โดย น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ถูกพูดถึงอย่างหนาหู หลังถูกเชื่อมโยงกับราคาหมูที่ปรับเพิ่มขึ้น กระทั่งวันนี้ที่กรมปศุสัตว์ ประกาศพบโรค ASF ในหมู ที่โรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม และได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาด มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร และเตรียมรายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)
ทำความรู้จัก ASF
ASF (African Swine Fever Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อโรคเฉพาะในสุกร พบครั้งแรกที่ประเทศเคนยา เมื่อปี พ.ศ. 2464 หรือนานกว่า 100 ปีมาแล้ว จากนั้นโรคลามจากทวีปแอฟริกาไปยังทวีปอื่นๆ รวมประเทศต่างๆ ที่พบโรค ASF จากอดีตหนึ่งร้อยปีจนถึงวันนี้ทั่วโลกพบ ASF แล้วกว่า 60 ประเทศ
โดยปัจจุบันพบไวรัสนี้แพร่กระจายตามภูมิภาคต่างๆ ใน 35 ประเทศทั่วโลก สำหรับทวีปเอเชีย พบครั้งแรกที่รัสเซียฝั่งตะวันออกในส่วนที่ติดกับจีนเมื่อ พ.ศ. 2551 จากนั้นโรคได้เข้าไปยังจีน ประเทศผู้ผลิตหมูและผู้บริโภคเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลก ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 และพบในประเทศอื่นๆ ทั้งมองโกเลีย เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เวียตนาม สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต อินโดนีเซีย และอินเดีย
แม้ว่าเป็นโรคนี้จะถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในหมู ไม่สามารถติดต่อสู่คนและสัตว์อื่นได้ คนยังคงบริโภคเนื้อหมูได้อย่างปลอดภัย แต่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง หากพบการระบาดของโรคในประเทศใด การกำจัดโรคจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยารักษาโรคที่เฉพาะเจาะจง
ไทย อยู่ตรงไหนในแผนที่ “โรค”
ประเทศต่างๆ รอบไทยต่างเผชิญหน้ากับโรคนี้ทั้งหมดแล้ว ไทยจึงถือว่าเป็นประเทศท้ายสุดของเขตรอบบ้านเรา ที่อยู๋ในแผนที่โรคนี้ ที่ผ่านมา ทั้งกรมปศุสัตว์ในฐานะภาครัฐ ต่างจับมือกับเกษตรกรผู้เลี้ยง สมาคม ภาคเอกชนผู้ประกอบการ สถานบันการศึกษา นักวิชการ นักวิจัย ร่วมกันเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ASF อย่างเข้มงวดมาตลอด โดยเฉพาะการคุมเข้มด่านพรมแดน รวมทั้งใช้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูง (Biosecurity) ภายในฟาร์ม ที่อาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นและจุดแข็งของไทย กระทั่งกลายเป็นประเทศที่ทุกคนต่างจับจ้องและต้องการหมูที่มีคุณภาพจากไทย เพื่อป้อนตลาดต่างประเทศที่กำลังประสบปัญหาโรคนี้ นำเงินตราเข้าประเทศหลายหมื่นล้านบาท นี่คือความสำเร็จจากการป้องกันโรคอย่างเข้มแข็งของบ้านเรา
แม้วันนี้ไทยถูกเจาะไข่แดงพบเชื้อที่นครปฐม ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของการเลี้ยงหมูก็ตาม แต่ทุกคนต้องเดินหน้า Move On จากเรื่องนี้ให้ได้ การจัดการสอบสวนโรคให้เป็นหน้าที่ภาครัฐที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อควบคุมโรคไม่ให้แพร่ไปในวงกว้าง และภาคส่วนอื่นต้องเร่งทำหน้าที่ของตนเองอย่างแข็งขัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมหมูเอาไว้ให้ได้
เกษตรกรอย่าท้อ เร่งเดินหน้าต่อให้เร็วที่สุด
ต้องไม่ลืมว่า เรายังมีอีกปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไขโดยเร็ว คือ การเร่งแก้ภาวะขาดแคลนซัปพลายหมูในตลาด ที่กลไกภาครัฐต้องเริ่มทำงาน ผู้เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าตามมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้อย่างจริงจัง ด้วยการผลักดันให้พี่น้องเกษตรกรรายย่อย-รายกลาง ที่เลิกเลี้ยงหรือหยุดการเลี้ยงเพื่อรอดูสถานการณ์ไปก่อนหน้านี้ ได้กลับเข้าสู่ระบบอีกครั้งให้เร็วที่สุด
ที่สำคัญ ต้องได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการเร่งจ่ายเงินชดเชยคงค้างให้เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทำลายหมูจากภาวะโรค ตามมาตรฐานการป้องกันโรค ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อให้คนเลี้ยงมีทุนรอนในการประกอบอาชีพ และเกิดความมั่นใจหากจะกลับมาเลี้ยงอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาทุกคนต้องประสบกับปัญหารอบด้าน ทั้งหมูล้นตลาด ราคาหมูตกต่ำ เกิดภาวะขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปี รวมทั้งสถานการณ์โรคระบาดในหมู ที่ขณะนี้ต้องเร่งจัดการ ไปพร้อมกับการพัฒนาวัคซีน เพื่อให้ผู้เลี้ยงมีขวัญกำลังใจว่าจะไม่มีความเสี่ยงในอาชีพ
ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร ด้วยมาตรการช่วยเหลือ-พักหนี้-ลดหนี้-พักดอกเบี้ย การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เหมือนอย่างในอดีตที่ธนาคารเคยกำหนดการปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกร และควรมีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
อีกข้อสำคัญคือ มาตรการช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ เช่น ลดอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2% เหลือ 0% เพราะไทยต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงได้เป็นอย่างมาก
รวมทั้งปล่อยให้ “ราคาหมูเป็นไปตามกลไกตลาด” ไม่ให้เกษตรกรต้องวนลูปเดิม กับความบอบช้ำจากนโยบายการคุมราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มก่อนหน้านี้ และการคุมราคาเนื้อหมูปลายทาง ที่ทำให้กลไกตลาดบิดเบี้ยว
วันนี้รัฐบาลต้องหาวิธีจูงใจและฟื้นความเชื่อมั่นให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมูให้ได้ บนพื้นฐานของมาตรการป้องกันโรคที่ดี และเหมาะสมกับฟาร์มเกษตรกรแต่ละประเภท นี่ถือเป็น “โอกาส” ใน “วิกฤต” ที่ไทยจะได้ “ยกเครื่อง” วงการหมูทั้งระบบ สู่อุตสาหกรรม 4.0 การป้องกันโรคอย่างเข้มงวดจะกลายเป็น New Normal ของฟาร์มหมู นอกจากจะได้อาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคแล้ว เกษตรกรเองจะมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น และสามารถป้องกันโรคต่างๆในหมูได้อย่างเข้มแข็ง
ส่วนในฟาร์มที่ยกระดับการป้องกันโรคอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ต้องรักษาระบบ Biosecurity ให้ดี ต้องไม่ประมาท การ์ดอย่าตก และอย่าเพิ่งตกใจกลัวโรคนี้ ต้องมีสติ ดูแลตัวเอง และเพื่อนในวงการ งวดนี้ถือว่าเป็นอีกเวทีวัดความสามัคคีของเกษตรกรไทย รวมถึงนักวิชาการ ภาครัฐ เอกชน ให้สมกับที่ทุกคนเหนื่อยมาตลอด 3 ปี และจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันให้ได้อย่างที่เคยผ่านมาแล้ว