xs
xsm
sm
md
lg

ทั้งยุโรปและเอเซียต่างตั้งกองทหารอาสาช่วยไทยรบ! พ่อค้าอังกฤษตายในที่รบ ฮอลันดาช่วยรบฝรั่งเศส!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ประวัติศาสตร์ได้กล่าวไว้อย่างน่าแปลกใจว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีคนหลายชาติหลายภาษาทั้งยุโรปและเอเซียที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย บ้างก็หนีร้อนมาพึ่งเย็น บ้างก็เข้ามาค้าขาย ได้มีความรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทย เมื่อสังคมที่อยู่อาศัยไม่มีความสงบสุข เนื่องจากถูกข้าศึกรุกราน ก็ขอเสียงชีวิตปกป้องความสงบสุขของสังคมที่ตนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยรวมตัวกันตั้งเป็นกองทหารอาสาช่วยรบ

ในประวัติศาสตร์จะพบเรื่องราวของทหารอาสาต่างชาติเป็นประจำก็คือ กองอาสามอญ กองอาสาจาม กองอาสาจีน กองอาสาญี่ปุ่น และกองอาสาโปรตุเกส ซึ่งตั้งเป็นกองทหารอาสาเหมือนเป็นทหารประจำการ แต่ยังมีอีกหลายชาติที่อาสาเข้ามาช่วยในบางเหตุการณ์ อย่าง ทหารอาสาฝรั่งเศส ทหารอาสาฮอลันดา หรือแม้แต่เปอร์เซีย

สำหรับมอญ ซึ่งเป็นชาติที่รุ่งเรืองด้วยอายธรรมมาเก่าแก่ในย่านนี้ แต่ด้วยเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน เอื้ออารี จึงถูกพม่าที่เป็นชนชาติที่เหี้ยมหาญยึดกลืนประเทศไป คนมอญจำนวนมากได้หนีร้อนมาพึ่งเย็นในแผ่นดินสยาม และอาสาช่วยไทยรบพม่า โดยเฉพาะในเขตแดนด้านตะวันตกที่มอญชำนาญภูมิประเทศ กองอาสามอญมีบทบาทสำคัญในสงครามไทยกับพม่ามาหลายครั้ง อย่างใน “สงคราม ๙ ทัพ” มีนิสัยใจคอต้องกันและผูกพันกับคนไทยมานาน จนหลอมรวมเป็นไทยไปด้วยกัน

ส่วนจาม หรือ แขกจาม เป็นชาวจัมปา ชนชาติโบราณที่นับถือศาสนาอิสลาม ตั้งถิ่นฐานอยู่ในตอนกลางของเวียดนาม ถูกญวนกลืนชาติไปใน พ.ศ.๒๐๑๔ ได้เข้ามามีบทบาทในไทยตั้งแต่สมัยสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยรักษาพระองค์อยู่หน้าช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ และมีบทบาทมาตลอดในสมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๔ ก็ยังมีกองอาสาจาม สังกัดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

กองอาสาจีนก็มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีบทบาทสำคัญคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ได้รวบรวมกันตั้งเป็นหน่วยทหารอาสาเข้าตีค่ายพม่าหลายครั้ง แม้จะพ่ายแพ้แต่ส่วนหนึ่งได้ติดตามพระเจ้าตากสินมหาราชแหวกวงล้อมออกมาจากกรุงศรีอยุธยา และร่วมเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นของพม่า กู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้


ในสงครามครั้งแรกของกรุงธนบุรีที่พม่าเข้าตีค่ายบางกุ้งที่เมืองราชบุรี ก็เป็นค่ายของเหล่าอาสาจากสำเภาจีน พระเจ้าตากสินทรงถือเป็นโอกาสดีที่จะสร้างขวัญกำลังใจให้คนไทยหายกลัวพม่า ทรงยกทัพจากกรุงธนบุรีไปในคืนนั้น เข้าตีพม่าจนแตกพ่ายยับเยินไป

กองอาสาญี่ปุ่นมีบทบาทมากในประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะกองกำลังของยามาดา หรือออกญาเสนาภิมุข เป็นกองทหารทะลวงฟันในสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรด้วย และมีส่วนร่วมทางการเมืองสนับสนุนการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์หลายพระองค์

กองทหารอาสาชาวยุโรปที่นำปืนไฟมาเข้าร่วมกับกองทัพไทย ก็คือโปรตุเกส ฝรั่งชาติแรกที่มาถึงเมืองไทย ในสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่าที่เมืองเชียงกราน ตอนนั้นมีชาวโปรตุเกสอยู่ในเมืองไทย ๑๓๐ คน แต่อาสาถือปืนไฟไปร่วมรบกับกองทัพของสมเด็จพระไชยราชาถึง ๑๒๐ คน สมัยกรุงธนบุรีก็มีจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า ในคืนที่เกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี ข้าราชการกับราษฎรได้พากันไปล้อมพระราชวัง พยายามจะบุกเข้าไป แต่มีทหารเข้ารีต คือทหารโปรตุเกสเพียง ๓๖ คนที่มีหน้าที่รักษาพระราชวัง ได้ใช้ทั้งปืนใหญ่ปืนเล็กและอาวุธต่างๆต้านทานไว้ ถึงเช้าพวกจลาจลก็ไม่สามารถบุกเข้าไปได้ จนพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าไม่สามารถต่อสู้กับพวกจลาจลได้ จึงทรงขอร้องจะทรงผนวช

ทหารอาสาฝรั่งเศสนั้น เป็นหน่วยทหารที่ส่งมาประจำในไทยอย่างเป็นทางการจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ นำโดยนายพลเดส์ฟาซ เพื่อคานอำนาจอังกฤษและฮอลันดาที่เริ่มแพร่อิทธิพลเข้ามาย่านนี้ แต่คำสั่งลับที่เป็นเป้าหมายก็คือต้องยึดเมืองไทยให้ได้ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและขุนนางข้าราชการต่างก็รู้ทันจึงป้องกันตัวไว้ไม่ให้เพลี่ยงพล้ำ แต่เมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ ซึ่งทรงเกลียดชังฝรั่งเศสอย่างมาก จึงขับไล่ให้ออกพ้นแผ่นดินไป นายพลเดส์ฟาซถอยไปตั้งหลักสู้ที่ป้อมวิชเยนทร์กรุงธนบุรี พระเพทราชาก็ส่งทหารเข้าล้อม ทำให้ทหารฝรั่งเศสต้องยอมจำนนลงสำเภาถอยออกทะเลไป


ส่วนชาวฮอลันดาได้เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในต้นรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ พระเจ้ามอริตซ์ กษัตริย์ฮอลันดา ได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการมาเจริญพระราชไมตรี สมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงส่งคณะราชทูตนำพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปตอบแทน โดยมีพ่อค้าฮอลันดาที่เข้ามาค้าขายจัดเรือให้ นับเป็นคณะราชทูตไทยคณะแรกที่เดินทางไปยุโรป

แต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พ่อค้าฮอลันดาในเมืองไทยถูกเจ้าพระยาวิชเยนทร์ร่วมกับฝรั่งเศสกีดกันอย่างหนัก ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเพทราชาส่งทหารไปล้อมป้อมวิชเยนทร์ ชาวฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยาจึงรวมกันตั้งกองทหารอาสา ขอสมทบกับทหารไทยไปขับไล่ทหารฝรั่งเศสด้วย

ส่วนอังกฤษนั้น ไม่พบว่ามีการตั้งกองทหารอาสา แม้จะมีพ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ และนำพระราชสาส์นจากพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี แต่อังกฤษสนใจการค้าขายในอินเดียมากกว่า ทั้งยังเห็นว่าไทยเป็นคู่แข่งในการค้าย่านตะวันออก เกิดกระทบกระทั่งกันขึ้น บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้เข้ายึดเมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าด้านอันดามันของไทย สมเด็จพระนารายณ์จึงส่งทหารไปยึดคืน ทหารอังกฤษถูกจับเป็นเชลยถึง ๓๐๐ คน แต่ในรัชกาลต่อๆมาก็มีพ่อค้าอังกฤษกลับเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาอีก เพราะเป็นที่รวมของสินค้าในย่านนี้

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกถึงน้ำใจของพ่อค้าอังกฤษที่เข้ามาใกล้ชิดกับคนไทยว่า ในสงครามไทย-พม่าในปี ๒๓๑๐ ที่เสียกรุง กองทัพพม่าได้เข้ามายึดกรุงธนบุรี จะรุกขึ้นไปทางนนทบุรี ปทุมธานี ขณะนั้นมีเรือกำปั่นของอังกฤษลำหนึ่งบรรทุกผ้าเข้ามาขายที่กรุงศรีอยุธยา จึงได้รับการขอร้องให้ช่วยไทยรบพม่า เพราะพม่าไม่มีกำลังทางเรือ การใช้สำเภาจึงได้เปรียบ นายกำปั่นเห็นใจว่าไทยมีกำลังน้อยกว่าก็ตอบรับเข้าช่วย ขนผ้าเต็มลำที่ยังไม่ทันได้ขายฝากไว้บนบกเพื่อเคลื่อนไหวได้คล่องตัว แล้วล่องสำเภาที่มีปืนใหญ่รายอยู่ตามกราบเรือลงมาที่กรุงธนบุรี ยิงถล่มกองทัพพม่า พม่าได้ใช้ปืนใหญ่ที่ป้อมวิชเยนทร์ยิงตอบ นายกำปั่นเห็นว่ากำลังปืนเป็นรองพม่ามาก จึงถอยกลับกรุงศรีอยุธยา ขอยืมปืนที่ใหญ่กว่ามาติดแทน


เมื่อกำปั่นอังกฤษถอยไปแล้วพม่าก็รุกไปถึงนนทบุรี นายกำปั่นได้ขอให้พระยานนทบุรีจัดทหารพายเรือยาวลากเรือกำปั่นล่องลงมาในเวลากลางคืน ยิงถล่มค่ายพม่าที่บางกรวย จนใกล้สว่างจึงถอยเรือกลับไปนนทบุรี ทำเช่นนี้อยู่หลายคืนจนทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก

พม่าถูกถล่มอยู่หลายคืนไม่มีทางสู้ จึงคิดอุบายหลอกข้าศึกให้หลงกล พอถูกถล่มอีกก็ทำเป็นแตกหนีทิ้งค่าย ทั้งอังกฤษไทยคิดว่าพม่าแตกหนีไปจึงจอดเรือขึ้นบก พม่าที่แอบอยู่ในสวนหลังค่ายำด้กรูกันออกมาไล่ฆ่าฟันทหารไทยตายเป็นจำนวนมาก ล้าต้าของเรืออังกฤษ ซึ่งเป็นตำแหน่งคุมบัญชีเรือต้องตายในที่รบ กัปตันเห็นดังนั้นก็พาคนวิ่งกลับขึ้นเรือแล้วชักใบออกทะเลไป ทิ้งสินค้าไว้ที่กรุงศรีอยุธยา ได้ปืนใหญ่ไปแทน

นอกจากนี้ยังมีกองกำลังต่างชาติที่มีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยอีกชาติหนึ่ง ก็คือเปอร์เซียหรืออิหร่านในปัจจุบัน โดยพ่อค้า ๒ พี่น้องนำสำเภาเข้ามาค้าขายยังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เฉกอะหมัด ผู้พี่เกิดพิศมัยเมืองไทยเลยปักหลักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและแต่งงานกับสาวไทย ส่วน มหะหมัดสอิด ผู้น้องขายสินค้าหมดลำแล้วก็ซื้อสินค้าไทยกลับไป

ขณะนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา มีสำเภาต่างชาติเข้ามากจนทำให้การท่ายุ่งเหยิง เฉกอะหมัดชำนาญในเรื่องนี้เพราะค้าขายมาหลายเมือง จึงได้รับการขอร้องให้ช่วยทางราชการเข้าวางระบบการท่าและศุลกากร ทำให้มีเงินเข้าท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก ความดีความชอบเรื่องนี้จึงได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็น พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี ตำแหน่งเจ้ากรมท่าขวา

ต่อมาก็มีเหตุการณ์สร้างวีรบุรุษเกิดขึ้น เมื่อพ่อค้าญี่ปุ่น ๕๐๐ คนที่เข้ามาตั้งร้านค้าในกรุงศรีอยุธยา ได้ชักซามูไรขึ้นมาประกาศตัวเป็นนักรบ เข้าล้อมวังจับสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ ฝ่ายไทยไม่ทันคาดก็ถูกควบคุมไว้หมด แต่พระยามหาอำมาตย์ โอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถกับสาวบางปะอิน ไม่ยอมแพ้ญี่ปุ่น จึงไปขอกำลังจากเพื่อนรัก คือพระยาเฉกอะหมัดฯ ซึ่งมีบริวารชาวเปอร์เซียอยู่ไม่น้อย จากนั้นกองกำลังไทยพุทธกับมุสลิมเปอร์เซียก็ร่วมกันตะลุยซามูไรญี่ปุ่น จนวิ่งลงสำเภาชักใบหนีไป


ความดีความชอบครั้งนี้ พระเจ้าทรงธรรมซึ่งขึ้นครองราชย์ ได้ปูนบำเหน็จ ๒ วีรบุรุษ พระยามหาอำมาตย์ได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าปราสาททองในอีก ๑๘ ปีต่อมา ส่วนพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี ได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ

พระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดีอยู่ในตำแหน่งนี้จนชราภาพมีอายุ ๘๗ ปี พระเจ้าปราสาททองจึงโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาบวรราชนายก ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมหาดไทย แล้วเลื่อนพระยาวรเชษฐ์ (ชื่น) บุตรคนโตของเจ้าพระยาบวรราชนายกซึ่งมีอายุเพียง ๓๐ ปี ขึ้นเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา สืบตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือแทนบิดา

ในปี ๒๑๙๙ ที่สมเด็จพระนารายณ์ โอรสของพระเจ้าปราสาทอง ได้ชิงอำนาจจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา กองกำลังของชาวเปอร์เซียกลุ่มนี้ก็เข้าร่วมด้วย โดยจัดขบวนแห่ทางศาสนาประจำปี และขอพระบรมราชานุญาตนำขบวนแห่เข้าวังเพื่อถวายทอดพระเนตร แล้วให้ทหารของสมเด็จพระนารายณ์ปลอมเป็นมุสลิมแทรกไปด้วย เมื่อเข้าวังได้ทั้งมุสลิมปลอมและมุสลิมจริงก็กระจายกันเข้ายึดคลังอาวุธในพระราชวังไว้ทั้งหมด มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดถึงขั้นใช้ปืนใหญ่ถล่มฝ่ายวังหลวงจนกระเจิง ยึดอำนาจถวายสมเด็จพระนารายณ์ได้

นี่ก็เป็นบทบาทของคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย จนมีอารมณ์ร่วมกับคนไทยที่จะปกป้องความสงบสุขร่มเย็นของสังคมที่ตนอยู่ร่วมด้วย แต่ที่ร่วมจนถึงกับสนับสนุนทางการเมืองในฝ่ายที่ตนนิยม หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกในยุคนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น