ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นยุคที่พัฒนาประเทศด้วยวิทยาการตะวันตกอย่างกว้างขวาง ผู้ที่เข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญของยุคนั้น แม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ จึงมักเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาเล่าเรียนมาสูงหรือศึกษา มาจากต่างประเทศ
แต่มีเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้น้อยท่านหนึ่ง มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนแค่อ่านออกเขียนได้ ไม่เคยได้ออกไปต่างประเทศที่ไหน เริ่มต้นชีวิตราชการด้วยการเป็นพลทหาร แต่อาศัยความอุสาหะวิริยะ ขยันอดทน และซื่อสัตย์ หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาที่รับราชการ ทำให้ตำแหน่งหน้าที่ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ จนถึงชั้นบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา มียศทางทหารถึงขั้นจอมพล อีกทั้งยังได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษบนพระเมรุกลางสนามหลวงเช่นเดียวกับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่
ท่านผู้เป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นหลังท่านนี้ ก็คือ จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล)
ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล เป็นบุตรของหม่อมเจ้านิล ในพระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับเจ้าจอมมารดาตานี บุตรีของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เกิดใน พ.ศ.๒๓๙๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๔
ในวัยเด็ก ม.ร.ว.อรุณได้รับการศึกษาเล่าเรียนเพียงอ่านออกเขียนได้ ไม่มีโอกาสได้ศึกษาวิชาการชั้นสูงหรือภาษาต่างประเทศอย่างที่พระบรมวงศานุวงศ์และลูกหลานขุนนางในขณะนั้น
ในปี พ.ศ.๒๔๑๕ ขณะที่ ม.ร.ว.อรุณอายุได้ ๑๖ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดให้ตั้งกรมทหารมหาดเล็กขึ้น ทรงพระราชดำริว่า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ อันเป็นเชื้อสายในราชสกุลมีเป็นจำนวนมากที่ยังเที่ยวเตร่กันตามอำเภอใจ ถ้าไปประพฤติชั่วร้ายก็จะทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศมาถึงราชตระกูล ควรจะรวบรวมมาฝึกหัดให้มีโอกาสกระทำคุณงามความดี อย่างน้อยก็พอป้องกันไม่ให้ไปทำเสื่อมเสีย ม.ร.ว.อรุณจึงเข้ารับการฝึกหัดในครั้งนี้ด้วย เป็นพลทหารสังกัดกองร้อยที่ ๖ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งมีนายร้อยตรีหลวงศัลยุทธสรกรร ซึ่งต่อมาก็คือ จอมพลเจ้าพระยาสุศักดิ์มนตรี เป็นผู้บังคับกองร้อย ในปี ๒๔๑๖ ได้เลื่อนขึ้นเป็นนายสิบตรี และอีก ๑ ปีต่อมาก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นนายสิบโท
ใน พ.ศ.๒๔๒๑ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บุตรชายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ซึ่งไปศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ที่อังกฤษและได้รับยศร้อยเอกแห่งกองทัพบกอังกฤษ กลับมาจึงได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นที่ พระอมรวิสัยสรเดช ยศนายพันตรี ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ญวน ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยอบรมคนญวนถือคริสต์ที่อพยพเข้ามาให้ประจำป้อมปืนที่ปากน้ำ พระอมรวิสัยสรเดชจะปรับปรุงกรมนี้ให้ทันสมัยตามที่เรียนมา แต่ก็หานายทหารที่จะเข้ารับหน้าที่ไม่ได้ จึงกราบทูลขอนายสิบทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์มาฝึกหัดอบรมขึ้นเป็นนายร้อยทหารปืนใหญ่ ในจำนวนผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมามี นายสิบโท หม่อมราชวงศ์อรุณ ฉัตรกุล ร่วมอยู่ด้วย และเมื่อผ่านการอบรมแล้วก็ได้รับพระราชทานยศเป็น นายร้อยโท
ในปี ๒๔๒๘ ขณะที่มีอายุ ๒๘ ปี ร.ท.ม.ร.ว.อรุณได้มีโอกาสไปราชการทัพกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ผู้บัญชาการกรมทหารส่วนวัง เพื่อปราบฮ่อที่แขวงเมืองพวน โดยการยกทัพไปในครั้งนี้ได้จัดกองทัพตามยุทธวิธีตะวันตก
ในปี ๒๔๓๒ ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกขึ้นที่สะพานช้างโรงสี หรือกรมแผนที่ทหารบกในปัจจุบัน โปรดเกล้าฯให้นายพันตรี พระอมรวิสัยสรเดช ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็น นายพลตรี พระยาสีหราชเดโชชัย จากกรมทหารปืนใหญ่มาเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย พระยาสีหราชเดโชชัยได้เลือกเอา ม.ร.ว.อรุณซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นนายร้อยเอกแล้ว มาเป็นปลัดกองโรงเรียนนายร้อยด้วย
ในปี ๒๔๓๕ ร.อ.ม.ร.ว.อรุณก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นนายพันตรี มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสรวิเศษเดชาวุธ ตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย
โรงเรียนนายร้อยทหารบกที่เปิดขึ้นเป็นครั้งแรกนั้น เป็นโรงเรียนนายร้อยประถม เมื่อนายพันตรีหลวงสรวิเศษเดชาวุธมาเป็นผู้บังคับการแล้ว จึงได้เปิดโรงเรียนนายร้อยมัธยมขึ้นในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๓๖
หลวงสรวิเศษเดชาวุธได้สร้างความก้าวหน้าให้แก่โรงเรียนนายร้อยมาก ในปี ๒๔๔๑ จึงได้รับโปรดเกล้าฯเป็น พระสรวิเศษเดชาวุธ
ในปี ๒๔๔๒ ได้มีการจัดระเบียบกองทัพขึ้นใหม่ และจัดตั้งกองทหารบกตามหัวเมืองต่างๆ แยกเป็นมณฑล มีผู้บัญชาการแต่ละมณฑลขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ในการนี้นายพันตรีพระสรวิเศษเดชาวุธได้ย้ายจากผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย ไปเป็นผู้บัญชาการทหารบกกรุงเทพฯ พร้อมกับได้เลื่อนยศเป็นนายพันโท
นายพันโทพระสรวิเศษเดชาวุธอยู่ในตำแหน่งนี้เพียงปีเดียว ก็ต้องย้ายไปรับตำแหน่งยกกระบัตรกองทัพบก พร้อมกับได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยาพหลพลพยุหเสนา ปลัดทัพบก และโปรดเกล้าฯให้เป็นองคมนตรีด้วย
อยู่ในตำแหน่งปลัดทัพบกได้ ๒ ปี นายพันโทพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ได้ย้ายไปเป็นรองผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ซึ่งมี จอมพล กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เป็นผู้บัญชาการ และได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนายพันเอก ต่อมาไม่นานก็ขึ้นเป็นนายพลตรี และได้รับโปรดเกล้าฯเป็น พระยาสีหราชเดโชชัย พร้อมกับได้รับพระราชทานพานทอง
ในคราวที่เกิดกบฏเงี้ยวยึดเมืองแพร่ในปี ๒๔๔๔ จอมพล กรมหลวงนครไชยศรีฯเสด็จไปราชการยุโรป นายพลตรี พระยาสีหราชเดโชชัย รั้งตำแหน่งเจ้ากรมยุทธนาธิการแทน เมื่อทราบข่าวก็โทรเลขทันทีถึงเจ้าเมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก และเมืองตาก ให้เกณฑ์ราษฎรและจัดอาวุธเท่าที่จะหาได้ต้านเงี้ยวไว้ก่อน ขณะเดียวกันก็สั่งการให้จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพนำทหารขึ้นไปโดยเร็ว ปรากฏว่าเมื่อกองทัพกรุงเทพฯไปถึง ราษฎรทั้ง ๓ จังหวัดตีกบฏเงี้ยวแตกพ่ายไปแล้ว
การวางแผนสั่งการอย่างฉับไวของนายพลตรี พระยาสีหราชเดโชชัยครั้งนี้ เมื่อเสร็จศึกเงี้ยวจึงได้รับโปรดเกล้าเลื่อนยศขึ้นเป็น นายพลโท
ในปี ๒๔๕๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯขึ้นครองราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระเจ้าพี่ยาเธอ จอมพล กรมหลวงนครไชยศรีฯ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และโปรดเกล้าฯให้นายพลโทพระยาสีหราชเดโชชัย ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดี เลื่อนยศขึ้นเป็น นายพลเอก
ในปี ๒๔๕๖ กรมหลวงนครไชยศรีฯสิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ นายพลเอก พระยาสีหราชเดโชชัย รั้งตำแหน่งเสนาบดีแทน และดำรงตำแหน่งเสนาบดีในปี ๒๔๕๗ ขณะที่ท่านมีอายุ ๕๘ ปี
ปีเดียวกันนี้ ในพระราชพิธีฉัตรมงคล ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ นายพลเอก พระยาสีหราชเดโชชัย เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต พร้อมกับเลื่อนยศเป็น จอมพลแห่งกอทัพบก
ในระหว่างดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมนี้ จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ได้สร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าให้แก่กองทัพไทยมาก และได้ตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารบกขึ้นในปี ๒๔๕๗ โดยอาศัยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นที่อบรม เรียกว่า “กองพยาบาลทหารบก” เพื่ออบรมให้ทหารเสนารักษ์ได้เรียนรู้วิธีพยาบาลในสนาม และรักษาพยาบาลทหารและประชาชนในยามปกติ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องจอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตเป็นอย่างมาก ทรงรับสั่งเรียกว่า “อาบดินทร์” และตั้งแต่ท่านเจ้าพระยามีอายุ ๖๐ ปีเป็นต้นมา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานรดน้ำในวันสงกรานต์เป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ในบรรดาเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญตรามากมายที่ท่านได้รับพระราชทานมานั้น มีพิเศษอยู่เหรียญหนึ่งคือ “นพรัตน์ราชวราภรณ์” เหรียญนี้มีแต่เจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าต่างกรมได้รับก็แต่ชั้นผู้ใหญ่บางองค์เท่านั้น ส่วนขุนนางที่ได้รับทั้งแผ่นดินมีอยู่เพียง ๓ คน คือในรัชกาลที่ ๕ พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ในรัชกาลที่ ๖ ก็มีแต่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตแต่เพียงผู้เดียว
จากความรู้พออ่านออกเขียนได้ และเข้ารับราชการเริ่มต้นจากพลทหาร ใช้เวลา ๔๒ ปีก็ก้าวขึ้นตำแหน่งเจ้าพระยา จอมพลแห่งกองทัพบก และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการ อะไรคือเคล็ดลับแห่งความสำเร็จของท่าน
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกเฉลยเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า
“...เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ก็มิได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ลึกซึ้งอย่างคนชั้นหลัง และไม่รู้ภาษาต่างประเทศ ฤาได้เคยไปดูแบบธรรมเนียมในนานาประเทศ เหตุใดจึงสามารถรับราชการได้ดีในทุกหน้าที่ตลอดมา จนได้เป็นถึงจอมพลและเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และในที่สุดได้รับพระราชทานถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ อันเป็นเกียรติสูงพิเศษ ควรนับว่าเป็นยอดประวัติของท่าน ข้าพเจ้าสันนิษฐานโดยได้เป็นมิตรคุ้นเคย อุปนิสัย ๓ อย่างเป็นเครื่องประกอบกับสติปัญญาของท่าน คือ ความซื่ออย่าง ๑ ความสัตย์อย่าง๑ และความเพียรอย่าง ๑ คุณสมบัติทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นสำคัญในอัธยาศัยสำคัญของท่านทั้งในหน้าที่ราชการและการติดต่อกับมิตรสหาย ความสัตย์นั้นเป็นนิจศีลของท่าน มิได้ปล่อยให้โลกธรรมครอบงำให้ผันแปรไปด้วยประการใดๆ และความเพียรนั้นเป็นเกียรติคุณของท่านที่ประกอบกิจการทั้งปวงไม่ว่าการยากง่ายใหญ่น้อยอย่างใด ลงได้ทำแล้วคงพยายามให้งานได้สำเร็จตามประสงค์ ฤาตามคำสั่งของผู้ใหญ่ในเวลาเมื่อท่านยังเป็นผู้น้อย นอกจากคุณสมบัติทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมา คือที่มีไมตรีจิตต่อผู้อื่นทั่วไปเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่เคารพรักใคร่ไว้วางใจของผู้อื่น ทั้งญาติและมิตรและผู้ร่วมราชการตั้งแต่ผู้ใหญ่ลงมาถึงผู้น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้การงานทั้งปวงที่ท่านทำ คือราชการในหน้าที่เป็นต้น ก็ย่อมเป็นศุภผล เป็นเหตุให้ท่านได้รับความเจริญรุ่งเรืองมาจนตลอดอายุของท่าน”
จอมพล เจ้าพระยาบินทรเดชานุชิต ได้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ และถึงอสัญกรรมเมื่ออายุได้ ๖๕ ปี ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้เสด็จไปทรงรดน้ำศพ พระราชทานโกศมณฑปและเครื่องประกอบเกียรติยศตามบรรดาศักดิ์ และเมื่อมีการสร้างพระเมรุท้องสนามหลวงถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรสแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เป็นเสนาบดี มีเกียรติยศเนื่องในราชตระกูล ทั้งได้สนองพระเดชพระคุณมีความชอบความดีมาเป็นอันมาก สมควรจะพระราชทานเพลิงศพที่เมรุกลางเมืองได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กำหนดการแห่ศพเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตด้วยกระบวนทหารตามเกียรติยศจอมพลมายังพระเมรุ และพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๖๕
นี่ก็คือประวัติของข้าราชการผู้รับใช้ประเทศชาติและราชบัลลังก์มาด้วยความซื่อสัตย์และความเพียร ซึ่งมีโอกาสเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ในยุคที่ “ส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง”