LINE BK โชว์ผลงานนับแต่เปิดตัวในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนลูกค้า 2.8 ล้านคน ยอดคงค้างสินเชื่อ 9 พันล้าน คาดสิ้นปีแตะหมื่นล้าน พร้อมขยายต่อสู่ประกัน-ลงทุน เผยครึ่งปีหลังมุ่งดูแลคุณภาพหนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ ห่วงเศรษฐกิจชะลอยาวเอ็นพีแอลพุ่ง
นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (LINE BK) เปิดเผยว่า หลังจากที่ไลน์บีเคเปิดตัวมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีโดยมีจำนวนลูกค้า 2.8 ล้านคน มีธุรกรรมการเงิน 50,000 ล้านบาท จำนวนบัญชีธนาคารกสิกรไทยที่ผูกผ่านไลน์บีเค 3.5 ล้านบัญชี มีจำนวนผู้มาเปิดบัญชี 53,000 บัญชี มีจำนวนผู้ใช้บัตรเดบิต 1.4 ล้านใบ ด้านสินเชื่อปัจจุบันมียอดคงค้างประมาณ 9,000 ล้านบาท จากจำนวนคำขอสินเชื่อ 4 ล้านครั้ง เป็นจำนวนลูกค้า 2 ล้านราย อนุมัติ 350,000 ราย มียอดวงเงินเบิกใช้ 14,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สัดส่วนของพอร์ตนั้นเป็นส่วนของลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ 59% และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ 41% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 20-25% มีวงเงินกู้ยืมเฉลี่ย 35,000 บาทต่อราย และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อยู่ที่ 33% มีวงเงินกู้ยืมเฉลี่ย 11,000 บาทต่อราย ขณะที่การขยายไลน์ธุรกิจในอนาคตนั้นยังมองไปที่ธุรกิจด้านประกันและการลงทุน ซึ่งถัดไปเป็นธุรกิจตัวแทนประกันก็คาดว่าประมาณ 1 ปีจะเริ่มต้นได้ ขณะที่ธุรกิจการลงทุนนั้นอาจจะยังต้องดูถึงสถานการณ์โดยรวมก่อน
"ไลน์บีเคถือเป็นโซเชียลแบงกิ้ง ซึ่งเราจะใช้ฐานข้อมูลของธนาคารกสิกรไทยกับไลน์ เข้ามาวิเคราะห์เพื่อเข้าถึงลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งการเปิดบัญชีผ่านไลน์ การนำบัญชีกสิกรฯ มาผู้กับไลน์เพื่อความสะดวกมากขึ้น การโอนเงินผ่านไลน์ บัญชีพิเศษช่วยโอน บัตรเดบิต รวมถึงดิจิทัล เลนดิ้ง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร แม้ตัวเลขต่างๆ จะยังไม่มากนัก ซึ่งเราคงต้องหาช่องทางหรือวิธีการต่างๆ ให้สะดวกหรือง่ายยิ่งขึ้นต่อไป รวมถึงการหาพันธมิตรเพิ่มทั้งในและนอกกลุ่มไลน์ เพื่อสร้างช่องทางที่ง่ายและสะดวกให้ลูกค้าต่อไป แต่ช่วงเวลานี้อาจจะไม่ใช่ช่วงที่ดีนักในการขยายอะไรออกไปมากๆ เนื่องจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย จึงต้องมองถึงช่องทางในการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย"
สำหรับแนวโน้มในครึ่งปีหลังนั้น จะยังคงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังมาก เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีความยืดเยื้อได้ส่งผลในวงกว้างทั้งต่อเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป และสถานการณ์ข้างหน้ายังไม่มีความชัดเจน ดังนั้น สิ่งที่ต้องเข้าไปดูแลอย่างเข้มข้นคือคุณภาพหนี้ มากกว่าการขยายสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าของไลน์บีเคที่เป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำอยู่ประมาณ 40% ขณะที่เป้าหมายสินเชื่อนั้นยังคงไม่มีการตั้งเป้าเพิ่มเติม แต่เชื่อว่า ณ สิ้นปีน่าจะแตะ 10,000 ล้านบาท
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น ขณะนี้อยู่ที่ 2% และตั้งเป้าหมายบริหารจัดการให้ไม่เกิน 5% ซึ่งตรงนี้จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก เนื่องจากตัวเลขเอ็นพีแอลในปัจจุบันของไลน์บีเคยังสะท้อนภาพออกมาไม่เต็มที่นัก เพราะเราเพิ่มเริ่มปล่อยกู้ทำให้ตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 90 วันยังมีไม่มากนัก แต่ตัวเลขแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้เริ่มเห็นยอดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมทั้งระบบตัวเลขเอ็นพีแอลยังถูกกดเอาไว้ด้วยมาตรการการช่วยเหลือทางภาครัฐทั้งการพักชำระหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งหากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นฟูเมื่อผลของมาตรการต่างๆ หมดไป หนี้เอ็นพีแอลจะถาโถมเข้าสู่ระบบ และตัวเลขเอ็นพีแอลจะสูงกว่าที่ตั้งไว้
นายธนา กล่าวอีกว่า กลุ่มที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในระยะนี้เป็นลูกค้ากลุ่มที่ไม่มีเงินเดือนประจำ โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม SSME และกลุ่มที่มีรายได้ประจำแต่อยู่ในธุรกิจที่ถูกกระทบแรง อย่างโรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น สิ่งที่เราต้องคิดคือจะดูแลคุณภาพของลูกหนี้ที่มีอยู่ให้ยังดีต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องนี้ทางรัฐบาลมีแนวทางที่จะให้สถาบันการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ลง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งแนวทางนี้มองว่าแม้จะเป็นการลดภาระให้ลูกหนี้ แต่เป็นส่วนที่ทำให้ลูกหนี้รายใหม่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินจะเข้มงวดมากขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงนั่นเอง ทั้งนี้ ในสภาวะปัจจุบันมองว่าสิ่งที่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้ต้องการคือ สภาพคล่องเพิ่มเติม และการพักชำระหนี้ระยะยาวจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน