xs
xsm
sm
md
lg

“รองโฆษกไทยสร้างไทย” แฉรัฐค้างจ่าย รพ.เอกชนอื้อ หวั่นคนไทยเข้าไม่ถึงการรักษาโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สุวดี พันธุ์พานิช รองโฆษก และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคไทยสร้างไทย
“สุวดี” รองโฆษกไทยสร้างไทย ย้ำ คนไทยส่วนใหญ่กักตัวในบ้านไม่ได้ เสี่ยงติดต่อคนในครอบครัว สับ รบ.ปรับลดค่ารักษาโควิด ไม่สอดคล้องต้นทุนรักษาจริง แฉค้างจ่าย รพ.เอกชนอื้อ ทำผู้ป่วยโอมิครอนไร้เตียง

วันนี้ (5 ม.ค. 65) น.ส.สุวดี พันธุ์พานิช รองโฆษก และ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 กทม. พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณี ผู้ป่วยโควิดหาเตียงรักษาไม่ได้ เนื่องจาก Hospitel-โรงพยาบาลเต็ม ว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถกักตัวในบ้านได้ เนื่องจากพักอาศัยร่วมกันหลายคน มีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้สูงอายุและเด็กเล็ก สาเหตุหลักที่เตียงมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากกรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ลงนามประกาศปรับค่ารักษาผู้ป่วยโควิด เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 64 มีผลย้อนหลังไปวันที่ คณะรัฐมนตรี มีมติ 12 ต.ค. 64 โดยปรับลดค่ารักษา COVID UCEP สำหรับ hospitel เป็นค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าแพทย์ รวม 1,700 บาท ขณะที่ โรงพยาบาลสังกัดบัตรทองถูกปรับค่าบริการดูแลผู้ป่วย เหมาจ่ายวันละ 1,150 บาท รวมค่าห้อง ค่าอาหาร แพทย์ พยาบาล ค่าชุด PPE ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 64 ซึ่งไม่สอดคล้องกับต้นทุนจริงการให้บริการ ทำให้ความร่วมมือการขยายเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดไม่เหมือนช่วงระบาดก่อนหน้า

น.ส.สุวดี กล่าวต่อว่า ทั้งยังมีมติคระรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 64 ที่ระบุว่า “เห็นควรให้การใช้สิทธิ UCEP กลับเข้าสู่ระบบปกติ โดยยกเลิกค่าใช้จ่ายในสถานบริการเอกชน (UCEP COVID) สำหรับการดูแลกรณีโรคโควิด-19” อย่างไรก็ตาม ช่วงเย็นวานนี้ (4 ม.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะออกมาปฏิเสธมติ ครม.ดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นเพียงข้อเสนอของหน่วยงานเท่านั้น ทำให้โรงพยาบาลเอกชนขาดความมั่นใจ กังวลว่าจะมีประกาศย้อนหลังไปถึงวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยด้วยว่า สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ รัฐบาลติดค้างค่ารักษาผู้ป่วยโควิดในส่วนของ สปสช. ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากโดยขอให้เร่งจ่ายไปยังโรงพยาบาลทั้งหมดที่ติดค้าง ขอให้เข้าใจว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ชำระไปแล้วโดยใช้เงินกู้ธนาคารซึ่งมีดอกเบี้ยส่งผลให้โรงพยาบาลขนาดเล็กทำงานต่อยาก ทั้งนี้ในกลุ่มค่ารักษาพยาบาลโควิดต่างด้าวไร้สิทธิยังไม่มีการชำระเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดกรณีการเข้าไม่ถึงบริการได้ แม้จะมีหลักฐานในต่างประเทศว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะไม่มีความรุนแรง แต่ยังพบผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงเรื่องโรคประจำตัวและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังพบว่าสายพันธุ์เดลตายังระบาดควบคู่กันด้วย ทำให้คนส่วนใหญ่ยังต้องการที่แยกกักตัวเพื่อลดความสูญเสียในครอบครัว

“ขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับเกณฑ์ค่ารักษาเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากภาคเอกชนให้มากที่สุด สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเปิดให้การตรวจเชื้อเข้าถึงได้ง่ายที่สุด เพื่อให้ข้อมูลการระบาดตรงความเป็นจริง ให้การแยกตัวเกิดขึ้นเร็ว และจบการระบาดนี้ได้โดยเร็ว” น.ส.สุวดี ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น