเดิม ได้แก่ 98.5 MHz และ 106.5 MHz. และอีก 3 คลื่นในต่างจังหวัด
เหตุที่เรียกว่าเป็นการประมูลคลื่นวิทยุครั้งแรกในรอบ 92 ปี เพราะนับจากกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2473 ที่มีสถานีวิทยุกรุงเทพฯ เกิดขึ้นที่พระราชวังพญาไท ถนนราชวิถี นับเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของไทย ที่ผ่านมาการบริหารงานเป็นไปในรูปแบบหน่วยงานราชการเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ เอกชนเป็นผู้ผลิตรายการ
ผลจากเหตุการณ์พฤกษภาทมิฬปี 2535 ทำให้เกิดกระแสการปฏิรูปสื่อ ในที่สุดจึงได้มีองค์กรทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ เดิมทีสำนักงาน กสทช.กำหนดให้ต้องคืนคลื่นวิทยุในปี 2560 แต่ในปี 2559 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ยืดเวลาออกไปอีก 5 ปี สิ้นสุดลงในวันที่ 3 เม.ย. 2565 ก่อนที่จะต้องส่งคืนให้กับ กสทช.เพื่อนำมาจัดสรรใหม่
หน่วยงานราชการที่ยังคงออกอากาศอยู่ ต้องขอใบอนุญาตประเภทกิจการบริการสาธารณะ มีอายุ 5 ปี กำหนดให้ต้องมีสัดส่วนรายการข่าวสารและสาระไม่น้อยกว่า 70% ปัจจุบันมีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐได้รับอนุญาต 28 หน่วยงาน 389 คลื่นความถี่ ส่วน อสมท ถูกจัดอยู่ในประเภทกิจการธุรกิจที่ต้องขออนุญาตใช้คลื่นด้วยวิธีการประมูล จึงต้องคืนคลื่นความถี่ทั้งหมด
ข้อดีของการประมูลคลื่นวิทยุ คือ ภาคเอกชนมีสิทธิที่จะแข่งขันโดยเสรี ผู้ชนะการประมูลที่ชำระค่าธรรมเนียมรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการได้ยาวนานถึง 7 ปี ขณะเดียวกัน เงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ หลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูลจะนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
จากการสำรวจพบว่ามีผู้ประกอบกิจการวิทยุสนใจเข้าร่วมประมูล 71 คลื่น จากทั้งหมด 74 คลื่น ซึ่งคลื่นที่มีผู้สนใจประมูล แต่ไม่มีคนมาวางหลักประกัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร FM 97.5 (Mellow FM ของ อสมท เดิม) และพังงา FM 91.75 (อสมท พังงา เดิม) ส่วนคลื่นความถี่ไม่มีคนสนใจคือ สตูล FM 99.5 ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) จังหวัดสตูลเดิม
ผลการประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็มในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 8 คลื่น พบว่า บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) คว้าคลื่นวิทยุในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 คลื่น รวม 286.89 ล้านบาท ส่วนบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) คว้าคลื่น FM 106.5 หรือกรีนเวฟ ด้วยมูลค่า 55.33 ล้านบาท
ขณะที่คลื่น FM 98.5 เดิมบริษัท มีเดีย สตูดิโอ จำกัด ผลิตรายการกู๊ดไทม์ เรดิโอ แต่ได้ย้ายออกไปที่คลื่น FM 88.5 ปรากฏว่ามีบริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง จำกัด ของ น.ส.อมรรัตน์ ตั้งขันติธรรม ประมูลเพียงรายเดียว ที่ผ่านมาคลื่นลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค FM 94.5 พยายามขยายเครือข่ายวิทยุทั่วประเทศ โดยมีสถานีในเครือข่าย 46 สถานีทั่วประเทศ
ส่วนเหตุผลที่ อสมท ไม่ร่วมประมูลคลื่น FM 97.5 หรือ Mellow FM เดิมนั้น รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ชี้แจงว่า เนื่องจากกลุ่มผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและวัยทํางานตอนต้น (First Jobber) จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันให้เป็น Pilot project สําหรับธุรกิจดิจิทัลในอนาคต รวมถึงนำคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมไปเสริมทัพในคลื่นอื่นๆ ของ อสมท
ความน่าสนใจอยู่ที่คลื่นวิทยุต่างจังหวัด พบว่าเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ คือ อสมท กับ ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ที่มีเครือข่ายคลื่นวิทยุทั่วประเทศมากที่สุด โดยพบว่า อสมท ประมูลเพียงรายเดียว 14 สถานี ลูกทุ่งเน็ตเวิร์คประมูลเพียงรายเดียว 5 สถานี นอกนั้นเป็น บริษัท นานาเอนเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ประมูลคลื่น FM 96.0 แทนที่คลื่น อสมท นราธิวาสเดิม
จังหวัดภูเก็ต บริษัท สตูดิโอ ไลน์ เอเจนซี่ จำกัด ผู้ผลิตรายการ 88 Nice Peak และ 93 Green FM เข้าร่วมประมูลคลื่น FM 90.5 แทนที่ สวท.ภูเก็ต กรมประชาสัมพันธ์เดิมเพียงรายเดียว ส่วนคลื่น FM 89 ของสำนักงาน กสทช.เดิม ขับเคี่ยวระหว่าง ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค กับ บริษัท นานาเอนเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด
สำหรับ คลื่นวิทยุของสำนักงาน กสทช.เดิม ได้แก่ FM 102.0 อุบลราชธานี พบว่าขับเคี่ยวกันระหว่าง ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค กับ บริษัท เจ.เอส.ไนน์ตี้วัน จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด เหมแดงพาณิชย์ ส่วน FM 99.0 จังหวัดอุดรธานี ก็ขับเคี่ยวกันระหว่าง ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค กับ เจ.เอส.ไนน์ตี้วัน, บริษัท คาร์บอนเทกซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีพันดวงรุ่งเรือง
ที่น่าตื่นเต้นก็คือ จังหวัดชลบุรี คลื่น FM 107.75 ของ อสมท พัทยา เดิม ขับเคี่ยวกันระหว่าง อสมท, ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค, บริษัท วี.ซี.สปอตโปรดั๊กชั่น จำกัด กลุ่มทุนท้องถิ่น และบริษัท เค.ซี.เอส.แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด พบว่า ตั้งราคาไว้ที่ 2 ล้านบาท มีผู้เคาะราคาประมูลไปถึง 19 ล้านบาท
ส่วน จังหวัดนครศรีธรรมราช คลื่น FM 104.5 หรือ อสมท นครศรีธรรมราช เดิม ขับเคี่ยวกันระหว่าง 3 ยักษ์ใหญ่ คือ อสมท, ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค และนานาเอนเทอร์เทนเม้นท์ พบว่าจากราคาเริ่มต้นประมาณ 942,000 บาท แต่มีผู้เคาะเสนอราคาสูงกว่า 27 ล้านบาท ต้องให้ผู้เข้าร่วมประมูลยืนยันราคากับล็อกไฟล์ให้เสร็จ
ขณะที่ จังหวัดขอนแก่น พบว่าคลื่น FM 90.75 หรือ อสมท ขอนแก่นเดิม ขับเคี่ยวกันระหว่าง อสมท กับ บริษัท ดินดิน จำกัด ส่วนคลื่น FM 93.25 หรือ สวท.ชุมแพ เดิม ขับเคี่ยวกันระหว่าง ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค, ดินดิน กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หนองเรือเรดิโอ มาจาก อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ด้านคลื่น FM 98.5 หรือ สวท.เครือข่ายโทรทัศน์ขอนแก่น เดิม ขับเคี่ยวกันมากถึง 5 ราย ได้แก่ ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค, เจ.เอส.ไนน์ตี้วัน, ดินดิน, คาร์บอนเทกซ์ อินเตอร์เทรด และห้างหุ้นส่วนจำกัด เจเคพี เอ็นจิเนียริ่งเรดิโอ
แม้ว่าการประมูลจะเสร็จสิ้นในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืน และยังต้องรอตรวจสอบความถูกต้องก่อนประกาศรายชื่อในเช้าวันนี้ แต่สำนักงาน กสทช.จะนำรายชื่อผู้ชนะประมูลเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.รับรองผลในวันที่ 23 ก.พ.นี้ ต้องคอยดูว่าใครจะได้คลื่นวิทยุเหล่านี้ไปครอง แต่จากราคาประมูลก็สะท้อนให้เห็นว่าวิทยุยังเป็นสื่อหลักที่ต่างจังหวัดยังขายได้