โฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบผลการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ของ SFIs สนับสนุนสินเชื่อ พ.ร.ก.ฟื้นฟู ยันเยียวยาต่อเนื่องให้พลิกฟื้นธุรกิจได้
วันนี้ (29 มิ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้ามาตรการพักชำระหนี้ของ SFIs มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ และ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ที่ดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาดโควิด-19 ดังนี้
1. มาตรการพักชำระหนี้ ความช่วยเหลือลูกหนี้รวมทั้งสิ้น 7.56 ล้านราย วงเงิน 3.46 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 3.23 ล้านราย วงเงิน 1.26 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 3.21 ล้านราย วงเงิน 1.18 ล้านล้านบาท และธุรกิจ 21,310 ราย วงเงิน 87,948 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงิน 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทั้งนี้ SFIs ทั้ง 7 แห่งยังขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้
2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นอกเหนือจากมาตรการสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ) ดังนี้
2.1 ธนาคารออมสิน (1) สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินกู้สูงสุดรายละ 10,000 บาท วงเงินคงเหลือ 3,831 ล้านบาท (2) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือ SMEs ภาคท่องเที่ยว วงเงินกู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท วงเงินคงเหลือ 3,855 ล้านบาท (3) สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว วงเงินกู้บุคคลธรรมดารายละไม่เกิน 10 ล้านบาท นิติบุคคลรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 6,873 ล้านบาท (4) สินเชื่อ DxD เพื่อคู่ค้า Department Store เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับคู่ค้าหรือผู้เช่าร้านค้า วงเงินกู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 2,000 ล้านบาท (5) มาตรการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ วงเงินคงเหลือ 16,000 ล้านบาท
2.2 ธ.ก.ส. เช่น สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุดรายละ 10,000 บาท วงเงินคงเหลือ 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินคงเหลือ 42,252 ล้านบาท
2.3 ธสน. สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น 1) มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินกู้สูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 572 ล้านบาท 2) สินเชื่อส่งออกสุขสุด สุด วงเงินกู้สูงสุดรายละ 1.5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 358 ล้านบาท 3) สินเชื่อ Global อุ่นใจ วงเงินกู้สูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท
2.4 ธอท. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับธุรกิจรายย่อย และธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น สินเชื่อมุสลิมและสินเชื่อสนับสนุนชายแดนภาคใต้รายย่อยวงเงินกู้สูงสุดรายละ 20 ล้านบาท และสินเชื่อเสริมสร้างธุรกิจรายย่อยมุสลิม วงเงินกู้สูงสุดรายละ 200,000 บาท
2.5 ธพว. ได้แก่ 1) สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดารายละ 1 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคลรายละ 3 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 3,144 ล้านบาท 2) สินเชื่อจ่ายดีมีเติม วงเงินกู้สูงสุดรายละ 15 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 1,978 ล้านบาท 3) สินเชื่อ Local Economy Loan วงเงินกู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 7,712 ล้านบาท
2.6 บสย. ค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เช่น 1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS 9) วงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 101,276 ล้านบาท (2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneursระยะที่ 4 (Micro 4) วงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละ 500,000 บาท วงเงินคงเหลือ 18,364 ล้านบาท
ทั้งนี้ SFIs ยังร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ดำเนินโครงการ “จับคู่กู้เงิน” เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
3. พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ มี 2 มาตรการ ดังนี้ 1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 13,435 ราย วงเงินรวม 40,764 ล้านบาท คงเหลือวงเงิน 209,236 ล้านบาท และ 2. มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 7 ราย วงเงิน 922 ล้านบาท
“ครม. กล่าวถึงความจำเป็นยังต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่าน SFIs ทั้งมาตรการพักชำระหนี้ของ SFIs มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ และ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ เพื่อดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและให้ภาคธุรกิจสามารถพลิกฟื้นกลับมาประกอบธุรกิจได้” นายอนุชา กล่าว