บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา แม้ยังคงไม่ได้ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิมก่อนจะมีสถานการณ์โควิด-19 แต่กลับเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ สะท้อนผ่านราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งราคาพลังงานและอาหารสด โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยราคาเนื้อสุกร (เนื้อแดง) ล่าสุดขยับมาอยู่ที่ราวกิโลกรัมละ 200 บาท และคาดว่าราคาอาจจะขยับสูงขึ้นอีก ส่งผลให้ผู้ประกอบการ
ขายปลีกเนื้อสุกร (หมูเขียง) โดยเฉพาะรายย่อย และผู้ประกอบร้านอาหารหลายรายเริ่มแบกรับต้นทุนไม่ไหว ต้องทยอยปรับเพิ่มราคา หรือแม้กระทั่งชะลอหรือหยุดขายชั่วคราว
ทั้งนี้ คาดว่าราคาเนื้อสุกรเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2565 จะอยู่ในกรอบ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และอาจผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับสูงขึ้นตาม นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารอื่นๆ เช่น ผัก น้ำมันพืช ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการขายปลีก โดยเฉพาะรายย่อย ร้านอาหาร ตลอดจนผู้บริโภคที่มีค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8-10 ท่ามกลางภาวะที่ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ก็เริ่มมีสัญญาณปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
รายงานระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เกิด Pent-up demand ประกอบกับมีความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในช่วงเทศกาลปลายปี ขณะที่ปริมาณเนื้อสุกรมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาโรคระบาดในสุกรที่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้จำเป็นต้องกำจัดสุกรที่มีความเสี่ยงจำนวนมากเพื่อควบคุมโรค ยิ่งกดดันให้ปริมาณสุกรขาดตลาดมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังมีความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโรคดังกล่าวยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรค ต้นทุนการผลิตเนื้อสุกรปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และต้นทุนค่าอาหารสัตว์ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของต้นทุนทั้งหมดก็ปรับเพิ่มขึ้น โดยวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงขึ้นตามค่าขนส่ง และยังต้องเสียภาษีนำเข้า เช่น ราคากากถั่วเหลืองปรับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 ตลอดจนต้นทุนในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในฟาร์มที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มราว 500 บาทต่อตัว
เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร โดยเฉพาะรายย่อย ลดการเลี้ยงสุกรลง บางส่วนปิดกิจการหรืออาจจะยังไม่มีความมั่นใจที่จะกลับมาเลี้ยงสุกรเต็มกำลัง เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ประกอบกับในช่วงก่อนหน้าภาครัฐขอให้ตรึงราคาเนื้อสุกรไว้ เกษตรกรจึงต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมากและเกิดภาวะขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง