กระทรวงการคลัง แจงมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และในภาคส่วนอื่นที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อประชาชน เกษตรกร และการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในภาคส่วนอื่นประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ
โดยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติออกมาตรการบรรเทาผลกระทบ ได้แก่
1) ดำเนินงานของมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialised Financial Institutions : SFIs) และ
2) เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และขยายเวลาการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องมากขึ้น รวมถึงแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ผลการดำเนินงานของมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่าน SFIs
1.1 มาตรการพักชำระหนี้ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2564 SFIs ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยการพักชำระหนี้ ด้วยการพักชำระเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ย และ/หรือลดอัตราดอกเบี้ย และ/หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้แล้ว รวมทั้งสิ้น 7.56 ล้านราย วงเงิน 3.46 ล้านล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 3.23 ล้านราย วงเงิน 1.26 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 3.21 ล้านราย วงเงิน 1.18 ล้านล้านบาท และธุรกิจ 21,310 ราย วงเงิน 87,948 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังได้ขอให้ SFIs ขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้
1.2 มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ นอกจากมาตรการพักชำระหนี้แล้ว ยังมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ) และมาตรการสินเชื่อของ SFIs อีกหลายมาตรการที่ยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ ประชาชนทั่วไป ธุรกิจรายย่อย SMEs โดยครอบคลุมภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
2.การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่
2.1 ขยายเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี โดยขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
2.2 ปรับปรุงการดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาทของธนาคารออมสิน สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี โดยขยายระยะเวลากู้จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี ขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นจากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
2.3 ขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว ของธนาคารออมสิน สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้หลักประกันเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและไม่ต้องผ่านการตรวจเครดิตบูโรวงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 0.99 และ 5.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น พร้อมทั้งขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเพียงพอ โดยได้มีการติดตามผลการดำเนินมาตรการอยู่เป็นระยะ รวมถึงพิจารณาข้อจำกัดและปัญหาอุปสรรคของการดำเนินมาตรการ รวมทั้งได้ปรับปรุงและออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อดูแลประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีต่อไป