xs
xsm
sm
md
lg

แนะทางออกรับมือหนี้ครัวเรือนพุ่ง กระทบความสามารถผ่อนหนี้บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะควบคุมได้ในเร็ววันนี้ ย่อมส่งผลกระทบไปถึงความมั่นคงทางการเงินของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเคยมีประสบการณ์ในการรับมือวิกฤตในปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

เห็นได้จากผลสำรวจ "สถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท" ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า สถานภาพหนี้ของแรงงานไทยปี 2564 มีหนี้สินของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มาอยู่ที่ 98.1% โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายประจำวัน เพื่อการศึกษาและใช้หนี้บัตรเครดิต มีปัญหาการผิดนัดผ่อนชำระหนี้สูงถึง 85.1% เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงินจากผลกระทบโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้ภาระหนี้ครัวเรือนของแรงงานไทยในปีนี้ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เฉลี่ยอยู่ที่ครัวเรือนละ 205,809 บาท หรือเพิ่มขึ้น 29.56%

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2564 ขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบ 89.0-91.0% ต่อจีดีพี เรียกได้ว่าปัญหาสภาพคล่องทางการเงินถือเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ ของผู้บริโภคในยุคนี้เลยก็ว่าได้

แน่นอนในภาคอสังหาฯ ที่แม้จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตของผู้บริโภค แต่ถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง หนีผลกระทบครั้งนี้ไม่พ้นเช่นกัน แม้จะมีความต้องการที่อยู่อาศัยจากผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง เห็นได้จากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ที่พบว่า มากกว่าครึ่ง (60%) ของผู้บริโภคชาวไทยที่ต้องการครอบครองที่อยู่อาศัย มองว่าอุปสรรคหลักในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาจากอาชีพการงานและรายได้ที่ไม่มั่นคง ตามมาด้วยประวัติเครดิตที่ไม่ดี 45% และมีเงินดาวน์ไม่เพียงพอ 34%

สะท้อนให้เห็นว่า สถานะทางการเงินที่ผันผวนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการมีบ้านของผู้บริโภคในยุคนี้ และในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) ขอแนะนำ 5 วิธีการประนอมหนี้ ดังนี้

- ขอลดอัตราดอกเบี้ย เหมาะกับผู้กู้ที่มีรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่มีเหตุให้รายได้ลดลงหรือเท่าเดิม แต่รายจ่ายสูงขึ้น และเมื่ออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อแรกกู้ หรือในกรณีที่ธนาคารอาจให้ชำระเป็นเงินก้อนซึ่งสูงกว่าค่าผ่อนต่อเดือน หรือให้ชำระหนี้ทั้งหมดภายในครั้งเดียว ซึ่งการขอลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ผู้กู้ต้องมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี และประเมินความเป็นไปได้ที่จะมีรายได้สูงเพียงพอ สำหรับกรณีที่ต้องชำระเงินก้อนตามเงื่อนไขใหม่ของธนาคาร

- ขอผ่อนชำระต่ำกว่าปกติ กรณีที่ผู้กู้มีรายได้เป็นประจำทุกเดือน แต่ขาดสภาพคล่องจากปัจจัยอื่นๆ จะสามารถเลือกใช้วิธีนี้ได้ เมื่อจำนวนยอดชำระต่อเดือนนั้นสูงกว่ายอดดอกเบี้ยต่อเดือนอย่างน้อย 500 บาท โดยระยะเวลาในการผ่อนชำระที่ต่ำกว่าปกตินั้นต้องไม่เกิน 2 ปี

- ขอขยายเวลาชำระหนี้ เป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่งสำหรับผู้กู้ที่มีรายได้ประจำลดลง อย่างไรก็ดี การขอขยายเวลากู้สามารถทำได้จนอายุผู้กู้ไม่เกิน 70 ปีเท่านั้น จึงเหมาะกับผู้กู้ที่อายุน้อยหรือมีเวลาอีกหลายปี และสัญญาเงินกู้ปัจจุบันจะต้องมีระยะเวลากู้ไม่ถึง 30 ปีด้วย

- ขอผ่อนผันการค้างชำระ เป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ไขปัญหาฉุกเฉินทางการเงินได้ดีไม่น้อย โดยประเมินจากสภาพคล่องทางการเงินและความเป็นไปได้ที่จะมีรายได้มั่นคงในอนาคต

- ขอโอนหลักทรัพย์เป็นของธนาคารชั่วคราวและจะซื้อคืน รูปแบบนี้จะคล้ายกับการขายฝากแล้วเช่าบ้านตัวเองอยู่ โดยค่าเช่าหลักทรัพย์คิดอยู่ที่ 0.4-0.6% ของมูลค่าหลักทรัพย์ และมักทำสัญญาเช่าเป็นรายปี โดยมีเงื่อนไขว่าหากจำนวนหนี้สูงกว่าราคาประเมินของหลักทรัพย์ ผู้กู้จำเป็นต้องชำระส่วนต่างภายในวันโอน วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้กู้ที่ขาดรายได้ และไม่น่าจะกลับมามีรายได้ภายใน 1 ปี หรือมีรายได้ประจำไม่คงที่แต่มีรายจ่ายสูงต่อเนื่องนานเกิน 1 ปี

สำหรับผู้กู้ที่ประเมินตนเองแล้วคิดว่ายังพอมีกำลังในการผ่อนชำระรายเดือน มีอีก 2 วิธีที่ช่วยแบ่งเบาภาระ ได้แก่ การรีไฟแนนซ์ (Refinance) เป็นการสิ้นสุดสัญญาสินเชื่อที่มีอยู่กับธนาคารหนึ่งแล้วไปทำสัญญาสินเชื่อใหม่กับอีกธนาคารหนึ่ง

และการรีเทนชัน (Retention) มีหลักการเหมือนกับการรีไฟแนนซ์ แต่เป็นการขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยบ้านกับธนาคารเดิม โดยจุดเด่นของการรีเทนชันคือ ผู้กู้ดำเนินธุรกรรมกับธนาคารเดิม ดังนั้น จึงไม่ต้องมีภาระในการจัดเตรียมเอกสารใหม่ ค่าธรรมเนียมแค่ 1% ของวงเงินกู้เท่านั้น เมื่อเทียบกับอัตราค่าดำเนินการเพื่อทำรีไฟแนนซ์ ถือว่ารีเทนชันมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก

ทั้งนี้ ข้อมูลจากผลสำรวจเผยให้เห็นว่า เกือบ 1 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวไทย (23%) เลือกการรีไฟแนนซ์มาช่วยแบ่งเบาภาระในการผ่อนสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่มีผู้สนใจรีเทนชัน (Retention) เพียง 8% เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคมากกว่า 2 ใน 3 (69%) เผยว่าจะตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมมากที่สุดในเวลานั้นอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น