xs
xsm
sm
md
lg

คณบดีศิริราช ชี้ทั่วโลกเริ่มมอง "โควิด" เป็นโรคประจำถิ่น หลังแนวโน้มเริ่มชัด เตือนอย่าดูแค่ตัวเลขติดเชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณบดีศิริราช เผยทั่วโลกเริ่มปรับ "โควิด" เป็นโรคประจำถิ่น หลังข้อมูลกว่า 2 เดือนชัด แพร่เร็ว แต่รุนแรงน้อยลง อัตราเสียชีวิตลด บ่งชี้กำลังไปสู่ปลายทางการระบาด เริ่มเข้าสู่นิยามโรคประจำถิ่น ชี้โควิดจะก่อเรื่องก็เมื่อกลายพันธุ์แล้วแพร่เร็ว รุนแรงขึ้นอีก แต่ทางทฤษฎีโอกาสเกิดน้อยมากแล้ว ย้ำโควิดเลยจุดรุนแรงสุดของเดลาตามาแล้ว เร่งสื่อสารทำความเข้าใจ อย่าดูแค่ตัวเลขติดเชื้อ ต้องดูป่วยหนักและตาย

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มปรับโรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาคำว่า Endemic ถูกค้นหาในกูเกิลมากที่สุดในโลก เนื่องจากแต่ละประเทศไปในแนวทางเดียวกัน อย่างยุโรปติดเชื้อใหม่วันละกว่าแสนราย สเปนก็เพิ่งประกาศไปว่าจะเริ่มผ่อนคลายเต็มที่ ทั้งที่ติดเชื้อวันละ 2-3 หมื่นราย เพราะเริ่มมีความมั่นใจว่า สายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดมา 2 เดือนกว่าแล้ว มีข้อมูลตัวเลขยืนยันว่า ติดเชื้อและแพร่ระบาดเร็ว แต่รุนแรงน้อยกว่าเดลตา โดยโอมิครอนทำให้คนนอน รพ. เพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 ของเดลตา อัตราเสียชีวิตก็ลดลง แต่หากติดเชื้อมากผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน อย่างคนเสียชีวิตของสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสกว่า 3 หลัก พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ฉีดไม่ครบ หรือมีโรคร่วม

“ข้อมูลทั้งหลายกำลังบ่งชี้ว่า กำลังน่าจะไปสู่ปลายทางของการระบาดโควิด อีกหน่อยจะเหมือนกับโรคหวัดที่ทั่วโลกเกิดเยอะ แต่ไม่ได้จับตาว่าเป็นสายพันธุ์ใด ตราบใดที่โรคไม่รุนแรงก่อเป็นการเสียชีวิต ดังนั้นโควิดมีหลายอย่างที่เริ่มเข้าสู่นิยามโรคประจำถิ่น คือ โรคไม่หายไป อีกหลายปียังเจออีก แต่มีบางอย่างที่พอจะคาดการณ์ได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า โรคประจำถิ่นบางโรคเกิดประจำถิ่นจริงๆ เจอบางภูมิภาค หรือรู้ว่าโรคจะเกิดในช่วงใดของปี คาดการณ์ปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันได้ เช่น โรคไข้เลือดออกเจอในฤดูฝน มักพบในประเทศที่อากาศร้อนชื้น วิธีเลี่ยงคือกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะ หรือโรคไข้หวัดใหญ่ที่ติดเชื้อแล้วรับยา นอนพักผ่อน ฉีดวัคซีน ฉะนั้น เมื่อรู้เช่นนี้ก็สามารถลดอัตราเสียชีวิตได้จะกลายเป็นโรคที่อยู่กับเราไปเรื่อยๆ ส่วนไวรัสโควิดอาจกลายพันธุ์ไป แต่ก็จะอยู่กับเราต่อไป เพราะโอกาสที่จะรุนแรงหรือแพร่เร็วกว่าโอมิครอนตามทฤษฎีถือว่าโอกาสน้อยมากๆ แล้ว

"โควิดจะก่อเรื่องก็ต่อเมื่อสายพันธุ์ใหม่รุนแรงกว่าและแพร่เร็วกว่า แต่โอกาสเกิดน้อยมาก เราอาจจะได้ยินใหม่อีก แต่ก็จะขึ้นมาแล้วหายไป ตราบใดที่โอมิครอนยังครองโลก เมื่อคนติดแล้วไม่เสียชีวิต ก็มีภูมิคุ้มกัน หลังจากนั้นคนมีภูมิก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีก" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวและว่า ขณะนี้การทำความเข้าใจประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ การดูเฉพาะตัวเลขติดเชื้อรายใหม่ เช่น พุ่งอีก พุ่งไม่หยุด จะทำให้เกิดความกลัว ตื่นตระหนก หรือเกิดอารมณ์ร่วม ซึ่งขณะนี้โควิดเลยจุดที่รุนแรงจากตอนเดลตาแล้ว เมื่อมาเจอสายพันธุ์ที่แพร่เร็วก็ทำให้เกิดผู้ติดเชื้อใหม่ขึ้น แต่ความรุนแรงไม่เพิ่ม จึงต้องมาดูเรื่องตัวเลขผู้ป่วยหนัก ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตมากกว่า พร้อมสื่อสารให้คนมารับวัคซีนมากขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของโรค สร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคนที่ติดแล้วไม่เสียชีวิต สุดท้ายเชื้อก็จะสงบลงไปโดยปริยาย


กำลังโหลดความคิดเห็น