xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 ม.ค.2565

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.ตร.รวบ 1 นศ.-1 แกนนำทะลุฟ้า ป่วนพิธีรับปริญญา มช. ด้าน “โบว์-ณัฏฐา” สอนน้องต้องรู้จักให้เกียรติผู้อื่น เห็นด้วยใครป่วน ไม่ต้องรับเข้าทำงาน!

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีการศึกษา 2562-2563 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 55 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปีนี้มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจำนวน 2,368 คน จาก 22 คณะ 1 บัณฑิตวิทยาลัย และ 1 สถาบัน และมีผู้ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2563 จำนวน 5 ท่าน และเกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ จำนวน 7 ท่าน

โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เฝ้าฯ รับเสด็จฯ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รายงานข่าวแจ้งว่า ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความพยายามปลุกกระแสต่อต้านและเชิญชวนให้ผู้สำเร็จการศึกษาปฏิเสธการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง พร้อมอ้างว่าเป็นพิธีกรรมศักดินา

มีรายงานว่า ช่วงเช้า ก่อนที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่พบว่า มีนักศึกษา 2 คนถือป้ายแสดงพฤติกรรมต่อต้านพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในเส้นทางเสด็จฯ ซึ่งมีลักษณะเป็นการก่อกวนสร้างความวุ่นวาย

ภายหลังทราบว่า คือ นายยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ หรือเท็น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ น.ส.พิมชนก ใจหงษ์ หรือพิม ทะลุฟ้า แกนนำกลุ่มแนวร่วมคนรุ่นใหม่นครสวรรค์ ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และแกนนำกลุ่มทะลุฟ้า ไปเคลื่อนไหวชูป้ายหน้าหอประชุมใหญ่ ก่อนถูกตำรวจ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์นำตัวส่งต่อไปยัง สภ.สันกำแพง เนื่องจากเหตุสุดวิสัย และทำการเปรียบเทียบปรับ ในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และส่งเสียงดังอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร 1,500 บาทก่อนปล่อยตัวไป

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า ทางกลุ่มที่ต่อต้านพิธีพระราชทานปริญญาบัตรยังได้พยายามเคลื่อนไหวแสดงออกในลักษณะเดียวกันตามจุดต่างๆ ที่ผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรและครอบครัวเพื่อนฝูงถ่ายภาพที่ระลึกและแสดงความยินดีกันด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ผู้ลี้ภัยหนีคดีความมั่นคงในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในลักษณะด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมปลุกคนรุ่นใหม่ไม่ต้องรับพระราชทานปริญญาบัตร โดยระบุว่า "ไม่ร่วมรับพระราชทานปริญญา-หยุดพิธีกรรมศักดินา คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้ให้คุณค่าบัณฑิตเพราะใบปริญญาอีกต่อไป และหยุดสร้างคุณค่าให้ระบบศักดินาศักดิ์สิทธิ์มีพลังกดทับความเป็นคนของพลเมืองไทยอีกต่อไป"

นายจอม ยังอ้างต่อไปว่า "ร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ ในคุณค่าสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรม และความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน คุณค่าของบัณฑิตและใบปริญญาจะมีความหมายก็ด้วยบุคคลที่มีส่วนร่วมสร้างให้บัณฑิตมีความรู้ มีความเข้าใจ มีโอกาส ที่จะได้ใช้ความรู้ ความสามารถให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองและคนอื่น ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ หรือเชื้อพระวงศ์แต่อย่างใด"

นายจอม ยังกล่าวหาสถาบันฯ ด้วยว่า "เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์มิใช่หรือ ที่ทำให้ประเทศชาติต้องจมปลัก ติดหล่มอยู่กับความไร้อนาคตของบ้านเมือง เพราะสถาบันมหากษัตริย์มิใช่หรือ ที่ทำให้เด็กเยาวชนนับร้อยคนที่มีความกล้าหาญ หลักแหลม เฉลียวฉลาด ต้องติดคุกหมดอนาคต หมดโอกาสที่จะเป็นพลังพัฒนาประเทศ"

ขณะที่ พญ.ลลิตา ธีระสิริ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ศูนย์ธรรมชาติบำบัดบัลวี และนักเขียนชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเตือนสติเด็กรุ่นใหม่ที่ต่อต้านพิธีรับปริญญา พร้อมเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีเจ้าของกิจการบางแห่งไม่รับคนที่ไม่รับปริญญาเข้าทำงานแล้ว โดยระบุว่า "เมื่อ 50 ปีก่อน กึ่งศตวรรษมาแล้ว สมัยฉันรับปริญญามีเพื่อน 2 คน ปฏิเสธไม่เข้าร่วมพิธี โดยอ้างว่าต่อต้านศักดินา แต่คนหนึ่งถูกแม่ด่าหนัก เลยกลับใจเข้ารับปริญญาในวินาทีสุดท้าย ไปเช่าครุยได้ครุยเก่าๆ ยับย่นมาใส่ เพราะคนอื่นเช่าชุดดีๆ ไปหมดแล้ว ซึ่งเขาก็พอใจที่ยังได้แสดงออกว่าต่อต้านศักดินาจากครุยยับๆ อันนั้น”

"ต่อมา เพื่อนคนนั้นกลายเป็นอาจารย์ ฉันไม่รู้หรอกว่าเขามีอิทธิพลต่อความคิดเด็กรุ่นใหม่อย่างไร สมัยเขารับปริญญา ไม่มีเพื่อนคนไหนฟังเขาสักคนเรื่องต่อต้านการรับปริญญา ไม่มีใครเข้าใจคำว่าศักดินาด้วยซ้ำ แต่อย่าเข้าใจผิดนะคะ เพื่อนคนนี้ไม่ได้อยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ออกแถลงการณ์ครึกโครมต่อต้านการพระราชทานปริญญาในขณะนี้"

"ยุคสมัยก้าวไปข้างหน้า สังคมเปลี่ยน ศักดินาตามคำจำกัดความเก่าก็เปลี่ยนไป ไม่เช่นนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ ใครก็ตามที่ติดกับกงล้อประวัติศาสตร์ก็จะตกยุคเช่นเดียวกัน จะกระซิบบอกให้ว่า เพื่อนกันที่เป็นเจ้าของกิจการเริ่มพูดกันว่า ถ้าคนรุ่นใหม่มาสมัครงาน ต้องขอดูมือถือก่อนละ และใครไม่รับปริญญาก็จะไม่รับเข้าทำงาน เพราะถ้ารับมาอยู่ในองค์กรแล้วน่าจะมีปัญหามากกว่า คิดดีๆ นะลูกหลานเอ๋ย ศักดินาคืออะไรอนาคตเป็นของเราเอง อย่าตกเป็นเหยื่อของใคร"

ด้าน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "นายจ้างที่ตั้งป้อมจะไม่รับคนที่ไม่เข้าพิธีรับปริญญาเข้าทำงานก็ใจแคบไปหน่อย และอาจลืมคิดไปว่าจริงๆ ในแต่ละปีที่ผ่านมาก็มีบัณฑิตมากมายที่ไม่ได้เข้าร่วมพิธีด้วยเหตุผลและข้อจำกัดในชีวิตต่างๆ กัน ถ้าเป็นเราคงไม่เอามาเป็นเหตุตั้งข้อรังเกียจ"

อย่างไรก็ตาม น.ส.ณัฏฐา ระบุด้วยว่า "แต่สำหรับคนที่จงใจไปป่วนงานคนอื่นในขณะที่ทั้งบัณฑิตและครอบครัวกำลังมีช่วงเวลาที่มีค่าสำหรับพวกเขาอยู่ เป็นเราก็ไม่รับเข้าทำงานเหมือนกัน การรู้จักเคารพให้เกียรติคนคือคุณสมบัติพื้นฐานของการทำงานร่วมกัน และการรู้กาลเทศะก็ต้องใช้แค่วุฒิภาวะขั้นต่ำเท่านั้นเอง คนที่จะแก้ปัญหาในการทำงานได้ต้องมีทั้งความคิดสร้างสรรค์และวิธีการบรรลุเป้าหมายโดยไม่ต้องทำลายความสัมพันธ์และคุณสมบัติเหล่านั้น ถ้ายังไม่มี ไม่ว่าจะรับปริญญาทางไปรษณีย์หรือจากเจ้าฟ้าองค์ไหนมากี่ใบก็ไม่มีประโยชน์"

เมื่อมีอาจารย์มหาวิทยาลัยรายหนึ่งคอมเมนต์ถามว่า "เขาไปป่วนยังไงครับ มีคนไปขู่เข็ญคนอื่นไม่ให้ไปรับปริญญาเหรอครับ" น.ส.ณัฏฐาตอบกลับว่า "ไว้คุณจัดงานวันเกิดเชิญแขกเหรื่อญาติผู้ใหญ่มาอวยพร แล้วมีคนมายืนกรี๊ดๆ ด่าทออยู่หน้าบ้านคุณ ค่อยตอบตัวเองแล้วกันค่ะ"

2.ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว “รุ้ง-ปนัสยา” ต่อถึง 16 มิ.ย. เพื่อเรียน-สอบให้เสร็จ ห้ามทำกิจกรรมกระทบสถาบัน-ศาล!


เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดฟังคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราว คดีของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร จำเลยที่ 5 กรณีชุมนุมปักหมุด ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้รับการประกันตัวพร้อมเงื่อนไข จนครบกำหนดแล้วเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีสืบเนื่องมาจากที่ศาลได้เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอย่างจำกัด ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2564 จนถึงวันที่ 12 ม.ค.2565 โดยวางเงื่อนไขต่างๆ ให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยไม่ปรากฏว่าได้ประพฤติผิดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใด

การที่จำเลยที่ 5 ขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวต่อเนื่องไป ก็เพื่อที่จะทำการเรียนและสอบให้สำเร็จการศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ของปี 4 ซึ่งจะต้องมีการทำการวิจัยส่วนบุคคลเพื่อจบการศึกษา ต้องใช้เวลาในการค้นคว้าและเก็บข้อมูลภาคสนามและทำรายงาน จำเลยที่ 5 มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่ทำกิจกรรมทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ออกนอกราชอาณาจักร ตลอดจนเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลจะกำหนด ซึ่งมี ผศ. ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา รับจะกำกับดูแลให้จำเลยที่ 5 ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด

ศาลเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 5 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโดยเคร่งครัด ไม่ประพฤติผิดเงื่อนไขใดๆ จึงไม่ปรากฏพฤติการณ์ในอันที่จะทำให้น่าเชื่อว่า จำเลยจะหลบหนีหรือจะไปก่ออันตรายอื่นในช่วงเวลานี้ ประกอบกับจำเลยที่ 5 มีความตั้งใจที่จะไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนให้สำเร็จการศึกษาตามคำรับรองของอาจารย์ผู้ดูแล จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 5 ในระยะเวลาจำกัดต่อไป นับแต่วันนี้ (13 ม.ค.) ไปจนถึงวันที่ 16 มิ.ย. 2565

โดยตีราคาประกัน 600,000 บาท และกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยที่ 5 ทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ห้ามจำเลยที่ 5 เข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามจำเลยที่ 5 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
และให้ตั้ง ผศ. ดร.บุญเลิศเป็นผู้กำกับดูแล จำเลยที่ 5 ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด ให้จำเลยที่ 5 มารายงานตัวทุก 30 วัน ในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวอันจำกัดนี้ และให้จำเลยที่ 5 มารายงานตัวและส่งตัวภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2565 เวลา 10.00 น. คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

หลังฟังคำสั่งศาล นายกฤษฎางค์ ทนายความ พร้อม น.ส.ปนัสยา ได้ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ศาลไม่ได้ห้ามการไปชุมนุม เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการสั่งห้ามในกรณีที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย โดยศาลได้ยืนยันว่า การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความวุ่นวาย คงเป็นรายละเอียดที่จะต้องระมัดระวังตัว เพราะในขณะนี้ก็มีหลายฝ่ายที่เขาอาจจะมีความประสงค์ให้ น.ส.ปนัสยา ไม่ได้รับการประกันตัว อาจจะใช้คำสั่งศาลมาเป็นข้ออ้าง

นายกฤษฎางค์ กล่าวด้วยว่า เดิมศาลอาญากำหนดเงื่อนไข 4 ข้อ แต่คราวนี้กำหนดเงื่อนไข 3 ข้อ ส่วนข้อกำหนดที่หายไป 1 ข้อ คือ ห้ามออกนอกเคหสถาน และให้ใส่กำไลอีเอ็ม ดังนั้น เมื่อศาลอาญาไม่ได้กำหนดในส่วนนี้ เท่ากับว่า รุ้งไม่ต้องติดกำไลอีเอ็มและสามารถออกนอกเคหสถานได้ ซึ่งข้อนี้ตนได้สอบถามศาลแล้ว แต่ยังไม่สามารถถอดตอนนี้ได้ เพราะยังติดคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่สั่งให้ติดกำไลอีเอ็มอีกคดี

ด้าน น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องอยู่ที่บ้าน 24 ชม. แต่เงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาคือ ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน ขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตกับเงื่อนไขดังกล่าว และมองว่า เงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นมา ไม่ต้องมีก็ได้ จะให้ประกันตัวแบบไม่มีเงื่อนไขก็ได้ เงื่อนไขที่ตั้งขึ้นมาทุกท่านน่าจะทราบกันดีว่า เป็นเงื่อนไขที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตน

3. ป.ป.ช.มีมติฟ้อง “ยิ่งลักษณ์-พวก” เอง หลังอัยการไม่สั่งฟ้องคดีอนุมัติงบ 240 ล้านจัดโรดโชว์ฯ สูญเปล่า “มติชน-สยามสปอร์ต” โดนด้วย!



เมื่อวันที่ 12 ม.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้ฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวกและกลุ่มเอกชน ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีเมื่อปี 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์อนุมัติงบประมาณ 240 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

โดยผู้ที่จะถูกฟ้องคดี นอกจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังประกอบด้วย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่วนกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และนายระวิ โหลทอง กรรมการผู้บริหารบริษัท สยามสปอร์ต ส่วนนายฐากูร บุนปาน กรรมการบริษัท มติชนฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้เช่นกัน ได้เสียชีวิตแล้ว จึงจำหน่ายออกจากสารบบความ

สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวกตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2563 โดยเห็นว่า กระบวนการอนุมัติโครงการดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และใช้งบประมาณ 240 ล้านบาทโดยสูญเปล่า เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ด้วย

ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) หลังจากนั้นมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการและ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ สุดท้าย อัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง โดยอ้างว่า สำนวนคดีดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ฝ่าย ป.ป.ช.จึงนำสำนวนกลับมาพิจารณา ก่อนมีมติว่า ป.ป.ช.จะฟ้องคดีดังกล่าวเอง

ทั้งนี้ นายนิวัติไชย กล่าวว่า คดีนี้ เมื่อฝ่ายอัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานต่างๆ ไม่ครบถ้วน แต่ ป.ป.ช.มองว่า พยานหลักฐานที่มีนั้นเพียงพอแล้ว จึงมีมติที่จะฟ้องคดีเอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานยกร่างคำฟ้อง คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

4. กรมปศุสัตว์ลุยตรวจหาโรค ASF ในหมูหลายจังหวัด พบที่โรงฆ่าสัตว์นครปฐม ด้านไต้หวันห้ามนำเข้าหมูจากไทย!



จากสถานการณ์การเกิดโรคระบาดในหมู และปัญหาเนื้อหมูราคาแพง รวมทั้งกระแสข่าวที่ว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นกับหมูในประเทศ คือโรค ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาหรือไม่ ปรากฏว่า ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ว่า ยังไม่พบการเกิดโรค ASF ในหมูไทย พบแต่โรค PPRS ซึ่งเป็นกลุ่มอาการในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ

ทั้งนี้ นายธนกร เผยว่า “นายกฯ ให้แก้ปัญหาโรคระบาดในหมูอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัย พัฒนาวัคซีน ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาวัคซีน ผลิตโปรโตไทป์ได้ผล 60-70% กำลังเข้าสู่การทดสอบฉีดในหมูในห้องทดลอง หากสำเร็จจะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีวัคซีนใช้ควบคุมโรค ASF จะช่วยปกป้องอุตสาหกรรมหมูของไทยทั้งระบบ ที่มูลค่าการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกร รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสุกรมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี”

ส่วนปัญหาราคาหมูแพงนั้น นายธนกร กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เปิด 667 จุดบริการทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ 116 หน่วยบริการ รถโมบายตระเวนตามพื้นที่ 50 คัน ตั้งจุดบริการ 50 แห่ง และสมาคม 16 แห่ง ต่างจังหวัด 551 แห่ง จำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก ช่วยลดภาระค่าครองชีพ เป็นมาตรการเสริมถึงสิ้นเดือนนี้

วันต่อมา (10 ม.ค.) นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงกระแสข่าวพบโรค ASF ในไทยว่า ทางกรมฯ ได้ลงไปตรวจสอบพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะที่ราชบุรี นครปฐม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และขอนแก่น รวมถึงลงพื้นที่สำรวจในภาคเหนือและภาคใต้บางจังหวัด เพื่อค้นหาโรค ASF โดยใช้วิธีเก็บตัวอย่างในเลือดสุกรและโรงฆ่า จะทราบผลตรวจไม่เกิน 2 วัน

ซึ่งวันต่อมา (11 ม.ค.) นายสัตวแพทย์สรวิศ ได้ออกมาเผยว่า จากการตรวจสอบ 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง และโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 4 ตัวอย่าง รวม 309 ตัวอย่าง จาก จ.ราชบุรี และนครปฐม ระหว่างวันที่ 8-9 ม.ค.ที่ผ่านมา พบเชื้อ ASF 1 ตัวอย่าง จากพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจาก จ.นครปฐม ยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ขณะนี้ได้จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่เข้าสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาถึงแหล่งที่มาของสุกรและสาเหตุ เพื่อควบคุมโรคโดยเร็วต่อไป ยืนยันว่า ที่ผ่านมา กรมฯ มีการตรวจสอบข้อมูลต่อเนื่อง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่มีการปกปิด

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวด้วยว่า กรณีตรวจพบโรคในประเทศ กรมฯ จะประกาศเป็นเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค และจะพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรคและจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย

มีรายงานว่า ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์หรือโรงหมูที่ จ.นครปฐม ต่างไม่พอใจกรณีตรวจพบเชื้อ ASF โดยผู้ประกอบการรายหนึ่ง เผยว่า การเข้าเก็บตัวอย่างหาเชื้อโรคโดยการใช้ผ้าก๊อซมาเช็ด ซับน้ำ เลือดจากพื้นในโรงฆ่าสัตว์ แล้วนำไปตรวจวิเคราะห์โรคนั้น ไม่น่าจะถูกต้องที่สุด เพราะโรงฆ่าสัตว์อาจจะมีเชื้อโรคต่างๆ ปนเปื้อนที่พื้นได้ การจะตรวจหาเชื้อโรคที่ร้ายแรงขนาดนี้ต้องตรวจเลือดสัตว์ ไม่ใช่มาสุ่มเอาสารคัดหลั่งจากพื้นในโรคเชือดแบบนี้

วันเดียวกัน (11 ม.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง เงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 574.11 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรค ASF โดยจะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.2564-15 ต.ค.2564

วันต่อมา (12 ม.ค.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาย้ำว่า “เงินเยียวยาที่ ครม.อนุมัติ 574 ล้านบาท เพื่อชดเชยการทำลายหมู สกัดการระบาดของโรคหรือทำลายหมูที่สงสัยว่าจะเป็นโรค ไม่ใช่ชดเชยหมูที่ตายจาก ASF แต่อย่างใด โดยจะชดเชยราคาประมาณ 70% ของราคาหมู เงินตรงนี้จ่ายเฉพาะผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเท่านั้น”

วันเดียวกัน สื่อไทเป รายงานว่า รัฐบาลไต้หวันออกประกาศเตือนว่า ใครก็ตามที่พยายามจะนำหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมูจากไทย เข้าไต้หวัน จะต้องเจอโทษปรับอย่างน้อย 2 แสนดอลลาร์ไต้หวันหรือราว 240,000 บาท ผู้กระทำผิดซ้ำจะถูกปรับถึง 1 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือราว 1,200,000 บาท ผู้ที่ถูกจับได้ที่สนามบินหรือท่าเรือ ที่พยายามจะนำหมูจากไทยเข้าไต้หวัน จะต้องจ่ายค่าปรับ หาไม่แล้วจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไต้หวันและเนรเทศกลับ

ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวมีขึ้นหลังจากไทยประกาศว่า พบโรค ASF ในหมูอย่างเป็นทางการ ซึ่งไต้หวันพบกุนเชียงจากไทยในกล่องพัสดุในไถหนาน เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนที่มีบางฝ่ายมองว่า อธิบดีกรมปศุสัตว์ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ กรณีพบโรค ASF ในไทย นายสัตวแพทย์สรวิศ ยืนยัน (13 ม.ค.)ว่า จะไม่ลาออก เพราะตนไม่ได้ทำอะไรผิด “การทำงานมาตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังไม่ถือว่าหนักที่สุด เพราะเข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2561 ก็เจอปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) และลัมปีสกิน ก็ผ่านมาได้ ขอพูดเลยว่า ตลอดที่ผ่านมา ทำงานด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์สุจริต ...ผมต้องการทำงานให้ดีที่สุดเพื่อผู้เลี้ยงสุกรและสัตว์อื่นๆ จนกว่าจะเกษียณราชการในอีก 8 เดือนข้างหน้า ยืนยันจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง แม้โดนกดดันจากหลายฝ่าย เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทุจริต ผมมั่นใจว่าตัวเองทำผลงานได้ดีที่สุดแล้ว”

5. ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในไทยยังทรงตัว สธ.จ่อประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ด้าน WHO ชี้ เร็วเกินไปที่จะให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น!



สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทย สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันยังไม่แตะหลักหมื่น ยังทรงตัวอยู่ที่ 7,000-8,000 รายต่อวัน ขณะที่ พญ.สุมนี วัชระสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวโน้มผู้ติดเชื้อเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อประจำวันไต่อยู่ระดับกราฟเส้นสีเทาแล้ว หากขึ้นไปตามเส้นกราฟสีเทาเรื่อยๆ คาดว่า ช่วงปลายเดือน ม.ค.จะมีผู้ติดเชื้อระดับกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน และช่วงปลายเดือน ก.พ. อาจจะแตะที่ 3 หมื่นรายต่อวัน

พญ.สุมนี เผยถึงอาการของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนด้วยว่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ 48% สำหรับอาการที่พบในผู้ติดเชื้อในไทย 41 ราย คือ 1.อาการไอ 54% 2.เจ็บคอ 37% 3.มีไข้ 29% 4.ปวดกล้ามเนื้อ 15% 5.มีน้ำมูก 12% 6.ปวดศีรษะ 10% 7.หายใจลำบาก 5% 8.ได้กลิ่นลดลง 2%

วันเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิดในไทยว่า เราสู้กันมา 3 ปี ปีแรกที่โรคเข้ามา คิดว่าน่าจะเหมือนไข้หวัดนก โรคซาร์ส สู้กันสักพักและสามารถลดเคสได้รวดเร็ว เมื่อระบาดทั่วโลก และกลับเข้าไทยอีกครั้ง มาหนักในปี 2564 ช่วง เม.ย.-พ.ค. และหนักมากในเดือน ก.ย. จึงต้องมีมาตรการต่างๆ เข้าไป หลังจากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทำให้การติดเชื้อลดลง ประกอบกับฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ทำให้โรคบรรเทาลง จนเราเปิดประเทศด้วยแผนอยู่กับโควิดเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ

แต่เมื่อระบาดระลอกใหม่ด้วยเชื้อโอมิครอน ที่ความรุนแรงน้อย อัตราตายต่ำ แต่เชื้อแพร่ได้เร็ว ทางกรมควบคุมโรคจึงเตรียมพิจารณาให้การระบาดครั้งนี้เข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) ได้แล้ว เนื่องจาก 1.เชื้อลดความรุนแรง 2.ประชาชนร่วมมือฉีดวัคซีน มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี 3.การบริหารจัดการดูแลรักษา และการชะลอการระบาดได้อย่างดี ดังนั้น ยุทธศาสตร์ปี 2565 คือ การชะลอการแพร่ระบาด

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า การติดเชื้อไม่น่ากลัว แต่เรากลัวการแพร่ระบาดที่รวดเร็วเกินไป อาจทำให้ล้นโหลดระบบสาธารณสุข หรือเกิดเชื้อกลายพันธุ์ได้อีก ดังนั้นเราต้องชะลอการระบาดและค่อยๆ รับมือ สำหรับผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง เราจะวางมาตรการดูแลในการแพทย์การสาธารณสุขต่อไป “โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เราต้องดูแลตัวเองจากที่บ้านได้ ถ้าโรคไม่แรง ก็ดูแลจากที่บ้านได้” ดังนั้น เราจะต้องมีระบบสนับสนุน ส่งยา เวชภัณฑ์ ให้ผู้ติดเชื้อที่บ้านอย่างปลอดภัย มีระบบส่งต่อหากอาการรุนแรงได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม มีความเคลื่อนไหวจากทางองค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับการจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (12 ม.ค.) ว่า เป็นเรื่องที่เร็วเกินไป โดยแคทเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ได้ออกมาเตือนหลังมีผู้เสนอแนวคิดว่าควรรับมือกับโควิด-19 ในฐานะโรคประจำถิ่นว่า นั่นเป็นวิธีที่ผิดอย่างยิ่ง เพราะการประกาศให้โรคใดๆ เป็นโรคประจำถิ่น จำเป็นที่สถานการณ์การแพร่ระบาดจะต้องคงที่และสามารถคาดเดาได้มากกว่านี้ แต่ขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงมาก และไวรัสยังกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ ขึ้นตามมา ดังนั้นยังไม่ถึงจุดที่จะเรียกมันว่า เป็นโรคประจำถิ่นได้ ถ้าจะชี้ว่าจะเป็นโรคประจำถิ่นในปี 2565 ก็ยังคงยากที่จะพูดได้ในขณะนี้

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่โควิดสายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดง่าย ส่งผลให้ความต้องการใช้ชุดตรวจ ATK ในไทยเริ่มขาดตลาด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้สั่งการให้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เร่งจัดหา ATK เข้ามาเพิ่มให้มากที่สุด พร้อมย้ำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มี ATK สำรองอีกกว่า 1 ล้านชุด เร่งกระจายให้ถึงกลุ่มเสี่ยงโดยเร็ว

ด้าน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการ อภ.กล่าวว่า ที่ผ่านมา อภ.ได้จำหน่ายชุดตรวจโควิดชุดละ 40 บาท ได้รับการตอบรับจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก จากการจัดซื้อรอบใหม่ ทำให้ได้ราคาลดลง อภ.จึงจำหน่ายในราคาชุดละ 35 บาท จำนวน 3 ล้านชุด เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. ผ่านร้านขายยาขององค์การเภสัชกรรมทั้ง 8 สาขา ส่วนการจำหน่ายทางออนไลน์ของ อภ.จะเริ่มวันที่ 17 ม.ค.เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.gpoplanet.com นอกจากนี้ อภ.ยังเร่งจัดซื้อเพิ่มอีก 3.5 ล้านชุด โดยมีการเซ็นสัญญากับผู้จัดจำหน่ายแล้วเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ทางบริษัทจะเริ่มทยอยส่งมอบในสัปดาห์หน้า สัปดาห์ละ 1 ล้านชุด เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในขณะนี้