xs
xsm
sm
md
lg

หมูแพง หันกินไก่ ทางเลือกคนกิน-ทางรอดคนเลี้ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์ราคาเนื้อหมูในปัจจุบันไม่เกินจากที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากผลผลิตหมูลดลงมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ก่อนหน้านี้ราคาหมูยังทรงตัวจนถึงตกต่ำเพราะการบริโภคลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ผู้เลี้ยงต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซ้ำต้องเผชิญกับภาวะโรคระบาดทำให้หมูเสียหาย เกษตรกรต้องลงทุนยกระดับมาตรฐานฟาร์มซึ่งใช้เงินเป็นจำนวนมากมีต้นทุนแฝงจากการป้องกันโรคถึงตัวละ 500 บาท

เมื่อต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนสะสมมากว่า 3 ปี ซ้ำยังขาดเงินทุน และขาดความมั่นใจในเสถียรภาพราคาหมู ผู้เลี้ยงโดยเฉพาะรายย่อยต้องลดเลี้ยงและเลิกเลี้ยงไปเกือบหมด จึงกลายเป็นระเบิดเวลา เมื่อความต้องการสูงมาก แต่คนเลี้ยงทั้งประเทศเหลือไม่ถึงครึ่ง หมูขุนหายไปเกือบครึ่ง จึงไม่แปลกที่จะเห็นราคาหมูสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งในภาคผู้เลี้ยงต้องบอกว่าควรได้รับโอกาสนี้ หลังจากแบกรับภาระขาดทุนมานาน ภาวะราคาที่กลับมาฟื้นตัวได้นี้ ไม่ใช่การกอบโกยกำไร แต่แค่พอเคลียร์หนี้สินเก่าและต่อลมหายใจการเลี้ยงต่อไปเท่านั้น

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนเพราะเกี่ยวกับปากท้องประชาชน และอาชีพเกษตรกร นายกฯ ประยุทธ์ออกโรงบัญชาการแก้ปัญหาทั้งระบบ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง เริ่มจากภาระเกษตรกรฟาร์มหมู พ่อค้าคนกลาง ผู้ขายหมูหน้าเขียง ประชาชนผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อลดผลกระทบราคาหมูโดยไม่ให้เสียกลไกตลาด โดยแต่ละกระทรวงเข็นมาตรการทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว


แผน 3 ระยะแก้ปัญหาหมูแพง

1. มาตรการเร่งด่วน : ห้ามส่งออกหมูมีชีวิตชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน (6 มกราคม-5 เมษายน 2565) เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ, การช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์, เร่งสำรวจสถานการณ์การผลิต

2. มาตรการระยะสั้น : ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ, ขยายกำลังผลิตแม่หมู ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยกลับเข้าระบบ, เร่งพัฒนาวิจัยยาและวัคซีนในการป้องกันและรักษา ช่วยลดความสูญเสียจากโรคระบาด

3. มาตรการระยะยาว : กระทรวงเกษตรฯ จะผลักดันการยกระดับมาตรฐานฟาร์มและระบบ biosecurity ของเกษตรกร เพื่อป้องกันโรคระบาด ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมูใหม่ การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เร่งลงทะเบียนผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

คนเลี้ยงคิดอย่างไรกับมาตรการแก้ปัญหาของรัฐ

- น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เห็นด้วยกับภาครัฐจะฟื้นและส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยกลับเข้าระบบอีกครั้ง โดยขอให้รัฐเร่งจ่ายเงินชดเชยคงค้างให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทำลายหมู และเสียหายน้ำท่วม พร้อมกับมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา-ลดหนี้พักหนี้พักดอกเบี้ย และช่วยลดต้นทุนการเลี้ยง รวมทั้งปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากนโยบายการคุมราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มก่อนหน้านี้ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และมีโรคระบาด เป็นสาเหตุให้เกษตรกรเลิกอาชีพ หลังจากนี้ รัฐบาลต้องมีวิธีจูงใจให้เกษตรกรมาเลี้ยงหมูเพิ่ม

- นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่เข้าใจ "กลไกตลาด" และสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งดูแลแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทางโดยไม่ให้เสียกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม สำหรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคในหมู นอกจากกรมปศุสัตว์แล้ว ควรจะเปิดกว้างให้ภาคบริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมพัฒนา ควรสนับสนุนสินเชื่อแก่ภาคเกษตรเพื่อเร่งฟื้นฟูอาชีพเสริมสภาพคล่อง และพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ดังเช่นในอดีตที่ธนาคารเคยกำหนดการปล่อยสินเชื่อแก่เกษตรกร และควรลดอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2% เหลือ 0% เพราะไทยต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงได้

- นายธนา วรพจน์วิสิทธิ์ นักวิชาการสายวัตถุดิบอาหารสัตว์ ชี้ว่าปัจจัยด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสัตว์สูงขึ้นถึง 30-40% เป็นอุปสรรคสำคัญของคนเลี้ยงสัตว์ที่รัฐควรเร่งแก้ปัญหา เช่น การวางเพดานราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ให้สูงกว่าตลาดโลก และยกเลิกภาษีนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่ว พร้อมทั้งทบทวนมาตรการต่างๆ ที่สร้างภาระต่อเนื่องให้ผู้เลี้ยงสัตว์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้

หันกินไก่แทนหมู ลดรายจ่าย แถมช่วยเกษตรกร

แม้ว่าผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบเรื่องราคาหมู แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีทางเลือกอีกมากมายในการบริโภคเนื้อสัตว์ หรืออาหารโปรตีนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ ไข่ไก่-ไข่เป็ด หรือปลาหลากหลายชนิดให้เลือก แต่เกษตรกรไม่มีทางเลือก ยึดการเลี้ยงหมูเป็นอาชีพเดียวในการเลี้ยงตัวเอง ความเห็นใจ ความเข้าใจ และความช่วยเหลือ จึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรกำลังเรียกร้องจากทั้งผู้บริโภคและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ทางเลือกอาหารที่ผู้บริโภคไม่ควรมองข้าม คือ “เนื้อไก่” ซึ่งถือเป็นอาหารในหมวดหมู่โปรตีนที่นำมาใช้ทดแทนเนื้อหมูอยู่แล้ว และเมื่อเปรียบเทียบราคากัน จะพบว่าเนื้อไก่ต่ำกว่าเนื้อหมูถึง 3 เท่า โดยชิ้นส่วนไก่ต่อกิโลกรัมราคาไม่สูง ไก่ทั้งตัว-ไก่ผ่าซีก-ปีกไก่เต็ม ราคา 80 บาท อกไก่-ปีกบนไก่ 75 บาท น่องไก่ 65 บาท เนื้อไก่บด-เนื้อเศษไก่ 60 บาท ซี่โครงไก่ 26.50 บาท

- นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายในหารือกับผู้เลี้ยงไก่ และผู้ค้าปลีกร่วมจัดจุดจำหน่ายไก่สดในราคาประหยัด ลดภาระประชาชนและจูงใจให้เลือกโปรตีนทดแทนเนื้อหมู คาดว่าจะเริ่มเปิดจุดจำหน่ายไก่สดราคาประหยัดก่อนเข้าเทศกาลตรุษจีน ส่วนการแก้ปัญหาราคาเนื้อหมู ต้องติดตามหลังจากที่มีมติห้ามส่งออกและเช็กสต๊อก

- นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้เลี้ยงไก่ก็ประสบปัญหาขาดทุนไม่ต่างจากผู้เลี้ยงหมู เพราะต้องชะลอการเลี้ยงและการจับสัตว์จากความต้องการในตลาดลดลงและราคาเนื้อไก่ตกต่ำ โดยต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่พุ่งสูงสุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงปัจจัยการผลิตอื่นในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาด มีการปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง วันนี้คนเลี้ยงมีต้นทุน 36-38 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาขายหน้าฟาร์มอยู่ที่ 37-39 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงที่ราคาเนื้อหมูปรับขึ้นเช่นนี้ จึงขอให้ผู้บริโภคหันมาเลือกบริโภคเนื้อไก่ที่ราคาถูกกว่าเนื้อหมู 3 เท่า เพื่อเพิ่มทางเลือกโปรตีนให้คนไทยไม่ขาดแคลนเนื้อสัตว์คุณภาพดี และช่วยสนับสนุนเกษตรกรได้ฟื้นตัว

- นายสมบูรณ์ วัชรพงษ์พันธ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ บอกว่า คำแนะนำที่ให้ผู้บริโภคเลือกโปรตีนหลากหลายทดแทนกันนั้น เป็นคำแนะนำที่ถูกต้องและให้ผลลัพธ์ที่ดีมาแล้วหลายครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อปริมาณหมูน้อยลง การช่วยลดความต้องการหมูลงแม้สักเล็กน้อยก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้ ขณะที่เนื้อไก่เป็นโปรตีนเนื้อขาวที่มีประโยชน์ไม่แพ้เนื้อหมู ทั้งยังย่อยง่าย หาซื้อได้ทั่วไป และยังเท่ากับการได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อทั่วประเทศที่มีจำนวนนับแสนรายด้วย

เนื้อไก่ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในภาวะเช่นนี้ ไม่เพียงลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารแบบที่สามารถแทนกันได้อย่างไม่ขัดเขิน ยังเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน โปรตีนคุณภาพดีอย่างเนื้อไก่ที่ราคาถูกกว่าเนื้อหมู ถือว่า “ตอบโจทย์” ผู้บริโภค เป็นทั้งทางเลือกคนกิน และทางรอดคนเลี้ยงอย่างแท้จริง

เรื่องโดย กันยาพร สดสาย นักวิชาการด้านปศุสัตว์
กำลังโหลดความคิดเห็น