"ทีเอสอาร์แอล" บริษัทลีสซิ่งเครือ TSR Group เดินหน้าเปิดบริการ “ผ่อนสบายโมบาย” 7 สาขาทั่วประเทศ ครอบคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้าและธุรกิจ SME เดินหน้าควบคุม NPL รวมธุรกิจให้ไม่เกิน 5% พร้อมกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายพอร์ตสินเชื่อ อีกทั้งเริ่มทดสอบเปิดให้บริการสินเชื่อแก่ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ (Floor plan) ปีนี้ ยกระดับให้เป็นบริการครบวงจร ขณะปีที่ผ่านมาทำรายได้จากธุรกิจนี้เพื่อส่งยอดให้บริษัทแม่อย่าง TSR ส่วนพอร์ตปีนี้ 5 เดือนเติบโตเป็น 250 ล้านบาท
นายสยาม อุฬารวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีเอสอาร์แอล จำกัด หรือ TSRL เป็นบริษัทลูกในเครือของบริษัท เธียรสุรัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSR Group ดำเนินธุรกิจไฟแนนซ์โดยตรง หลังจากบริษัทเริ่มทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์พบว่าได้การตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าใหม่ มีความต้องการสินค้าสูง ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นตาม บวกกับบริษัทต้องการ
กลั่นกรองความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า
ล่าสุด บริษัทเปิดตัวบริการ “ผ่อนสบายโมบาย” ซึ่งเป็นระบบขายตรง ไม่ได้ผ่านเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ขณะนี้ให้บริการ 7 สาขาทั่วประเทศ ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ที่สินเชื่อเช่าซื้อ TSRL ครอบคลุม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน กระทั่ง ธุรกิจ SME เช่น ตู้แช่เย็น เครื่องทำน้ำแข็งยี่ห้อ Alpine ซึ่งบริษัท อัลไพน์ วอร์เตอร์ เป็นบริษัทร่วมทุนของ TSR ที่เปิดตัวในปี 2563 และในปัจจุบัน TSRL ได้ขยาย port ไปยังสินเชื่อมีหลักประกันเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ รถบรรทุก เป็นต้น
"ลูกค้ามีความต้องการมาที่ออนไลน์ เสร็จแล้วจะเป็นลักษณะ online to offline คือเรามีทีมออฟไลน์ที่ไปหาลูกค้าและติดตั้งเสร็จ ดังนั้น ถามว่าออฟไลน์ควรจะมีไหม มันต้องมีจุดเชื่อมตรงนี้ด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็คงจะเหมือนร้านออนไลน์ทั่วไป อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ TSRL เป็นธุรกิจเงินผ่อน หากขาดบริการออฟไลน์และไม่สามารถเห็นตัวตนของลูกค้าได้ บริษัทก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียสูง ดังนั้น การรู้ที่อยู่ของลูกค้าจึงสำคัญ เพราะหากมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายลูกค้าหรือฝ่ายบริษัทก็สามารถที่จะติดตามผลได้ ง"
อย่างไรก็ดี เมื่อโควิด-19 ระลอกแรกและช่วงล็อกดาวน์เดือนเมษายนปี 2563 ผลกระทบที่ TSRL ได้รับคือมีการเก็บเงินลูกค้าล่าช้าไปประมาณ 1 เดือน ถือว่าบริษัทฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี เพราะพอผ่านพ้นไปช่วงเดือนพฤษภาคม อัตราการเก็บเงินลูกค้าก็กลับมาในระดับเกือบปกติ
“ผมว่าเพราะสินค้าของเราเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่าค่าผ่อนต่องวดค่อนข้างที่จะไม่สูงมาก โดยเฉลี่ยประมาณ 800-1,000 กว่าๆ ทำให้การที่ลูกค้าจะผิดนัดชำระหนี้จะไม่ค่อยเยอะเท่าไร ยกเว้นลูกค้าจะขอยืดหนี้หรือไม่ชำระ เราก็อนุโลมไป”
ทั้งนี้ บริษัทพยายามควบคุม NPL รวมธุรกิจ ให้ไม่เกิน 5% กลั่นกรองคุณภาพของลูกค้าโดยใช้พนักงานตรวจสอบ รวมทั้งตรวจสอบเครดิตบูโรกับ NCB ด้วย ทั้งยังกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายพอร์ตสินเชื่อผู้ประกอบการ เนื่องจากลักษณะของลูกค้าและรูปแบบธุรกิจทำให้ TSRL มองว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าด้วย เพราะไม่มีผู้ประกอบการคนใดอยากให้สินค้าที่ใช้ประกอบธุรกิจถูกยึด ซึ่งต่างจากลูกค้ากลุ่มครัวเรือนทั่วไป เพราะเป็นการสร้างหนี้แบบไม่ก่อให้เกิดรายได้ นำสินค้าไปใช้เพื่อความสะดวกสบายเพียงเท่านั้น
นอกจากนี้ TSRL ยังเริ่มทดสอบเปิดให้บริการสินเชื่อแก่ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ (Floor plan) เพิ่มในปีนี้ ซึ่งบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยงต่ำเพราะลูกค้าเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีทุน ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อแก่ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ทำธุรกิจประมูลรถและนำมาจัดจำหน่ายต่อสินเชื่อ Floor Plan จึงเกิดขึ้นในระบบเป็นจิ๊กซอว์ตัวต่อไปที่นำไปสู่การปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าที่มาซื้อรถยนต์จากผู้ประมูลอีกทีหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นบริการครบวงจรคือปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประมูล แล้วจึงพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ผู้ที่ต้องการใช้สินเชื่อรายย่อย และเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ TSRL ต้องการกระจายความเสี่ยง
นอกจากนี้ TSRL กำลังพยายามขยายธุรกิจและสร้างรายได้จากธุรกิจนี้เพื่อส่งยอดให้บริษัทแม่อย่าง TSR เพราะในปี 2563 TSRL ทำกำไรร่วม 12 ล้านบาท นับเป็นการเติบโตที่บริษัทกำลังจับตามอง เพราะพอร์ตปีที่แล้ว TSRL อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท ในปีนี้และช่วงเวลา 5 เดือน เติบโตขึ้นเป็น 250 ล้านบาท ได้ ส่วนจะขยายไปสู่การเป็น non-bank หรือไม่ มองว่า TSRL ตอบโจทย์ micro finance มากกว่า จึงไม่เหมือนสถาบันการเงินที่พยายามเข้าสู่สินเชื่อ nano finance และ pico finance ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่ามาก หากควบคุมไม่ได้ บริษัทก็จะไม่สามารถทำกำไรได้หรือมีหนี้เสียในที่สุด
นายสยาม มองว่าธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงสุดคือ สินเชื่อเช่าซื้อที่เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่า แต่หากบริหารได้ดี กำไรก็จะมาก ส่วนสินเชื่อ SME อัตราการผิดนัดชำระหนี้จะต่ำกว่า แม้ว่าดอกเบี้ยอาจจะต่ำกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ในส่วนของ TSRL ซัปพอร์ตกับบริษัทในเครือด้วย เนื่องจากพอ Alpine เปิดตัวก็มีเสียงเรียกร้องจากลูกค้ากลุ่มหนึ่งไม่ต้องการซื้อสดแต่ต้องการตัวสินเชื่อมาบริการ TSRL จึงตอบสนอง ส่วนสินเชื่อ Floor Plan มีความเสี่ยงต่ำมาก สิ่งที่ Play safe ความเสี่ยงคือผู้ประมูลเป็นผู้ประเมินตัวรถหน้างานให้แทน
สำหรับสินเชื่อของ TSRL ที่ปล่อยให้ SME ไม่ได้มีวงเงินสูง เช่น เครื่องทำน้ำแข็ง มีวงเงินหลักหมื่น เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบเพียงช่วงล็อกดาวน์ที่ผู้คนกำลังแตกตื่นเท่านั้น หลังจากนั้นก็กลับมาฟื้นตัวตามปกติ TSRL มองว่าหากเก็บค่าผ่อนไม่สูงมาก อัตราการผิดนัดชำระหนี้หนี้ก็จะต่ำ นอกจากจะช่วยผู้ประกอบการ SME แล้ว ลูกค้าก็จะผ่อนต่อเพราะเป็นสินค้าที่ต้องใช้ประกอบอาชีพหารายได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 อย่างไรก็ตาม หากเกิดหนี้เสียบริษัทก็มีมาตรการรองรับด้วยการยึดสินค้าและนำมา resale ใหม่