xs
xsm
sm
md
lg

“แต่ครั้งนานกาลเก่า ชาติเราเขาเรียก ชาติไทย”! เกิดข้อกังขา ประเทศไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไร!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ที่ “ครูแก้ว” แก้ว อัจฉริยกุล แต่งคำร้อง และ “ครูเอื้อ” เอื้อ สุนทรสนาน หรือ “สุนทราภรณ์” แต่งทำนอง ออกอากาศมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๘ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบพอดี แต่กลับมาดังในยุคนี้อีกอย่างมหัศจรรย์ ทำให้คนไทยที่รักชาติต่างปลื้มใจและภูมิใจในความเป็นชาติไทยกันอย่างมโหฬาร แต่ก็มีบางคนเกิดข้อกังขาว่า คำว่า ประเทศไทย และ คนไทย เพิ่งใช้ตามรัฐนิยมสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปี ๒๔๘๒ มานี่เอง ไม่ใช่นานกาลเก่าอย่างในเพลง

เรื่องนี้ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ย้อนหลังปี ๒๔๘๒ ขึ้นไป ก็จะพบว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา คนไทยยังไม่มีชื่อประเทศ คงใช้แต่คำว่า “กรุงศรีอยุธยา” แทนชื่อประเทศ แต่ชาวยุโรปเรียกว่า “SIAM” เช่นเดียวกับที่คนสิงหล คนมลายู เรียกดินแดนหรือภูมิภาคนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า “เซียม” คนโปรตุเกสซึ่งเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่มาถึงจึงเรียกตาม และมีความหมายไปถึงคนที่อยู่ในภูมิภาคนี้ด้วย
 
ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่า

“คำว่า สยาม (SIAM) นั้น ไม่เป็นที่รู้จักของชนชาวสยาม เป็นคำที่พวกปอรตุเกศซึ่งอยู่ในชมพูทวีปใช้เรียก ยากจะสืบได้ว่ามีต้นเค้ามาจากคำว่ากระไร พวกปอรตุเกศใช้เรียกเป็นนามประชาชาติ ไม่ใช่นามแห่งราชอาณาจักร...ชาวสยามเรียกตนเองว่าไท (Tai) แปลว่า อิสระ อันเป็นความหมายตามศัพท์ในภาษาของพวกเขาอยู่ในปัจจุบัน...ผู้ที่รู้ภาษาพะโคยืนยันว่า สยาม แปลว่า อิสระ ในภาษานั้นเหมือนกัน ฉะนั้นพวกปอรตุเกศจึงน่าจะเอาคำๆนี้มาใช้เรียกชาวสยามก็เป็นได้ เพราะได้รู้จักชาวสยามจากคำของชาวพะโค (มอญ)...”

จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีการเปิดสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ทรงพระราชดำริว่าจะใช้ชื่อเมืองหลวงเก่าเป็นชื่อประเทศนั้นไม่สมควร จึงทรงมีประกาศในปี ๒๓๙๘ ให้เรียกชื่อประเทศว่า “สยาม” ตามที่ต่างประเทศนิยมเรียก

แต่ก่อนนั้นคำว่า “ประเทศ” ก็ไม่ได้ใช้อย่างเป็นทางการ ใช้แต่คำว่า “กรุง” พระเจ้าแผ่นดินก็เรียกกันว่า “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา” ตามธรรมเนียมตะวันออกทั่วไป พม่าก็เรียก “พระเจ้ากรุงหงสาวดี” “พระเจ้ากรุงอังวะ” จีนก็เรียก “พระเจ้ากรุงปักกิ่ง” และคนไทยก็ไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็น “คนสยาม” หรือ “เมืองสยาม” เลย แม้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ จะทรงประกาศให้เรียกชื่อประเทศว่าสยามแล้วก็ตาม แต่ในเอกสารทางราชการบางฉบับ อย่างกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีอากร ทรงใช้คำว่า “ประเทศไทย” ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการ นักประวัติศาสตร์คนหนึ่ง เคยอภิปรายในสภาตอนมีผู้เสนอให้กลับไปใช้ “สยาม” อีก และยืนยันว่ายังพบอีกหลายแห่งที่ใช้คำนี้ในเอกสารสมัยรัชกาลที่ ๔ ส่วน พลเรือตรี หม่อมเจ้ากาฬวรรณดิศ ดิศกุล ก็ยืนยันในสภาอีกรายว่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญ ซึ่งเป็นพระบิดาของพระองค์ ก็ทรงรับสั่งเรียกว่า “เมืองไทย” อยู่เป็นประจำ

ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยา เอกสารที่ปรากฏในยุคนั้น เช่นสนธิสัญญาที่ทำกับฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจนถึงสมัยพระเพทราชา ในฉบับภาษาฝรั่งเศสจะใช้คำว่า “สยาม” แต่ในฉบับภาษาไทยจะใช้คำว่า “ไทย” เอกสารในสมัยกรุงธนบุรี ใช้คำว่า “กรุงไทย” กับ “คนไทย” มาตลอดเช่นกัน

ในวรรณคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่าง “ลิลิตพระลอ” ตอนหนึ่งกล่าวว่า

“...ข้างยวนพ่ายแพ้ ฝ่ายข้างลาวประลัย ฝ่ายข้างไทยไชเยศ คืนยังประเทศพิศาล...”

ส่วนในนิราสฝรั่งเศสที่เขียนโดยกวีที่ติดตามไปในคณะทูตโกษาปาน มีข้อความว่า

“เมื่อจากบันตัม ใจพี่กระสัน รัญจวนกวนใจ
เห็นเมืองนี้เอย ดุจเห็นเมืองไทย แต่นี้จากไป ไกลเมืองแลนา”

ย้อนไปถึงสมัยกรุงสุโขทัย ที่เขียนว่า “ทัย” ก็เพื่อเข้ากับภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” แต่ในศิลาจารึกจะใช้คำว่า “ไทย” ความมุ่งหมายในการตั้งชื่อ ก็เพื่อให้มีความหมายว่า ต่อไปนี้ไทยจะเป็นสุขกันเสียที รอดพ้นจากการปกครองของขอมแล้ว

ชนชาติไทยที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในแผ่นดินนี้ เป็นส่วนหนึ่งของชนเผ่าไท ซึ่งอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่ดึกดำบรรพ์ ปัจจุบันก็ยังกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน ภาคเหนือของไทย ลาว เขมร พม่า เวียดนาม และแคว้นอัสสัมของอินเดีย และยังพูดภาษาเดียวกัน

ส่วนที่ลงมาสุวรรณภูมิหรือประเทศไทยในปัจจุบัน ได้รวมตัวกันตั้งเป็นแคว้นขึ้นหลายแคว้นโดยมีกษัตริย์เป็นผู้นำ ได้แก่ สุโขทัย ล้านนา และอยุธยา ต่อมาเมื่ออาณาจักรอยุธยารุ่งเรืองจึงรวมสุโขทัยและล้านนาเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้ประเทศชาติที่ย่อยยับให้กลับคืนสู่อิสรภาพ และปราบปรามแว่นแคว้นที่แตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าออกไป ให้กลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวดังเดิม จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่ สร้างความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาให้กลับคืนมาทั้งหมด

มหาราชทั้ง ๒ พระองค์ทรงเป็นผู้นำบรรพบุรุษไทยขยายพระราชอาณาจักรออกไปอย่างแสนจะยากเข็ญ จนกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่ายุคใด เพื่อมอบความเป็นไทยไว้ให้เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของลูกหลาน ไม่ต้องตกเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ในประเทศต่างๆ จนเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ในบูรพา สมดังเนื้อเพลงที่ว่า

บ้านเมืองเรารุ่งเรืองพร้อมอยู่ หมู่เหล่า
พวกเราล้วนพงศ์เผ่า ศิวิไลซ์
เพราะฉะนั้นชวนกันยินดี
เปรมปรีย์ดีใจเรียกตนว่า ไทย
แดนดินผืนใหญ่มิใช่ทาสเขา

ก่อนนี้มีเขตแดนนับว่ากว้างใหญ่
ได้ไว้พลีเลือดเนื้อแลกเอา
รบ รบ รบ ไม่หวั่นใคร
มอบความเป็นไทยให้พวกเรา
แต่ครั้งนานกาลเก่า
ชาติเราเขาเรียก ชาติไทย

บ้านเมืองควรประเทืองไว้ดั่งแต่ก่อน
แน่นอนเนื้อและเลือดพลีไป
เพราะฉะนั้นเราควรยินดีมีความภูมิใจ
แดนดินถิ่นไทยรวบรวมไว้ได้แสนจะยากเข็ญ

ยากแค้นเคยกู้แดนไว้อย่างบากบั่น
ก่อนนั้นเคยแตกฉานซ่านเซ็น
แม้กระนั้นยังรวมใจ
ช่วยกันรวมไทยให้ร่มเย็น
บัดนี้ไทยดีเด่นร่มเย็นสมสุขเรื่อยมา

อยู่กินบนแผ่นดินท้องถิ่นกว้างใหญ่
ชาติไทยนั้นเคยใหญ่ในบูรพา
ทุกทุกเช้าเราดู ธงไทย ใจจงปรีดา
ว่าไทยอยู่มาด้วยความผาสุกถาวรสดใส

บัดนี้ไทยเจริญวิสุทธิ์ผุดผ่อง
พี่น้องจงแซ่ซ้องชาติไทย
รักษาไว้ให้มั่นคง
เทิดธงไตรรงค์ให้เด่นไกล
ชาติเชื้อเรายิ่งใหญ่
ชาติไทย บ้านเกิดเมืองนอน
แค่อ่านเนื้อเพลงก็ซึ้งแล้วครับ




กำลังโหลดความคิดเห็น