อธิบดีปศุสัตว์ เผย นายกฯ กำชับเร่งคุมระบาดอหิวาต์ในสุกร-ปชช.ต้องเดือดร้อนน้อยที่สุด โต้ปิดข่าวระบาด ชี้ ส่งขายตปท. ได้ คือ ‘คำตอบ’ ระบุ หมูตายจากติดเชื้อกินได้ อย่าตระหนกตกใจ
วันนี้ (14ม.ค.) เมื่อเวลา 14.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ น.สพ.กิจจา อุไรวงค์ อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประมาณ 20 นาที โดยทั้งน.สพ.สรวิศ และน.สพ.กิจจา ได้สวมกอดกัน ในลักษณะให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หลังลงมาจากตึกไทยคู่ฟ้า
จากนั้นน.สพ.สรวิศ ให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯ เอาใจใส่ ติดตามการแก้ปัญหาโรคหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกฯ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าไปด้วยกัน โดยสั่งการว่า 1.ให้ดำเนินการควบคุมโรคให้เร็วที่สุด และมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุด 2.จะต้องฟื้นฟูให้เกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย และดูว่ารัฐสามารถช่วยเหลือในเรื่องใดได้บ้าง 3.การพัฒนาวัคซีน ASF เพื่อป้องกันโรคระบาด เพราะโรคนี้เกิดขึ้นมา 100 ปี แต่ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และ 4.แนวทางการสำรวจสุกรที่ติดเชื้อ เนื่องจากขณะนี้มีการระบุว่าสุกรที่สูญหายไปจากระบบกว่า 50 % นั้นเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้นายกฯ ได้สั่งการว่า จะต้องให้ทุกหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือ เพราะกรมปศุสัตว์มีเจ้าหน้าที่น้อย นอกจากนี้ นายกฯ ยังให้ประชาชนผู้บริโภคเดือดร้อนน้อยที่สุด ทั้งนี้ เรื่องราคาหมูแพงต้องพูดคุยกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ว่า สามารถตรึงราคาได้แค่ไหน พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบมาตลอดว่ากรมปศุสัตว์ร่วมกับมหาวิทยาลัยภาคีเครือข่ายได้ทำอะไรมาบ้าง ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสว่ากรมปศุสัตว์ปกปิดข้อมูลเรื่องการระบาดโรค ASF นายกฯได้สอบถามเรื่องนี้หรือไม่ น.สพ.สรวิศ กล่าวว่า นายกฯ เข้าใจเพราะได้รายงานการทำงานให้นายกฯ ตลอด โดยตั้งแต่ปี 2561 ได้เกิดโรคระบาดในจีน และเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 รัฐบาลได้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ หากเราปกปิด จะไม่สามารถส่งหมูไปต่างประเทศได้ เช่น เวียดนามหรือกัมพูชา เพราะเขาก็ต้องตรวจโรคเหมือนกัน ซึ่งถือเป็นคำตอบที่สำคัญ ส่วนเงินที่ขอจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ต้องทำความเข้าใจว่า เป็นเงินที่ใช้ในการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย จากการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด ซึ่งเป็นไปตามหลักการระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ หากมีเหตุสงสัยว่าเกิดโรคระบาดชนิดใดในสัตว์ เราสามารถดำเนินการลดความเสี่ยงและรัฐบาลจะชดเชยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขีดเส้นการแก้ไขปัญหาไว้หรือไม่ น.สพ.สรวิศ กล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้ขีดเส้น แต่บอกว่าให้ช่วยเหลือกันในการขับเคลื่อน เพราะโรค ASF ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดใน 34 ประเทศทั่วโลก โดยในเอเชียรอบบ้านเรามีการระบาดกว่า 14 ประเทศ นายกฯ ได้เน้นย้ำแค่ในเรื่องการควบคุมโรคให้ดี และสงบโดยเร็ว รวมถึงสามารถทำให้เกษตรกรเดินหน้าต่อไปได้ โดยเป็นการร่วมมือกันกับภาครัฐ เอกชนและอาจารย์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามแม้นายกฯ จะไม่ได้ขีดเส้น แต่ได้ถามถึงราคาสุกรและการเข้ามาของสุกรในระบบ ว่าใช้เวลาการดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่งตนก็ตอบไปว่าประมาณ 8-12 เดือน
เมื่อถามถึงกรณีที่นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่รู้หมูหายไปจากระบบได้อย่างไร ได้ชี้แจงนายกฯ ถึงประเด็นนี้หรือไม่ น.สพ.สรวิศ กล่าวว่า ขอชี้แจงว่า ไม่ใช่ว่าหมูหายไปไหน แต่เป็นไปตามระบบของกรมปศุสัตว์ และพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ที่หากได้รับแจ้งว่ามีการระบาด ก็จะลงไปตรวจสอบ จากนั้นจะเก็บตัวอย่างมาตรวจในห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ หรือสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ที่สามารถยืนยันผลการตรวจได้ โดยนายกฯ ได้สั่งการให้สำรวจว่าสุกรที่อยู่ในระบบมีจำนวนเท่าไหร่
เมื่อถามถึงกรณีที่เกษตรกรที่นำหมูที่ล้มตายออกไปขาย น.สพ.กิจจา กล่าวว่า โรค ASF ไม่ก่อโรคในคนละสัตว์ชนิดอื่น ยังสามารถบริโภคได้ แต่ต้องเน้นในเรื่องของสุขอนามัย จึงขออย่าตระหนกและตกใจ
เมื่อถามว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในจ.นครปฐม บอกว่ามีการระบาดของโรคมา 2 ปีแล้ว น.สพ.กิจจา กล่าวว่า ประเด็นสำคัญหากพบการระบาดของโรคแล้วมาตรการต่อไปที่จะดำเนินการคือการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรให้เข้มแข็งขึ้นเหมือนเดิม แต่จะเสียหายเท่าไหร่ต้องดูการประเมินก่อน สำหรับแนวทางปัจจุบันที่ต้องทำคือควบคุมการระบาดให้ได้ โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการเป็นหลัก และไม่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยง และผู้บริโภคต้องเดือดร้อน สำหรับราคาหมูปัจจุบันที่แพงขึ้นทางรัฐบาลจะต้องจัดการอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า ต้องใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ การเลี้ยงสุกรถึงจะกลับมาเหมือนเดิม น.สพ.สรวิศ กล่าวว่า นายกฯ สั่งการให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันฟื้นฟู เบื้องต้นต้องทำการสำรวจว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงๆ เท่าไหร่กันแน่ ที่พูดไปว่า 60% นั้น จากตัวเลขเคลื่อนย้ายสัตว์ของกรมปศุสัตว์เสียหายไม่เกิน 20% นายกฯจึงให้สำรวจว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และการที่เนื้อหมูราคาแพงไม่ได้เป็นเพราะโรคอย่างเดียว นายกฯ มีความเข้าใจว่าต้นทุนการผลิตหมูไม่ใช่แค่เรื่องป้องกันโรคอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์
เมื่อถามว่า วงเงิน 574 ล้านบาท ที่จะเยียวยาจะไปที่กลุ่มไหนบ้าง น.สพ.สรวิศ กล่าวว่า รายย่อยเท่านั้น ขอทำความเข้าใจว่าการเยียวยาดังกล่าวคือ การดำเนินการลดความเสี่ยงในการเกิดโรค เนื่องจากตั้งแต่ 3 สิงหาคม 2561 ที่เกิดโรคในจีน ภายใน 6 เดือนจีนฆ่าสุกรไป 500 ล้านตัว ในประเทศไทยมีการประชุมตั้งแต่ต้นว่าจะป้องกันอย่างไร ภาคเอกชนมีการลงขันช่วยเหลือรายย่อย ดำเนินการลดความเสี่ยง 100 ล้านบาท เมื่อเขาระดมทุนมาแล้ว เขาจึงขอภาครัฐ ซึ่งตั้งแต่ตนรับราชการมานี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลช่วยเหลือหมูในการให้งบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 1.5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ดำเนินการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ไม่ใช่เกิดโรคแล้ว ขอย้ำตรงนี้ และโรคในสุกรหากดูภายนอกเราไม่รู้ การควบคุมโรคที่ชัดเจนคือการขจัดความเสี่ยง เพื่อให้ทันกับโรค ส่วนงบประมาณที่จะให้รายกลาง รายใหญ่ เราไม่มีให้ เพราะรัฐบาลสนับสนุนเฉพาะรายย่อย
น.สพ.สรวิศ กล่าวว่า พร้อมกันนี้นายกฯ ยังได้สอบถามถึงเกษตรกรรายย่อยที่จะกลับมาเลี้ยงใหม่จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ตรงนี้เราต้องยกระดับการเลี้ยง เมื่อก่อนรายย่อยไม่มีระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพหรือการควบคุม แต่รายใหญ่ที่เป็นฟาร์มมาตรฐานมี นายกฯ จึงบอกว่าต้องทำถึงระดับที่กรมปศุสัตว์ยอมรับคือ GFM ป้องกันโรคได้ ห้ามสัตว์พาหะเข้าไป มียาฆ่าเชื้อ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค กรมปศุสัตว์ได้ของบประมาณจากสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อยกระดับตรงนี้ เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยมีถึงแสนกว่าราย ส่วนใหญ่ไม่ต้องดำเนินการในส่วนนี้ และอีกอย่างที่หน่วยงานราชการจะดำเนินการคือ กรมปศุสัตว์มีศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์ทั่วประเทศ โดยจะผลิตพันธุ์สุกรขายเกษตรกรรายย่อยในราคาถูก
เมื่อถามถึงกระแสข่าวข่มขู่เกษตรผู้เลี้ยงสุกร น.สพ.สรวิศ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เมื่อถามว่า อธิบดีกรมปศุสัตว์ยังไม่ถอดใจใช่หรือไม่ น.สพ.สรวิศ กล่าวว่า ไม่ เพราะการทำงานที่ผ่านมาในการควบคุมโรคตลอดเวลาที่ตนดำรงตำแหน่งอธิบดีเคยควบคุมโรคในม้า ในวัว ที่ตอนนี้แทบไม่มีการเกิดโรคใหม่แล้ว และเราผลิตวัคซีนเองได้แล้ว สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เกิดขึ้นมาร้อยปีตอนนี้ยังไม่มีวัคซีน การควบคุมโรคต้องบูรณาการร่วมกัน ซึ่งนายกฯ กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าใจการทำงาน และให้กำลังใจ ให้ทำงานให้สำเร็จลุล่วงต่อไป
น.สพ.กิจจา กล่าวเสริมว่า วิกฤตในปัจจุบันต้นทุนอาหารสัตว์แพงขึ้นถึง 30%