จะสังเกตเห็นว่า การเปลี่ยนรัชกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จะแตกต่างจากสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างสิ้นเชิง พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาต้องเป็นผู้ทรงอำนาจและบารมี เป็นที่คร้ามเกรงของอริราชศัตรูรอบด้านจึงจะรักษาบ้านเมืองไว้ได้ ถ้าได้กษัตริย์ที่อ่อนแอเบาปัญญา ประเทศก็จะล่มสลายอย่างเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ และถ้ารักษาความสงบภายในไว้ไม่ได้ เกิดความแตกแยกขัดแย้งกันเอง ก็จะเหมือนเมื่อเสียกรุงครั้งที่ ๑ กษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงต้องเป็นผู้ที่เข้มแข็ง เป็นที่คร้ามเกรงทั้งภายนอกภายใน
แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในยุคต้นที่บ้านเมืองเริ่มฟื้นตัวจากความย่อยยับ ก็ยังต้องการพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็งพอที่จะป้องกันประเทศจากศัตรูที่จ้องทำลายไม่ให้ตั้งตัวได้ ต่อมาสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ศัตรูของประเทศที่ถาโถมเข้ามาล้วนเป็นศัตรูที่ไม่อาจต่อสู้ได้ด้วยอาวุธ ประเทศจึงต้องการพระมหากษัตริย์ที่ทรงสติปัญญา และมีความรอบรู้ถึงสถานการณ์ของโลกด้วย จึงจะพาประเทศชาติรอดพ้นจากเงื้อมมือศัตรูไปได้ ทรงปฏิรูปประเทศและสถาบันให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งให้ความสำคัญแก่เสียงส่วนใหญ่มากกว่าตัวบุคคล ทรงฟังความเห็นของขุนนางข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปของบ้านเมือง เหมือนเป็นเสียงจากประชาชน แม้แต่การสืบราชสันตติวงศ์ซึ่งเป็นพระราชอำนาจโดยตรงของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล ก็ทรงมอบให้ขุนนางข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้พิจารณากันตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพื่อหน่อเนื้อเชื้อไขของพระองค์เอง จนเมื่อสมัยมีผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งยังเป็นยุคสมัยสร้างประเทศ รอบบ้านยังไม่มีความสงบ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตในปี ๒๓๕๒ ขุนนางข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์จึงอัญเชิญ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งติดตามพระราชบิดาไปในกองทัพในสงครามทุกครั้งตั้งแต่พระชนมายุ ๑๓ พรรษา และทรงได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรในปี ๒๓๔๙ ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์
ในปี ๒๓๖๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประชวรหนัก ขณะเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งมีสิทธิ์สืบราชบัลลังก์ตามกฎมณเฑียรบาล มีพระชนมายุ ๒๐ พรรษาพอดี จึงโปรดเกล้าฯให้จัดพิธีอุปสมบทขึ้นโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีครบตามราชประเพณี เข้าใจกันว่าให้ทรงผนวชก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต ซึ่งขณะนั้น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสที่ประสูติจากพระสนม ซึ่งไม่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ตามกฎมณเฑียรบาล พระชนมายุ ๓๗ พรรษาแล้ว และทรงเป็นกำลังสำคัญในการว่าราชการของพระราชบิดามาตลอด ผลงานเด่นของพระองค์ก็คือการส่งสำเภาไปค้าขายต่างประเทศ ทำกำไรเข้าประเทศมหาศาล จึงมีความเหมาะสมกว่าที่จะครองราชย์บริหารราชการแผ่นดินต่อไป
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่า พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ไม่ได้มีสิทธิในราชบัลลังก์ตามกฎมณเฑียรบาล จึงไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ อีกทั้งพระราชโอรสของพระองค์ก็ไม่ได้รับโปรดเกล้าฯขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเลย ฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จสวรรคตในปี ๒๓๙๔ ขุนนางข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์จึงพร้อมใจกันอัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งทรงผนวชมา ๒๗ ปีตลอดรัชกาลที่ ๓ และทรงศึกษาติดตาม
สถานการณ์ของโลกมาตลอด ขึ้นครองราชย์ด้วยความเหมาะสมและมีสิทธิ์ยิ่งกว่าใครในขณะนั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงชาวตะวันตก ว่าเป็นพระราชวงศ์ที่มีความคิดทันสมัย ส่วนพระองค์ที่ทรงติดตามข่าวสารของโลกมาตลอด ก็ทรง “รู้เขา รู้เรา” ว่าไม่อาจขัดขวางนักล่าอาณานิคมได้ จึงทรงดำเนินนโยบาย “ผ่อนสั้น ผ่อนยาว” ยอมทำสัญญาแบบ “เสียเปรียบ ดีกว่าเสียเมือง” จนทรงนำชาติรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมมาได้
ขณะทรงประชวรหนักจากไข้ป่าที่ได้รับเชื้อมาจากการเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยะปราคาที่หว้ากอ ทรงกำหนดวันละสังขารในวันประสูติแล้ว ทรงสั่งเสียการสืบราชบัลลังก์ว่า ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการประชุมปรึกษากัน จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าหลานเธอก็ได้ เพราะเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์นัก การเลือกพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ขอให้เอาความมั่นคงของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ และทรงให้บันทึกกระแสรับสั่งนี้ไปอ่านในที่ประชุมเสนาบดี แต่ที่ประชุมเห็นความเหมาะสมอัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสซึ่งมีพระชนม์เพียง ๑๖ พรรษา ขึ้นครองราชย์ โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระยะแรก
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังคงมีธรรมเนียมตั้งวังหน้าเช่นเดิม แต่มีปัญหาที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้า มีความสนิมสนมกับ นายโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ ราชทูตอังกฤษ ซึ่งคอยยุแยงตะแคงรั่ว เปิดช่องให้ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” ตามนโยบายของอังกฤษได้ จนเมื่อกรมพระราชวังบวรสิ้นพระชนม์ ก็ทรงให้เลิกระบบวังหน้า แต่งตั้งรัชทายาทขึ้นตามกฎมณเฑียรบาล และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จสวรรคตในปี ๒๔๕๓ ที่ประชุมเสนาบดีจึงอัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ มกุฎราชกุมารขึ้นครองราชย์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จสวรรคตนั้น มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ซึ่งประสูติก่อนสวรรคตเพียง ๒ วัน ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ระบุว่า “ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์สันตติวงศ์”
ในกรณีนี้ สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช พระเจ้าน้องยาเธอที่มีพระชนมายุสูงกว่าพระเจ้าน้องยาพระองค์อื่น แต่ก็เป็นพระอนุชาต่างมารดา ด้วยเหตุนี้พระอนุชาที่พระชนมายุถัดลงมาแต่ร่วมพระราชชนนีเดียวกัน คือ เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา จึงได้รับการอัญเชิญโดยที่ประชุมของพระบรมวงศานุวงศ์และคณะองคมนตรีให้ขึ้นครองราชย์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชบัลลังก์ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๘ ตามมาตรา ๙ ของรัฐธรรมนูญ ๒๔๗๕ ได้บัญญัติไว้ว่า “การสืบราชสมบัติ ท่านว่าให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล พ.ศ.๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ได้ส่งบัญชีลำดับราชสันตติวงศ์มาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ๒๓ พระองค์ มี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เป็นอันดับที่ ๑ รองลงไปคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุศรมงคลการ เป็นต้น
เมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณากันแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้บันทึกไว้ว่า
“โดยคำนึงถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ได้ทรงทำคุณประโยชน์แก่ราษฎร และเป็นเจ้านายที่บำเพ็ญพระองค์เป็นนักประชาธิปไตย เป็นที่เคารพรักใคร่ของราษฎรส่วนมาก คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบพร้อมกันเสนอสภาผู้แทนราษฎร ขอความเห็นชอบที่จะอัญเชิญพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล”
สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ เห็นชอบที่จะอัญเชิญพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙
ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน ในวันเดียวกันรัฐสภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ทันที
ในปี ๒๕๑๕ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เดียวของสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์ พระบรมราชชนนีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้รับโปรดเกล้าฯเป็น สยามมกุฎราชกุมาร ขณะพระชนมายุได้ ๒๐ พรรษา เมื่อสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคตในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ตามกฎมณเฑียรบาล และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗ ใช้อยู่ในขณะนั้น สยามมกุฎราชกุมารในฐานะรัชทายาท จะได้รับการอัญเชิญขึ้นครองราชย์สืบต่อทันที แต่เมื่อ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้มีพระราชดำรัสว่า ขณะนั้นเป็นยามทุกข์โศกอย่างใหญ่หลวงของบ้านเมือง พระองค์เองก็อยู่ระหว่างทรงสลดพระราชหฤทัยร่วมกับประชาชนทั้งชาติ สิ่งที่ต้องทำเฉพาะหน้าในขณะนี้คือการเตรียมการพระราชพิธีเกี่ยวกับพระบรมศพให้เรียบร้อย ส่วนการอัญเชิญขึ้นครองราชย์ในขั้นตอนพิธีการนั้น ขอให้รอไว้ก่อน เมื่อถึงวาระอันควรจึงค่อยดำเนินการ
ครั้นถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ เมื่อเสร็จพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว ในค่ำวันนั้นจึงโปรดเกล้าฯให้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี นายวีรพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เข้าเฝ้า เพื่ออัญเชิญขึ้นรับราชสมบัติ และทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดาในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ จากนั้นจึงจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ในวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ แต่การนับรัชกาลนั้นให้ถือว่าพระองค์ขึ้นครองราชย์ในวันสวรรคตของพระราชบิดา ซึ่งขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ ๖๔ พรรษา นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระชนมายุสูงที่สุดในวันขึ้นครองราชย์
การสืบสันตติวงศ์ของกษัตริย์ในยุครัตนโกสินทร์ทั้ง ๑๐ พระองค์ แม้จะมีกฎมณเฑียรบาลให้ยึดถือมาแต่โบราณกาลก็ตาม ก็ทรงพิจารณาถึงความเหมาะสมในแต่สถานการณ์ ยึดความมั่นคงของประเทศและความผาสุกของประชาชนเป็นสำคัญ โดยทรงมอบพระราชอำนาจของพระองค์นี้ให้กับคนส่วนใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นผู้ตัดสิน นับว่าพระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็นประชาธิปไตยก่อนชาติใดในโลก ทั้งที่ในตอนนั้นก็ยังไม่มีใครเรียกร้องสถาบัน แต่ก็ทรงปฏิรูปตัวเองล้ำหน้ายุคสมัยมาตลอด