xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.สรุป 23 จังหวัดยังน้ำท่วม กรมชลฯ ระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มเป็น 2,500 ลบ.ม./วินาที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเผยยังคงมีน้ำท่วม 23 จังหวัด ทั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง ส่วนเชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง บุรีรัมย์ คลี่คลายแล้ว ขณะที่กรมชลประทานระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเป็น 2,500 ลบ.ม./วินาที

วันนี้ (27 ก.ย.) กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ เวลา 06.00 น. พบว่าแม่น้ำปิง สถานี P17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,329 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 37.92 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ต่ำกว่าตลิ่ง 1.90 เมตร ส่วนแม่น้ำน่าน สถานี N67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,150 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 26.60 ม.รทก. ต่ำกว่าตลิ่ง 1.70 เมตร แม่น้ำเจ้าพระยา สถานี C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,419 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 23.78 ม.รทก. ต่ำกว่าตลิ่ง 2.42 เมตร ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา สถานี C13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,500 ลบ.ม./วินาที จากเมื่อวานนี้อยู่ที่ 2,349 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อนเพิ่มขึ้น 16.61 ม.รทก. ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้น 15.53 ม.รทก.

ส่วนแม่น้ำป่าสัก ระบายท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน 379.38 ลบ.ม./วินาที ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านสถานีวัดน้ำ C29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,127 ลบ.ม./วินาที สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำป่าสัก 100 ลบ.ม./วินาที ส่งน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ 15 ลบ.ม./วินาที จากความจุคลอง 210 ลบ.ม./วินาที

สำหรับการรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออก รวม 155 ลบ.ม./วินาที ได้ส่งน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก (คลองอนุศาสนนันท์) ที่ประตูระบายน้ำมโนรมย์ จ.ชัยนาท 121 ลบ.ม./วินาที จากความจุลำน้ำที่รองรับได้ 210 ลบ.ม./วินาที ผ่านประตูระบายน้ำช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ 180 ลบ.ม./วินาที ประตูระบายน้ำโคกกระเทียม อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี 196 ลบ.ม./วินาที ผ่านประตูระบายน้ำเริงราง อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี 132 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลเข้าสู่แม่น้ำป่าสัก ขณะเดียวกัน ได้ส่งน้ำเข้าคลองชัยนาท-อยุธยา (คลองมหาราช) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท 34 ลบ.ม./วินาที เข้าคลองบางโฉมศรี ผ่านประตูระบายน้ำบางโฉมศรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี 27 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำลพบุรี อ.เมืองฯ จ.สิงห์บุรี 48 ลบ.ม./วินาที ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักเช่นกัน

ส่วนการรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตก รวม 155 ลบ.ม./วินาที ได้ส่งน้ำเข้าคลองส่งน้ำมะขามเฒ่าอู่ทอง ผ่านประตูระบายน้ำมะขามเฒ่า-อู่ทอง, แม่น้ำท่าจีน ผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ โดยพบว่าที่ประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 310 ลบ.ม./วินาที มากกว่าความจุลำน้ำที่รองรับได้ 200 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำน้อย ผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุ อ.เมือง จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 141 ลบ.ม./วินาที จากความจุลำน้ำที่รองรับได้ 230 ลบ.ม./วินาที, คลองโผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 724 ลบ.ม./วินาที มากกว่าความจุลำน้ำที่รองรับได้ 420 ลบ.ม./วินาที, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 172 ลบ.ม./วินาที มากกว่าความจุลำน้ำที่รองรับได้ 148 ลบ.ม./วินาที ทั้งคลองโผงเผงและคลองบางบาลจะไหลบรรจบกับแม่น้ำน้อย ขณะที่คลองเจ้าเจ็ด ประตูระบายน้ำผักไห่-เจ้าเจ็ด อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 67 ลบ.ม./วินาที




ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์สาธารณภัย ระบุว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ทําให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 27 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กําแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม รวม 120 อำเภอ 417 ตำบล 1,933 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 58,977 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง บุรีรัมย์ ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 23 จังหวัด ได้แก่

1. จ.ตาก เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง แม่สอด พบพระ อุ้มผาง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

2. จ.สุโขทัย เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ ศรีสําโรง สวรรคโลก อ.เมือง ศรีนคร คีรีมาศ ทุ่งเสลี่ยม กงไกรลาศ บ้านด่านลานหอย ศรีสัชนาลัย ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ ศรีสําโรง คีรีมาศ อ.เมือง ระดับน้ำเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ส่วนจุดอพยพวัดกระชุงค์ อ.เมือง ยังไม่มีผู้พักพิง

3. จ.พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.วังทอง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

4. จ.เพชรบูรณ์ เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ หนองไผ่ วิเชียรบุรี ศรีเทพ อ.เมือง บึงสามพัน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

5. จ.พิจิตร เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ บึงนาราง โพธิ์ประทับช้าง โพทะเล สามง่าม ดงเจริญ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ระดับน้ำทรงตัว อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ

6. จ.กําแพงเพชร เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ อ.ปางศิลาทอง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

7. จ.เลย เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ ด่านซ้าย ภูกระดึง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

8. จ.ขอนแก่น เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ โคกโพธิ์ไชย มัญจาคีรี แวงน้อย ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำทรงตัว อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ

9. จ.ชัยภูมิ เกิดฝนตกหนักและลําน้ำชีเอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ หนองบัวระเหว จัตุรัส อ.เมือง เนินสง่า บ้านเขว้า ภูเขียว บําเหน็จณรงค์ คอนสาร ภักดีชุมพล หนองบัวแดง บ้านแท่น เทพสถิต คอนสวรรค์ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ส่วนจุดอพยพศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองชัยภูมิยังไม่มีผู้พักพิง

10. จ.นครราชสีมา เกิดฝนตกหนัก น้ำล้นอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร เข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ ด่านขุนทด สูงเนิน โนนสูง อ.เมือง พิมาย ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำซึ่งไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลําเชียงไกร

11. จ.สุรินทร์ เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.สําโรงทาบ ปัจจบุันระดับน้ำทรงตัว

12. จ.อุบลราชธานี เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง วารินชําราบ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

13. จ.สระแก้ว เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ ตาพระยา โคกสูง ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

14. จ.จันทบุรี เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ นายายอาม เขาคิชฌกูฏ ขลุง มะขาม ท่าใหม่ แหลมสิงห์ อ.เมือง ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

15. จ.นครสวรรค์ เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 14 อำเภอ ได้แก่ ลาดยาว หนองบัว แม่วงก์ อ.เมือง ชุมตาบง แม่เปิน ตาคลี พยุหะคีรี ไพศาลี ชุมแสง ท่าตะโก บรรพตพิสัย โกรกพระ ตากฟ้า ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำทรงตัว อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ

16. จ.อุทัยธานี เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ สว่างอารมณ์ อ.เมือง ลานสัก บ้านไร่ ทับทัน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

17. จ.ชัยนาท เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ มโนรมย์ วัดสิงห์ เนินขาม หันคา ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

18. จ.ลพบุรี เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ สระโบสถ์ ชัยบาดาล ลําสนธิ โคกสําโรง ท่าหลวง บ้านหมี่ โคกเจริญ หนองม่วง อ.เมืองฯ พัฒนานิคม ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

19. จ.สุพรรณบุรี เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง ศรีประจันต์ หนองหญ้าไซ บางปลาม้า เดิมบางนางบวช สามชุก สองพี่น้อง อู่ทอง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

20. จ.สิงห์บุรี เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อินทร์บุรี อ.เมือง ค่ายบางระจัน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

21. จ.อ่างทอง เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.เมือง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

22. จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ ผักไห่ เสนา บางบาล ปัจจุบันมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผง ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ได้ดําเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อเร่งระบายน้ำแล้ว

23. จ.นครปฐม เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ สามพราน นครชัยศรี บางเลน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

ส่วน จ.บุรีรัมย์เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ หนองกี่ คูเมือง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 4 สั่งการเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ให้กองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และผลกระทบจากพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะ พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการปฏิบัติ และช่องทางในการติดต่อสื่อสาร เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง พร้อมกําชับกองอํานวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับดําเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยในการแบ่งมอบพื้นที่ ภารกิจ หน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน

และเมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการจากหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตํารวจ มูลนิธิอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่างๆ ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบเลี้ยง การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ ให้ผู้อํานวยการสั่งการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที ควบคู่ไปกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)




กำลังโหลดความคิดเห็น