xs
xsm
sm
md
lg

“เครดิตบูโร” เพิ่มรหัสสถานะบัญชี 21 สำหรับลูกหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน จากผลกระทบโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร เผย คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต ออกประกาศเพิ่มรหัสสถานะบัญชี 21 รองรับลูกค้าหนี้ค้างชำระ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 พิจารณาจากอดีตถึงสิ้นปี 62 ไม่เคยผิดนัดชำระเลย 12 เดือน เพื่อให้สถาบันการเงินแยกแยะในการพิจารณาให้สินเชื่อ

วันนี้ (8 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เปิดเผยผ่านเว็บไซต์เครดิตบูโร เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า เมื่อเดือน มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตออกประกาศเรื่องรหัสสถานะบัญชีเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ คือ รหัสสถานะบัญชี 21 เพื่อรองรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา จากเดิมที่มีสถานะบัญชี 20 สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดา หรือ 020 สำหรับลูกค้านิติบุคคล ที่หมายถึงหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน

สาระสำคัญคือ ให้สถาบันการเงินพิจารณาว่า บัญชีสินเชื่อของลูกหนี้รายใดที่มีการผิดนัดชำระเกิน​ 90 วัน หรือบัญชีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น เกิดจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการชำระหนี้ของบัญชีนั้นในอดีตนับแต่สิ้นปี​ 2562​ ลงไปไม่เคยผิดนัดชำระเลย​ 12 เดือน ให้ลงรหัสสถานะบัญชี 21 แทนที่รหัสสถานะบัญชี 20 (หนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน) เพื่อให้แยกแยะได้ว่าเป็นหนี้เสียเพราะผลกระทบจากโควิด-19

“ลูกหนี้เหล่านั้นคือผู้ประสบภัยทางเศรษฐกิจ​ตัวจริงเสียงจริง​ เขาพร้อมค้าขาย​ เขาอยากสู้ต่อ​ เขามีภาระลูกน้องลูกจ้างต้องดูแล​ เขาไม่อยากแบมือขอ เขามีฝีมือ​ เขามีตัวตนในระบบเศรษฐกิจ​รากฐานของประเทศเรา​ และเขาคือนักสู้ตัวจริงที่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์​จากการผูกขาด​ ตัดตอน​ มีอำนาจตลาดแอบแฝงใดๆ” นายสุรพล กล่าว

การกำหนดรหัสสถานะบัญชี 21 ดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเครดิตบูโร ​เริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ก่อตัวขึ้นมา หลังการประกาศล็อกดาวน์เต็มรูปแบบในเดือน เม.ย. 2563 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการ​มารอบรับแบบฉุกเฉินเร่งด่วน ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรรมการผู้แทนหลายฝ่ายได้หารือนอกรอบ เห็นว่าลูกค้าที่มีหนี้เสียจากสถานการณ์โควิด-19 ควรแยกออกจากลูกค้าที่มีหนี้เสียตามธรรมชาติ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือให้มากที่สุด

เครดิตบูโรจึงกลับมาคิดและเสนอว่า​ ถ้าลูกหนี้รายนั้นไม่เคยค้างชำระเลยในทุกบัญชีกับสถาบันการเงินย้อนหลังลงไปจากเดือน เม.ย.​ 2563​ เป็นระยะเวลา​ 24 เดือน หรือ​ 24 งวด น่าจะถือว่าเป็นลูกค้าที่ดี​ แต่หลังจากเดือน เม.ย.​ 2563​ เป็นต้นมา เริ่มค้างชำระ​ และกลายเป็น​เอ็นพีแอล เช่น ธุรกิจร้านอาหาร​ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขที่จำเป็น เป็นระยะจนขาดสภาพคล่อง​ ผู้บริหารนโยบายในขณะนั้นจึงผลักดันให้มีการตั้งเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี​เศรษฐกิจ​ เพื่อส่งต่อให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปออกประกาศ รองรับการกำหนดรหัสไว้กับบัญชีสินเชื่อ ที่มีลักษณะเป็นเอ็นพีแอลจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ระบาด

ต่อมามีการยกเลิกการประชุม และทีมเศรษฐกิจ​ในเวลานั้นลาออกยกชุด​ ทำให้เรื่องดังกล่าวต้องหยุดชะงัก สภาอุตสาหกรรม​แห่งประเทศไทย (สอท.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้​ จึงมีการผลักดันเป็นข้อเสนออีกครั้ง​ในระดับนโยบาย​ และทางเครดิตบูโร​ก็ดำเนินการตั้งเรื่องตามกระบวนการ ผ่านฝ่ายงานที่กำกับดูแลเครดิตบูโร​ ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือเต็มที่​ จากนั้นนำไปสู่กระบวนการรับฟังความเห็น​ กระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการออกประกาศ​ราชการที่กำหนดไว้ ประกอบกับเรื่องดังกล่าวถูกผลักดันจากสมาคมตัวแทนลูกหนี้ ทำให้ประกาศ​ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูล​เครดิตออกมาดังกล่าว

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่


กำลังโหลดความคิดเห็น