xs
xsm
sm
md
lg

"หมอนิธิพัฒน์" เผย "โควิด" ยังไม่ใกล้เป็นโรคประจำถิ่น หลังยอดป่วยทะลัก รพ.ใหญ่ กทม.-หัวเมืองศักยภาพขั้นต้นใกล้หมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"หมอนิธิพัฒน์" เผยข่าวร้าย ยอดผู้ป่วยโควิดพุ่งทะยานต่อเนื่อง ทำหลาย รพ.ใหญ่ใน กทม.และหัวเมืองใหญ่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจนศักยภาพขั้นต้นในการรองรับเริ่มจะใกล้หมดแล้ว ชี้ส่วนใหญ่อาการรุนแรงจากโรคเรื้อรังเดิม พร้อมระบุประเทศไทยน่าจะยังไม่ประกาศให้ "โควิด" เป็นโรคประจำถิ่นในเร็ววันนี้

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" ระบุถึงสัญญาณ รพ.ใหญ่ใน กทม.-หัวเมืองใหญ่ รับผู้ป่วยโควิดมากขึ้น จนศักยภาพขั้นต้นใกล้หมด ชี้ส่วนใหญ่อาการรุนแรงจากโรคเรื้อรังเดิม โดย "หมอนิธิพัฒน์" ได้ระบุข้อความว่า

"เมื่อวานไม่น่าทักเขาเลย วันนี้ยอดพุ่งทะยานหลังหยุดพักดูลาดเลาหนึ่งวัน ไปแตะที่เกือบสองหมื่นแล้ว โดยในบรรดา 77 จังหวัดทั้งหมดทั่วประเทศ มีเพียง 18 จังหวัดที่ยอดวันนี้เป็นตัวเขียวคือลดลงจากวันก่อน ส่วนที่เหลือติดตัวแดงกันถ้วนหน้า ทั้งนี้ กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี รวมกันสี่จังหวัดมียอดคิดเป็น 36% ของทั้งประเทศ

เริ่มมีการส่งสัญญาณมาจากหลาย รพ.ใหญ่ใน กทม.และหัวเมืองใหญ่ ว่ามีผู้ป่วยโควิดรับไว้ในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองสัปดาห์นี้ จนศักยภาพขั้นต้นในการรองรับเริ่มจะใกล้หมดแล้ว แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รับเข้ามาไว้ในโรงพยาบาลนั้น อาการที่รุนแรงไม่ได้เกิดจากโควิดโดยตรง แต่เป็นผลจากโรคเรื้อรังเดิมที่เปราะบางอยู่ก่อน โดยมักเป็นในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับ มีบ้างที่ได้รับวัคซีนครบแต่ภูมิคงขึ้นไม่ดีเพราะโรคพื้นฐานที่มีอยู่เดิม

มีเสียงถามเข้ามากันมากหลายว่า ประเทศไทยใกล้จะให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นหรือยัง ถ้าเห็นแนวโน้มการใช้เตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้น่าจะยังไม่ใช่เวลาอันเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตามคงต้องเตรียมการกันไว้แต่เนิ่นๆ โดยทุกภาคส่วนจะต้องมีฉันทามติในการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ ว่านิยามของโรคประจำถิ่นที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยควรเป็นอย่างไร ตัวเลขที่สำคัญ เช่น ยอดผู้ติดเชื้อรายวัน ยอดผู้ป่วยที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลหลัก ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรง และยอดผู้ป่วยที่เสียชีวิต จะต้องถูกกำหนดให้ชัดเจนและร่วมกันติดตาม ภาคนโยบายต้องมั่นใจว่าควบคุมสถานการณ์ในทุกด้านได้ดีแล้ว ภาคประชาชนต้องมั่นใจที่จะให้ความร่วมมือ ท้ายสุดภาคการแพทย์ต้องมั่นใจว่าจัดเตรียมศักยภาพไว้เพียงพอโดยไม่เบียดบังการดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิด

แม้คนที่ป่วยด้วยโควิดจากโอมิครอน ส่วนใหญ่จะเป็นแบบไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง แต่จะมีบางส่วนของคนกลุ่มนี้ที่เมื่อหายแล้วยังไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เนื่องจากรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นกว่าเดิมก่อนป่วย ได้มีการศึกษาในคนอเมริกันจำนวน 10 คนที่มีคุณสมบัติดังกล่าว โดยติดตามการทำงานของปอดและหัวใจขณะออกกำลังด้วยการขี่จักรยานอยู่กับที่ (cycle ergometer cardiopulmonary exercise testing) พบว่ามีการลดลงอย่างมากของสมรรถภาพการออกกำลังกาย เป็นผลจากเนื้อเยื่อทั่วร่างกายโดยฉพาะกล้ามเนื้อ ไม่สามารถดึงออกซิเจนไปใช้งานได้ดีเพียงพอ โดยที่การทำงานของหัวใจยังเป็นปกติ แต่การทำงานของปอดยังมีความบกพร่อง อันเป็นผลจากการออกแรงหายใจมากเกินควร (exaggerated hyperventilatory response) ทั้งที่ขณะป่วยส่วนใหญ่ไม่เกิดปอดอักเสบโควิดชัดเจน เห็นอย่างนี้แล้วอย่าปล่อยให้ตัวเองและคนที่เรารักติดโควิด ด้วยการระมัดระวังตัวเต็มที่ตามมาตรการควบคุมโรคโดยเฉพาะการหมั่นใส่หน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน ควบคู่ไปกับเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด"

ล่าสุด วันนี้ (10 ก.พ.) ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมของประเทศไทยประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงกว่า 14,000 คน แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,576 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 246 ราย ขณะที่มีผู้หายป่วย 8,503 ราย

อ่านโพสต์ต้นฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น