รายงาน
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ทั้ง 13 ฉบับ ในวาระรับหลักการ ปรากฏว่า มีเพียงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 13 เสนอโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ได้รับความเห็นชอบเพียงร่างเดียว นอกนั้นไม่ผ่านความเห็นชอบ
โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 13 ได้รับเสียงสนับสนุนรวม 552 เสียง ประกอบด้วย ส.ส. 342 เสียง ส.ว. 210 เสียง ไม่เห็นชอบ 24 เสียง งดออกเสียง 130 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 27 เสียง
สำหรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 13 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 เหตุผลก็คือ “โดยที่มาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนห้าร้อยคน มีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสามร้อยห้าสิบคน สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน เป็นจำนวนที่ไม่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง หากมีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสี่ร้อยคนก็จะทำให้การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน การให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช ....”
สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกอบด้วยการแก้ไข 2 มาตรา ได้แก่
“มาตรา 83 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยคน
ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้ง หรือประกาศชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่
ในกรณีมีเหตุใดๆ ที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งร้อยคน ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่”
“มาตรา 91 การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”
อธิบายง่ายๆ ก็คือ มาตรา 83 เดิมมี ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน เปลี่ยนเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน
และมาตรา 91 เดิมใช้วิธีคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง โดยนำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หารด้วย 500 คน แล้วนำผลลัพธ์ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตทุกเขต เพื่อค้นหา "จำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงมี" แล้วลบด้วยจำนวน ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ก็จะได้ผลลัพธ์คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ
มาคราวนี้จะกลับไปใช้ระบบคำนวณปาร์ตี้ลิสต์แบบเดิม โดยใช้บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แล้วคำนวณคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับเลือกตั้งมาคำนวณเพื่อแบ่งเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แทน
ย้อนกลับไปในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขณะนั้น เคยอธิบายว่า การนำระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า "แบบจัดสรรปันส่วนผสม" โดยคำนวณคะแนน ส.ส. เขตเลือกตั้ง และบัญชีรายชื่อ ด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เป็นความต้องการของ กรธ. ที่อยากให้ทุกคะแนนที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิมีความหมาย
โดยเฉพาะการให้คะแนนของผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตที่แพ้เลือกตั้ง ไปคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีนี้ทุกคะแนนจะมีความหมาย เชื่อว่า พรรคการเมืองจะยิ่งเข้มแข็งขึ้น เพราะพรรคทั้งและคนที่ไปลงสมัครจะต้องไปด้วยกัน ที่สำคัญ จะไม่มีพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมส่งคนขับรถหรือเสาโทรเลขลงสมัคร เพราะพรรคต้องพิจารณาส่งคนสมัครด้วยความรอบคอบ
นอกจากนี้ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เคยนั่งอยู่เฉยๆ ต้องลงมาช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส. เขตด้วย เนื่องจากทุกคะแนนที่ได้มาจะมีผลต่อการได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะไม่เกิดสภาพที่แต่ละภาคของประเทศไทยเป็นของพรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะคะแนนของพรรคอันดับสองลงมา จะได้มีโอกาสได้ ส.ส. เหมือนกัน พรรคแต่ละพรรคไม่น่าจะได้เปรียบเสียบเปรียบ
อย่างไรก็ตาม หลังรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เมื่อถึงคราวต้องใช้ระบบการเลือกตั้งจริง ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 พบปัญหาตรงที่เมื่อไม่มีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำของการได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้บางพรรคการเมืองถูกตัดลดจำนวน ส.ส. พึงมีออก และกลับพบเห็น ส.ส. ที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,057 คะแนน ได้รับการเลือกตั้งจำนวนมาก
ไม่นับรวมการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 ที่ขณะนั้น น.ส.ศรีนวล บุญลือ ลงสมัครในนามพรรคอนาคตใหม่ แม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่การคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ใหม่ พบว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.มาเพิ่ม ส่วนพรรคไทรักธรรม นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ทันที หลังทำหน้าที่ได้เพียง 3 วันเท่านั้น
ย้อนกลับไปหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ใช้ระบบเลือกตั้งเรียกว่า “แบบสัดส่วน” โดยมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.สัดส่วน 80 คน มาจากการแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด แต่ละกลุ่มจะมีประชากรใกล้เคียงกัน กลุ่มจังหวัดละ 10 คน แต่ละพรรคการเมืองต้องส่งรายชื่อผู้สมัคร 8 บัญชี ลงสมัครใน 8 กลุ่มจังหวัด บัญชีละไม่เกิน 10 คน เรียงตามลำดับหมายเลข และในการเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และบัตรเลือกตั้งแบบสัดส่วน
ปรากฏว่า ในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเปลี่ยนมาเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 375 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2554 ก่อนจะยุบสภาและจัดการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. 2554
ภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ถูกยกเลิก หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อ 22 พ.ค. 2557 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผ่านการลงประชามติและประกาศใช้มาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์รับหลักการแล้ว จะนำไปสู่วาระที่สอง พิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือ 376 เสียง
มาถึงวาระสาม นอกจากจะต้องใช้เสียงสนับสนุนของสองสภามากกว่า 376 เสียง ในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คนแล้ว ต้องมีเสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน เห็นชอบไม่น้อยกว่า 20% ของทุกพรรคการเมืองรวมกัน ก่อนให้รอไว้ 15 วัน และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป