13 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ที่เหล่าชาวไทยยังคงเคารพรักและคิดถึงพระองค์ตลอดมา
ขอร่วมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผ่านการตามรอยธรรมราชา ใน 9 วัดแห่งภาคอีสาน จากข้อมูลในหนังสือ “ตามรอยธรรมราชา ในดินแดนอีสาน” ที่มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำขึ้นในปี 2559
เนื้อหาในหนังสือได้กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่า พระองค์ได้ทรงประกอบพุทธศาสนกิจตามโบราณราชประเพณี โดยเสด็จออกทรงผนวชเมื่อปี 2499 ด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา ทรงปฏิบัติศาสนกิจเนื่องในเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมไปถึงได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ สมกับที่ทรงเป็น “ธรรมราชา”
และแม้จะมีพระราชภารกิจมากมาย แต่ในหลวง ร.๙ ก็ยังทรงสละเวลาพักผ่อนส่วนพระองค์มาศึกษาและปฏิบัติธรรม ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์ในโอกาสต่างๆ และทรงบำรุงพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมิได้ขาด ดังที่เราจะขอพาทุกๆ ท่านได้ไปตามรอยธรรมราชาที่ได้เสด็จเยือนวัดสำคัญต่างๆ ในดินแดนภาคอีสาน รวมถึงวัดที่พระองค์ได้ทรงนมัสการพระเกจิอาจารย์คนสำคัญแห่งภาคอีสานอีกด้วย
วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารเป็นวัดสำคัญของนครพนม โดยนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุพนม ศูนย์รวมจิตใจของทั้งชาวไทย-ชาวลาวแล้ว ก็ยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเป็นอย่างมาก โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนมัสการองค์พระธาตุพนม รวมแล้วมากถึง 6 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกพระองค์ได้เสด็จมาเยือนเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2498 เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุพนม
และการเสด็จเยือนครั้งสำคัญก็คือหลังจากที่องค์พระธาตุพนมล้มเมื่อปี 2518 พระองค์ได้เสด็จมาทรงประกอบพิธีสมโภชพระอุรังคธาตุในเดือนธันวาคม 2518 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุภายในองค์พระธาตุพนมเมื่อเดือนมีนาคม 2522
วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
วัดบ้านไร่แห่งด่านขุนทดเป็นวัดที่พระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หนึ่งในพระเกจิชื่อดังของเมืองไทยผู้ล่วงลับ ได้เคยเป็นเจ้าอาวาส โดยท่านได้พัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาเยือนวัดบ้านไร่เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 โดยเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นสู่บุษบกเหนือพระอุโบสถ
ปัจจุบันหากใครได้มาเยือนวัดบ้านไร่แล้วก็ต้องไปชม "พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ" ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งศรัทธาเนื่องในโอกาสอายุครบ 7 รอบของท่าน รวมถึงต้องไม่พลาดชม “วิหารเทพวิทยาคม” อุทยานธรรมกลางบึงน้ำขนาดใหญ่ องค์วิหารเป็นอาคารลักษณะทรงกลม หลังคาเป็นรูปช้างเอราวัณ มีภาพจิตรกรรมและงานปูนปั้นประดับกระเบื้องโมเสกงดงาม พร้อมทั้งมีพญานาค 7 เศียรอลังการกลางน้ำอีกด้วย
วัดประชาคมวนาราม อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด
วัดประชาคมวนาราม หรือวัดป่ากุง เป็นวัดสำคัญที่ชาวศรีสมเด็จเคารพบูชาเป็นอย่างมาก โดยมีพระเทพวิสุทธิมงคล หรือหลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นอดีตเจ้าอาวาส โดยท่านเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และท่านยังเป็นผู้นำศรัทธาในการพัฒนาวัดป่ากุงให้เจริญรุ่งเรือง จนกระทั่งเป็น "วัดประชาคมวนาราม" ที่งามสง่า
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2518 ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระกฐินต้นที่วัดประชาคมวนาราม โดยได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200,000 บาท ซึ่งทางวัดได้ตั้งเป็นมูลนิธิอนุสรณ์พระกฐินต้นสืบมา
วัดป่ากุงปัจจุบันขึ้นชื่อว่ามีเจดีย์หินทรายงดงามที่สร้างตามแบบเจดีย์บรมพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย ผสมผสานกับความเป็นไทย เจดีย์มีฐานกว้าง 40x40 ม. สูง 19 ม. ปลียอดพระเจดีย์หุ้มทองคำหนัก 101 บาท บนเจดีย์แต่ละชั้นมีภาพแกะสลักนูนต่ำหินทรายสีเหลืองเล่าเรื่องราวพุทธชาดกและพุทธประวัติต่างๆ รวมถึงประวัติของหลวงปู่ศรีด้วย
วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์ มาเยี่ยมวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2498 โดยพระองค์ได้มีพระราชปฎิสันถารกับพระธรรมเจดีย์ หรือหลวงปู่จูม พันธุโล อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์อยู่ในพระอุโบสถ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกับปิยภัณฑ์ จำนวน 1,000 บาท เพื่อบำรุงวัด จากนั้นได้เสด็จเยี่ยมราษฎรที่มารอเฝ้าอยู่บริเวณหน้าพระอุโบสถประมาณ 40 นาที พอสมควรแก่เวลาจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ
อีกทั้งในเดือนกรกฎาคม 2552 พระองค์ยังได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแด่พระอุดมญาณโมลี หรือหลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป (เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ในขณะนั้น) ณ ท้องพระโรงศาลาเริง วังไกลกังวล เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์อีกด้วย
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
ในหนังสือหลวงตามหาบัว มหัศจรรย์มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวไว้ว่า ในตอนเช้าของวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ได้สั่งกำชับพระเณรในวัดว่า “วันนี้จะมีบุคคลสำคัญเข้ามา พวกท่านทั้งหลายจงพากันทำความสะอาดวัดวาอาวาสให้เรียบร้อย อย่าให้บกพร่อง”
และในวันนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็ได้เสด็จไปที่วัดป่าบ้านตาดเพื่อกราบนมัสการหลวงตาบัว โดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์จากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่มีทหารคนใดได้ล่วงรู้เรื่องนี้มาก่อน และได้ทรงถวายผ้าห่มและไทยทานอื่นๆ มากมาย พร้อมกับปัจจัย 3 หมื่นบาท โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนได้ถวายธรรมะหลายประการ
และพระองค์ได้เสด็จมายังวัดป่าบ้านตาดอีกครั้งในปี 2531 เพื่อนิมนต์หลวงตาไปงานในวัง รวมถึงได้เสด็จมานมัสการและสดับพระธรรมเทศนา พร้อมทั้งทรงถวายทองคำพร้อมปัจจัยร่วมโครงการช่วยชาติกับหลวงตาบัว ณ กุฏิองค์หลวงตา ณ สวนแสงธรรม พุทธมณฑลสาย 3 กรุงเทพฯ เมื่อปี 2541
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล เป็นลูกศิษย์รุ่นใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธแถบอีสานใต้ตลอดมา โดยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2522 ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ ทรงตรัสถามถึงสุขภาพพลานามัยของหลวงปู่ และทรงอาราธนาให้หลวงปู่แสดงธรรม
และอีกครั้งหนึ่งในเดือนมีนาคม 2526 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาทรงเยี่ยมหลวงปู่ โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ทรงจัดดอกไม้ที่โต๊ะหมู่บูชาด้วยพระองค์เอง และทรงปรุงน้ำปานะจากส้มเขียวหวานด้วยฝีพระหัตถ์ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงเพื่อทรงถวายหลวงปู่ดุลย์
สำหรับผู้ที่ไปเยือนวัดบูรพาราม อย่าพลาดไปกราบ “หลวงพ่อพระชีว์” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสุรินทร์ในวิหารจัตุรมุขด้านหลังพระอุโบสถ และอย่าลืมเข้าไปชม “พิพิธภัณฑ์กัมมัฎฐาน-อัฐิธาตุ” ที่ประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงปู่ดุลย์ด้านในด้วย
วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
หลวงปู่ขาว อนาลโย อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพล ถือได้ว่าเป็นหนึ่งของพระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่นที่มีผู้เคารพศรัทธาท่านเป็นจำนวนมาก
เมื่อปี 2518 ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ได้เสด็จมานมัสการหลวงปู่ขาวที่วัดถ้ำกลองเพลเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นก็ทรงเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการหลวงปู่อีกหลายครั้งด้วยกัน โดยครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทรงประกอบพิธี “ยืดอายุ” แต่องค์หลวงปู่ โดยทรงถือขันน้ำบรรจุดอกไม้ห้าสีเข้าไปประเคน พอท่านรับแล้วก็ทรงขอไม่ให้ “ทิ้งขันธ์” ให้อยู่ไปนานๆ หลวงปู่หัวเราะแต่ไม่ได้รับสนองพระราชดำรัส
ปัจจุบันวัดถ้ำกลองเพลเป็นวัดที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของหนองบัวลำภู ภายในบริเวณวัดบรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ มีสวนหินธรรมชาติรูปร่างประหลาดดูสวยงาม และมีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บอัฐิและรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ขาวอีกด้วย
วัดเจติยาคีรีวิหาร อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ แห่งวัดเจติยาคีรีวิหาร หรือวัดภูทอก จ.บึงกาฬ เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระเกจิผู้มีเมตตาธรรม และชอบปลีกวิเวกไปบำเพ็ญสมณธรรมตามป่า
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2520 ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จมายังวัดเจติยาคีรีวิหาร โดยทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาต้อง เมื่อทรงได้นมัสการพระอาจารย์จวน จึงมีพระราชปรารภจะให้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยราษฎรในด้านการเกษตร พระอาจารย์จวนก็ได้อนุโมทนาและสนองในพระราชดำรินั้น
ในวันนี้วัดภูทอกถือเป็นวัดชื่อดังของบึงกาฬ เป็นสถานปฏิบัติธรรมบนภูเขาที่มีจุดเด่นคือบันไดและสะพานไม้เดินชมทัศนียภาพแบบ 360 องศา ที่เรียกว่า “สะพานนรก-สวรรค์” เป็นสะพานไม้เวียนรอบจากเชิงเขาขึ้นสู่ยอดภูทอกน้อยมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม โดยไม่ใช้เครื่องจักรกลใดๆ โดยพระอาจารย์จวนผู้บุกเบิกการก่อสร้าง
วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อ.ส่องดาว จ.สกลนคร
พระอาจารย์วัน อุตตโม แห่งวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม หรือวัดถ้ำพวง ถือเป็นศิษย์รุ่นเล็กของพระอาจารย์มั่น โดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพระอาจารย์วันที่วัดถ้ำพวงเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2518 และได้ทรงสนทนาธรรมเป็นการส่วนพระองค์ และได้ทรงเยี่ยมประชาชนในถิ่นนั้นด้วย
สำหรับวัดถ้ำพวงนั้นถือเป็นวัดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยมี “สังเวชนียสถาน 4 ตำบล” หรือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่จำลองมาจากประเทศอินเดียให้ชาวพุทธในประเทศไทยที่มีความศรัทธาแต่ไม่มีโอกาสเดินทางไกลไปแสวงบุญถึงอินเดียได้สักการบูชากัน โดยสังเวชนียสถานจำลองนี้เกิดขึ้นจากแรงศรัทธาของพระอาจารย์วัน อุตตโม และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้ริเริ่ม โดยใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 6 ปีเต็ม
#################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline