วันนี้ (21 ก.พ.) เมื่อเวลา 21.40 น. ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ ที่เริ่มมาตั้งแต่เวลา 08.30 น. และได้มีเอกชนเข้าร่วมประมูลจำนวน 30 ราย เมื่อการประมูลดำเนินมาถึงรอบ 3 ได้มีผู้เข้าร่วมประมูลบางส่วนมีการรวมตัวพูดคุยกันเรื่องระบบการประมูล เนื่องจากประสบปัญหาไม่สามารถเคาะประมูลได้ เพราะระบบโชว์ว่าออฟไลน์ และเมื่อระบบกลับมาแล้วปรากฏว่าไม่รู้ราคาประมูล
และในอีกกรณี กดเคาะราคาไปแต่ราคาไม่ขึ้นแสดง ตัวเลขค้าง ขณะที่คู่แข่งสามารถกดได้ปกติ จนหมดเวลาตัวเลขจึงขึ้นมาแสดง แต่ราคาที่กดไปต่ำกว่าคู่แข่งทำให้แพ้การประมูล ซึ่งหากตัวเลขแสดงปกติจะสามารถทำให้สามารถวางแผนได้ว่าจะสู้ถึงราคาเท่าไร เพราะได้เตรียมตัวเลขในใจมาแล้ว แต่ปรากฏว่าคู่แข่งที่ชนะมีราคาประมูลต่ำกว่าตัวเลขที่ตนเองตั้งใจไว้
ด้านนายบุญมา พันดวง หนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูล กล่าวว่า ทางตนและตัวแทนได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ่นส่วนจำกัด และได้เข้าร่วมประมูลในพื้นที่ภาคตะวันอกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด จำนวน 31 คลื่นความถี่ โดยในการประมูลรอบแรก ชนะการประมูล จำนวน 2 คลื่น แต่ในรอบที่สอง ไม่สามารถชนะการประมูล หลายๆ คนที่เป็นตัวแทนเจอปัญหาเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งความเสถียร การกดเคาะราคา จึงต้องสอบถามกับทางเจ้าหน้าที่เพื่อขอคำอธิบายถึงปัญหาที่เจอในระหว่างการประมูล
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นทางผู้เข้าร่วมประมูลจึงได้รวมตัวกันไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ของ กสทช.ถึงระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีปัญหาหรือไม่ ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ในการประมูลมีหลักฐานการเก็บล็อกไฟล์เอาไว้สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการเคาะจำนวนกี่ครั้งและที่เวลาเท่าไร ซึ่งสามารถเปิดให้ผู้เข้าร่วมประมูลตรวจสอบและคัดลอกไฟล์ได้ ส่วนผู้ร่วมประมูลหากไม่ยอมรับผลการประมูลสามารถอุทธรณ์ต่อ กสทช.ได้
ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประมูลเป็นการประมูลผ่านระบบอินทราเน็ต ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ที่ระบบไม่แสดงหน้าจอของผู้ประมูลอาจเกิดจากการประมวลผลล่าช้า โดยยืนยันว่าล็อกไฟล์ที่เก็บอยู่สามารถยืนยันราคาที่แท้จริงได้ หากผู้ประมูลต้องการอุทธรณ์สามารถหาเหตุผลมายืนยันร่วมกันได้