กลุ่มผู้เลี้ยงหมูและนักวิชาการ ระดมแนวคิดแก้ปัญหาหมูแพง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เผยทางรอดฟาร์มหมูรายเล็ก รายกลาง ทำฟาร์มมาตรฐาน แก้ปัญหาโรคระบาดระยะยาว แนะรัฐบาลให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หมดยุคปศุสัตว์ครัวเรือนแล้ว เหตุเสี่ยงสูง
โดยสรุปถึงปัญหาและทางรอดดังนี้
1. หมูแพงเกิดจากอะไร
เมื่อมีหมูน้อยลง (Supply) ความต้องการบริโภคหมูมาก (Demand) ราคาก็สูงขึ้นตามกลไกตลาด
ในปี 2564 ผลิตหมูได้เพียง 14.7 ล้านตัว ขณะที่ความต้องการหมู 17 ล้านตัว จึงไม่เพียงพอต่อการบริโภค
2. ทำไมหมูถึงหายไปจากตลาด
เพราะปัญหาโรคระบาดในเป็นทั้งภูมิภาค โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) หรือ ASF เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ใน 35 ประเทศทั่วโลก และยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรค การแก้ปัญหาต้องเลี้ยงในระบบปิด ซึ่งลงทุนสูง ผู้เลี้ยงหมูจำนวนมาก ขาดเงินลงทุน
3. มีการปิดบังการระบาด ASF ในไทยหรือไม่
ปีที่ผ่านมา ไทยบริหารจัดการได้ดี สังเกตุได้จากปีที่แล้วที่มีหมูขายกว่า 13 ล้านตัว ถ้ามีการแพร่ระบาดของ ASF จะต้องฆ่าหมูทิ้งทั้งฟาร์ม ปีนี้เกษตรกรจึงไม่รอให้หมูติดโรค เพราะไม่อยากเสี่ยง จึงเลิกเลี้ยง เพราะหากติดโรค มีสิทธิ์หมดตัว ภาครัฐก็ไม่ได้เข้ามารับประกันหรือชดเชยความเสียหาย
4. เลี้ยงระบบปิด คือทางรอด เกษตรกรจะทำได้หรือ จะมีคนลงทุนหรือไม่
ฟาร์มมาตรฐานส่วนใหญ่เป็นระบบปิด ถ้าจะแก้ปัญหาระยะยาวได้ จะต้องทำฟาร์มมาตรฐานทั้งหมด ถ้าไม่ทำก็มีโอกาสติดโรค เพราะไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่การทำฟาร์มมาตรฐาน จะใช้เงินลงทุนสูง รัฐบาลจะต้องปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรทำฟาร์มมาตรฐาน และเมื่อเกิดโรคระบาดจะโทษเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูระบบมาตรฐานไม่ได้ เพราะต้นทุนก็สูงกว่ามาก
5. คนไทยต้องกินหมูแพงไปอีกกี่เดือน
อีกหลายเดือน เพราะเกษตรกรเลิกเลี้ยงหมู และกว่าจะกลับมาเลี้ยง กว่าหมูจะโต ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเพิ่มจำนวนเกษตรกร ผ่านการรับรองความเสี่ยงแทนเกษตรกร เกษตรกรจึงจะกล้าลงทุนเลี้ยงหมู
6. รายย่อย ตายหมด รายใหญ่ได้เปรียบหรือไม่
ปัญหาโรคระบาดหมู ไม่มีใครอยากให้เกิด แม้รายใหญ่ก็เสียหายกว่า 50% เพราะไม่มีวัคซีน รถขนหมู ก็เสี่ยงต่อการนำโรคจากโรงเชือด เสี่ยงทั้งระบบ ไม่มีใครหวังให้มีโรคเพื่อฆ่ารายเล็ก แต่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศว่า ต้องเป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน หมดยุคปศุสัตว์ครัวเรือน เพราะความเสี่ยงสูง การทำฟาร์มมาตรฐานจึงเป็นทางออก
7. นำเข้าหมูจากต่างประเทศดีหรือไม่
การนำเข้าหมูก็เสี่ยงที่จะนำมาซึ่งโรคระบาด ซึ่งหนักกว่าประเทศไทยหลายเท่า รวมถึงหากนำเข้ามาไทยจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต เพราะประเทศรอบข้างล้วนมีราคาหมูแพงกว่าไทย
8. ห้ามส่งออกแก้ปัญหาหมูแพงหรือไม่
ตราบใดที่หมูในประเทศไม่พอ คงไม่มีผู้เลี้ยงหมูอยากเสียภาษีและเสียค่าขนส่งไปต่างประเทศ เพราะราคาในประเทศก็สูงอยู่แล้วซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด และไม่มีใครอยากลักลอบส่งออก เพราะขายในประเทศก็ได้
9. จากฟาร์มหมู สู่เขียง มันแพงตรงไหน
ราคาหมูที่แพง เพราะต้นทุนแพงมาตั้งแต่หน้าฟาร์ม จากราคาหน้าฟาร์ม 105 บาทต่อตัว ซึ่งคือหมูทั้งตัว รวมกระดูก รวมเครื่องใน แต่เวลาบอกราคาเขียง คือราคาเนื้อแดง ที่หั่นแยกส่วนมาเฉพาะเนื้อ ที่ราคาสูงกว่าราคารวมกระดูก ซึ่งราคาเนื้อแดงหน้าโรงเชือด 153 บาทแล้ว รวมค่าขนส่งก็ 170 บาท ผ่านพ่อค้าคนกลาง กว่าจะถึงหน้าตลาด ค้าปลีกก็ 200 บาท สรุปคือ ตลอดกระบวนการมีต้นทุนสูงขึ้น
10. ทำไมภาครัฐไม่ช่วยเกษตรกร
ปัญหาราคาหมู เป็นปัญหาทั่วโลก ปัญหาเงินเฟ้อ ทุกอย่างแพงขึ้น แต่ไทยกำลังเจอเงินฝืด ที่อาหารแพงขึ้นแต่รายได้ลด ทางแก้ปัญหาคือรัฐต้องมาช่วยเกษตรกร ต้องอุ้ม ต้องชดเชย ก่อนเกษตรกรจะเลิกเลี้ยง และทั้งรายเล็ก กลาง ใหญ่ ลำบากหมด จากนี้ไทยต้องทำปศุสัตว์แบบยกระดับ ขณะที่ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรอเมริกา
แนะ 10 ทางรอด “ ต้องทำเร็ว เป็นรูปธรรม และทำทันที”
1. ห้ามส่งออกระยะสั้น และห้ามนำเข้า (เสี่ยงหมูมีโรค ทำลายตลาด และราคา)
2. ให้สินเชื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ดอกเบี้ยต่ำ ทำฟาร์มมาตรฐาน
3. ไม่ตรึงราคา ปล่อยตามกลไกตลาด
4. ตั้งกองทุน ชดเชย หากเลี้ยงหมูแล้วติดโรค ช่วยลดภาระ และความเสี่ยง
5. ช่วยเหลือผู้บริโภค ราคาพิเศษ เช่น คูปองหมู และส่งเสริมการกินไก่ ปลา ทดแทน เพราะราคาไก่ถูกกว่าหมู 3 เท่า
6. ส่งเสริมเกษตรกรรายใหม่เลี้ยงหมู ด้วยการประกันราคา และถ่ายทอดเทคโนโลยี
7. เพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกร เพื่อรายย่อยในราคาต้นทุน
8. รัฐจัดหาเทคโนโลยีป้องกันโรค วัคซีน
9. รัฐให้ข้อมูลที่แม่นยำ อัพเดท สร้างความเชื่อมั่น
10. จัดการข่าวปลอม อย่างจริงจัง ไม่สร้างความสับสน
ดังนั้น หากรัฐเพิ่ม supply จากในประเทศได้ ปัญหาจะจบ การเพิ่ม Supply ก็คือการลดความเสี่ยงเกษตรกร ให้อยู่รอดได้
ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส หากรัฐแก้ปัญหาสำเร็จ อุตสาหกรรมเลี้ยงหมูของไทย ต้องปรับสู่การเลี้ยงหมู 4.0 ที่เทคโนโลยีสูง คุณภาพสูง ต้นทุนจึงจะต่ำ ปลอดความเสี่ยง และจะรอดได้ในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ ผลการหารืออาจจะนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ อย่างบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งหากรัฐบาลทำได้จะเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลด้วย