อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยตัวเลขติดโควิดสูงขึ้นยังอยู่ในเส้นคาดการณ์ แจงเปิดกิจกรรมเพิ่ม ดื่มเหล้าในร้าน ทำให้ตัวเลขสูงขึ้นได้ เหตุ "โอมิครอน" แพร่ง่าย อัตราติดเชื้อในครัวเรือนสูง 40-50% แต่อย่ากังวลเกินเหตุ ย้ำสถานการณ์ดูจาก 3 ตัวเลขหลัก คือ ป่วยหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ชี้ยังคงตัว ระบบสาธารณสุขรองรับได้ หากจะเป็นโรคประจำถิ่น ต่อไปจะดูตัวเลขรายงานเฉพาะ รพ.เหมือนโรคอื่นๆ ทั่วไป
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 หลังจากช่วงนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันนี้เกือบ 1 หมื่นราย ว่า หากดูตามกราฟที่คาดการณ์ ช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ขึ้นอยู่ ทั้งนี้ เมื่อโรคระบาดขึ้นแล้วจะคงอยู่สักระยะและค่อยๆ ลดลง เป็นไปตามคาดการณ์ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ติดเชื้อและการดำเนินการยังเป็นไปตามคาดหมาย อยู่ในเส้นสีเขียว ซึ่งเป็นเส้นคาดการณ์ที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม อย่าไปกังวลกับตัวเลขมากจนเกินไป หากจะเป็นโรคประจำถิ่นสำคัญคือเราควบคุมสถานการณ์ได้ และให้ความสำคัญกับตัวเลขผู้ติดเชื้ออาการหนักและเสียชีวิตที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ อย่างหลายประเทศทางยุโรปและอเมริกา แม้ผู้ติดเชื้อจะขึ้นไป 2-3 แสนรายหรือเป็นล้านราย ก็ยังไม่เพิ่มมาตรการเข้าไป เพราะระบบสาธารณสุขเขารองรับได้ เช่นเดียวกับประเทศไทย แม้ผู้ติดเชื้อจะขึ้นไปถึงระดับหมื่นราย แต่ระบบสาธารณสุขเรารองรับได้ เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดลตา เรามียาและวัคซีน ซึ่งขณะนี้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปได้แล้ว 15 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เชื่อว่าจะทำให้ระบบสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ แต่ผู้ติดเชื้อระดับหมายหมื่นรายก็ยังต้องระวังอย่าให้เพิ่มมากกว่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการป้องกัน
นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า การระบาดที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์ที่ไม่ค่อยใหญ่นัก จะเป็นคลัสเตอร์กระจัดกระจายทั่วทุกจังหวัดของประเทศ และพบว่าคลัสเตอร์ที่เกิดจากงานเลี้ยง งานบุญ สังสรรค์ งานแต่งงาน งานศพ งานบวชยังเป้นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะต่างจังหวัด และเมื่อมีการติดเชื้อในกลุ่มที่ไปร่วมงานก็จะกลับไปติดที่บ้าน และโอมิครอนเราพบหลายครั้งว่าติดกันเกือบทั้งบ้าน
"จากเดิมสายพันธุ์เดลตามีอัตราการติดเชื้อในครอบครัว 10-20% แต่สายพันธุ์โอมิครอนจกาการประเมินเบื้องต้นติดเชื้อแล้วไปติดในครอบครัว อัตราติดเชื้ออยู่ที่ 40-50% จะเห็นว่าติดเชื้อค่อนข้างง่าย แต่ข้อดีคือพบว่าส่วนใหญ่อาการน้อย โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่กลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เสียชีวิตเกือบ 100% ต้องเร่งรัดฉีดเข็มกระตุ้นกลุ่มนี้ต่อไป เมื่อถึงกำหนดขอให้ไปฉีดอย่ารีรอ" นพ.โอภาสกล่าว
เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อสูงขึ้นหลังจากนี้ นพ.โอภาสกล่าวว่า กิจกรรมที่เพิ่มมากขึ้น การเปิดร้านอาหารให้ดื่มแอลกอฮอล์ การจัดกิจกรรมต่างๆ คงทำให้ผู้ติดเชื้อตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่กิจกรรมนี้สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้เราก็รับผลกระทบเยอะ แต่การจะเป้นโรคประจำถิ่นได้เราต้องสมดุลระหว่างการควบคุมโรคและการใช้ชีวิตควบคู่กันไป ถ้าอยู่ในระดับอย่างนี้ก็น่าจะยอมรับได้ เพราะระบบสาธารณสุขรองรับได้ และผู้ติดเชื้อเสียชีวิตไม่ได้มีอัตราที่น่ากังวลจนเกินไป แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยนโยบายของ รมว.สธ.ได้ให้นโยบายนำยาใหม่ๆ ที่มีการขึ้นทะเบียนรีบนำมาใช้เพื่อลดการเสียชีวิตให้มากที่สุด
ถามว่ามีการคาดการณ์หรือไม่ว่าตัวเลขจะสูงขึ้นไปถึงเท่าไร นพ.โอภาสกล่าวว่า ตัวเลขขึ้นไปเท่าไรอย่าไปคาดการณ์ แต่จะมีเป้าหมายเอาไว้เปรียบเทียบว่าระบบการป้องกันโรคของเราดีมากน้อยแค่ไหน อยากให้ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่เมื่อตัวเลขลดลง คนจะสบายใจมากขึ้น การป้องกันจะลดลง ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก้จะกลับมาระมัดระวังกันมากขึ้น อยากให้ระวังกันตลอด อย่าไปดูแต่ตัวเลขว่าสูงหรือต่ำแล้วจะป้องกัน ให้ป้องกันแบบสูงสุดตลอดเวลาจะดีกว่า
ถามว่ามีผู้เสนอให้นำตัวเลขการตรวจ ATK มารวมกับ RT-PCR นพ.โอภาสกล่าวว่า ตัวเลขเป็นตัวตัวเล อยู่ที่ระบบสาธารณสุขรองรับมากน้อยแค่ไหน อย่างที่ทราบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จากเดิมที่ติดเชื้อจะมีอาการหนักประมาณ 10-20% ปัจจุบันเหลือ 5% และหลายส่วนที่ติดเชื้อไม่มีอาการเลย ถ้าจะเอาตัวเลขจริงๆ ต้องนั่งตรวจคนไทยทุกวัน เพราะไม่มีอาการก็บอกไม่ได้ว่าคนไหนติดเชือ้ อย่างนี้ถือว่าจำเป็นหรือไม่ คำตอบคือไม่ได้จำเป็นที่จะต้องตรวจ ATK และ RT-PCR ทุกวัน เราดูภาพรวมอะไรที่เหมาะสมกับประเทศเราและการใช้ชีวิตของคนไทยน่าจะเหมาะสมกว่า ตอนนี้ทั่วโลกให้ความสนใจผู้ติดเชื้ออาการหนักและเสียชีวิตมากกว่าแล้ว อย่างคนไทยเราดูผู้ป่วยอาการหนักก้คือผู้ป่วยปอดอักเสบ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 500 กว่ารายจากช่วงหนักๆ พบ 5 พันกว่าราย ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเราอยู่ที่ 100 รายเศษๆ จากสูงสุด 1,300 ราย และเสียชีวิตจากเดิมขึ้นไป 300 ราย ลดเหลือประมาณ 20 ราย
"3 ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขสำคัญกว่า อย่าไปสนใจตัวเลขผู้ติดเชื้อมากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าทอดทิ้งตัวเลข กรมควบคุมโรคมีการติดตามดูตัวเลขเทรนด์หรือแนวโน้มอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการติดเชื้อจำนวนมากก้ไม่ต้องกังวลจนเกินเหตุ แต่สิ่งที่ต้องกังวลมากๆ คืออาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ถ้าอยู่ระดับที่ถือว่าควบคุมได้ก็ไม่ต้องกังวลจนเกินไป แต่พอไม่กังวลเกินไป ก็ป้องกันน้อยลง ก็ต้องสมดุลกันให้ดี" นพ.โอภาสกล่าว
เมื่อถามย้ำว่าการดูสถานการณ์ต้องดูตัวเลขผู้ป่วยในโรงพยาบาลเป็นหลักเหมือนโรคอื่นๆ ทั่วไปที่มีการติดตามใช่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ใช่ ส่วนหใญ่เวลาดูข้อมูลผู้ป่วยจะดูข้อมูล Hospital Base คือเอาข้อมูลจาก รพ.รายงานเข้ามา แต่โควิดตอนนี้เราดูทั้งจากแล็บ จากอะไรหลายข้อมูล และตอนนี้คนไข้บางทีอยู่ที่บ้านก็เอาข้อมูลมารวมด้วย อย่างที่บอกถ้าเราจะปรับเข้าสู่ระบบปกติอาจให้แค่ รพ.รายงานเข้ามา คือ เฉพาะผู้ที่มีอาการ ซึ่งให้เห็นภาพว่าระบบเดิมเราเป็นอย่างไร
ถามว่าตอนนี้เรายังไม่ได้ปรับมารายงานเฉพาะผู้ป่วยมีอาการ นพ.โอภาสกล่าวว่า ยัง แต่จะปรับอยู่ แต่ตัวเลขทุกอย่างมีหมด สามารถขอดูได้ ส่วนการเอาตัวเลข ATK มารวมกับผู้ติดเชื้อที่ตรวจ RT-PCR ก็ไม่ถูก เพราะคนที่ ATK วันนี้ พรุ่งนี้มะรืนนี้ไปตรวจใหม่ก็จะไปรวมอีก ก็จะกลายเป็นการนับซ้ำ
เมื่อถามถึงนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วไม่ใส่หน้ากากในที่สาธารณะ นพ.โอภาสกล่าวว่า มาตรการป้องกันส่วนบุคคลสำคัญในการป้องกันโควิด ภาพรวมคนไทยใส่หน้ากากดีมาก ไม่ต้องบังคับ ศบค. รัฐบาล ไม่มีนโยบายบังคับใส่หน้ากาก รวมถึงการปรับ เพราะคนเราร่วมมือดี ส่วนคนต่างชาติ ต่างบ้านต่างเมืองอาจไม่ทราบวัฒนธรรมเรา ซึ่งบ้านเขาส่วนใหญ่ไม่ใส่หน้ากาก ก็ต้องทำความเข้าใจหรือเตือน ถ้าเขาเข้าใจวัฒนธรรมของเรา ว่าอยู่ที่สาธารณะต้องใส่ ก็จะคิดว่าต้องใส่ ไม่ต้องใช้กฎหมายบังคับมากมาย แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องใช้ และทำความเข้าใจ ขอความร่วมมือจะดีกว่า