ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชลประทานโคราชยัน “อ่างฯ ลำเชียงไกรตอนล่าง” ยังไม่แตก แต่น้ำกัดเซาะทำนบดินกั้นไซต์ก่อสร้างอาคารระบายน้ำใหม่ชำรุด จนท.จึงใช้เป็นช่องทางเร่งระบายน้ำเพิ่ม เหตุน้ำในอ่างฯ ล้นเกินความจุถึง 151% ขณะทางจังหวัดฯ แจ้งเตือน ปชช.พื้นที่ลุ่มริมน้ำ 8 อำเภอเตรียมพร้อมอพยพ ขนของขึ้นที่สูง รับมือน้ำท่วมฉับพลัน
วันนี้ (26 ก.ย.) นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผอ.โครงการชลประทานครูราชสีมา เปิดเผยกรณีมีข่าวแพร่สะพัดว่าอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา แตกน้ำไหลทะลักลงสู่พื้นที่ใต้อ่างฯ เตือนระวังน้ำท่วมใหญ่ในหลายอำเภอ ว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) อ.โนนไทยไม่ได้แตกแต่อย่างใด แต่เนื่องจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 41.96 ล้าน ลบ.ม. หรือ 151.49% ของขนาดความจุที่ระดับเก็บกัก 27.70 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเกินระดับเก็บกักสูงสุด และมีน้ำส่วนเกินไหลล้นผ่านทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (Emergency Spillway) เนื่องจากมีปริมาณน้ำท่าจากลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ.เทพารักษ์ และ อ.ด่านขุนทด จำนวนมากไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง
จนกระทั่งวันนี้ เวลาประมาณ 13.00 น. น้ำเกิดไหลข้ามทำนบชั่วคราวของบ่อก่อสร้าง และข้างตัวอาคาร กว้างประมาณ 15.00 เมตร จึงได้ใช้ช่องทางระบายน้ำที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารระบายน้ำเพื่อเพิ่มการระบายน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการระบายน้ำ แทนที่จะต้องตัดคันดินที่ต้องเพิ่มการระบายน้ำเพื่อที่ต้องการให้ปริมาณน้ำออกเท่ากับหรือมากกว่าน้ำเข้า เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวทำนบดินอ่างเก็บน้ำ ซึ่งยาว 3,600 ม. ปัจจุบันอัตราการไหลของน้ำผ่านช่องทางทุกช่องทาง ประมาณ 400 ลบ.ม./วินาที เท่ากับอัตราการไหลเข้าของน้ำเข้าอ่างฯ และขอย้ำว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
“อ่างฯ ลำเชียงไกรตอนล่างมีปริมาณน้ำเกินความจุ จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออก เจ้าหน้าที่จึงได้ระบายน้ำจุดใกล้อาคารระบายน้ำใหม่ที่กำลังก่อสร้าง และขณะเดียวกันน้ำได้กัดเซาะเกิดความกว้างประมาณ 15 เมตร ทำให้น้ำไหลทะลักออกมา ซึ่งความจริงเราจะต้องเจาะให้น้ำไหลออกมาอยู่แล้ว และยังสามารถควบคุมจัดการในระบบชลประทานได้ ไม่ใช่อ่างเก็บน้ำแตกแต่อย่างใด” นายกิติกุลกล่าวย้ำ
ทางด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง จ.นครราชสีมา ว่า อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรไม่ได้แตก จุดที่เกิดปัญหาคือจุดที่มีไซต์งานก่อสร้างอาคาร และทางระบายน้ำ โดยผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างไปได้แล้วร้อยละ 70 แต่ขณะก่อสร้าง มีฝนตกหนัก และน้ำจากตัวอ่างลำเชียงไกรมีปริมาณเกินความจุอ่าง ทำให้น้ำล้นสปิลเวย์มาสมทบกับตรงจุดก่อสร้าง ประกอบกับช่วงก่อสร้างใช้ทำนบดินกั้นขวางทางน้ำ เมื่อน้ำมากจึงกัดเซาะทำนบดินไซต์ก่อสร้างชำรุด น้ำจึงไหลลงตรงที่ก่อสร้างทางระบายน้ำ ซึ่งทำให้ดูเหมือนตัวอ่างชำรุด จริงๆ แล้วไม่ใช่
“ผมยืนยันว่าตัวอ่างและสันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรมั่นคงแข็งแรง แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มากเกินความจุอ่าง จึงทำให้น้ำล้น” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ช่วงบ่ายในวันเดียวกันนี้ นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อม นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา และ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย เพื่อตรวจประเมินวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์
โดยทางโครงการชลประทานนครราชสีมาได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อเร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ณ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ซึ่งได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 4 สำนักเครื่องจักรกล
ขณะที่ทางจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุด นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงนาม ประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ลงวันที่ 26 ก.ย. 64 เรื่อง “แจ้งเตือนการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ฉบับที่ 2” ระบุว่า ได้รับแจ้งจากโครงการชลประทานนครราชสีมาว่า เนื่องจากปริมาณน้ำจากลำเชียงไกรตอนบน และลำน้ำสาขา มีปริมาณเป็นจำนวนมาก และได้ระบายลงอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำเป็นจำนวนมาก ข้อมูล ณ เวลา 14.09 น. ระบายน้ำลงลำน้ำเติม 66.43 ลบ.ม. ระบายน้ำผ่านอาคาร ระบายน้ำฉุกเฉิน 101.72 ลบ.ม. รวมการระบายน้ำ 168.15 ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในลำเชียงไกร และลำน้ำสาขามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งลำน้ำ และพื้นที่ริมตลิ่ง
จึงขอให้ดำเนินการ ดังนี้
1.ใ ห้อำเภอด้านท้ายอ่าง ได้แก่ อำเภอโนนไทย พระทองคำ เมืองนครราชสีมา โนนสูง พิมาย ชุมพวง ลำทะเมนชัย และอำเภอเมืองยาง แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยง อันตรายสูง เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการควบคุมสถานการณ์ ให้อพยพไปยังสถานที่ปลอดภัยในระดับสีส้ม โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ริมน้ำและที่ลุ่มต่ำให้เก็บทรัพย์สินสิ่งของจำเป็นขึ้นไว้ที่สูงกว่าที่เคย ระวังติดตามมวลน้ำไหลเชี่ยวแรง ดูแลเด็กเล็กและคนชรา ผู้ป่วยติดเตียง
2. ประสานท้องถิ่นติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดสำคัญทางเศรษฐกิจ จัดหาและสนับสนุนกระสอบทรายให้แก่ประชาชนเพื่อปิดกั้นน้ำเข้าบ้านเรือนและพื้นที่สำคัญ จัตรถกระจายข่าวแจ้งเตือนประชาชนให้ทั่วถึง และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ประสานกำลังพลสนับสนุนการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงที่เตรียมไว้ล่วงหน้า จัดตั้งโรงครัว หรือครัวพระราชทานเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบและเจ้าหน้าที่
3. ให้ความสำคัญในการแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างใกล้ชิด
4. กรณีการอพยพประชาชน ขอให้ไม่ต้องห่วงทรัพย์สิน ควรให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในชีวิต และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
5. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองจัดชุดลาดตระเวนตรวจตราตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันผู้ฉกฉวยโอกาสขโมยทรัพย์สิน