xs
xsm
sm
md
lg

11 ปี สวนโมกข์กรุงเทพ ‘Spiritual Fitness Edutainment’ : นพ.บัญชา พงษ์พานิช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

‘พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย’ คือคำขึ้นต้นบทกลอนที่รจนาโดยพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) หรือท่านพุทธทาสภิกขุ เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี


พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย แม้ร่างกาย จะดับไป ไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง นั่นเป็นเพียง สิ่งเปลี่ยนไป ในเวลา
พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย ถึงดีร้าย ก็จะอยู่ คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา ตามบัญชา องค์พระพุทธ ไม่หยุดเลย…


นัยความหมายสะท้อนให้เห็นธรรมว่าย่อมคงอยู่ ธรรมะของพระพุทธองค์มิมีเสื่อมสลายหรือสูญสิ้นไปตามกาล มิต่างจากพุทธทาสที่ปวารณาตนเพื่อเพื่อนมนุษย์ได้มองเห็นธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนสั่ง ไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่างานเขียนของพุทธทาสภิกขุ หรือคำเทศนาสั่งสอน ล้วนทลายกรอบเกณฑ์หลายอย่างโดยชี้ถึงแก่นธรรมได้อย่างทรงพลัง มีความสมัยใหม่ ร่วมสมัยต่อผู้คนในยุคนั้น ขณะเดียวกันก็อยู่พ้นกาลเวลา แม้ล่วงเข้าเกือบ 30 ปีที่ท่านมรณภาพ แต่งานเขียนงานธรรมต่างๆ ของท่าน ยังคงได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำอีก

นอกจาก สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเปรียบเสมือนสถานที่ประดิษฐานงานธรรมจำนวนมากที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้รจนาไว้หรือเทศนาธรรมในวาระต่างๆ แล้ว ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งอันเปรียบเสมือน “ขุมคลัง” ที่รวบรวมไว้ซึ่งงานอันทรงคุณค่าของท่านพุทธทาสภิกขุ

สถานที่แห่งนั้นก็คือ ‘หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ’ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ ที่ ณ วันนี้ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์ “นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” ถึงการยืนหยัดของหอจดหมายเหตุฯ นับแต่ช่วงแรกเริ่ม กระทั่งเผชิญต่อห้วงแห่งภาวะวิกฤติ COVID-19 ซึ่ง นพ.บัญชา บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพของการปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ ทั้งในทางโลกและทางธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำธรรมะผสานเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการเข้าถึงของผู้คนในห้วงที่ไม่สามารถปฏิบัติธรรมหรือร่วมภาวนากับสังฆะได้ดังเดิม

สวนโมกข์กรุงเทพได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้ผู้สนใจในธรรม สามารถเข้าร่วมการภาวนาได้ ผ่านโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มต่างๆ สำคัญกว่านั้น คือการพัฒนาเว็บไซต์ pagoda.or.th ที่เปรียบเสมือน “ธรรมเจดีย์” ออนไลน์ เป็นแหล่งรวมสายธรรมอันกว้างขวางและก้าวข้ามซีกโลก ทั้งมุ่งหวังเชื่อมโยงศาสนิกต่างๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อก้าวสู่ความเป็นสากลอย่างแท้จริง

คือคำบอกเล่าที่น่าสนใจของ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ที่สะท้อนถึงการดำเนินรอยตามสิ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้ฝากไว้ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ด้วยสายตาอันแหลมคมและมองการณ์ไกลว่าวันหนึ่ง เทคโนโลยีจะต้องถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์แห่งธรรมแก่ผู้คนทั้งหลายบนโลก

บทสนทนาในครั้งนี้ จึงยืนยันว่าสิ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้คาดการณ์ไว้นั้น…ได้มาถึงแล้ว


>>> จากจุดเริ่มต้น ก้าวสู่ 11 ปี ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’

เมื่อเดือนธันวาคม 2563 หรือช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ครบรอบวาระสิบปี มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ จึงขอให้ นพ.บัญชาช่วยเล่าย้อนให้ฟังนับแต่ช่วงก่อตั้ง จนกระทั่งถึงวันนี้ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรม หรือเปรียบเป็น ‘โรงมหรสพทางวิญญาณ’ ให้แก่คนในเมืองหลวง เพราะโรงมหรสพทางวิญญาณนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุ ก็ได้สร้างไว้ที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ตระหนักถึงหลักธรรมผ่านภาพปริศนาธรรมต่าง ๆ เช่นกัน

นพ.บัญชาตอบว่า ในวาระครบรอบสิบปี หากลองทบทวนดูก็พบว่าสวนโมกข์กรุงเทพ หรือ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ช่วงแรก ๆ ก่อตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อเก็บรักษาหลักฐาน งานของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ที่เป็นต้นฉบับไว้ให้สมบูรณ์ เพื่อให้คนได้ศึกษาค้นคว้าต่อ โดยเดิมทีมีเป้าหมายว่าจะก่อตั้งกันที่สวนโมกข์ที่ อ.ไชยา แต่ด้วยงานที่มีเยอะมาก เพราะท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ อีกทั้งลักษณะงานเหล่านี้ ถ้าจะทำในลักษณะจดหมายเหตุ ก็ไม่ควรเป็นกิจของพระ แต่ควรเป็นกิจของฆราวาส

และประเด็นต่อมาคือ สวนโมกข์ที่ไชยา (สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี) น่าจะเป็นที่ปฏิบัติธรรมมากว่า ทางคณะธรรมทานและวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม จึงบอกว่าให้หาที่เหมาะ ๆ ไว้ทำนอกวัด

นพ.บัญชากล่าวว่า “เราก็พยายามประสานกับทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะเดิมที เราก็ตั้งใจจะทำที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ก็พอดีมีข้อเสนอจากทางกรุงเทพฯ หลายฝ่ายบอกว่า ถ้าอยู่กรุงเทพฯ น่าจะสะดวกกว่า เหมาะกว่า และคนใช้งานน่าจะเป็นนักค้นคว้า มากกว่านักปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ดังนั้น อยู่ที่กรุงเทพฯ น่าจะดีกว่า สุดท้ายก็ไปนำเรียน ท่านอาจารย์โพธิ์ (ท่านเจ้าคุณอาจารย์โพธิ์ จันทสโร เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี) กับคุณเมตตา (เมตตา พานิช ประธานกรรมการธรรมทานมูลนิธิ วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม และเป็นหลานพระธรรมโกศาจารย์ หรือท่านพุทธทาส อินทปัญโญ) ท่านก็เห็นด้วยว่า ถ้าเล็งเห็นประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ไปกรุงเทพฯ ถ้าสามารถหาพื้นที่ได้”

สุดท้ายก็ได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือมีชื่อเรียกเรียบง่ายเล่นๆ ว่า สวนโมกข์กรุงเทพฯ มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ มี ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นรองประธานมูลนิธิฯ โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย เป็นประธานกรรมการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ได้ช่วยกันหารือว่าจะทำแบบไหน อย่างไร

นอกจากนี้ นาย อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ ในขณะนั้นก็สนใจ จึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาสขึ้นที่ ‘สวนวชิรเบญจทัศ’


>>> ‘Spiritual Fitness’ เสริมความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ

นพ.บัญชากล่าวว่า สุดท้าย มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ก็ได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ให้ตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

นพ.บัญชากล่าวว่า เมื่อได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งทางหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาต แล้ว ทางคณะกรรมการมูลนิธิฯก็ไม่ได้มองว่าที่แห่งนี้เป็นเพียงสถานที่สำหรับจัดเก็บเอกสารของท่านพุทธทาสเท่านั้น แต่ตั้งใจทำเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจและปัญญา เสริมกับงานด้านเอกสารที่จัดเก็บรักษาไว้

“ช่วงนั้น คนก็ชอบไปฟิตเนสกัน อะไร ๆ ก็ไปฟิตเนส เราก็เลยตั้งใจว่า อยากให้หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ของเราเป็น Spiritual Fitness ก็เริ่มมาคำนึงว่าเราทำเพื่อใคร ในเมื่อได้อยู่ในที่ที่ดี อยู่ในกรุงเทพ นอกจากเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของท่านอาจารย์พุทธทาสแล้ว ก็ต้องมองด้วยว่า จะทำอย่างไรให้คนเข้ามาใช้งานได้เยอะ ซึ่งงานด้านจดหมายเหตุ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเข้ามาชม ไม่ต่างจากที่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเข้าพิพิธภัณฑ์ ยิ่งบอกว่าเป็น จดหมายเหตุ เก็บเอกสาร คนยิ่งไม่ค่อยเข้า ตอนนั้นคนเข้าน้อยมาก ดังนั้น เราก็เลยพยายาม เรียกชื่อเล่น ๆ ว่าเป็น ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’ เป็นสถานที่มาเรียนรู้ เป็นหลัก ซึ่งถ้าอยากศึกษาค้นคว้าก็สามารถมาค้นคว้าได้

“เพราะข้อแรกเลย เราออกแบบมาและทำมาเพื่อคนกรุง นอกจากนั้น ก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนสนใจธรรมะแบบฮาร์ดคอร์ เพียงแต่เป็นคนที่ทำงานมาสักพักหนึ่งแล้วอาจจะอยากค้นหาความหมายของชีวิต อยากจะเติมเต็มชีวิตที่มีความสุขตามสมควร แล้วก็มีชีวิตที่สงบเย็นเป็นประโยชน์ตามที่ท่านพุทธทาสท่านว่าไว้” นพ.บัญชาระบุ


>>> ‘สหธรรมิก’ และกิจกรรมทางธรรม

นพ.บัญชากล่าวว่า “ช่วงแรก ๆ คาดว่า ผู้ที่สนใจน่าจะมีอายุสักประมาณ 40-50 ปี ซึ่งสวนโมกข์กรุงเทพเราก็ปรับรูปแบบกิจกรรม การศึกษาค้นคว้าก็ยังมี แล้วก็มีปฏิบัติ ภาวนาแบบอาณาปานสติ มีสติระลึกรู้ พิจารณาลมหายใจ แต่ขณะเดียวกัน เราเห็นว่าควรมีการภาวนารูปแบบอื่น ๆ ให้คนได้ลองด้วย เช่น คณะของอาจารย์เทียน (หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ) เราก็เชิญมา หรือคณะของหมู่บ้านพลัม (การภาวนาตามแนวทางท่าน ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระภิกษุชาวเวียดนาม) เราก็เชิญมา หรือศูนย์วิปัสสนาของอาจารย์โกเอ็นก้า (ดร.สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า อาจารย์วิปัสสนากรรมฐานชื่อดังของโลก สิ้นลมเมื่อปี 2556 ด้วยวัย 90 ปี ในเมืองไทยมีศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางโกเอ็นก้า รวม 5 ศูนย์) เราก็เชิญมา ดังนั้น การภาวนาของสวนโมกข์กรุงเทพจึงมีหลากหลายแนว ไม่ใช่แนวใดแนวหนึ่ง และมีการภาวนาสำหรับคนเมือง ไม่ใช่มีแนวใดแนวเดียว

กล่าวคือ เมื่อมาที่นี่แล้ว ได้ทั้งการฝึกฝน พัฒนาจิตใจ นอกจากนั้น เราก็มีทั้งโยคะ มีการจัดดอกไม้ภาวนา มีหัตถศิลป์ หรือตัวอย่างเช่น มีเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งเขามาถักไม้กวาด เขาก็ถือว่าเป็นการภาวนา ให้ระลึกรู้อยู่กับไม้กวาด

เรามีกิจกรรมการภาวนาสำหรับคนเมือง มีห้องเรียนธรรมโฆษณ์ แต่ในช่วงหลัง คนวัยรุ่น คนหนุ่มคนสาวมากันมากขึ้น เราก็พาดูหนังหาแก่นธรรม มีการฟังเพลง เพลงดีมีสาระ เพลงเพื่อภาวนา เพื่อเสริมสร้างสติปัญญา ขณะเดียวกันที่สวนโมกข์กรุงเทพก็มีกิจกรรมตักบาตรเดือนเกิด โดยนำรูปแบบการตักบาตรแบบวัดชลประทานรังสฤษดิ์ และวัดหนองป่าพงมาประยุกต์ใหม่

ทั้งหมดนี้ เราทำมาหมดแล้วทุกอย่าง หรือในช่วงวาระขึ้นปีใหม่ เราก็มีเจริญสติ และสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งในเวลาต่อมาการสวดมนต์ข้ามปีก็แพร่ไปทั้งประเทศ แรกเริ่มก็จากที่สวนโมกข์กรุงเทพของเรา เหล่านี้คือสิ่งที่เราทำมาตลอดสิบปีที่ผ่านมาครับ ถ้าให้เรียกเป็นหมวดหมู่ ก็มีทั้งกลุ่มเพลินเพลิน กลุ่มเรียนรู้ กลุ่มภาวนาอย่างง่ายๆ กับภาวนาอย่างจริงจัง แล้วก็กลุ่มงานประเพณี เช่นกิจกรรมวันมาฆบูชา วิสาขบูชา หรือวันปีใหม่ เราก็ทำกิจกรรมเหล่านี้มาตลอดสิบปี” นพ.บัญชาระบุถึงกิจกรรมของสวนโมกข์กรุงเทพที่ผู้คนหลากหลายวัยให้ความสนใจร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา


>>> วิกฤติ COVID-19 กับวิถีชีวิตใหม่ของ ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’

เมื่อถามว่านับแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ระลอกแรก กระทั่งล่วงเข้าสู่ระลอกที่ 4 ในปัจจุบัน สวนโมกข์กรุงเทพ ผ่านวิกฤติแต่ละระลอกมาได้อย่างไร

นพ.บัญชาตอบว่า ก่อนจะเกิดวิกฤติโควิด-19 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ ได้ปรับตัวและพร้อมรับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่มานานแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของการสื่อสาร อาทิ ช่วงริเริ่มก่อตั้งสวนโมกข์กรุงเทพ ก็มีการนำเสนอสารคดีผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ เช่น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่อง 9 ช่อง 3 เป็นต้น

แล้วจากนั้นต่อมาก็เกิดเฟซบุ๊คขึ้น ซึ่งสวนโมกข์กรุงเทพก็ได้มีการใช้สื่อทั้งสื่อรูปแบบดั้งเดิม และสื่อโซเชียลมีเดีย มาเป็นลำดับ

“จนกระทั่งก่อนจะเกิดโควิด-19 เราประเมินว่า กลุ่มที่มาใช้สวนโมกข์กรุงเทพเริ่มเปลี่ยน จากเดิมที อยู่ที่วัยประมาณ 40-50 ปี เริ่มเปลี่ยนลงมาเป็นต่ำกว่า 30 ปี แล้วก็มีความแตกต่างที่กว้างมาก เพราะมีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงแก่เลย มีทั้งที่มาเอง แล้วก็พาแฟนมา ซึ่งอันนี้เรารู้สึกว่าน่ารักนะ ชวนแฟนมาสวนโมกข์ แล้วก็มีที่มากันทั้งครอบครัว มากันทั้งชั้นเรียน มากันทั้งแก๊งก็มี ในช่วงหลังมีผู้ที่มาแบบนี้เยอะขึ้น ทำให้เรามองว่า สวนโมกข์กรุงเทพเริ่มมีพื้นที่ บางคนอาจสงสัยว่าวัดก็ไม่ใช่วัด แต่ทำไมคนมาเยอะนัก เราก็บอกว่า เพราะเราเป็นอย่างนี้ และเรายังพบด้วยว่ามีชาวคริสต์อีกจำนวนมากที่มาช่วยงานที่นี่ เขาบอกว่าที่นี่มีประเด็นธรรมดีๆ ให้เรียนรู้ แต่เขาก็ยังเป็นคริสต์

“ดังนั้น นี่คือสิ่งที่เราทำมาตลอด กระทั่งเกิดโควิด-19 ทุกคนก็บอกว่าเมื่อไหร่จะได้กลับมา ทั้งคนมาร่วมกิจกรรม และคนมาทำกิจกรรม แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง สวนโมกข์กรุงเทพเรามองว่า ภาพสะท้อนวิถี นิว นอร์มอล (New Normal) คือ ชีวิตคงไม่กลับไปเหมือนเดิม เราต้องคิดทำอะไรใหม่” นพ.บัญชาระบุ


>>> ทำงานวัด แบบ ‘วิถีใหม่’

นพ.บัญชากล่าวว่า “ประการแรกสุดคือ ต่อไปนี้ ในห้วงวิกฤติโควิด-19 เราจะเตรียมทำเฉพาะกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ แต่ถึงแม้หากว่าทำ on-site ได้ ก็จะต้องทำออนไลน์ไปด้วยกัน เนื่องจากเราเป็นหอจดหมายเหตุ เรามี Database มีแพลตฟอร์ม ของเราอยู่แล้วด้วย เพราะฉะนั้น เราก็มองเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก”

นพ.บัญชาระบุถึงการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงและกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ก่อนจะเกิดโควิด-19 สวนโมกข์กรุงเทพ ได้ริเริ่มทำงานใหญ่ เนื่องจาก ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ขอให้ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ ศึกษาว่างานศาสนาในประเทศไทยมีอะไรให้เรียนรู้เพื่อขยายผลบ้าง โดยไปดูงานในหลายกรณี หลายองค์กร หลายวัด ซึ่งทำให้นพ.บัญชาได้ข้อสรุปว่า

“จากนี้ เราจะทำงานวัดวิถีใหม่ หมายความว่า หากเราทำโดยลำพัง เราอาจทำได้แค่นี้แหละ แต่ถ้าเราอยากให้เกิดประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาจริง ๆ เราต้องไปช่วยพระท่านทำงาน ช่วยให้พระท่านได้ทำงานสะดวกขึ้น เช่น มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ ไปช่วยท่านอาจารย์ที่วัดมเหยงคณ์ ทำโปรแกรมภาวนาออนไลน์ไว้

“ขณะเดียวกัน เราก็ไปช่วยหลวงพ่อวัดวัดญาณเวศกวัน (ซึ่งเป็นวัดของท่าน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)) ทำโปรแกรมเพื่อบริหารจัดการวัด รวมทั้ง โปรแกรมเพื่อเผยแผ่ธรรมของวัดวัดญาณเวศกวัน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมของกลุ่มกัลยาณธรรม รวมตัวกันไปเยี่ยมคนป่วย ซึ่งเราก็ไปพัฒนาระบบ เพื่อช่วยให้พวกท่านทำงานสะดวกขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เราเรียกว่า งานวัดวิถีใหม่ มีภาคีเครือข่ายดังที่กล่าวมา เป็นต้น

เมื่อเกิดโควิด-19 ก็พอดี ตรงกับภาษาพระท่านว่า หรือภาษาสวนโมกข์ ก็คือ ‘อิทัปปัจจยตา’ คือ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นมาพอดี แล้วเราก็ทำอะไรบางอย่างไปแล้ว เราก็นำมาปรับ ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนนี้ เราเน้น เรื่องการถวายงานพระเป็นหลัก ทั้งพระและวัด เป็นงานวัดวิถีใหม่ คือ นำเอาโปรแกรมที่ใช้กับวัดนี้ นำไปช่วยวัดนู้น สนับสนุนวัดนู้น หรือถ้าหากวัดนี้ อยากนำเอาโปรแกรมไปประยุกต์ เราก็ช่วยพระท่านได้เหมือนเป็น software house เพื่อช่วยพระ ช่วยวัดท่าน นี่คือตัวอย่างประเด็นที่หนึ่ง”

นพ.บัญชายังกล่าวถึงกิจกรรมในรูปแบบวิถีใหม่ ๆ อื่น ๆ ด้วย อาทิ ทุกเช้าวันอาทิตย์แรกของแต่ละเดือน มีกิจกรรมฟังธรรมจากครูบาอาจารย์รูปสำคัญของประเทศ และมีการปรารภระลึกถึงเดือนเกิดของครูบาอาจารย์ที่สำคัญ เช่น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2564 ที่เพิ่งผ่านพ้นมาไม่นาน มีการทำบุญถวาย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร เนื่องจากเป็นวันประสูติของท่าน

นอกจากนั้น ต่อมา ยังมีการทำบุญถวาย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่ง UNESCO ยกย่องให้ทั้ง 2 ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ

นพ.บัญชากล่าวด้วยว่า ปีนี้ มีการทำบุญใหญ่โดยได้เชิญพระอาจารย์ที่วัดป่าบ้านตาดซึ่งสานต่องานธรรมของหลวงตามหาบัว เป็นองค์แสดงธรรม โดยท่านแสดงธรรมได้ดีมาก คนเข้าฟังเป็นร้อยคนและฟังย้อนหลังอีกมาก ซึ่งมีการจัดงานโดยใช้ zoom และเฟซบุ๊คไลฟ์ในเครือข่ายของสวนโมกข์กรุงเทพด้วย รวมทั้งวัดป่าบ้านตาดด้วย เมื่อเป็นงาน on-site จากที่มีคนร้อยคน เมื่อเป็นออนไลน์ มีคนฟังธรรมร่วมกันราวๆ 200-300 คน และมีการชมย้อนหลังและแชร์ต่อๆ กันไปอีก เหล่านี้เป็นการปรับสู่วิถีใหม่



>>> สวนโมกข์เสวนา-ภาวนาออนไลน์ร่วมสมัย

นพ.บัญชากล่าวว่า “นอกจากนี้ ยังมีมีกิจกรรมสวนโมกข์เสวนา หาประเด็นธรรมมาถกร่วมกัน โดยจัดขึ้นทุกบ่ายวันอาทิตย์แรกของเดือน มาถกกันให้ถึงธรรมแบบออนไลน์ เช่น ครั้งล่าสุดนี้ เราพูดเรื่องการภาวนาสมัยโควิด-19 ครั้งก่อนหน้านี้เราพูดถึงเรื่อง ‘ถ้าเราติดโควิดจะทำอย่างไร’ เป็นต้น ก็เป็นการหาประเด็นร่วมสมัย แต่นำเอาธรรมะเป็นแก่นหลัก หรือแม้แต่คลับเฮาส์ สวนโมกข์ก็มีจัดคลับเฮาส์ เราเรียกว่า ‘คลับเฮาส์ของเด็กวัด’ เพื่อบันทึกความรู้สึกของคนที่ไปสวนโมกข์ ไม่ว่าที่ อ.ไชยาหรือที่กรุงเทพ ว่าไปแล้วได้อะไร เอามาใช้ประโยชน์กับชีวิตยังไงบ้าง เช่น เปิดคลับเฮาส์ครั้งแรก เราก็นิมนต์ท่านมหาไพรวัลย์ วรวัณฺโณ นี่แหละครับ ที่เป็นที่ติดตามของผู้คน”

นพ.บัญชากล่าวว่า หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ พยายามเข้าสู่เครื่องมือที่คนเข้าถึงง่าย และสะดวก ซึ่งมีฐานผู้ติดตามอยู่บ้าง โดยใช้ประเด็นที่ร่วมสมัยมาพิจารณาธรรม เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ของสังคม นอกจากนี้ สวนโมกข์กรุงเทพ ยังพัฒนาการ ‘ภาวนาออนไลน์’ ขึ้นด้วย โดยในระหว่างพรรษาก็จะทำงานภาวนาตลอดทั้งพรรษา ในหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบที่หนึ่งคือ ‘ภาวนาตามอัธยาศรัย’ แต่ว่ามีครูบาอาจารย์จากสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพระพี่เลี้ยงให้ เรียกว่า ‘อาณาปานสติออนไลน์ กับสวนโมกข์’ เป็นการภาวนากับพระที่สวนโมกข์ ซึ่งก็มีแฟนเพจเฟซบุ๊คให้เข้าไปสอบถามธรรมะได้

อีกทั้งยังมีกลุ่มสตรีภาวนา เรียกว่า ‘ธรรมะมาตา’ ที่สวนโมกข์กรุงเทพ นำโดยคุณแม่ชีซึ่งเคยภาวนาธรรมะมาตาอยู่ที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และตอนนี้ท่านไปอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ท่านก็บริหารจัดการกลุ่มภาวนาออนไลน์ในระหว่างพรรษาขึ้น ในหนึ่งเดือนแรกของพรรษา และระหว่างนั้น ก็มีเป็นคอร์ส เช่น ภาวนาสามวันบ้าง เจ็ดวันบ้าง ภาวนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ กระทั่งล่าสุด เพิ่งจะปิดคอร์สภาวนาไปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยพระธรรมพัชรญาณมุนี หรือท่านอาจารย์ชยสาโร เหล่านี้ คือคอร์สสอนภาวนาออนไลน์ที่ได้รับความสนใจไม่น้อย

และมีงานธรรมอื่น ๆ ที่สวนโมกข์กรุงเทพได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือเชื่อมต่อกับธรรมสถานหรือครูบาอาจารย์ท่านอื่น ๆ อาทิ นำโปรแกรมเมอร์ไปถวายงานท่านอาจารย์ หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากท่านอาจารย์ เห็นว่าสวนโมกข์กรุงเทพชำนาญด้านนี้ ท่านก็ปรารภ ซึ่งทางสวนโมกข์กรุงเทพก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ ทำให้ท่านอาจารย์หลวงพ่อสุรศักดิ์ สามารถสอนธรรมะได้สบายๆ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยมีผู้คนเข้าร่วมภาวนาหรือเสวนาธรรมได้จากทั่วโลก อาทิ มีการจัดภาวนาคอร์สสิบวัน โดยสอบอารมณ์ได้ต่อเนื่องไม่หยุด

อีกกรณีหนึ่งคือ คณะศิษย์ของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 แล้ว ไม่สามารถจัดภาวนากันตามศูนย์ภาวนาได้ ท่านเหล่านั้นก็ขอมาเชื่อมฐานข้อมูลกับสวนโมกข์กรุงเทพ เพื่อใช้ระบบออนไลน์ในการภาวนาร่วมกันเท่าที่สวนโมกข์มี โดยเชื่อมกับระบบฐานข้อมูลของคณะศิษย์ท่านโกเอ็นก้าที่มีอยู่ในประเทศไทย



>>> เจดีย์ทางธรรมแห่งโลกออนไลน์

“การทำให้ผู้คนได้ภาวนาร่วมกันด้วยระบบออนไลน์เหล่านี้นี่แหละครับ ที่เราริเริ่มมานับแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน” คำกล่าวของ นพ.บัญชาสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล และไม่หยุดพัฒนา เพื่อให้ธรรมะสามารถเข้าถึงจิตใจผู้คนได้ในทุกสถานการณ์ แม้ในโลกยุควิถีชีวิตใหม่ เห็นได้อย่างชัดเจนจากการพัฒนาแพลตฟอร์ม หรือเว็บไซต์เพื่อเชื่อมต่อโลกแห่งธรรมที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน และยิ่งเห็นผลชัดเจนทั้งก่อเกิดคุณูปการอย่างยิ่งในห้วงที่โลกตกอยู่ในชะตากรรมของโควิด-19 นั่นคือการพัฒนาเว็บไซต์ pagoda.or.th มหาเจดีย์ทางธรรมแห่งโลกออนไลน์

นพ.บัญชากล่าวถึงเว็บไซต์ดังกล่าวว่า “เราทำมาก่อนหน้านี้ 2-3 ปีแล้วครับ เราพยายามสร้างแพลตฟอร์มเพื่อธรรมะของสังคม จริงๆ ที่มีธรรมะทั้งไทยและเทศ เดิมทีเราคิดว่าโซเชียลมีเดียนั้น เหมือนเราไปพึ่งแพลตฟอร์มของเขา มันไม่ใช่ของเรา ไม่ว่าเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ก็เป็นของเขาแล้วเรานำคอนเทนต์ไปใส่ แต่เว็บไซต์เป็นฐานข้อมูล ดังนั้น เราจึงพยายามพัฒนาเว็บไซต์ของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ให้แข็งแรง ให้คนมาใช้ แต่เมื่อเป็นเว็บไซต์หอจดหมายเหตุฯ ก็หมายความว่าเป็นหอจดหมายเหตุพุทธทาส ที่ไม่ได้รวมงานธรรมของพระพุทธองค์ที่มีกว้างกว่านั้น

เราจึงค่อยๆ พัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ โดยใช้ชื่อ pagoda.or.th อยากให้ลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ครับ เพราะเป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย แล้วเราก็นำเอางานธรรมของครูบาอาจารย์ในไทยใส่เข้าไปในเว็บ แล้วในอนาคตก็จะขยับไปทั่วโลก นำเอาธรรมจากทั่วโลกใส่เข้าไปในเว็บไซต์นี้ เช่น เบื้องต้น ในไทยเอง เรามีเสียงธรรมของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร, อาจารย์ชา, ท่านพุทธทาสภิกขุ, หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) งานของท่านอาจารย์เหล่านี้ ก็จะไปอยู่ในนั้น รวมทั้ง ครูบาอาจารย์รุ่นใหม่ เช่น ท่านไพศาล วิสาโล รวมถึงท่านครูบาอาจารย์ที่อยู่อเมริกากับอังกฤษ ก็อนุญาตแล้ว และยินดีให้งานของท่านมาอยู่ที่นี่ ซึ่งใครๆ ก็เข้าถึงได้

นอกจากเป็นเสียงแสดงธรรมของท่านอาจารย์แล้ว เราก็ถอดความออกมาเป็นเนื้อหา และทำโปรแกรม เสิร์ชเอนจิน (Search Engines) ให้ค้นหาได้ ขณะเดียวกัน ก็มีวิดีโอคลิป วิดีโอเทศน์ หรือแม้แต่กิจกรรมทางธรรม เราก็นำมารวมอยู่ในนี้ โดยคาดหวังว่าในอนาคต ถ้าคนอยากจะค้นหาอะไรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้เข้ามาที่นี่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ เราจึงตั้งชื่อว่า pagoda.or.th

โดยหลักการง่ายๆคือ เราหวังให้เว็บไซต์นี้ เปรียบเสมือนเป็นธรรมเจดีย์ออนไลน์ เพราะปาโกด้า มีความหมายคือเจดีย์ เป็นเจดีย์ออนไลน์ เราก็ค่อยๆ ริเริ่มซึ่งก็มีคนเข้ามาใช้งานมากขึ้นๆ และถ้าเป็นไปได้จริง ในอนาคตเราก็อยากจะทำให้มีลักษณะคล้ายกับวิกิพีเดีย แต่เป็นวิกิในด้านของงานธรรม แล้วจากนั้น เราก็ตั้งใจจะขยับไปทำงานกับสากลให้มากขึ้นด้วยและจะทำลิงค์ไปที่พระไตรปิฎกด้วย” นพ.บัญชาระบุถึงธรรมเจดีย์ออนไลน์ ที่ตั้งใจจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเชื่อมโยงผู้คนในโลกสมัยใหม่ให้สามารถเข้าถึงธรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านเว็บไซต์ pagoda.or.th


>>> ที่พึ่งทางจิตใจ ในห้วงภาวะวิกฤติโควิด-19

นอกจากเปิดรับวิถีชีวิตแห่งโลกสมัยใหม่และเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว ถามว่า เมื่อผ่านพบและเผชิญกับภาวะวิกฤติโควิด-19 ถึง 4 ระลอก เช่นนี้ สวนโมกข์กรุงเทพ ยังนับเป็นโรงมหรสพทางวิญญาณ เช่นเดียวกับที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เคยสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณไว้ที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือไม่ และสวนโมกข์กรุงเทพแห่งนี้ เป็นที่พึ่งให้ผู้คนอย่างไรในภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา

นพ.บัญชาตอบว่า “คำว่าโรงมหรสพทางวิญญาณ ในความหมายของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านใช้คำภาษาอังกฤษว่า spiritual entertainment ก็คือ เป็นที่ที่จะทำให้เรามีความเพลิดเพลินทางจิตและทางปัญญา เป็นเรื่องที่ดีๆ เป็นไปในทางกุศล จิตเปิดโล่ง และปลดปล่อยได้ถึงความว่าง ซึ่งเมื่อเรามาทำสวนโมกข์กรุงเทพ เราก็เปลี่ยนเป็น spiritual Fitness Edutainment ความหมายก็คือไม่ใช่แค่เพื่อปลดปล่อย แต่เพื่อให้มีความกล้าแข็งของจิตใจ ได้เรียนรู้ด้วย และเพลิดเพลินด้วย

เพราะฉะนั้น ถามว่า สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ไหม ผมขอเรียนว่า ตอนนี้ พวกเราที่สวนโมกข์กรุงเทพ ก็ลงไปถวายงานที่สวนโมกข์ไชยา ซึ่งเรากำลังจะไปถวายงานเรื่องการปรับปรุงกุฏิของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ท่านไม่ได้อยู่แล้ว เพื่อให้เป็นที่เรียนรู้ของผู้ที่สนใจส่วนโรงมหรสพทางวิญญาณที่ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา เราก็จะนำเอาเครื่องมือและระบบต่าง ๆ ไปต่อเติม เพื่อให้พระท่านสะดวกขึ้น ทำงานคล่องขึ้น เหล่านี้คือสิ่งที่ยังทำที่ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา” นพ.บัญชาระบุถึงแก่นงานทางธรรมที่ยังคงอยู่เสมอไม่ว่าที่สวนโมกข์กรุงเทพ หรือที่ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา

>>> สวนโมกข์ต้องมีอยู่ ‘ทุกที่’

ขณะที่ความน่าสนใจของสวนโมกข์กรุงเทพนั้น นพ.บัญชา กล่าวว่า นอกจากมีอาสาสมัครนำชมส่วนต่าง ๆ มีการบันทึกเสียงอธิบายธรรมไว้เรียบร้อยแล้ว ทางสวนโมกข์กรุงเทพ ยังตั้งใจไว้ว่าจะนำ QR Code ไปติดไว้ตามจุดต่าง ๆ ภาพธรรมะก็จะปรากฏขึ้นมาในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของผู้สแกน

หรือหากว่าผู้ที่สนใจ แต่ไม่สามารถมาที่สวนโมกข์กรุงเทพได้ ก็สามารถค้นและชมทางยูทูป หรือเข้าเว็บไซต์หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์กรุงเทพเพื่อสืบค้นข้อมูลและงานทางธรรมต่างๆ ของท่านพุทธทาสภิกขุได้

“เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีพาเราไปได้ไกลมาก อยู่ที่ไหนก็ได้แล้ว สมดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ‘สวนโมกข์ต้องอยู่ทุกที่’ ดังนั้น เราก็คาดหวังว่าด้วยวิถีใหม่ ที่เรามีอุปกรณ์ มีเครื่องมือ คนจะนำเอามาใช้ในการเสริมสร้างจิตใจและสติปัญญาให้มากขึ้น” นพ.บัญชาระบุ ก่อนบอกเล่าถึงสิ่งสำคัญที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้ฝากไว้ราวผู้หยั่งรู้อนาคตกาล

นพ.บัญชากล่าวว่า “ท่านอาจารย์พุทธทาสเขียนบันทึกสุดท้ายก่อนที่ท่านจะสิ้นไว้ว่า ‘เมื่อไหร่นะคอมพิวเตอร์กับพุทธรรม จะค้นพบสหายภาพ’ นั่นคือภาษาของท่าน ในตอนนั้นปี 2536 คอมพิวเตอร์ ยังพัฒนาได้ไม่เท่าไหร่ แต่ท่านมองการณ์ไกลมาก ท่านบอกว่าถ้าเราใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น คอมพิวเตอร์จะเป็นยักษ์ที่กินเราหมด แต่ถ้าเราค้นพบ ‘สหายภาพ’ ความหมายคือ Partnership ทำงานร่วมกัน ถ้าเราค้นพบสหายภาพจะเป็นประโยชน์มาก ท่านเขียนไว้อย่างนั้นนะครับก่อนท่านสิ้น ซึ่งเราก็นำเอาสิ่งนี้แหละ เอาข้อธรรมนี้มานั่งคิดตลอดเวลา ว่าเราต้องนำ Tools ทั้งหลาย นำ AI ทั้งหลาย มาใช้เพื่อธรรมะ ดังนั้น ก็ไม่จำเป็นว่าต้องใช้ที่สวนโมกข์ไชยา หรือสวนโมกข์กรุงเทพ แต่ใช้ที่ไหนก็ได้”
นพ.บัญชาระบุถึงการนำเครื่องมือเทคโนโลยีแห่งโลกยุคใหม่ มาส่งเสริม นำพาธรรมะให้ข้ามพ้นทั้งกาละและเวลาอย่างแท้จริง สมดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุเคยฝากไว้


>>> ยินดีต้อนรับสู่ ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’

เมื่อสอบถามถึงสวนโมกข์กรุงเทพ ณ วันนี้ ว่าสามารถเปิดรับผู้มาเยือนได้หรือยัง นพ.บัญชาตอบว่า ปัจจุบันนี้ เปิดตามปกติแล้ว ผู้สนใจสามารถมาเยี่ยมชมได้ แต่อาจมีการจำกัดจำนวน โดยมีประตูสำหรับสแกนอุณหภูมิ นอกจากนี้ ยังมีการทำความสะอาดอย่างเป็นระยะ ส่วนกิจกรรมทางธรรมต่าง ๆ ก็จะเริ่มมีขึ้นแล้ว สามารถติดตามได้ทางทุกแพลตฟอร์มของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์กรุงเทพ อาทิ เว็บไซต์ หรือแฟนเพจเฟซบุ๊ค เป็นต้น ขณะที่ร้านน้ำชา-กาแฟของสวนโมกข์กรุงเทพที่ผู้คนติดใจกันมาก ก็เปิดให้บริการแล้วเช่นกัน

“ตอนนี้เราเปิดทุกวันแล้วครับ ไปนั่งสมาธิกันได้ครับ แต่ห้องสมุดสโมสรที่อยู่ข้างล่างอาคาร ปิดวันจันทร์ จากนี้ กิจกรรมต่างๆ ก็จะเริ่มมีมากขึ้นแล้วครับ อย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ คณะศิษย์ของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าอยากทำบุญเนื่องในวาระครบรอบห้าปีที่ท่านโกเอ็นก้าเสีย ก็มาขอใช้พื้นที่ เราก็ให้ใช้แบบรักษาระยะห่าง รักษาความปลอดภัยสูงสุด โดยผู้ที่จะมาร่วมกิจกรรม เราก็ให้มีการตรวจ ATK ก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมาอยู่ด้วยกันจะไม่มีใครเป็นพาหะโควิด-19 ก็นับเป็นชีวิตวิถีใหม่ ส่วนในอนาคต คาดว่าคนจะค่อยๆ ทยอยมากันมากขึ้น หลังจากที่ฉีดวัคซีนกันทั่วถึงแล้ว ซึ่งสวนโมกข์กรุงเทพก็ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ”

นพ.บัญชากล่าวทิ้งท้าย เชิญชวนผู้สนใจในธรรมแวะมาเยี่ยมเยือน spiritual Fitness Edutainment แห่งนี้ที่ไม่เพียงนำหลักคิดและคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุมาปรับใช้ได้อย่างกลมกลืน หากยังเปิดกว้างต่อสายธรรมและศาสนิกต่างๆ ให้สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งในโลก On-site และบนโลก On-line ทั้งยังเชื่อมโยงเทคโนโลยี และพุทธรรมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เคยฝากแนวคิดนี้ไว้เมื่อเกือบ 3 ทศวรรษที่ล่วงมา

................................................
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล


กำลังโหลดความคิดเห็น