บรรจบ สุขชาวไทย นักวิชาการอิสระ
หมูแพง บางคนอาจคิดว่า งานนี้คนเลี้ยงหมูคงฟันกำไรพุงกาง แต่ก่อนจะโยนบาปให้เกษตรกร ต้องมาดูปมเหตุก่อนจะมีวันนี้ ว่าแท้จริงแล้วชาวหมูต้องแบกภาระจนหลังอานจากอะไรบ้าง
มูลเหตุสำคัญที่ราคาหมูขยับ ประเด็นสำคัญมาจากการที่เกษตรกรเลิกเลี้ยงหมูไปมากกว่า 50% จากที่เคยมีเกษตรกรทั้งประเทศ 2 แสนราย วันนี้เหลือแค่ 8 หมื่นรายเท่านั้น
ถามว่าทำไมคนเลี้ยงหมูหายไปมากขนาดนี้ ต้องย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน ที่หมูราคาตกต่ำรุนแรง เกษตรกรขาดทุนสะสมมายาวนาน โดยเฉพาะเมื่อโควิด-19 เล่นงาน เกษตรกรแทบม้วนเสื่อ เพราะคนกินหาย นักท่องเที่ยวหด การจับจ่ายฝืดเคือง
ขณะเดียวกัน การเลี้ยงหมูต้องเผชิญกับโรคระบาดในหมู ทำให้หมูเสียหาย ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น เพราะตัวเฉลี่ยต้นทุนลดลง หมูกินอาหารไปแล้วแต่ต้องสูญเสียระหว่างการเลี้ยง เท่ากับที่เลี้ยงมาสูญเปล่า แถมยังโดนพ่อค้าหัวหมอ ใช้เรื่องโรคหมูมาปั่นกระแสกดราคา เกษตรกรทั้งรายย่อย รายเล็ก รายกลาง ต่างตื่นตระหนกและเร่งเทขายหมู แม้รู้เต็มอกว่าต้องขาดทุน ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
จากเรื่องโรค ทำให้เกษตรกรต้องลงทุนระบบป้องกันโรคเข้มงวด มีต้นทุนส่วนนี้สูงถึง 500 บาทต่อตัว ยังไม่นับต้นทุนที่พุ่งพรวดแบบฉุดไม่อยู่ จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่เพิ่มสูงสุดอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และแนวโน้มก็จะสูงต่อไป ซึ่งกระทบต้นทุนส่วนนี้เพิ่มขึ้นถึง 30-40% ซ้ำยังมีค่าน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งอย่างมาก ไหนจะค่ายารักษาโรคสัตว์ที่ต้องจ่ายอีก ปัจจุบันคนเลี้ยงจึงแบกต้นทุนการผลิต สูงถึงกิโลกรัมละ 120 บาทแล้ว
ทั้งราคาหมูตกต่ำ ขาดทุนสะสม ซ้ำต้องเผชิญภาวะโรค และต้นทุนสูง เกษตรกรบางรายถึงกับหมดตัว ก็จำต้องหยุด เพราะขาดทั้งทุนรอน และหมดแรงใจ
ผลกระทบปรากฏชัดแล้วในวันนี้ ที่หมูขาดตลาด แม่หมูลดจาก 1.1 ล้านตัว เหลือแค่ 6.6 แสนตัว หมูขุนลดจาก 19-20 ล้านตัว เหลือ 14-15 ล้านตัวต่อปี สวนทางกับการบริโภคที่กลับมาคึกคักหลังเปิดประเทศ ผู้บริโภคก็กลับมาใช้จ่ายอีกครั้ง
เมื่อใช้หลักเศรษฐศาสตร์มาจับ ขณะที่ “ซัปพลายน้อย” ขณะที่ “ดีมานด์มาก” ยังไงราคาก็ต้องสูงขึ้น ตามกลไกตลาด
ปัญหาหมูแพง สะกิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหันสปอตไลต์มาจับจ้องที่เกษตรกรอีกครั้ง ที่น่าดีใจคือ กระบวนทัศน์ของการแก้ปัญหาเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน งานนี้นายกรัฐมนตรี ลงมาสั่งการแก้ไขทั้งระบบด้วยตัวเอง ตั้งแต่เกษตรกร ต่อเนื่องไปถึงปากท้องประชาชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่างเร่งออกมาแก้ไข ออกมาตรการช่วยเหลือเต็มที่ เพื่อเพิ่มซัปพลายหมูให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะการพลิกฟื้นฟาร์มหมูและส่งเสริมเกษตรผู้เลี้ยงรายย่อย ให้กลับมาเลี้ยงหมูอีกครั้ง
ส่วนที่บางคนแนะนำให้นำเข้าหมูจากต่างประเทศ ต้องบอกว่าไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น เพราะคนไทยต้องเสี่ยงกับสารเร่งเนื้อแดงที่อาจปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์หมูต่างประเทศ เกษตรกรต้องเสี่ยงกับโรคหมูที่อาจติดมากับผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลกระทบต่อวงจรการผลิตหมูทั้งอุตสาหกรรม ตั้งแต่คนเลี้ยงหมู ผู้เพาะปลูกพืชไร่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ภาคเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การเลี้ยง ภาคขนส่ง จนถึงภาคธุรกิจอื่นๆตลอดห่วงโซ่ ที่ต้อง “ล่มสลาย” เพราะหมูไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
วันนี้เงื่อนปมความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงกำลังจะถูกคลายออก เล้าหมูที่จำต้องปิดร้าง กำลังจะเปิดรับหมูชุดใหม่เข้าเลี้ยง ภายใต้มาตรการการป้องกันโรค Biosecurity ที่ต้องยกระดับให้เข้มข้นที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการหาแหล่งเงินทุน การเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ที่ต้องใช้สรรพกำลังของทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนที่มีศักยภาพ มาร่วมกันดำเนินการให้เร็วที่สุด ที่สำคัญ รัฐต้องเร่งจ่ายเงินชดเชยคงค้าง ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทำลายหมู และความเสียหายจากเหตุน้ำท่วม พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ทั้งลดหนี้ พักหนี้ พักดอกเบี้ย และช่วยลดต้นทุนการเลี้ยง อย่างเช่น การลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็น 0% เป็นต้น มาตรการทั้งหมดนี้ จะช่วยจูงใจให้คนเลี้ยงกลับเข้าระบบได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคต้องทำความเข้าใจว่า เกษตรกรต้องใช้เวลาเลี้ยงหมู 6 เดือน ถึงจะได้น้ำหนักจับออกที่ 100 กิโลกรัม ต้นทุนที่คนเลี้ยงต้องจ่ายวันนี้สูงถึง 12,000 บาทต่อตัวแล้ว และกว่าหมูหน้าฟาร์มจะไปถึงหน้าเขียงขายให้ผู้บริโภคนั้น ต้องมีต้นทุนระหว่างทางมากมาย โดยหมู 1 ตัว เมื่อฆ่าและชำแหละแล้ว จะมีน้ำหนักที่หายไป ประมาณ 8-10 กิโลกรัม (จากเลือด ขน มูลสุกร) ที่เหลือ 90-92 กิโลกรัม เป็นหมูซีกที่ขายได้จริง ซึ่งขั้นตอนก่อนจะได้หมูซีกนี้ มีค่าใช้จ่ายประมาณตัวละ 500 บาท เมื่อหมูซีกถูกส่งไปเขียงหรือร้านขายปลีก ก็มีค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง ทั้งค่าขนส่ง ค่าแรงชำแหละขาย ค่าเช่าแผง ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าเสื่อมอุปกรณ์ รวมถึงน้ำหนักที่สูญเสียระหว่างการขาย ฯลฯ นี่คือค่าใช้จ่ายและต้นทุนการจัดการก่อนถึงมือผู้บริโภคทั้งสิ้น ที่สำคัญหมูซีกก็ไม่ใด้ขายราคาเดียวกันหมด จากชิ้นส่วนที่ได้ ทั้งเนื้อสันใน สันนอก ไหล่ สะโพก สันคอ สามชั้น มีส่วนที่ขายได้ราคาเท่ากับเนื้อแดงเพียง 44 กิโลกรัม เท่านั้น
สำคัญคือผู้บริโภค ถ้าเห็นว่าราคาสูง ก็แค่หันไปบริโภคโปรตีนอื่นๆ แทนหมู เช่น ไก่ ปลา เนื้อ หรือไข่ โดยเฉพาะไก่ที่เป็นโปรตีนทดแทนกันได้ ราคากิโลกรัมละ 50-60 บาทเท่านั้น ปัญหานี้แก้ง่าย แค่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี และเร่งเพิ่มซัปพลายหมูเข้าระบบให้เร็วที่สุด จากนี้ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติเอง โดยไม่ต้องไปควบคุมให้เสียเวลา