xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมจะไปไหน ข่าวลือเริ่มแรง กรุงเทพฯ-นนทบุรี จะจมน้ำ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำระบุ สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน จากข้อมูลพบว่ายังคงแตกต่างจากปี 2554 หลังเกิดความกังวล ส่งต่อข้อมูลและเปรียบเทียบว่า น้ำจะท่วมกรุงเทพมหานครและนนทบุรีแบบมหาอุทกภัย


รายงานพิเศษ

หลังจากที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณภาคเหนือตอนล่าง และเกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณภาคกลางตอนบน หลายคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะมีความกังวลว่า น้ำจะท่วมกรุงเทพมหานครและ จ.นนทบุรี อาทิ

“เห็นน้ำในข่าวแล้วตกใจ”

“มีคนส่งข้อมูลต่อๆ กันมาว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่”

“บางกระแส เอาไปเปรียบเทียบกับปี 2554 แล้ว ก็มี”

แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำตามเขื่อนต่างๆ นั้น พบว่า ณ ขณะนี้ (27 ก.ย.) สถานการณ์ไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น เพราะพายุดีเปรสชัน "เตี้ยนหมู่" ซึ่งต่อมากลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ เคลื่อนผ่านประเทศไทยไปแล้ว

ส่วนเขื่อนข้างบน เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ไม่มีน้ำลงมาเติม ที่เก็บน้ำระหว่างทางก็ยังรองรับได้อีกจำนวนมาก กว่าจะลงมาถึงกรุงเทพฯ และนนทบุรี อีกทั้งมวลน้ำยังจะแยกออกไปทางภาคอีสานอีกต่างหาก

แต่เพื่อความมั่นใจ ก็ต้องหาคำตอบที่น่าเชื่อถือกว่านี้ โดยเฉพาะคำตอบที่ว่า เมื่อสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ไม่มีน้ำในเขื่อนใหญ่ ทำไมหย่อมความกดอากาศต่ำลูกเดียว ทำให้หลายพื้นที่ท่วมเสียหายได้ขนาดนี้?

น้ำท่วม อ.เมือง จ.สุโขทัย เมื่อ 25 ก.ย. 2564 (ภาพ : กรมชลประทาน)
จากการสอบถาม "แหล่งข่าว" ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำรายหนึ่ง ได้อธิบายให้เห็นภาพ 

เริ่มกันที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งแบบปีเว้นปี ส่วนใหญ่จะเกิดจาก แม่น้ำยม ซึ่งไหลผ่านกลางเมืองสุโขทัย ล้นตลิ่งเข้ามาในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี แม้จะทำกำแพงสูงกว่า 3 เมตร กั้นไว้ตลอดแนวแล้วก็ตาม ก็ยังล้นกำแพงข้ามมา แต่ไม่ใช่ครั้งนี้

น้ำที่ท่วมเมืองสุโขทัยครั้งนี้ ไม่ได้มาจากแม่น้ำยมล้นตลิ่งเข้ามาในเมือง เพราะแม่น้ำยม ยังไม่มากพอที่จะข้ามกำแพงยักษ์มาท่วมเมืองได้ แต่ท่วมเพราะน้ำจากลำน้ำสาขาที่ไหลมาจาก “เขื่อนแม่มอก” อ.เถิน จ.ลำปาง จะไหลมาลงแม่น้ำยมฝั่งซ้าย ผ่านตัวเมืองสุโขทัย ไปลงแม่น้ำยมได้ช้าต่างหาก “และอาจจะช้าเพราะติดกำแพงนั่นแอง”

ดังนั้น เราจึงเห็นบางจุดที่เคยไม่ท่วมก็ดันท่วม เพราะเป็นการท่วมจากสาเหตุที่ต่างไปจากเดิม

ส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่น อ.บำเหน็จณรงค์ อ.เทพสถิตย์ จ.ชัยภูมิ และ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่อิ่มน้ำอยู่ก่อน มีความอ่อนไหว เมื่อเจอฝนตกซ้ำ ก็เจอมวลน้ำลงมาถล่ม 

โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีฝนตกหนักต่อเนื่อง 12 ชั่วโมงในวันเสาร์ (25 ก.ย.) มีผลกระทบหนักที่ความเสียหายของ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ที่กรมชลประทาน ไม่เรียกว่าเขื่อนแตก

และเมื่อหย่อมความกดอากาศต่ำลูกนี้ข้ามภูเขา เทือกเขาเพชรบูรณ์ จาก จ.เพชรบูรณ์ มาที่ จ.นครสวรรค์ ก็เคลื่อนตัวช้าลงมา ทำให้ฝนตกแช่อยู่ที่ จ.นครสวรรค์ โดยเฉพาะที่ อ.ไพศาลี ตั้งแต่เย็นวันเสาร์ที่ 25 ก.ย. ไปจนถึงประมาณตี 2 กระทบหนักไปที่ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอีกว่า นับว่ายังโชคดีที่มีหย่อมความกดอากาศสูงปกคลุมลงมา ทำให้หย่อมความกดอากาศต่ำลูกนี้ไม่ถูกดันขึ้นสูงไปกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้น จ.สุโขทัย จะอ่วมกว่านี้

น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา เมื่อ 25 ก.ย. 2564 (ภาพ : กรมชลประทาน)
ประเด็นต่อมา น้ำท่วมที่เกิดขึ้นตอนนี้มวลน้ำจะไปทางไหน หากแยกตามโซนดังนี้

1. โซน จ.ชัยภูมิ-โคราช จ.นครราชสีมา น้ำที่ท่วมจังหวัดชัยภูมิ จะไหลลงสู่ “แม่น้ำชี” ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา จะไหลลงสู่ “แม่น้ำมูล” ผ่าน จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ ทั้งสองสายจะบรรจบกันที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ลงแม่น้ำโขง ในอีกหลายวันหลังจากนี้ ซึ่งมวลน้ำจากโซนนี้ ไม่เกี่ยวกับภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

2. โซน อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ลงมาจาก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ และ จ.เพชรบูรณ์ น้ำจากพื้นที่นี้ไหลลง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งเขื่อนแห่งนี้ ณ วันที่ 27 ก.ย. มีความจุ 73% ของความจุอ่าง ยังรับน้ำได้อีก 255 ล้านลูกบาศก์เมตร รองรับได้ทั้งหมด

3. โซน อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี และ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ พบว่า จ.ลพบุรี มีทุ่งลพบุรีคอยรับน้ำ ส่วนที่ อ.ไพศาลี ลงบึงบอระเพ็ด อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ รองรับได้ทั้งหมดเช่นกัน

4. โซน จ.สุโขทัย แม่น้ำยม มีทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก รองรับอยู่แล้ว และอาจจะล้นเล็กน้อย แต่เชื่อว่ารับน้ำชุดนี้ได้ทั้งหมดแน่นอน เพราะไม่มีน้ำจากแม่น้ำยมลงมาเติมมากนัก

5. โซนที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโซนที่สำคัญ น้ำจาก จ.กำแพงเพชร และ จ.อุทัยธานี ลงมาที่แม่น้ำสะแกกรัง ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และจะผ่าน เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

สาเหตุที่ทำให้ผู้คนตื่นตกใจ เมื่อน้ำลงมาที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งไม่ใช่อ่างเก็บน้ำ แต่ทำหน้าที่เป็นเหมือนบานประตูที่คอยควบคุมแม่น้ำเจ้าพระยาว่าจะไหลผ่านลงข้างล่างมากน้อยเพียงใด ตอนนี้เมื่อมีน้ำลงมามากขึ้น เขื่อนเจ้าพระยาจึงต้องประกาศ “เพิ่มการระบายน้ำ” หมายความว่า ปล่อยน้ำผ่านลงไปมากกว่าเดิม

เมื่อจะปล่อยน้ำผ่านมากกว่าเดิม เขื่อนเจ้าพระยาต้องประกาศ เพราะพื้นที่ใต้เขื่อนมีกิจการแพ ร้านอาหาร ที่ต้องแจ้งเตือนให้ระวัง ไม่ให้เกิดปัญหากับชีวิตคนและลูกค้า และยังมีหลายช่วงอยู่ระหว่างซ่อมแซมปรับปรุงแนวตลิ่ง ต้องประกาศให้ผู้รับเหมานำเครื่องจักรออกไปก่อน

แต่กลายเป็นว่า การประกาศถูกส่งต่อออกไปตามช่องทางต่างๆ โดยไม่มีคำอธิบาย สร้างความแตกตื่นราวกับว่ากำลังจะปล่อยน้ำมหาศาลลงไป


มาดูตัวเลขซึ่งให้โฟกัสไปที่ “ปริมาณน้ำไหลผ่าน สถานีวัดน้ำ C.29 A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา” พบว่าเมื่อวันที่ 26 ก.ย. น้ำไหลผ่านที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ประมาณ 2,349 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

เมื่อไปรวมกับ แม่น้ำป่าสัก ที่ผ่านเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า ไม่มีน้ำปล่อยมาเพิ่ม โดยน้ำจากตรงนี้ จะแยกไปลงที่ คลองโผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา

แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก มาไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำบางไทร 1,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.78 เมตร จากระดับตลิ่ง 3.40 เมตร

เปรียบเทียบกับปี 2560 ที่มีความหวาดเสียวว่าจะเกิดน้ำท่วม แต่แล้วก็ไม่ท่วม น้ำถูกระบายแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ผ่านเขื่อนพระรามหก มารวมกันไหลผ่านที่สานีบางไทร 2,882 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

และถ้าย้อนกลับไปน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 น้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำบางไทร 3,860 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งที่รับได้ คือ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

และถ้าจะเทียบกับปี 2554 จริง ต้องดูด้วยว่า ในปี 2554 น้ำในเขื่อนใหญ่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเต็มทั้งหมด ล้นทางระบายน้ำล้น (สปิลเวย์) ต้องระบายลงมาอย่างต่อเนื่อง มีน้ำลงมาเพิ่มตลอด

แต่ในเวลานี้ 2564 เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีน้ำใช้การได้ 16% เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีน้ำใช้การได้ 12% และแทบไม่ได้น้ำเพิ่มจากหย่อมที่สร้างผลกระทบลูกนี้เลย เพราะฝนตกใต้เขื่อนทั้งหมด ดังนั้น 2564 ยังไม่มีน้ำจากเขื่อนลงมาเติมแน่นอน

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ย้ำอีกครั้ง ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำบางไทร

ปี 2554 – 3,860 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที - เขื่อนใหญ่เต็ม – น้ำท่วมใหญ่

ปี 2560 – 2,882 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที – น้ำล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ต่ำ ใช้ทุ่งรับน้ำรับมือไว้

กันยายน ปี 2564 – 1,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที - ?

ย้ำต่อไปอีกด้วยว่า ความกังวลทั้งหลายในการสื่อสาร เริ่มจากมีน้ำท่วมที่อุทัยธานี กำแพงเพชร ที่น้ำไหลงแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นเขื่อนเจ้าพระยาประกาศเพิ่มการระบายน้ำ ... เพื่อเตือนคนทำอาชีพริมน้ำ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อย่าลืมว่ากรมชลประทานยังมี “12 ทุ่งรับน้ำของเจ้าพระยา” ซึ่ง “ยังไม่ได้ใช้เลยในปีนี้” เป็นแผนที่โดยปกติจะเตรียมไว้สำหรับช่วงแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำสูงสุดในเดือนตุลาคมอยู่แล้ว ดังนั้นยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีกเยอะ

โดยสรุปก็คึอ ถ้าดูจากตัวเลขปริมาณการไหลของน้ำ การระบายน้ำ ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ที่ยังน้อยมาก และยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีกมาก รวมทั้งพื้นที่รับน้ำที่ท่วมอยู่ในเวลานี้ด้วย ก็จะเห็นว่า กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี ยังคงไม่มีแนวโน้มจะถูกน้ำท่วม (ที่ไม่ใช่น้ำท่วมขังเวลาฝนตก)

แต่คนที่ประกอบอาชีพริมแม่น้ำ อาจต้องเตรียมตัวหรือได้รับผลจากระดับน้ำที่จะสูงขึ้นอีกอยู่บ้าง และอาจต้องรอดูว่า ตั้งแต่หลังวันที่ 10 ต.ค. จะมีพายุเข้ามาอีกหรือไม่ รุนแรงแค่ไหน พายุมีพฤติกรรมอย่างไร?


กำลังโหลดความคิดเห็น